๒๔๘. เกณฑ์ทัพเมืองเหนือไปตีเมืองเชียงตุง

ฝ่ายเจ้าเมืองหลวงพระบาง ก็ส่งตัวอุปราชกับมารดาและท้าวขุนนายครัวลงมาเฝ้า ได้ทราบการเมืองเชียงรุ้งแล้ว ทรงพระราชดำริว่า เมืองเชียงรุ้งนี้ถ้าตัดเมืองเชียงตุงเสียได้ก็จะเป็นสิทธิฝ่ายเรา จึ่งโปรดให้มีตราเกณฑ์ทัพเมืองเชียงใหม่ไปตีเมืองเชียงตุง ฝ่ายเจ้าเมืองเชียงใหม่ทราบท้องตราแล้ว จึ่งเกณฑ์กองทัพเมืองเชียงใหม่ ๕,๐๐๐ คน แล้วเกณฑ์เมืองนครลำปาง ๑,๐๐๐ คน เมืองลำพูน ๑,๕๐๐ คน ปรึกษาพร้อมกัน ให้พระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่เป็นแม่ทัพใหญ่กอง ๑ พระยารัตนเมืองแก้ว[๑] กอง ๑ นายหนานธรรมปัญโญ[๒] กอง ๑ นายน้อยดาวเรือง[๓] เมืองลำพูนกอง ๑ รวม ๔ กอง ยกขึ้นไปทางเมืองเชียงราย พระยาราชบุตรกอง ๑ นายน้อยพรหม นายหนานสุริยวงศ์กอง ๑ นายน้อยมหาวงศ์กอง ๑ นายน้อยมหาพรหมกอง ๑ นายน้อยเทพวงศ์กอง ๑ เมืองลำพูน พระยาอุปราชกอง ๑ พระยารัตนเมืองแก้วกอง ๑ พระยาราชบุตรกอง ๑ รวม ๘ กองยกขึ้นไปทางเมืองสาท ยกไปเดือน ๓ แรม ๘ ค่ำ กำหนดให้ถึงพร้อมกันที่เมืองเชียงตุงณเดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ[๔]

ฝ่ายมหาชัยเมืองเชียงรุ้ง ซึ่งอพยพมาอาศัยอยู่เมืองหลวงภูคาในเขตต์เมืองน่าน พระยาน่านจะส่งตัวลงมากรุงเทพฯ ก็ดื้อดึงอยู่ ไม่ลงมา จึ่งโปรดให้พระยาศรีสหเทพ (ปาน) ขึ้นไปเกลี้ยกล่อมเอาตัวลงมาให้จงได้ ท้าวขุนนายครัวรู้ว่ามีข้าหลวงขึ้นไปเอาตัว ก็พากันแตกหนีกลับไปเมืองเชียงรุ้งเสียเป็นอันมาก ได้แต่ตัวมหาชัย ส่วนครอบครัวนั้น พระยาน่านกันครอบครัวไว้ได้ ๑,๘๐๐ คนเศษ ให้มาตั้งอยู่เมืองเชียงของแขวงเมืองน่าน พระยาศรีสหเทพก็พาตัวมหาชัยลงมาถึงกรุงเมื่อณเดือน ๔



[๑] ชื่อหนานสุริยวงศ์ ภายหลังได้เป็นพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ พระเจ้านครเชียงใหม่

[๒] ต่อมาได้เป็นเจ้าอุปราชเมืองเชียงใหม่

[๓] ภายหลังได้เป็นเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ เจ้านครลำพูน

[๔] อังคารที่ ๒๖ กุมภาพันธ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ