๑๗. ทรงแต่งตั้งขุนนาง

แล้วก็ทรงตั้งแต่งขุนนางในกรุงฯ ขึ้นให้เต็มตามที่ฐานันดรทุกหมู่กรม ครั้งนั้นขุนนางขาดตำแหน่งอยู่มาก ขุนนางผู้หนึ่งได้ฉลองพระเดชพระคุณก็ว่า ๒ ที่บ้าง ๓ ที่บ้าง ที่สมุหพระกลาโหม ที่สมุหนายก ที่ธรรมา ที่ยมราช ที่พลเทพ ที่ราชภักดี ตำแหน่งใหญ่ๆ ก็ว่างอยู่ทั้งนั้น มีเป็นประธานมีเป็นผู้ใหญ่อยู่แต่ท่านเจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่สมุหพระกลาโหม พระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา จางวางพระคลังสินค้า พระยาราชสุภาวดี ว่าที่สมุหนายก และว่าพระคลังมหาสมบัติ ด้วยท่านทั้ง ๓ เป็นประธานอยู่ในราชการทั้งปวง

จึงโปรดฯ ตั้งเจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่สมุหพระกลาโหม ให้เรียกว่า เจ้าพระยาอัครมหาอุดม บรมวงศาเสนาบดีไปพลางก่อน จนได้ฤกษ์ยกขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ วรุตมพงศนายก สยามดิลกโลกานุปาลนนารถ สกลราชวราณาจักราธิเบนทร ปรเมนทรมหาราชานุกูล สรรพกิจมูลมเหศวรเชษฐามาตยาธิบดี ศรีสรณรัตนธาดา อดุลยเดชานุภาพบพิตร ถือศักดินา ๓๐,๐๐๐ จารึกแผ่นสุพรรณบัฏเนื้อแปด พระราชทานกลด เสลี่ยงงา พระแสงประดับพลอยลงยาราชาวดี เป็นเครื่องสำหรับยศอย่างพระองค์เจ้าต่างกรม ให้สำเร็จราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือทั้ง ๔ ทิศ ตลอดทั่วทั้งพระราชอาณาจักร ใช้ตราสุริยมณฑลเทพบุตรชักรถ (และคงถือตราพระคชสีห์ และตราบัวแก้วอยู่ด้วยอีกทั้ง ๒ ดวง) แล้วโปรดฯ ให้ตั้งหลวงบำเรอปรมามาตย์ จางวางทนาย ขุนวรบาทบริรักษ์ปลัดจางวาง หมื่นศักดิประสิทธิการสมุหบัญชี

พระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา โปรดฯ ให้เรียกเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติไปพลาง จนถึงฤกษ์ยกขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ นรเนตรนารถราชสุริยวงศ สกลพงศประดิษฐา มุขมาตยาธิบดี ไตรสรณศรีรัตนธาดา สกลมหารัชชาธิเบนทร ปรเมนทรมหาราชวโรประการ มโหฬารเดชานุภาพบพิตร ถือศักดินา ๓๐,๐๐๐ จารึกในแผ่นทองคำเนื้อแปด พระราชทานกลดเสลี่ยงงา พระแสงประดับพลอยลงยาราชาวดี เป็นเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม ถืองตราจันทรมณฑลเทพบุตรชักรถ ให้สำเร็จราชการในพระนครทุกสิ่งทุกพนักงาน (คงว่าพระคลังสินค้าด้วย) แล้วโปรดฯ ให้ตั้งหลวงบำรุงปรมามาตย์จางวาง ขุนวรบาทบริบาล ปลัดจางวาง หมื่นสรรพการกิจประสิทธิ สมุหบาญชี

จึงยกเอาพระยาราชสุภาวดีมาเป็นที่จักรีได้นามว่า เจ้าพระยานิกรบดินทร มหินทรมหากัลยาณมิตร อเนกบุญฤทธิประสิทธิธาดา สาธุสิทธิคุณ วิบุลยศุภผล นิพัทธกุศลกิริยาภิรัต ธัญญธนสารสมบัติบริวารสมบูรณ อดุลยเมตยาชวาธยาศัย ศรีรัตนตรัยสรณารักษ อุดมศักดิพิเศษ นาครามาตยเชษฐมหาสมุหนายก สยามโลกดิลกบรมราชมหิศร สกโลตรทิศประเทศาธิบดี มหาราชสีหมุรธาธร อัครมหาดทยวริศรเสนาธิบดี อภัยพิรียบรากรมพาหุ ที่สมุหนายก จารึกนามในแผ่นทองคำเนื้อเจ็ด ได้พระราชทานเครื่องยศเพิ่มเติมแต่กระบี่จักรีเท่านั้น

จึงยกเอาท่านพระยาศรีสุริยวงศ (ช่วง) จางวางมหาดเล็กซึ่งเป็นบุตรผู้ใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ มาว่าที่สมุหพระกลาโหมเพิ่มเติมนามออกไปว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมันตพงศพิสุทธิ มหาบุรุษรัตโนดม ได้พระราชทานเครื่องยศเพิ่มเติมกลดเสลี่ยงงากระบี่อย่างเจ้าต่างกรม ประดับพลอยลงยาราชาวดี ๑ ถือตราศรพระขรรค์ แต่กลดเสลี่ยงงานั้นท่านไม่รับถวายคืน ครั้นสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ถึงแก่พิราลัยแล้ว จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตั้งให้เป็นสมุหพระกลาโหม ได้นามว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมันตพงศพิสุทธิ์ มหาบุรุษรัตโนดม บรมราชตมัคคมหาเสนาธิบดี วรคชสีห์สิงหมุรธาธร จักรรัตนสหจร สุรศรขรรค์พิเศษลัญจธารินทร ทักษิณนครคามรัษฎาธิกิจการ ทวยหาญสมุหมาตยานุพินัย ยุติธรรมมาภิธยาศัยสยามโลกานุปาลนนารถ ปรเมนทรมหาราชวราณาจักโรประการ ปรีชาญาณวรยศธาดา อภัยพิรียบรากรมพาหุ สมุหพระกลาโหม ถือศักดินา ๒๐,๐๐๐ จารึกนามลงในแผ่นสุพรรณบัฏเนื้อเจ็ด ได้พระราชทานมาลาเบี่ยงอย่างเจ้าต่างกรม เสื้อจีบเอวเยียระบับเจียรบาดเข้มขาบผ้านุ่งสังเวียนพื้นทอง ดาบด้ามทองคำฝักทองคำประดับพลอย ไม้เท้าด้ามประดับพลอย กล้องยาแดงไม้ราชวังสันทองคำประดับเพ็ชร ตลับยาแดงทองคำหลังประดับเพชร์เป็นเครื่องยศ

จึงยกเอาจมื่นราชามาตย์ (ขำ) บุตรสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่มาเป็นเจ้าพระยาผู้ช่วยราชการในกรมท่า พระราชทานเครื่องยศพานทอง กระโถนทอง เต้าน้ำ กระบี่นาคสามเศียร ฝักประดับพลอยลงยาราชาวดี ได้นามว่า เจ้าพระยารวิวงศมหาโกษาธิบดี

จึงยกเอาจมื่นศรีสรรักษ์ (เอี่ยม) ซึ่งเป็นราชนิกูลฝ่ายสมเด็จพระอมรินทรามาตย์มาเป็นเจ้าพระยาพลเทพ สรรพพลเสพเสนาบดีศรีวิไชย ราชมไหสวรรย์ อเนกานันตธัญญาหาร พิจารณปฏิพัทธ นพรัตนมุรธาธร มหิศรสมุหเชษฐเกษตราธิบดี อภัยพิรียบรากรมพาหุ พระราชทานเครื่องยศพานทอง กะโถน เต้าน้ำทอง กะบี่ลงยาราชาวดี

จึงยกพระยาเพ็ชรพิไชย (เสือ) มาเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ศรีสุวีรมหามัตยวงศ์ ราชพงศนิกรานุรักษ์ มหาสวามิภักดิบรมราโชประการาภิรมย์ สรรโพดมกิจวิจารณ์ มหามนเทียรบาลบดินทร์ ราชนิเวศนินทรามาตย์ อันเตบุริกนารถเสนาธิบดี อภัยพิรียบรากรมพาหุ

จึงยกเอาพระยาสุรเสนา (ทองสุก) มาเป็นเจ้าพระยายมราช ชาติเสนางคนรินทร์ มหินทราธิบดีศรีวิไชย ราชมไหสวรรยบริรักษ์ ภูมิพิทักษโลกาธิกรณ์ ทัณฑฤทธิธร ชาติศรสิงหพาหนเทพยมุรธาธร มหานครบาลสมุหบดี อภัยพิรียบรากรมพาหุ

ยกเอาจมื่นสมุหพิมาน (แพ) บุตรสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย มาเป็นพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา จางวางพระคลังสินค้า จึงยกเอาพระศรีสหเทพ (ปาล) เป็นพระยาราชสุภาวดี ยกเอาพระอินทรเทพ (ขุนทอง) มาเป็นพระยาเพ็ชรพิไชย ยกเอาพระยาพิพัฒนโกษา (บุญศรี) มาเป็นพระยามหาอำมาตยาธิบดีพิรียพาห ยกพระมหามนตรี (สวัสดิ์) ซึ่งเป็นน้องเจ้าพระยาพลเทพ (เอี่ยม) มาเป็นพระยาสุรเสนา ยกนายพลพัน (ชุ่ม) บุตรสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ มาเป็นพระยามนตรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก ยกเอานายไชยขรรค์ บุตรสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย มาเป็นพระยาวรพงศพิพัฒน์ จางวางมหาดเล็ก ภายหลังพระยาสุรเสนาถึงแก่อสัญญกรรมแล้ว จึงตั้งพระยามนตรีสุริยวงศ์ขึ้น ชื่อว่าพระยามนตรีสุริยวงศ์ ดำรงค์ฤทธิอำนาจมาตยาธิบดี จุฬคชสีหมุรธาธร สถาพรพิรียพาห สมุหพระกลาโหมฝ่ายเหนือ แล้วโปรดฯ ให้นายจันทร์มีชื่อ บุตรท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหม มาเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนารถ ภายหลังมาโปรดฯ ให้เลื่อนที่ขึ้นเป็นพระยาสุรวงศไวยวัฒน์ จางวางมหาดเล็ก พระราชทานพานทอง เต้าน้ำทอง กะโถนทอง ดาบฝักทองอย่างพระองค์เจ้า ยกเอาพระมหาเทพ (แก้ว) บุตรเจ้าพระยาบดินทร์เดชา เป็นพระยาสีหราชเดโชไชย ภายหลังทรงแปลงว่าพระยาฤทธิไกรเกรียงหาญพลการภักดี ยกเอาพระยาพิไชยสงคราม (สุด) มาเป็นพระยาสิงหราชฤทธิไกรท้ายน้ำ ยกพระยาโชฎึก (ทองจีน) นอกราชการมาเป็นพระยาโชฎึกราชเศรษฐีดังเก่า ยกเอาพระยาไชยวิชิต (ขำ) ผู้รักษากรุงเก่า ไปเป็นพระยานครราชสีมา ยกพระยาอุไทยธรรม (เมือง) บุตรเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เป็นเจ้าพระยามหาศิริธรรม พโลปถัมภ์เทพทวาราวดี ผู้รักษากรุงเก่า โปรดฯ ตั้งข้าหลวงเดิม ยกคุณช้างสัมพันธวงศ์มาเป็นพระยาราชภักดี ๑ จางวางเฉยเป็นพระอินทรเทพ แล้วเป็นพระยาอภัยรณฤทธิ ๑ จางวางเสือเป็นพระยาพิไชยชาญฤทธิแล้วมาเป็นพระยาฤทธิไกรเกรียงหาญที่ท้ายน้ำ ๑ นายเพ็งเป็นที่จมื่นสรรเพธภักดีแล้วมาเป็นพระยาบุรุษยรัตนราชพัลลภ ๑ นายดิศเป็นนายเสถียรรักษา แล้วเป็นจมื่นจงภักดีองค์ขวา แล้วมาเป็นพระยาบำเรอภักดิ์ ๑ สมุหบัญชีแก้วเป็นพระยาประมวญประมาณพล แล้วมาเป็นพระยาราชสุภาวดี ๑ นายบัวใหญ่เป็นพระนรินทรเสนี แล้วมาเป็นพระยาเพ็ชรบุรี ๑ นายบัวเล็กเป็นพระยามหาเทพ แล้วมาเป็นพระยาสีหราชฤทธิไกรท้ายน้ำ ๑ นายพุ่มเป็นพระยาพิศณุโลก ๑ หลวงอินทรโกษา (แสบ) มาเป็นพระยาพิพัฒนโกษา ๑ รวม ๑๐ นายนี้ได้พานทองใหญ่ กะโถนทองคำ เต้าน้ำทุกนาย

จางวางจั่นเป็นพระยาพิพิธไอยสูรย์ ๑ หมอด้วงเป็นพระยาแพทยพงศาวิสุทธาธิบดี อภัยพิรียบรากรมพาหุ ภายหลังทรงแปลงเป็นพระยาแพทยธรรมธาดา วิสุทธาธิบดี อภัยพิรียบรากรมพาหุ ๑ นายสิงโตเป็นพระยาอนุรักษมนเทียร ๑ นายต่ายเป็นพระบรมราชวรารักษ์ แล้วมาเป็นพระยาพิไชย ๑ นายรอดเป็นพระมหามนเทียร แล้วเป็นพระยานครไชยศรี ๑ นายจันทร์เป็นพระยาลพบุรี ๑ นายแจ่มเป็นจ่าหาญยุทธกิจแล้วไปเป็นพระยาสุพรรณบุรี ๑ นายทัต (พระครูปลัด) เป็นพระศรีภูริปรีชาเสนาบดีศรีสาลักษณ์ ๑ นายฟักเป็นพระศรีสุนทรโวหาร ๑ นายสุขเป็นพระธรรมการบดี ๑ จัดข้าหลวงใหญ่ข้าหลวงเดิม เป็นขุนนางเลื่อนตามกันขึ้นไปจนเต็มทุกตำแหน่งทุกพนักงาน ครั้งนั้นไม่โปรดถาดหมากให้ยกเสีย พระราชทานเครื่องยศพานทองอย่างเล็ก เต้าน้ำทองกระโถนทองอย่าง ๑ โต๊ะทองกาทองอย่าง ๑ โต๊ะถมกาถมอย่าง ๑ ตามยศและคุณานุรูป

เติมหุ้มแพรขึ้นอีกเวรละ ๒ นาย แลหุ้มแพรวิเศษสำหรับพระที่นั่งราชฤๅดีอีก ๔ นาย เวรละ ๒ นาย คือนายเสนองานประพาส ๑ นายสนองราชบรรหาร ๑ นายบำเรอบรมบาท ๑ นายบำรุงราชบทมาลย์ ๑ นายพินัยราชกิจ ๑ นายพินิจราชการ ๑ นายพิจารณสรรพกิจ ๑ นายพิจิตรสรรพการ ๑ แล้วตั้งจ่าในกรมพระตำรวจรองปลัดกรมเวรละคน ในขวา นายจ่าห้าวยุทธการ ในซ้าย นายจ่าหาญยุทธกิจ จ่าชำนิทั่วด้าน สำหรับจางวางซ้าย จ่าชำนาญทั่วด้าว สำหรับจางวางขวา แลจ่าใหญ่ขวา นายจ่าผลาญอริพิษ ใหญ่ซ้าย นายจ่าแผลงฤทธิรอนราญ นอกขวา นายจ่าแรงรับราชการ นอกซ้าย นายจ่าเร่งงานรัดรุตม์ สนมขวา นายจ่าเขมงสัตยาวุธ สนมซ้าย นายจ่าเขมงสรยุทธยิง ตำรวจหลัง นายจ่าเผ่นผยองยิ่ง นายจ่าโผนวิ่งชิงไชย ตำรวจวัง นายจ่าโชนเชิดประทีปใน นายจ่าช่วงไฟประทีปวัง

ข้าหลวงเดิมนอกไปจากนี้มีอีกหลายคน เป็นนายเวรบ้าง เป็นนายรองหุ้มแพรบ้าง และเป็นนายทหารรักษาพระองค์บ้าง และเป็นผู้ว่าราชการหัวเมืองต่างๆ บ้าง ก็ได้ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงข้าหลวงเดิมตามสติปัญญาของบุคคลทั่วทุกคน และไพร่สมข้าหลวงเดิม ก็โปรดฯ ให้เป็นทหารรักษาพระองค์รับพระราชทานเบี้ยหวัดด้วย

การที่ตั้งแต่งพระบรมราชวงศานุวงศ์ และท่านอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ก็มิได้พร้อมกัน ตามแต่ท่านผู้ใดจะชอบวันใดเดือนใดก็ทำการตั้งพิธีสวดมนต์เลี้ยงพระ พระบาทสมเด็จฯ พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ได้เสด็จไปพระราชทานน้ำสังข์ทุกพระองค์ พระองค์เจ้าตั้งกรมแล้ว เจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ ก็ได้จัดของถวายและแจกจ่ายขุนนางที่ไปช่วยในการพิธีนั้น ได้ตลอดถึงขุนหมื่นและทหารเลวทั่วทุกๆ แห่ง การอย่างนี้มิใช่มีธรรมเนียมมาแต่โบราณ เป็นการธรรมเนียมใหม่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ การข้างในก็ได้ทรงตั้งแต่งขึ้นเต็มทุกพนักงาน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ