๕๑. ส่งอนุกับครอบครัวลงมากรุงเทพ ฯ

เจ้าพระยาราชสุภาวดี จึงให้พระอนุรักษโยธา พระโยธาสงคราม หลวงเทเพนทร์ พระนครเจ้าเมืองขอนแก่น ราชวงศ์เมืองชนบท กับไพร่ ๓๐๐ คนคุมตัวอนุกับครอบครัวลงมาส่งถึงเมืองสระบุรี พระยาพิไชยวารีขึ้นไปตั้งรับครอบครัวและส่งสะเบียงอยู่ที่นั้น ก็ทำกรงใส่อนุตั้งประจานไว้กลางเรือ ให้พระอนุรักษ์โยธา พระโยธาสงคราม ตระเวนลงมาถึงกรุงเทพมหานครณวันเดือนยี่ ขึ้น ๑๑ ค่ำ[๑] โปรดให้จำไว้ทิมแปดตำรวจ บุตรหลานผู้หญิงและภรรยาน้อยนั้นก็ส่งไปเป็นชาวสะดึงทั้งสิ้น แล้วรับสั่งให้ทำที่ประจานลงที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ทำเป็นกรงเหล็กใหญ่สำหรับใส่อนุ มีรั้วตารางล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน มีกรงเหล็กน้อย ๆ สำหรับใส่บุตรหลานภรรยาอนุถึง ๑๓ กรง มีเครื่องกรรมกรณ์คือ ครก สาก สำหรับโขลก มีเบ็ดสำหรับเกี่ยวแขวน มีกะทะสำหรับต้ม มีขวานผ่าอก มีเลื่อยสำหรับเลื่อยไว้ครบทุกสิ่ง แล้วตั้งขาหย่างเสียบเป็น เวลาเช้า ๆ ไขอนุกับอ้ายโยปาศัก ๑ อ้ายโปสุทธิสาร ๑ อ้ายเต้ ๑ อ้ายปาน ๑ อ้ายดวงจันทร์ ๑ อ้ายสุวรรณจักร ๑ อ้ายปัน ๑ บุตรอนุ ๗ คน อีคำปล้องภรรยาอนุ ๑ อ้ายสุริยะ ๑ อ้ายง่วนคำใหญ่ ๑ อ้ายปาน ๑ อ้ายคำบุ ๑ อ้ายดี ๑ หลานอนุห้าคน รวม ๑๔ คน ออกมาขังไว้ในกรงจำครบแล้ว ให้นางคำปล้องซึ่งเป็นอัครเทพีถือพัดกาบหมาก เข้าไปนั่งปรนนิบัติอยู่ในกรง ให้นางเมียน้อยสาว ๆ ซึ่งเจ้าพระยาราชสุภาวดีส่งลงมาอีกครั้งหลังนั้น แต่งตัวถือกะบายใส่ข้าวปลาอาหารไปเลี้ยงกันที่ประจาน ราษฎรชายหญิงทั้งในกรุงทั้งนอกกรุงพากันมาดูแน่นอัดไปทุกเวลามิได้ขาด ที่ลูกผัวญาติพี่น้องต้องเกณฑ์ไปทัพตายเสียครั้งนั้นก็มานั่งบ่นพรรณนาด่าแช่งทุกวัน ครั้นเวลาบ่ายแดดร่มก็เอาบุตรหลานที่จับได้มาขึ้นขาหย่างเป็นแถวกันไปร้องประจานโทษ ต่อเวลาจวนพลบก็เอาเข้ามาจำไว้ที่ทิมดังเก่า ทำดั่งนี้อยู่ได้ประมาณ ๗ วัน ๘ วัน พออนุป่วยเป็นโรคลงโลหิตก็ตาย โปรดให้เอาศพไปเสียบประจานไว้ที่สำเหร่ การที่จะประหารชีวิตบุตรหลานญาติพี่น้องนั้น ก็สงบเงียบไป อนุนั้นเกิดเมื่อปีกุนนพศก[๒] เมื่อตายอายุได้ ๖๐ ปี



[๑] พฤหัสบดีที่ ๑๕ มกราคม

[๒] พ.ศ. ๒๓๑๐

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ