๒๕๗. การปฏิสังขรณ์และสร้างพระอาราม

การพระราชกุศลนั้น ก็ได้ให้บูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามใหญ่น้อยบ้าง สร้างขึ้นใหม่บ้าง ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (พระอุโบสถ) ก็ให้เปลี่ยนเครื่องบน ที่ชำรุดก็เปลี่ยนตัวไม้สิ้นทั้งหลัง และทำพระพิหารยอดขึ้นข้างทิศเหนือองค์ ๑ และซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ในวัดทั่วทุกแห่งทุกตำบล พระระเบียงนั้นให้เขียนใหม่ แล้วทรงพระราชดำริว่า พระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รับสั่งให้ช่างทำพระมณฑปหุ้มทองคำเสร็จแล้ว ประดิษฐานพระแก้วเข้าไว้ในนั้น แล้วทำเครื่องต้นถวายเมื่อเวลาคิมหันตฤดูๆ ๑ เวลาวัสสันตฤดูทรงห่มดอง เหมันตฤดูนั้นหามีไม่ จึ่งได้ทำถวายสำหรับเหมันตฤดูอีกฤดู ๑ ทรงคลุม จึ่งได้เปลี่ยนพระเครื่องทั้ง ๓ ฤดูมาจนทุกวันนี้ ได้ทรงสร้างพระฉลองพระองค์หุ้มทองคำเครื่องต้นก็หลายพระองค์ และพระพุทธรูปหล่อด้วยเงินเท่าพระชันษาหนักองค์ละ ๑๐ ตำลึง เป็น ๖๔ พระองค์ อยู่ในราชสมบัติมีเศวตฉัตรกั้น ๒๗ พระองค์ และทรงสร้างพระปริยัติธรรมที่มีอยู่ในกรุงเทพมหานคร แล วิจิตรไปด้วยผ้าห่อและสายรัด ครอบสลักทำด้วยงาบ้าง ลายมุกด์บ้าง ขุดไม้ฝังลายบ้าง

พระพุทธบาทที่เมืองปรันตปะนั้น พระมณฑปชั้นในไฟไหม้ โปรดให้พระยาพิชัยสงคราม (เพ็ชร์) ขึ้นไปทำใหม่ ทั้งมณฑปชั้นนอกซ่อมแซมด้วย สถาปนาขึ้นให้งามดีดังเก่า

การในพระนครที่ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนนั้น ก็ทำเพิ่มเติมขึ้นอีกเป็นอันมาก ทั้งบริเวณพระอุโบสถนั้นก็ทำใหม่ให้ใหญ่สูงขึ้น แล้วได้ทำพระพิหารพระพุทธไสยาศน์หลัง ๑ ทรงสร้างพระพุทธไสยาศน์ขึ้นพระองค์ ๑ ยาว ๙๐ ศอก พระเจดีย์สูง ๑ เส้น ๒ ศอก ๒ พระองค์ พระเจดีย์รายรอบพระระเบียงชั้นนอกอีกชั้น ๑ ก่อภูเขาทำศาลารายเพิ่มเติมให้ดีขึ้นไปทุกสิ่ง การสิ่งใดนอกจากจดหมายไว้ในแผ่นศิลา เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้จารึกไว้แล้ว ก็เป็นส่วนของในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งสิ้น จะพรรณนาก็ยืดยาวนัก ฝ่ายข้างกุฏิสงฆ์ก็ทำเป็นตึกขึ้นทั้งสิ้น

ทรงพระราชดำริว่า วัดพระโตเสาชิงช้า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย เมื่อปลายแผ่นดินก็โปรดให้ทำพิหารใหญ่ขึ้น การยังไม่ทันแล้วเสร็จ เชิญเสด็จพระศรีศากยมุนีขึ้นประดิษฐานไว้ การที่อื่นยังมิได้ทำ ก็พอสิ้นแผ่นดินไป ครั้งนี้จะต้องทำเสียให้เป็นวัดขึ้นให้ได้ จึ่งให้พระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษาเป็นแม่กองดูทั่วไปทั้งวัด ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทักษเทเวศร ทำพระอุโบสถใหญ่และพระระเบียงล้อมพระวิหาร การนั้นก็แล้วสำเร็จทั่วทุกแห่งทั้งกุฏิสงฆ์ด้วย จึ่งให้อาราธนาพระธรรมไตรโลกอยู่วัดเกาะแก้ว ตั้งเป็นพระพิมลธรรมเป็นเจ้าอธิการ จัดเอาพระภิกษุในวัดพระเชตุพน วัดมหาธาตุ วัดราชบุรณะ รวมได้ ๓๐๐ รูปไปอยู่เป็นอันดับ พระราชทานชื่อวัดสุทัศน์เทพวราราม

วัดมหาธาตุนั้น พระอุโบสถวิหารนั้นซ่อนแซมของเก่า กุฏิสงฆ์นั้นทำเป็นตึกทั้งสิ้น

วัดราชบุรณะนั้น ซ่อมแซมของเก่า ทำเพิ่มเติมขึ้นใหม่แต่พระปรางค์องค์ ๑

วัดชะนะสงครามนั้น ซ่อมแซมของเก่าที่ชำรุดไปให้ดีขึ้น สร้างขึ้นใหม่ วัดเทพธิดา ๑ วัดราชนัดดา ๑

นอกกำแพงพระนคร วัดสระเกศนั้น โปรดให้พระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา เป็นแม่กองทำพระปราค์ใหญ่องค์ ๑ ฐานเป็นไม้ ๑๒ เหลี่ยม ด้าน ๑ ยาว ๕๐ วา ขุดรากลึกลงไปถึงที่โคลนแล้วเอาหลักแพตั้งต้นเป็นเข็ม ห่มลงไปจนเต็มที่แล้ว เอาไม้ซุงทำและปูเป็นตารางแล้ว เอาศิลาแลงก่อขึ้นมาเกือบเสมอดินจึ่งก่อด้วยอิฐ ในระหว่างองค์พระนั้น เอาศิลาก้อนซึ่งราษฎรเก็บมาขายบรรจุลงไปจนเต็ม การก่อขึ้นไปได้ถึงชั้นทักษิณที่ ๒ ศิลาที่บรรจุข้างในกดหนักลงไปจนระเบิดออกและทรุดลงไปถึง ๙ วา อิฐที่ก่อหุ้มข้างนอกนั้นก็แตกร้าวรอบไปทั้งองค์ ของนี้ไม่ทะลาย ก็เพราะทรุดกลางกดกันลงไป พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาให้ขุดดินริมฐานพระชันสูตรดู ก็พบศีร์ษะและระเบิดขึ้นมาหมด จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขอแรงพระราชวงศานุวงศ์ และขุนนางข้าราชการที่ตามเสด็จพระราชทานพระกฐิน ผู้คนยังพรักพร้อมอยู่ ให้ปักเสาหลักแพเป็นหลักมั่นกันแน่นหลายชั้น กันฐานพระไม่ให้ดินถีบออกไป สิ้นไม้หลักแพหลายพัน แล้วก็จับการก่อแก้ไขที่ทรุดแตกร้าวนั้นเสียให้ดี องค์พระปรางค์ก็ทรุดหนักลงมาอีก ๓ วา เห็นจะแก้ไขไม่ได้แล้วก็เลิกการนั้นเสีย จึ่งทำแต่การอื่นต่อไป สร้างพระวิหารไว้ พระอัฏฐารส ศรีสุคตทศพลญาณบพิตร สูง ๒๔ ศอก ๔ นิ้ว ซึ่งได้มาแต่วัดพิหารทองเมืองพิษณุโลก แล้วก็ให้ทำกุฏิสงฆ์เป็นตึกทั้งสิ้น และการอื่น ๆ ทั่วทั้งวัด ให้ทำเมรุมีพลับพลาโรงครัวระทาดอกไม้ไว้พร้อมทุกสิ่งสำหรับเป็นทาน

วัดบพิตรพิมุข เป็นวัดของกรมพระราชวังหลังบุรณะวัด ๑ วัดเกาะแก้ว ๑ เป็นวัดของกรมหลวงพิทักษ์มนตรีปฏิสังขรณ์ไว้แต่ก่อน ชำรุดไป ให้ซ่อมแซมและทำกุฏิสงฆ์ขึ้น

วัดคอกกระบือนั้น ให้ทำสำเภาด้วยเครื่องก่อไว้หลังพระอุโบสถลำ ๑ ยาว ๑ เส้น ด้วยทรงเห็นว่านานไปจะไม่มีผู้เห็นสำเภา จึงให้ทำขึ้นไว้เป็นสำเภาโลกอุดร พระราชทานชื่อว่าวัดยานนาวา

ฝั่งตะวันตกนั้น วัดทองธรรมชาติวัด ๑ นั้น เดิมพระองค์เจ้ากุ[๑] และกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์บุรณะมาแต่ก่อน ครั้นทรุดโทรมไปก็โปรดพระราชทานเงินหลวงให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนเดชอดิศรเป็นแม่กองไปทำขึ้นฉลองพระเดชพระคุณที่ได้ไปอยู่วังของท่าน

วัดอรุณราชวรารามวัด ๑ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัยทรงปฏิสังขรณไว้ยังไม่สำเรจ บุรณะต่อไป พระปรางค์เดิมเป็นของโบราณ สูง ๘ วา ให้ก่อหุ้มขึ้นใหม่ สูง ๓๕ วา[๒] กุฏิสงฆ์เป็นฝาขัดแตะถือปูน ก็ให้ทำเป็นตึกทั้งสิ้น การอื่นก็เพิ่มเติมขึ้นอีกเป็นหลายสิ่งทั่วไปทั้งพระอาราม วัดโมฬีโลกวัด ๑

แต่วัดหงส์นั้นเป็นของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์บุรณะมาแต่ก่อน ก็โปรดให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์เป็นแม่กองทำเพิ่มเติมขึ้นอีก วัดราชสิทธิ์ ๑

แต่วัดสังข์กระจายนั้นเป็นของคุณแว่น พระสนมเอกในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกบุรณะไว้ ก็โปรดให้สถาปนาขึ้นใหม่ วัดปากน้ำ ๑

วัดหมูนั้นโปรดให้สถาปนาขึ้นใหม่ พระราชทานให้เจ้าจอมน้อยพระสนมเอกเป็นเจ้าของ พระราชทานชื่อวัดอับสรสวรรค์

วัดหนังนั้น เป็นของสมเด็จพระศรีสุลาลัยบุรณะขึ้นไว้ วัดนางนองเป็นของหลวงบุรณะ ก็ได้ทรงปฏิสังขรณ์

วัดจอมทองเป็นวัดข้าหลวงเดิม ได้ทรงกระทำมาแต่ยังเป็นกรมอยู่ ทำแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย พระราชทานชื่อวัดราชโอรสสุธาราม

ในคลองบางกอกน้อยนั้น บุรณะวัดอมรินทราราม เป็นของกรมพระราชวังหลัง ๑ วัดสุวรรณ ๑

ในคลองมอญวัด ๑ เจ้าจอมเครือวัลย์บุตรีเจ้าพระยาอภัยภูธรสร้างใหม่ การยังไม่แล้ว ก็ถึงแก่กรรมเสีย จึ่งโปรดให้ทำต่อไป วัดนั้นแล้วพระราชทานชื่อวัดเครือวัลย์วรวิหาร วัดพระยาทำ ๑ วัดนาคกลาง ๑

ในคลองบางพรหมก็ให้บุรณะวัดเงิน วัดทอง ๒ วัดนี้ เป็นวัดของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์บุรณะปฏิสังขรณ์ไว้แต่ก่อน

ลำแม่น้ำเหนือเมือง วัดภคินีนาถวัด ๑ เป็นวัดของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงเทพยวดีฝ่ายใน วัดดุสิตวัด ๑ วัดบวรมงคลวัด ๑ เป็นวัดของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแผ่นดินที่ ๒ ฝั่งข้างตะวันออกกรุงเทพมหานคร วัดสมอราย ๑

เมืองนนท์ สร้างใหม่วัดเฉลิมพระเกียรติ ก่อพระเจดีย์ใหญ่ สูง ๑ เส้น ๗ วา หล่อพระประธาน หน้าตักกว้าง ๖ ศอก ไว้ในพระอุโบสถองค์ ๑

กรุงเก่า วัดสุวรรณดาราราม เป็นวัดของสมเด็จพระอัยยกาธิราชครั้งกรุงเก่า

วัดอัมพวันเจติยาราม เมืองสมุทรสงครามวัด ๑ เป็นวัดของสมเด็จพระอัยยิกาฝ่ายสมเด็จพระอมรินทรามาตย์

รวมวัดที่ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ในพระนครนอกพระนคร ๓๕ วัด สร้างขึ้นใหม่ ๔ วัด รวม ๓๙ วัด[๓] สิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก

วัดเจ้าและวัดขุนนางสร้างถวายเป็นวัดหลวงก็มี ไม่ได้ถวายก็มี กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสร้างใหม่ วัดบวรนิเวศวัด ๑ วัดบวรสถานฝ่ายในพระบวรราชวังวัด ๑ วัดไพชยนต์พลเสพวัด ๑ กรมขุนอิศรานุรักษ์สร้างวัดรังศรีสุทธาวาสวัด ๑ บุรณะวัดทองในคลองบางจากวัด ๑ กรมหมื่นเสนีเทพ สร้างขึ้นที่สามง่ามในกรุงวัด ๑ ยังค้างอยู่ พระยามหาอำมาตย์สร้างต่อ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อวัดบุรณศิริมาตยาราม ตามชื่อเดิมของพระยามหาอำมาตย์ ชื่อบุญศิริ พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอรณพสร้างใหม่วัด ๑ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อวัดมหรรณพาราม พระราชทานเงินช่วยถึง ๑,๐๐๐ ชั่ง กรมสมเด็จพระปรมานุชิตสร้างวัด ๑ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อวัดชิโนรสาราม กรมหมื่นสุรินทรรักษ์สร้างวัด ๑ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อวัดเศวตฉัตร กรมขุนเดชอดิศรปฏิสังขรณ์วัดราชคฤหวัด ๑ เป็นวัดของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เจ้าขรัวตาของท่าน กรมหมื่นพิทักษเทเวศบุรณะวัดสมอแครงวัด ๑ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อวัดเทวราชกุญชร เจ้าพระยาพระคลังสร้างขึ้นใหม่ วัดประยูรวงศาวาสวัด ๑ พระเจดีย์องค์ ๑ สูง ๑ เส้น ๑๐ วา ศอก ๑ คืบ บุรณะวัดมะกอกซึ่งเป็นวัดของเจ้าคุณมารดาท่าน ครั้นแล้วพระราชทานชื่อวัดนวลนรดิศวัด ๑ พระยาศรีพิพัฒน์สร้าง วัดมหาพิชัยญาติวัด ๑ สร้างพระปรางค์ สูง ๑ เส้น ๕ วา บุรณะวัดประดู่วัด ๑ คุณหญิงน้อยสร้างใหม่วัดอนงคนิกายาราม เจ้าพระยาบดินทรเดชาบุรณะวัดสามปลื้ม เป็นวัดของบิดาท่านบุรณะมาแต่ก่อน พระราชทานชื่อวัดจักรวรรดิ์ สร้างขึ้นใหม่อีกวัด ๑ พระราชทานชื่อวัดปรินายก ค้างอยู่ไม่สำเร็จ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ยกที่บ้านเดิมของท่านแล้วซื้อบ้านข้าราชการและบ้านเจ๊สัว เจ้าภาษี นายอากรอื่นอีกหลายบ้านสร้างเป็นวัดใหญ่ พระราชทานชื่อวัดกัลยาณมิตรวัด ๑ แต่วิหารใหญ่เป็นของหลวง เจ้าพระยาธรรมา (เสือ) บุรณะวัดไก่เตี้ยวัด ๑ พระยาศรีสุริยวงศ์กับจมื่นราชามาตย์ ช่วยกันบุรณะวัดดอกไม้ เป็นวัดโบราณ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่อวัดบุบผาราม พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน) บุรณะวัดทองนพคุณวัด ๑ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (บุญมา) สร้างใหม่ วัดโชตินารามวัด ๑ พระยาสุรเสนา (ขุนเณร) บุรณะวัดจันทารามบางยี่เรือวัด ๑ พระยาศรีสหเทพ (เพง) บุรณะวัดอินทารามบางยี่เรืออีกวัด ๑ พระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) บุรณะวัดขุนจันทร์วัด ๑ พระยามหาเทพ (ปาน) บุรณะวัดดาวดึงศ์ เป็นของคุณแว่นเจ้าจอมสนมเอกบุรณะมาแต่ก่อนวัด ๑ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (จ๋อง) บุรณะวัดนางชีวัด ๑ วัดในคลองบางยี่ขันซึ่งเป็นวัดของท่านมารดาวัด ๑ วัดคูหาสวรรค์นั้นโปรดให้เจ้าพระยามหาโยธาไปบุรณะขึ้นวัด ๑ พระยาสวัสดิ์วารีบุรณะวัดปทุมคงคาวัด ๑ พระยาเพ็ชรพิไชย (เกษ) สร้างวัดในคลองลัดใหม่ ชื่อวัดโปรดเกศเชษฐารามวัด ๑

รวมเจ้าและขุนนางสร้างขึ้นใหม่สิ้น ๕ วัด บุรณะวัด ๒๕ วัด รวม ๓๐ วัด ที่ถวายเป็นพระอารามหลวงก็ได้พระราชทานเงินช่วย

เจ้าและขุนนางเจ๊สัวราษฎรผู้มีทรัพย์ พระราชาคณะสร้างไว้ในสวนในบางและหัวเมืองก็หลายที่หลายแห่ง ไม่เป็นวัดใหญ่จึงไม่ได้พรรณนาไว้

ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชศรัทธาชักโยงพระวงศานุวงศ์และข้าราชการเศรษฐีผู้มีทรัพย์ทำบุญให้ทานสร้างวัดวาอารามมีเทศนา วังเจ้าและบ้านขุนนางตามชาวบ้านชาวแพเป็นอันมาก เป็นสมัยกาลสัทธาพากันสร้างวัดมีเทศนา ในแผ่นดินนั้น พระสงฆ์สามเณรอุตสาหะเล่าเรียนพระไตรปิฎกทั้งในกรุงนอกกรุงและหัวเมืองเป็นอันมาก ถึงคราวไล่หนังสือ พระสงฆ์สามเณรก็ได้เป็นเปรียญเอก โท ตรี คราว ๑ เป็นอันมาก ถ้าพระสงฆ์ที่ได้แปลพระคัมภีร์เป็นเปรียญ และพระเปรียญได้เลื่อนเป็นพระราชาคณะแล้ว ญาติโยมที่ตกทุกข์ได้ยากเป็นไพร่หลวงไพร่สมอยู่ก็ดี โปรดยกพระราชทานให้เป็นโยมสงฆ์ ถ้าลาสิกขาบทแล้วจะไปทำราชการอยู่ในกรมใดก็โปรดให้ตามใจสมัคร

แล้วโปรดให้หล่อพระพุทธรูปที่ใหญ่ ไว้ในพระอุโบสถวัดสุทัศน์ ๑ วัดเฉลิมพระเกียรติ ๑ วัด ราชนัดดาราม ๑ วัดปรินายก ๑ พระทรงเครื่องไว้วัดนางนอง ๑

เมื่อยังไม่ได้ผ่านพิภพ เสด็จอยู่วังนอกก็ได้ตั้งโรงทานให้ทานจตุปัจจัยสมณบริกขาร ให้มีเทศนาเป็นธรรมทาน ให้อาจารย์บอกพระคัมภีร์ ให้เลี้ยงยาจกวณิพกทุกเวลา ให้ทานยาแก้โรคต่างๆ ถึงวันพระก็ให้ปล่อยสัตว แจกเงินแก่คนสูงอายุและคนยากเดือนละ ๘ ครั้ง คนละเฟื้องเสมอเป็นนิตย์ ครั้นได้เถลิงศิริราชสมบัติแล้วก็ได้โปรดให้ทำเก๋งโรงทานขึ้นใหม่ที่ริมกำแพงพระราชวังด้านข้างแม่น้ำให้ทานเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่บริจาคพระราชทรัพย์มากออกไป

ฤดูสำเภาออก ก็พระราชทานข้าวกล้องมอบให้จุ้นจู๊ลำละ ๕๐ ถังบ้าง เกวียน ๑ บ้าง ออกไปให้ทานคนโซที่เมืองจีนทุกๆ ลำ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอื่นอีกเป็นหลายอย่างหลายประการ เป็นอเนกปริยายเหลือที่จะพรรณนา

ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประพาศที่ใดตำบลใดเลย เสด็จแต่ฤดูประทานผ้าพระกฐินคราวหนึ่งเท่านั้น เมื่อต้นแผ่นดินก็ได้เสด็จไปประทานผ้าพระกฐินวัดนอกเมืองสมุทรปราการครั้ง ๑ ไปกระบวนพยุหเรือ เรือกระบวนนำและตามสวมเสื้อหมวกสอดกางเกงทุกลำ ข้าราชการที่ตามเสด็จสวมเสื้อเข้มขาบ คาดรัดประคต โพกฟ้าสีทับทิมติดขลิบทุกนาย

ละครผู้หญิงก็ไม่ได้ทรง ทรงแต่พระราชกุศลและการแผ่นดิน

สมเด็จพระบรมนารถบพิตรพระเจ้าอยู่หัว มีช้างเผือกตรีสีทองแดงเลบครบ เล็บรอบ เอกทันต์ ช้างกระ รวมพลายพัง ๒๐ ช้าง พระเทพกุญชรเผือก ๑ พระยาเศวตกุญชร ๑ พระบรมฉัททันต์สีทองแดง ๑ เป็นราชพาหนะช้างต้นมาแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ม้าต้นม้าเทศม้าไทยขึ้นระวางตามชื่อในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็มีเป็นอันมาก พระยาถลางจัดซื้อม้าเทศที่เมืองเกาะหมากม้า ๑ ราคา ๘๐๐ เหรียญ ขาวบริสุทธิ์ทั้งตัว จักษุขาวขนขาวละเอียดอ่อน สูง ๓ ศอก ๑๐ นิ้ว รูปงามนัก จะว่าม้าเผือกก็ว่าได้ โปรดให้ขึ้นระวาง พระราชทานชื่อพระสังขรัศมี ครั้นล้มเสียแล้ว โปรดให้หาจัดซื้ออย่างนั้นอีกก็ไม่ได้



[๑] กรมหลวงนรินทรเทวี

[๒] สูง ๑ เส้น ๑๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๑ นิ้ว

[๓] ปรากฏในตำนานวัตถุสถานที่ทรงสร้างในรัชชกาลที่ ๓ รวมจำนวนได้ ๗๓ วัด

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ