๒๔๐. ลงพระราชอาชญาสำเร็จโทษกรมหลวงรักษรณเรศ และประหารชีวิตบ่าว ๓ คน

ครั้นมาถึงเดือน ๑ พระยาธนูจักรรามัญทำฎีกาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย กล่าวโทษกรมหลวงรักษรณเรศว่า ชำระความของตัวไม่ยุตติธรรม กดขี่บุตรชายว่าเป็นผู้ร้ายย่องเบาลักเอาเงินทองสมิงพิทักษ์เทวาไปเงิน ๒๐ ชั่ง สมิงพิทักษ์เทวาเป็นโจทก์ จึ่งโปรดให้ประชุมเสนาบดีชำระใหม่ ก็ได้ความจริงว่า บุตรพระยาธนูจักรมิได้เป็นผู้ร้าย ๆ นั้นคือบุตรเขยของสมิงพิทักษ์เทวานั้นเอง ครั้งสมิงพิทักษ์เทวาโจทก์แพ้แก่พระยาธนูจักร ทรงขัดเคืองกรมหลวงรักษรณเรศรว่า ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงให้เป็นผู้ใหญ่ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยต่างพระเนตรพระกรรณ ก็ไม่ตั้งอยู่ในยุตติธรรมกดขี่หักหาญ ถ้อยความผิด ๆ อย่างนี้คงมีหลายเรื่องมาแล้ว เพราะด้วยอ้ายพวกละครชักพาให้เสียคน จึ่งให้ตระลาการค้นหาความอื่นต่อไปให้ได้ความว่า กรมหลวงรักษรณเรศชำระคดีของราษฎรมิได้เป็นยุตติธรรม ด้วยพวกละครรับสินบนทั้งฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลย แล้วก็คงหักเอาชะนะจงได้ แล้วเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง ชั้นแต่ลอยกะทงก็ไปลอยกรุงเก่าบ้าง เมืองนครเขื่อนขันธ์บ้าง เอาธรรมเนียมที่ในหลวงทรงลอย พวกละครห่มแพรสีทับทิมใส่แหวนเพ็ชร์แทนหม่อมห้าม และเกลี้ยกล่อมขุนนางและกองรามัญไว้เป็นพวกพ้องก็มาก ที่ผู้ใดไม่ฝากตัวก็พยาบาทไว้ ตั้งแต่เล่นละครเข้าแล้ว ก็ไม่ได้บรรทมข้างในด้วยหม่อมห้ามเลย บรรทมอยู่แต่ที่เก๋งข้างท้องพระโรงด้วยพวกละคร จึ่งรับสั่งให้เอาพวกละครมาแยกย้ายกันไถ่ถาม ได้ความสมกันว่าเป็นสวาทไม่ถึงชำเรา แต่เอามือเจ้าละครและมือท่านกำคุยหฐานด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ให้สำเร็จภาวะธาตุเคลื่อนพร้อมกัน เป็นแต่เท่านั้นแล้วโปรดให้ตระลาการถามกรมหลวงว่า เป็นเจ้าใหญ่นายโต เล่น การเช่นนี้สมควรอยู่แล้วหรือ กรมหลวงรักษรณเรศรให้การว่า การที่ไม่อยู่กับลูกเมียนั้นไม่เกี่ยวข้องแก่การแผ่นดิน ถามอีกข้อ ๑ ว่า เกลี้ยกล่อมเจ้านายขุนนางไว้เป็นพรรคพวกมาก จะคิดกบฏหรือ กรมหลวงให้การว่าไม่ได้คิดกบฏ (ตรงนี้สำนวนบ่งให้เห็นว่าคงจะมีคำถามอีกคำ ๑ ว่า ถ้าไม่คิดกบฏก็เกลี้ยกล่อมหาพรรคพวกไว้ทำไม จึ่งตอบว่า) คิดอยู่ว่าถ้าสิ้นแผ่นดินไปก็ไม่ยอมเป็นข้าใคร ถามอีกข้อ ๑ ว่า ถ้าได้อย่างนั้นแล้วจะเอาผู้ใดเป็นวังหน้า ให้การว่าคิดไว้จะเอากรมขุนพิพิธภูเบนทร์ ทรงพระราชดำริปรึกษาด้วยพระราชวงศานุวงศ์ เสนาบดีว่า กรมหลวงรักษรณเรศมีความผิดหลายอย่าง ทั้งบังเอาเงินเบี้ยหวัดและเงินวัดพระพุทธบาทปี ๑ ก็หลายสิบชั่งเป็นอาณาประโยชน์ จะเลี้ยงไว้ไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย พระราชวงศานุวงศ์และท่านเสนาบดีกราบทูลว่า จะไม่เอาโทษเสียจะเลี้ยงไว้ก็ไม่เป็นที่ไว้ใจ เหมือนตีอสรพิษให้หลังหักระวังยาก ครั้นมาถึงวันศุกรเดือน ๑ ขึ้น ๓ ค่ำ[๑] โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตระลาการนำกระทู้ซักถามกรมหลวงรักษรณเรศว่า ที่ตัวได้เป็นใหญ่มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ก็ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้ยิ่งกว่าเจ้านายทุก ๆ พระองค์ จึ่งได้คิดกำเริบใจขึ้น แต่ก่อนนั้นยังกำเริบน้อยๆ เดี๋ยวนี้มากขึ้นๆ จนกระทั่งทุกวันนี้ได้ ๒๕ ปีแล้ว บัดนี้ก็ถึงปรารถนาจะเป็นเจ้าแผ่นดิน ให้ตัวระลึกถึงความหลังดู แต่ก่อนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและกรมหมื่นสุรินทรรักษ์กับตัวได้ทำราชการมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ จนถูกหนังสือทิ้งด้วยกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสำคัญพระทัยว่าได้เป็นเพื่อนยากกันมา ฝ่ายกรมหมื่นสุรินทรรักษ์สิ้นพระชนม์ไปแล้วยังอยู่แต่ตัว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึ่งไว้วางพระทัยให้ช่วยราชการแผ่นดินต่อมา และตัวประพฤติการคด ๆ โกง ๆ เอาสินบนในการชำระถ้อยความและตั้งขุนนาง ก็ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่บ้าง ก็ได้ทรงเตือนสติเป็นหลายครั้งหลายคราว ว่าอย่าทำให้ราษฎรเขาติฉินนินทาหมิ่นประมาทได้ อย่าให้ชื่อชั่วอยู่ในแผ่นดิน เหมือนตัวประพฤติการที่ไม่อยู่กับเมียดังนี้ ก็มีผู้มาพูดว่าทั้งผู้ชายผู้หญิง ข้างผู้ชายนั้นก็มีกรมขุนรามอิศเรศ เป็นตัน จนกระทั่งมหาดเล็กเด็กชา ฝ่ายผู้หญิงเมียของตัวที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดก็มาเล่าให้เขาฟังออกเซ็งแซ่ไป ว่าตัวไม่อินังขังข้อกับลูกเมีย มาหลงรักอ้ายคนโขนคนละคร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงทราบ จึ่งทรงพระราชดำริว่า จะชอบใจอย่างเจ้าปักกิ่ง (เตากวาง) รักงิ้ว จะส้องเสพผู้ชายบ้าง ผู้หญิงบ้างกระมัง ครั้นจะห้ามปรามว่ากล่าวให้รู้สึกตัวเสียว่า ทำดังนี้ไม่งามไม่ดี ความก็จะอื้ออึงไป เหมือนจะแกล้งประจานให้ญาติได้ความอัประยศ แล้วทรงพระราชดำริว่า แต่ก่อนกรมหลวงเทพพลภักดิ์วก็ประพฤติการไม่อยู่กับลูกเมียเหมือนกันเช่นนี้ สมเด็จพระบรมวงศาธิราชซึ่งเป็นผู้ใหญ่ก็ทรงทราบทุกพระองค์ ก็หาได้ว่ากล่าวกรมหลวงเทพพลภักดิ์วประการใดไม่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึ่งมิได้เอาพระทัยเป็นพระราชธุระ ด้วยสำคัญพระทัยว่าเขาประพฤติให้เหมือนพี่ชาย เป็นพืชพันธุ์ลูกอียายเดนเกือก เป็นคนอุบาทว์บ้านเมือง แล้วมิหนำซ้ำกระทำให้แผ่นดินเดือดร้อนไปทุกเส้นหญ้าใบไม้ ด้วยความโลภเจตนาให้ขายใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระเดชพระคุณเป็นล้นพ้นของพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง ทั้งฝ่ายหน้าข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยสมณชีพราหมณ์ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ด้วยความชั่วของตัวมันฟุ้งเฟืองเลื่องฦๅไปทั่วนานาประเทศทั้งปวงหาควรไม่เลย ต่างคนต่างมีใจโกรธแค้นยิ่งนัก แล้วยังมาคิดมักใหญ่ใฝ่สูงจะเป็นวังหน้าบ้าง เป็นเจ้าแผ่นดินบ้าง อย่าว่าแต่มนุษย์เขาจะยอมให้เป็นเลย แต่สัตว์เดียรฉานมันก็ไม่ยอมให้ตัวเป็นเจ้าแผ่นดิน จึ่งโปรดถอดออกเสียจากที่กรมหลวง ให้เรียกว่าหม่อมไกรสร ลงพระราชอาชญาแล้วให้ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ที่วัดปทุมคงคา เมื่อณวันพุธเดือน ๑ แรม ๓ ค่ำ[๒] อายุได้ ๕๘ ปี แต่บ่าว ๓ คน ขุนวุธมาตย์ ขุนศาลคน ๑ ๔ คนด้วยกัน ไปประหารชีวิตที่สำเหร่ในวันเดียวกัน



[๑] อังคารที่ ๒๘ พฤศจิกายน

[๒] วันที่ ๑๓ ธันวาคม

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ