๕๘. ราชทูตไทยกลับจากเมืองญวน เจ้าเวียดนามตอบราชสาสน์

ครั้นถึงณวันอาทิตย์เดือน ๑๒ ขึ้น ๖ ค่ำ[๑] พระอนุรักษภูธร ขุนพิทักษ์นที ขุนพิพิธโกคา ทูตมีชื่อกลับเข้ามาถึง เจ้าเวียดนามมีพระราชสาสน์ตอบเข้ามาใจความว่า พระราชสาสน์พระเจ้ากรุงเวียดนามคำนับมายังสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยาให้ทราบ ด้วยกรุงพระมหานครศรีอยุธยา แต่งให้พระอนุรักษภูธรกับทูตมีชื่อ จำทูลพระราชสาสน์และคุมสิ่งของออกมาทรงยินดีกับว่าด้วยความอนุเมืองเวียงจันท์เป็นกบฏ มีโทษผิดหลายประการ ได้แจ้งในพระราชสาสน์แล้ว ด้วยคิดจะให้กรุงเวียดนามกับกรุงพระมหานครศรีอยุธยา เป็นทางพระราชไมตรีสนิทกันต่อไปทุกชั่วชั้น ยิ่งนานยิ่งให้สนิท และบรรดาหัวเมืองขึ้นทั้ง ๒ ฝ่ายจะใคร่ให้รักษาเขตต์แดนอยู่เย็นเป็นสุข อย่าให้มีเหตุร้าวฉานกันแต่สิ่งใดได้ จะได้พึ่งบุญบริบูรณ์ทั่วกัน ทางพระราชไมตรีจะได้ดีไม่รู้สิ้นสุด แต่ก่อนเมืองเขมร เมืองเวียงจันท์ เป็นเมืองขึ้น ได้ถวายของทั้ง ๒ พระนครตามอานุภาพ หามีผิดสิ่งใดไม่ เพราะได้พึ่งกรุงเวียดนามกับกรุงพระมหานครศรีอยุธยามีคุณเมตตาโอบอ้อม นานาประเทศทั้งปวงก็รู้ทั่วอยู่สิ้น เมื่อปีก่อนอนุเมืองเวียงจันท์มีทุกข์อพยพมา จะนิ่งดูอยู่ไม่ควร จึ่งให้เข้าหยุดพักอยู่เมืองแง่อาน ภายหลังอนุอ้อนวอนขอกลับไปบ้านเมือง จึ่งสั่งให้เจ้าเมืองแง่อานเกณฑ์ขุนนางกับไพร่ไปส่งให้พ้นเขตต์แดน แล้วกำชับอนุว่า ไปถึงบ้านเมืองแล้ว ให้คิดถึงตัวว่าได้กระทำผิดต่อกรุงพระมหานครศรีอยุธยา ให้แต่งคนรีบลงไปขอโทษต่อกรุงพระมหานครศรีอยุธยา จึ่งจะควร จะได้เป็นข้าขอบเขตต์ต่อไป แล้วได้ให้เลง้อนฮืกับทูตมีชื่อจำทูลพระราชสาสน์ เข้ามาแจ้งต่อกรุงพระมหานครศรีอยุธยาว่า กรุงเวียดนามจัดการเมืองเวียงจันท์ เห็นควรที่ทำคุณเมตตากับเมืองน้อย กับชอบในทางพระราชไมตรี ซึ่งจัดทั้งนี้เห็นว่าจะแจ้งสมควรอยู่แล้ว ถ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยามืพระทัยคิดถึงทางพระราชไมตรี ให้เอาพระทัยกรุงเวียดนามเป็นพระทัยกรุงพระมหานคร เมื่ออนุทำผิดมีโทษ การควรจะรบตีประการใดก็หาบอกให้กรุงเวียดนามรู้ไม่ ต่อกรุงเวียดนามให้เลง้อนฮืทูตมีชื่อเข้าไปจนกลับมาก็ยังเงียบอยู่ หามีทูตออกมาแจ้งความเหมือนแต่ก่อนไม่ จะว่าเป็นทางไมตรีอยู่ที่ไหน มิใช่แต่เท่านั้น เมื่อฤดูร้อนปีกลายนี้ สั่งเจ้าเมืองแง่อานให้จัดขุนนางผู้น้อยถือหนังสือขึ้นไปกำชับอนุ ให้ลงไปขอโทษต่อกรุงพระมหานครศรีอยุธยา นายทัพกรุงพระมหานครศรีอยุธยา ชื่อทุงวิไชย ไม่มีเหตุสิ่งใด ข่มเหงฆ่าเสีย ยังเหลืออยู่แต่เลดินยุตกับลาว ๒ คน และกล่องหนังสือว่าเอาไปส่งให้แม่ทัพ ชื่อราชสุภาวดี ส่งมาณกรุงพระมหานครศรีอยุธยา และเมื่อฤดูหนาวปีกลาย นายทัพกรุงพระมหานครศรีอยุธยา ชื่อชิตกับคนมีชื่อยกกองทัพล่วงเข้าไปเมืองกำโล เมืองถูตือตำบล จะปล่อยให้ขุนนางข้างนอกกระทำผิดอย่างธรรมเนียม ล่วงเขตต์แดนซ้ำเติมอย่างนี้จะเป็นธรรมเนียมไมตรีกันอย่างไร ถึงอนุมีโทษก็ได้ตัวไว้แล้ว แต่เมืองเวียงจันท์ว่างเปล่าอฺทู่ จนทุกวันนี้ ก็ยังหาได้บอกถึงกรุงเวียดนามไม่ จะได้จัดการรวมกันตั้งเจ้าเมืองเวียงจันท์คนใหม่ ซึ่งอนุทำผิดนั้น กระทำโทษก็ควรอยู่แล้ว เมืองเวียงจันท์หาควรเอาไว้ให้แผ่นดินว่างเปล่าไม่ และความต้น ๓ ข้อดูยังหาดีไม่ กรุงเวียดนามยังคิดถึงความดีมาแต่ก่อนกว่า ๔๐ ปีเศษมาแล้ว หาได้ขัดเคืองสิ่งใดไม่ เมื่อต้นปีนี้ได้ให้บันชุนเวียนกับทูตมีชื่อจำทูลพระราชสาสน์เข้าไปณกรุงเทพมหานครศรีอยุธยา แจ้งราชการโดยสัตย์ซื่อ จะใคร่ให้กรุงพระมหานครศรีอยุธยาคิดอ่านในทางพระราชไมตรีให้รอบคอบโดยสุจริต ครั้นอยู่มาเจ้าเมืองไซ่ง่อน บอกส่งสำเนาพระราชสาสน์กรุงพระมหานครศรีอยุธยาขึ้นมา ครั้นพิเคราะห์ดูในสำเนาพระราชสาสน์ เห็นความเลื่อนลอย ข้อที่สำคัญหามีไม่ แคลงอยู่ แล้วคิดว่ากรุงพระมหานครศรีอยุธยาจะผ่อนไมตรีลงไม่เหมือนแต่ก่อน ครั้นทูตออกมาถึงกรุงเวียดนาม ได้สั่งเลโบถามทูตด้วยข้อความทุงวิไชยกับความชิดชุมกีม หลวงนรา ทูตแจ้งว่าความ ๒ ข้อนี้ เมื่อทูตอยู่ณกรุงเทพมหานคร หาได้ยินข่าวคราวประการใดไม่ ถ้าจริงเหมือนทูตว่า ขุนนางนายทัพกรุงพระมหานครหาพ้นความผิดไม่ และกฎหมายอย่างธรรมเนียมกรุงพระมหานครศรีอยุธยาตรงอยู่ก็ไม่ละโทษทุงวิไชย กับคนมีชื่อผู้กระทำผิด ข้อ ๑ การที่จะจัดเจ้าเมืองเวียงจันท์นั้น เมืองเวียงจันท์แต่ก่อนเป็นข้าอยู่ทั้ง ๒ พระนคร บัดนี้อนุเป็นโทษ ชอบที่กรุงเวียดนามกับกรุงพระมหานครศรีอยุธยาพร้อมกันจัดแจงตั้ง จึ่งจะชอบด้วยอย่างธรรมเนียมเมืองไมตรีกัน และทูตแจ้งความว่า เมื่อทูตออกมาจากกรุงพระมหานครศรีอยุธยานั้น เจ้าพระยาราชสุภาวดีแม่ทัพยังไม่ลงมาถึง ความทั้งนี้สมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยาจะทรงคิดประการใด ทูตหาแจ้งไม่ เลโบจดหมายคำทูตใส่กระดาษแผ่น ๑ ถวาย แล้วทูตเข้าเฝ้าถวายพระราชสาสน์ ได้ถามทูตที่เฝ้า ทูตกราบทูลถูกต้องกันกับจดหมายเลโบ กราบทูลว่า ทูตย่อมคิดเห็นน้ำพระทัยกรุงพระมหานครศรีอยุธยา กรุงเวียดนามเห็นความกับคำทูตกราบทูลถูกต้องกัน คิดเห็นว่า น้ำพระทัยกรุงพระมหานครศรีอยุธยายังจะทรงคิดเหมือนคำทูตว่า ถ้าจริงอย่างนั้นแล้ว ทางพระราชไมตรีทั้ง ๒ พระนครจะได้เจริญยิ่งขึ้นไป จะไม่ได้ร้าวฉานจากความดีแต่ก่อน จึ่งสั่งให้เลโบเลี้ยงดูทูต แต่งพระราชสาสน์ จัดสิ่งของทรงยินดีมอบให้ทูตคุมเข้าไป ขอให้กรุงพระมหานครศรีอยุธยาทราบความก่อน กรุงเวียดนามจะใคร่ให้ทางพระราชไมตรีรอบคอบยืดยาว อย่าให้เสียสิ่งใด แต่นี้ไปเมืองขึ้นและนานาประเทศทั้งปวงจะได้สรรเสริญนบนอบ ๒ พระนครว่า มีทางไมตรีเสมอต้นเสมอปลาย และครั้งนี้กรุงพระมหานครศรีอยุธยาจัดสิ่งของเกินออกมานั้น ไมตรีอยู่ที่อย่างธรรมเนียมยุตติธรรม ไม่ได้อยู่ที่สิ่งของมากและน้อย จึ่งสั่งให้เจ้าพนักงานรับสิ่งของ ๗ สิ่ง ของเหลือนั้นมอบให้ทูตคุมคืนเข้ามา กรุงเวียดนามกับกรุงพระมหานครศรีอยุธยาเป็นทางไมตรีรักใคร่กันมาแต่ก่อนฉันใด ขอให้ทางพระราชไมตรีเสมอต้นเสมอปลายเหมือนแต่ก่อน กรุงเวียดนามจัดการทางพระราชไมตรีมาทั้งนี้ ขอให้กรุงพระมหานครศรีอยุธยาทรงคิด จะชอบหรือมิชอบ และสิ่งของซึ่งตอบแทนไปมาถึงกันนั้น ถึงจะน้อยก็เป็นทางพระราชไมตรี ทำต้องด้วยอย่างธรรมเนียมแล้ว ทางพระราชไมตรีก็จะยืนยาวสืบไปชั่วฟ้าและดิน ถ้าไม่ทำดังนี้แล้ว เหมือนทิ้งที่ดีหาที่ร้าย และการทั้งนี้กรุงเวียดนามว่ากล่าวมา เห็นถูกต้องประเพณีซึ่งตั้งอยู่ในยุตติธรรมทุกประการแล้ว กรุงพระมหานครศรีอยุธยาจะจัดประการใดก็สุดแต่กรุงพระมหานครนั้นเถิด เบื้องบนมีเทวดา เบื้องล่างนานาประเทศจะเห็นคดและตรง กรุงเวียดนามไม่ต้องว่ามากไปแล้ว พระราชสาสน์มาณวันจันทร์ เดือน ๗ แรม ๑๑ ค่ำ[๒] มินมาง ๑๐[๓] ปีฉลูเอกศก

พระราชสาสน์ฉะบับนี้ไม่ได้ตัดรอน เพราะจะให้ท่านผู้อ่านฟังสำนวนญวนเล่น

พระราชสาสน์อีกฉะบับ ๑ ใจความวิงวอนแต่จะขอเอาตัวพระยาณรงควิไชย พระวิชิตสงคราม หลวงนรา ไปอย่างเดียว แล้วลำเลิกเข้ามาว่าญวนได้ซื่อตรงต่อกรุงเทพมหานคร พะม่ามีราชสาสน์ไปชวนให้เข้ามาตีกรุงเป็นศึกกระหนาบ ถ้าได้แล้วจะแบ่งเขตต์แดนกันคนละครึ่ง พระเจ้ากรุงเวียดนามก็มิได้รับ ประการ ๑ สำเภาหลวงแต่งไปค้าขายเมืองจีน ถูกพายุซัดเข้าเมืองญวน พระเจ้ากรุงเวียดนามก็เอาธุระเหมือนกับของพระเจ้ากรุงเวียดนามเอง ประการ ๑ เขมรป่าดง เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ เมืองขุขันธ์นั้น ตื่นกบฏหนีเข้าไปในเขตต์แดนกรุงเวียดนาม ๆ สั่งให้จ่ายสะเบียงอาหารให้แล้ว ให้กลับไปอยู่บ้านเมืองตามเดิม

หนังสือองเลโบถึงเจ้าพระยาพระคลังฉะบับ ๑ ใจความว่าเมื่อต้นฤดูหนาวปีกลายนี้ ขุนนางณกรุงเทพมหานครศรีอยุธยาชื่อชุมกีมคุมกองทัพล่วงเกินเข้าไปในเมืองกำโล เมืองถูตือ ตำบลเป็นเขตต์แดนกรุงเวียดนาม ความ ๒ ข้อซึ่งกระทำผิดเกินดั่งนี้หาชอบที่ผู้สัตย์ธรรมจะฟังไม่ และอนุแต่ก่อนเป็นข้า ๒ พระนคร ครั้นจับตัวได้แล้ว ที่เมืองเวียงจันท์จะไว้นิ่งดูให้ว่างเปล่าอยู่ จะคิดจัดตั้งผู้ใดเป็นเจ้าเมืองเวียงจันท์ กรุงเทพมหานครศรีอยุธยาก็หาบอกออกไปให้รู้ด้วยไม่ จะได้ตั้งให้พร้อมด้วยกัน กรุงพระมหานครศรีอยุธยาจะใคร่ได้แผ่นดินและไพร่บ้านพลเมืองเวียงจันท์แต่ฝ่ายเดียวหรือ จึ่งไม่บอกออกไปให้รู้ ความข้อนี้ยังสงสัยคลางแคลงเป็นอันมาก

ทรงทราบความในพระราชสาสน์ และหนังสือเลโบแล้ว จึ่งทรงพระราชดำริว่า เจ้ากรุงเวียดนามขัดเคืองจนถึงลำเลิก แล้วจึ่งคิดปัญญาบ้าขึ้นมาอย่างไรก็ไม่รู้ จะต้องแต่งทูตไปเกลี้ยกล่อมเสีย

ในปีนั้นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ถวายช้างสีประหลาดทอกงาเดียวช้าง ๑ สูง ๓ ศอก ๖ นิ้ว ถึงกรุงเมื่อณวันพฤหัสบดีเดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ[๔] พระราชทานชื่อขึ้นระวางเป็น พระบรมเอกทันต์ สรรพศุภลักษณ์ ศักดิดามพคชาพรรณพิจิตร สฤษดิรัตนมงคล พาหนเลิศฟ้า



[๑] วันที่ ๑ พฤศจิกายน

[๒] เสาร์ที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๗๒

[๓] หมายถึงศักราชแผ่นดินมินมางแห่งประเทศญวน

[๔] วันที่ ๑๑ มีนาคม

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ