๑๓. เจ้าประเทศราชเข้ามาเฝ้า

ครั้งนั้นพระยาเชียงใหม่ พระยานครลำปาง พระยานครลำพูน พระยาน่าน หัวเมืองลาวพุงดำลงมาเฝ้าแผ่นดินใหม่ แลสดับปกรณ์พระบรมศพด้วย

จึงทรงพระราชดำริว่า เมืองเชียงใหม่นี้แต่ก่อนร้างอยู่ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดฯ ให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลขึ้นไปจัดการบ้านเมือง ตั้งเมืองเชียงใหม่ขึ้นตั้งแต่ครั้งนั้นมา กรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงมีพระราชบัณฑูรให้พระยากาวิละบุตรพระยาจ่าบ้าน จัดครอบครัวเมืองเชียงใหม่ซึ่งไปอาศัยอยู่เมืองนคร ให้กลับไปอยู่เมืองเชียงใหม่ดังเก่า แล้วโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ตั้งพระยากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ พระยากาวิละมีน้องชาย ๖ คนคือ คำโสมที่ ๒ รองพระยากาวิละ น้อยธรรมที่ ๓ ดวงทิพที่ ๔ คำฟั่นที่ ๕ หมูล่าที่ ๖ บุญมาที่ ๗ ญาติพี่น้องฝ่ายบิดามารดา มีเป็นอันมาก เป็นตระกูลใหญ่ พระยากาวิละขอเอาน้อยธรรมเป็นพระยาอุปราช ขอเอาพุทธสารญาติฝ่ายข้างมารดาเป็นพระยาราชวงศ์

ฝ่ายเมืองนครลำปางนั้น โปรดฯ ให้คำโสมน้องคนที่ ๒ เป็นเจ้าเมือง ให้ดวงทิพน้องที่ ๔ เป็นอุปราช แลญาติพี่น้องก็แต่งตั้งขึ้นเป็นที่ฐานันดรครบตำแหน่งที่ แล้วโปรดฯ ตั้งคำฟั่นน้องที่ ๕ เป็นเจ้าเมืองลำพูนขึ้น ตั้งบุญมาน้องที่ ๗ เป็นอุปราช ผู้คนยังเบาบางอยู่จึงให้รออยู่ที่เมืองนครก่อน เกลี้ยกล่อมผู้คนได้มากแล้วจึงให้ไป

ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พระยากาวิละเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ครั้นพระเจ้าเชียงใหม่ถึงแก่พิราลัยแล้ว น้อยธรรมผู้น้องที่ ๓ ได้เป็นพระยาเชียงใหม่ ได้ช้างเผือกถวาย จึงโปรดฯ ให้เป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ครั้นพระเจ้าเชียงใหม่ช้างเผือกถึงแก่พิราลัยแล้ว จึงโปรดฯ ให้คำฟั่นเจ้าเมืองลำพูนมาเป็นพระยาเชียงใหม่ ครั้นพระยาเชียงใหม่คำฟั่นถึงแก่กรรมแล้ว โปรดฯ ให้นายพุทธวงศ์ซึ่งเป็นญาติกันเป็นพระยาเชียงใหม่ ครั้นพระยาเชียงใหม่พุทธวงศถึงแก่กรรมแล้ว จึงโปรดฯ ให้นายหนานมหาวงศ์ บุตรพระเจ้าเชียงใหม่ช้างเผือก เป็นพระยาเชียงใหม่

ก็บัดนี้มีการที่จะไปกระทำแก่เมืองเชียงตุง จะต้องยกย่องเมืองลาว ๓ เมืองนี้ให้เป็นเจ้าขึ้น จะได้มีน้ำใจไปทำศึกสงครามกับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท และเจ้าพระยายมราช จึงโปรดฯ ตั้งพระยาเชียงใหม่ให้เป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ขนานนามว่า พระเจ้ามโหตประเทศราชาธิบดี นพีสีมหานัคราธิษสถาน ภูบาลบพิตร สถิตในอุตตมชิยางคราชวงศ์ เจ้านครเชียงใหม่ ได้พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคอย่างเจ้าประเทศราช พระเจ้าเชียงใหม่อยู่ได้ ๑ ปีก็ถึงแก่พิราลัย จึงโปรดฯ ให้นายหนานสุริยวงศ์ บุตรพระเจ้าเชียงใหม่กาวิละซึ่งเป็นพระยาบุรีรัตน์นั้นขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ขนานนามว่า พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ดำรงนพิสีนคร สุนทรลักษณเกษตร วรฤทธิเดชมหาโยนางคตไนย ราชวงศาธิบดี เจ้านครเชียงใหม่

ฝ่ายที่เมืองนครลำปางนั้น คำโสมได้เป็นเจ้าเมือง ครั้นถึงแก่กรรมแล้ว ดวงทิพได้เป็นเจ้าเมืองนคร แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เป็นพระเจ้านคร ครั้นถึงแก่พิราลัยแล้ว นายไชยวงศ์บุตรพระเจ้านครดวงทิพได้เป็นพระเจ้านคร ครั้นถึงแก่กรรมแล้ว น้อยอินบุตรพระยานครคำโสมได้เป็นพระยานคร น้อยอินทร์นั้นเปนคนมักเสพสุรามากครั้นถึงแก่กรรมแล้ว น้อยอินบุตรพระยานครคำโสมได้เป็นพระยานคร น้อยอินทร์นั้นเป็นคนมักเสพสุรามาก นายน้อยญาณรังษีฟ้องเอาตัวลงมาไว้ณกรุงเทพมหานคร ครั้นถึงแก่กรรมแล้ว โปรดฯ ให้ตั้งนายน้อยญาณรังษีเป็นพระยาลคร ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมยกขึ้นเป็นเจ้า ขนานนามว่า เจ้าวรญาณรังษี ภักดีราชธรรม์ สุพรรณโสมดไนย โยนกวิสัยประชาธิกร อมรมหาเดชเชษฐกเสนางค์ ลำปางคมหานคราธิบดี เจ้านครลำปาง

ที่เมืองลำพูนนั้น คำฟั่นเลื่อนเป็นพระยาเชียงใหม่ แล้วบุญมาอุปราชได้เป็นพระยาลำพูน ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นเจ้าลำพูน ถึงแก่พิราลัยแล้ว โปรดฯ ตั้งคำตันบุตรพระเจ้าลำพูนบุญมาเป็นพระยาลำพูน ว่าราชการเมืองได้ ๓ ปีก็ถึงแก่กรรมจึงโปรดตั้งนายน้อยลังกา บุตรพระเจ้าลำพูนบุญมาเป็นพระยาลำพูน ครั้นถึงแก่กรรมแล้ว จึงโปรดตั้งนายไชยลังกา บุตรพระยาเชียงใหม่คำฟั่นเป็นพระยาลำพูน ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ยกเป็นเจ้าลำพูนขึ้น ขนานนามว่า เจ้าไชยลังกาพิศาลโสภาคยคุณ หริภุญไชยมหาเจติยาบูชากร ราษฎรธุรธาดาประดิษฐาธิบดี เจ้านครลำพูน[๑]



[๑] ในพงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ว่า “เจ้าชัยลังกาพิศาลโสภาคย์คุณ หริภุญไชยรัษฎาธิวาศ ประเทศราชธุระธาดา มลาวัยวงศ์มัตยานุกูล ลำพูนนครวิชิตชัย เจ้านครลำพูนไชย”

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ