๔๑. งานพระบรมศพสมเด็จพระอมรินทรามาตย์

ในปีชวดนั้นทรงพระราชดำริว่า การทัพศึกค่อยสงบลงแล้ว พระศพสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ยังค้างอยู่ จึ่งรับสั่งให้เจ้าพนักงานซ่อมแซมประดับประดาพระเมรุให้งดงามดีดังเก่า การสารพัตรทั้งปวงเหมือนพระบรมศพอย่างใหญ่เสร็จแล้ว ครั้นณเดือน ๖ ขึ้น ๙ ค่ำ[๑] ได้เชิญพระบรมสารีริกธาตุออกมาสู่พระเมรุ มีการมหรสพ ๑ วัน ๑ คืน เชิญพระบรมสารีริกธาตุกลับเข้าพระบรมมหาราชวัง รุ่งขึ้นณวันพฤหัสบดีเดือน ๖ ขึ้น ๑๑ ค่ำ[๒] ได้เชิญพระบรมอัฏฐิออกไปสู่พระเมรุ มีการมหรสพวัน ๑ ครั้นณวันศุกรเดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำ[๓] ได้เชิญพระบรมอัฏฐิกลับ ครั้นณวันเสาร์เดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ[๔] ได้เชิญพระโกศพระบรมศพ สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ แห่มาขึ้นพระมหาพิไชยราชรถ แห่กระบวนใหญ่เข้าสู่พระเมรุ ได้มีการมหรสพสมโภช ๗ วัน ๗ คืน และบำเพ็ญพระราชกุศลถวายไทยทานแก่พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมเปรียญเป็นอันมาก ครั้นณวันศุกรเดือน ๖ แรม ๔ ค่ำ[๕] พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระราชวงศานุวงศ์ ข้าราชการและท้าวพระยาหัวเมืองประเทศราชพร้อมกันกราบถวายบังคมถวายพระเพลิงพระบรมศพ แล้วสมโภชพระบรมอัฏฐิอีก ๓ วัน ๓ คืน เป็นคำรบ ๑๐ วัน ๑๐ คืน ครั้นณเดือน ๖ แรม ๘ ค่ำ[๖] แห่พระบรมอัฏฐิเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง เสร็จการพระบรมศพแล้ว โปรดให้รื้อพระเบญจาทองออกเสีย

ครั้นณเดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำ[๗] ให้เชิญพระศพพระองค์เจ้ากุ ซึ่งเป็นพระกนิษฐภคินี ในพระบาทสมเด็จพระบรมโกศพระพุทธเจ้าหลวงศพ ๑ กับศพเจ้าคุณนวลซึ่งเป็นภคินีสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ นับเพียงสมเด็จพระอมรินทรามาตย์มาอยู่ที่ ๖ เป็นมารดาเจ้าพระยาพระคลัง พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี ออกนามว่าเจ้าคุณโต ๒ ศพนี้ชักพร้อมกัน การครั้งนั้นเสด็จออกไปพระเมรุ แห่พยุหยาตราทุกเวลา ครั้นณวันอาทิตย์เดือน ๖ แรม ๑๔ ค่ำ[๘] พระราชทานเพลิง ณวันเสาร์เดือน ๖ แรม ๑๕ ค่ำ[๙] แห่พระอัฏฐิกลับ ให้รื้อเมรุทองออกเสีย

ครั้นเดือน ๗ ขึ้น ๗ ค่ำ[๑๐] ชักศพเจ้าพระยาอภัยภูธรกับศพท้าวทรงกันดาล ชื่อสี เป็นน้องกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ เป็นน้องเจ้าพระยาพลเทพ (ทองอิน) เข้าสู่พระเมรุมีงานมหรสพ ๓ วัน ๓ คืน ครั้นเดือน ๗ ขึ้น ๙ ค่ำ[๑๑] พระราชทานเพลิงเสร็จแล้ว รับสั่งให้รื้อพระเมรุ เจ้าพนักงานได้ลงมือรื้อเครื่องประดับยังไม่หมด ครั้นณวันอังคารเดือน ๗ แรม ๑ ค่ำ[๑๒] เวลา ๕ ทุ่มเศษ ฝนตกพรำๆ เกิดอสนีบาตตกถูกพระเมรุ เกิดเพลิงไหม้ขึ้น ผู้คนร้องอื้ออึงจะขึ้นดับก็ไม่ได้ ทิ้งไว้จนพระเมรุไหม้ทั้งสิ้น

ในเดือน ๗ นั้น เจ้าพระยาราชสุภาวดีว่าที่สมุหนายก กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปเมืองเวียงจันท์อีก

เมื่อเดือน ๘ แรม ๕ ค่ำ[๑๓] นายคำเมืองนครราชสีมานำช้างลงมาให้หลวงคชสิทธิ์ถวาย ช้างพลายกระช้าง ๑ สูง ๔ ศอก ๑๐ นิ้ว พระราชทานชื่อขึ้นระวางเป็น พระบรมอัยรารัตนนาเคนทร์ สุเรนทรรังรักษ์ ศักดิรังสรรค์ มหันตมหากฤษฎาคุณ สุนทรลักษณเลิศฟ้า

เจ้าพระยาพระคลัง ถวายช้างพลายกระช้าง ๑ สูง ๔ ศอกคืบ ๓ นิ้ว พระราชทานชื่อขึ้นระวางเป็น พระบรมนาเคนทร์ คเชนทรเฉลิมเมือง เรืองบุญวราฤทธิ์ ศรีสิทธิศักดิ ลักษณวิลาศเลิศฟ้า ครั้นภายหลังกลายเป็นช้างดำตามธรรมเนียมไป

ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีที่สมุหนายก ขึ้นไปถึงเมืองภูเขียวเมื่อเดือน ๘ บูรพาสาธ รวบรวมสะเบียงอาหารผู้คนได้พร้อมกันก็ยกขึ้นไปถึงหนองบัวลำภู จึ่งแต่งให้พระยาราชรองเมือง พระยาพิไชยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์เมืองนครราชสีมา หลวงสุเรนทรวิชิต คุมไพร่ ๕๐๐ คนยกขึ้นไปตั้งอยู่พันพร้าว พระยาราชรองเมือง พระยาพิไชยสงคราม จัดคนข้ามฟากไปเมืองเวียงจันท์ ไปหาเพี้ยเมืองจัน ท้าวเพี้ยมาปรึกษาราชการ คนใช้กลับมาแจ้งความว่า ลาวเมืองเวียงจันท์จับเอาตัวคนใช้ไว้ได้ ๗ คน พากันหนีมาหาพระยาราชรองเมือง พระยาพิไชยสงคราม ได้ ๓ คน แจ้งว่าที่เมืองเวียงจันท์เห็นพวกลาวถือเครื่องศาตราวุธสับสนวุ่นวายประหลาดอยู่ พระยาราชรองเมืองจึ่งแบ่งคนให้ พระยาพิไชยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์ หลวงสุเรนทรวิชิต นายไพร่ ๓๐๐ คน ข้าไปฟังราชการณเมืองเวียงจันท์ พระยาพิไชยสงคราม พระยาทุกขราษฎร์ หลวงสุเรนทรวิชิตไปตั้งอยู่วัดกลาง



[๑] อังคารที่ ๒๒ เมษายน

[๒] วันที่ ๒๔ เมษายน

[๓] วันที่ ๒๕ เมษายน

[๔] วันที่ ๒๖ เมษายน

[๕] วันที่ ๒ พฤษภาคม

[๖] อังคารที่ ๖ พฤษภาคม

[๗] เสาร์ที่ ๑๐ พฤษภาคม

[๘] จันทร์ที่ ๑๒ พฤษภาคม

[๙] อังคารที่ ๑๓ พฤษภาคม

[๑๐] อังคารที่ ๒๐ พฤษภาคม

[๑๑] พฤหัสบดีที่ ๒๒ พฤษภาคม

[๑๒] พฤหัสบดีที่ ๒๙ พฤษภาคม

[๑๓] อังคารที่ ๑ กรกฎาคม

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ