๓๒. ใบบอกเจ้าพระยานครศรีธรรมราช

ภายหลังเจ้าพระยานครศรีธรรมราชบอกเข้ามาว่า ได้เกณฑ์กองทัพจะยกทัพเรือเข้ามาตามท้องตรา ให้คนไปสืบราชการที่เกาะหมากได้ความว่าอังกฤษยกทัพเรือมาพักอยู่ที่เกาะหมาก ๔ ลำ ๕ ลำจะไปข้างไหนไม่แจ้ง เจ้าพระยานครศรีธรรมราชไม่ไว้ใจแก่ราชการ แล้วกัปตันหันตรีบารมีก็มีหนังสือนัดมาจะเปลี่ยนหนังสือสัญญาที่เมืองตรังด้วย จึ่งมิได้ยกเข้ามาตามรับสั่ง ให้พระยาพัทลุง พระเสนหามนตรีผู้บุตร คุมคน ๒,๐๐๐ เข้ามาก่อน จึ่งโปรดให้มีตราหาทัพเจ้าพระยาพระคลัง ทัพกรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ กรมหมื่นพิทักษ์เทเวศร กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ กลับมารักษาเมืองสมุทรปราการ แต่ทัพพระยาราชสุภาวดีนั้นให้เข้ากองทัพหลวงไป ตำรวจไปทันที่ทุ่งโพแต่ ๒ ทัพ แต่ทัพเจ้าพระยาพระคลังเลยขึ้นไปถึงเมืองนครราชสีมาเสียแล้ว ตำรวจผู้ถือท้องตราขึ้นไปสกัดทางดงพระยาไฟพวกหนึ่ง เอาท้องตราไปให้เจ้าพระยาพระคลังที่เมืองนครราชสีมา เจ้าพระยาพระคลัง พระยาราชสุภาวดี ทราบท้องตราแล้ว

ลุศักราช ๑๑๘๙[๑] ปีกุน นพศกเป็นปีที่ ๔ เมื่อเดือน ๕ ข้างแรม ทัพหลวงก็เสด็จยกขึ้นไปตั้งอยู่เมืองนครราชสีมา เจ้าพระยาพระคลังก็เข้าเฝ้าทูลลากรมพระราชวังบวรสถานมงคล กลับลงมาทางดงพระยาไฟลงมาถึงกรุงเทพมหานคร ในคราวนั้นเกิดไข้ป่วงขึ้นที่ในกองทัพหลวง เสียไพร่พลเป็นอันมาก

ฝ่ายเจ้าพระยานครราชสีมาครั้นรู้ว่าเมืองเสียแก่อนุ ผู้คนในกองทัพของตัวก็หนีมาหาครอบครัว เหลืออยู่แต่คนสนิทติดตัวอยู่ประมาณ ๒๐๐ คนเศษ จะคิดมาสู้รบก็มิได้ จึ่งได้หนีไปอยู่สวายจีบแดนเขมร ครั้นแจ้งว่าอนุยกกองทัพหนีไปแล้ว ทัพหลวงมาตั้งอยู่เมืองนครราชสีมาแล้ว ก็รีบมาเฝ้า จึ่งมีพระบัณฑูรว่าเมืองนครราชสีมายับเยิน ผู้คนก็ระส่ำระสายหนีเข้าป่าดงไปสิ้นอย่าตามไปเลย ให้อยู่เกลี้ยกล่อมผู้คนตกแต่งบ้านเมืองให้บริบูรณ์ขึ้นดังเก่าเถิด แล้วโปรดให้ทัพพระยาราชสุภาวดีคุมไพร่ ๖,๐๐๐ คนไปตีเมืองจำปาศักดิ์



[๑] พ.ศ. ๒๓๗๐

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ