๒๑. งานพระบรมศพ

ลุศักราช ๑๒๑๔ ปีชวด[๑]จัตวาศก เป็นปีที่ ๒ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เร่งรัดทำการพระเมรุให้ทันในฤดูแล้ง เจ้าพนักงานจัดการทำพระเมรุตลอดยอดนั้น ๒ เส้น มียอดปรางค์ ๕ ยอด ภายในมีพระเมรุทองสูง ๑๐ วา ตั้งเบญจาทองรองพระบรมโกศ มีเมรุทิศทั้ง ๘ มีราชวัติ ๒ ชั้น มีฉัตรเงิน ฉัตรทอง ฉัตรนาก รายตามราชวัติชั้นใน ฉัตรเบญจรงค์รายตามราชวัติชั้นนอก มีโรงรูปสัตว์รายรอบไปในราชวัติฉัตรเบญจรงค์ มีระทาดอกไม้สูง ๑๒ วา ๑๖ ระทา มีเครื่องประดับประดาในพระบรมศพครบทุกสิ่งทุกประการ ตามเยี่ยงอย่างประเพณีพระบรมศพมาแต่ก่อน มีการวิเศษออกไปกว่าพระเมรุแต่ก่อนคือเจาะผนังเป็นช่องแตร ทำเป็นซุ้มยอดประกอบติดกับผนังทำเรือนตะเกียงใหญ่ระวางมุขทั้ง ๔ เป็นที่ประกวดประขันกันอย่างยิ่ง ขอแรงในพระบวรราชวังซุ้ม ๑ ในสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ซุ้ม ๑ สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยซุ้ม ๑ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ซุ้ม ๑ ซุ้มตะเกียงนั้นสูง ๓ วา มีเครื่องประดับประดาและเรือนไฟเป็นการช่างต่างๆ มีรูปลั่นถันสูง ๖ ศอก ข้างประตูทุกประตู มีศาลาหลวงญวนทำกงเต๊ก ๗ วัน ๗ คืน แล้วโปรดฯ ให้เจ๊สัวเจ้าภาษีผลัดเปลี่ยนกันเข้าไปคำนับพระบรมศพ ตามอย่างธรรมเนียมจีน มีเครื่องเส้นทุกวัน นอกจากนั้นจะพรรณนาไปก็ยืดยาวนัก ด้วยของมีตำราอยู่แล้ว จับการทำพระเมรุตั้งแต่เดือน ๑๑ มา ๘ เดือนจึงสำเร็จ

ครั้นมาถึงเดือน ๖ ขึ้น ๗ ค่ำ[๒] เวลาบ่ายโมง ๑ ได้ตั้งกระบวนแห่เชิญพระบรมสารีริกธาตุไปสู่พระเมรุมาศ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พระบรมวงศานุวงศ์แต่งพระองค์ทรงช้างบ้างทรงม้าบ้างเป็นกระบวนหนึ่งๆ ตามลำดับผู้ใหญ่ผู้น้อยทุกๆ พระองค์ แต่กรมสมเด็จพระเดชาดิศรนั้นทรงพระราชยานกง มีกระบวนแห่เครื่องสูงกลองชนะสังข์แตรด้วย ผิดกันกับพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง ตั้งกระบวนแห่ที่หน้าวัดพระเชตุพน มาตามถนนหน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ตรงไปเลี้ยวศาลาคู่ มาเปลื้องเครื่องที่หน้าวัดมหาธาตุ สิ้นกระบวนแห่เจ้านายแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเครื่องแล้วเสด็จโดยพยุหยาตรา ๔ แถว ประทับเปลื้องเครื่องที่พลับพลา และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกสู่พระเมรุ ก็เสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราเหมือนกัน ทรงพระราชดำริดังนี้จะให้แขกเมืองต่างประเทศและเมืองประเทศราช และหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา ปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือที่เข้ามาดู และช่วยในการพระบรมศพได้เห็นว่า พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ยังมีอยู่มาก จะได้เป็นเกียรติยศแก่นานาประเทศทั้งปวง

ครั้นเวลาบ่าย ๓ โมง ก็ให้เดินกระบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุออกจากประตูวิเศษไชยศรีไปเลี้ยวป้อมเผด็จดัษกร เข้าสู่พระเมรุด้านตะวันออก เชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนพระเบญจา แล้วพระสงฆ์ราชาคณะ ๘๐ รูปเจริญพระปริตรในพระเมรุ พระสงฆ์ในกรุงฯ และหัวเมือง ๔๐๐ รูป เจริญพระปริตรในสามสร้าง ๔ ด้าน ๆ ละ ๑๐๐ รูป ทรงฟังพระพุทธปริตรเสร็จแล้ว เวลาบ่าย ๕ โมงเสด็จออกพลับพลาทรงโปรยทานให้มีการฉลองคืน ๑ ครั้นรุ่งขึ้นเดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ[๓] เวลาเช้าเสด็จออกปรนนิบัติพระสงฆ์ เวลาบ่ายตั้งบายศรีเวียนเทียนเสร็จแล้วเสด็จออกทรงโปรยทาน ครั้นค่ำก็ให้จุดดอกไม้เพลิงกระทำสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ แล้วตั้งกระบวนแห่เข้าสู่พระบรมมหาราชวังเป็นคำรบวัน ๑ กับคืน ๑

ครั้นรุ่งขึ้นณเดือน ๖ ขึ้น ๙ ค่ำ[๔] เวลาเช้า เชิญพระบรมอัฏฐิตั้งกระบวนแห่ออกทางประตูวิเศษไชยศรี ไปเลี้ยวป้อมเผด็จดัษกร ไปเข้าประตูพระเมรุบุรพทิศขึ้นประดิษฐานในพระเมรุทอง สดับปกรณ์ถวายไทยทานแก่พระสงฆ์ มีการมโหรสพอีกวัน ๑ กับคืน ๑ ครั้นรุ่งขึ้นณเดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เชิญพระบรมอัฏฐิแห่กลับเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ครั้นณเดือน ๖ ขึ้น ๑๑ ค่ำ จึงเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนพระมหาพิไชยราชรถ ตั้งกระบวนแห่มีรูปสัตว์ต่างๆ และรถประเทียบและนางสนมตามเบื้องหลัง คนเดินกระบวนแห่ ๗,๐๐๐ ออกไปสู่พระเมรุมาศตามบุราณราชประเพณี ทำการฉลองพระบรมศพ ๗ วัน ๗ คืน นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะพระครูฐานานุกรม ทั้งในกรุง นอกกรุง ปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือมาเทศนาและสวดพระอภิธรรมสดับปกรณ์ถวายไทยธรรมเป็นอเนกปริยายต่างๆ จำนวนพระสงฆ์หัวเมืองในกรุงมากกว่า ๑๐,๐๐๐

ครั้นถึงณเดือน ๖ แรม ๒ ค่ำ[๕] เป็นคำรบ ๗ วัน ๗ คืน ก็ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จแล้ว ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้า ก็ได้แจงพระรูปเก็บพระบรมอัฏฐิเข้าประดิษฐานในพระโกศทองน้อยจำหลักลายกุดั่นประดับพลอยเนาวรรัตน์ มีพระสุวรรณฉัตรกั้นเป็นสำคัญ ขึ้นประดิษฐานไว้บนพระเบญจาพระมหามณฑปทองคำ สมโภชพระบรมอัฏฐิบำเพ็ญพระราชกุศลอีก ๓ วัน ๓ คืน วันเดือน ๖ แรม ๖ ค่ำ เวลาเช้าเชิญพระบรมอัฏฐิขึ้นพระยานุมาศแห่ออกประตูด้านตะวันออก เลี้ยวป้อมเผด็จดัษกรมาเข้าประตูสกัดเหนือ แล้วมาเข้าประตูสุนทรศรีทวาร ขึ้นประดิษฐานไว้ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ราษฎรและเจ้าภาษีตั้งโต๊ะสักการบูชา ๒ ฟากถนน ตั้งการเฉลิมพระบรมอัฏฐิอยู่ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ๗ วัน แล้วเชิญพระบรมอัฏฐิ ตั้งกระบวนเข้าประดิษฐานไว้ในหอพระบรมอัฏฐิ ตามเยี่ยงอย่างพระบรมกษัตริย์แต่ก่อน และเมื่อทำการฉลองพระเดชพระคุณพระเจ้าอยู่หัวนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลให้ทิ้งทานและทิ้งฉลากต่างๆ ทั้งขุนนางและไพร่ และชาวต่างประเทศและคนทั้งหลาย ซึ่งไปประชุมพร้อม ข้าราชการก็ดี ผู้ไปดูงานเล่นก็ดี ได้รับพระราชทานทั่วกันแทบไม่เว้นตัวคน สิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก คนชาวต่างประเทศก็ออกปากว่า ทำการพระบรมศพใหญ่เช่นนี้ ไม่มีประเทศใดๆ ที่จะได้ทำการเหมือนประเทศสยามนี้ไม่มีเลย

แล้วจึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้อ้างพระนามตามแผ่นดินว่า แผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย แผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และในแผ่นดินปัจจุบันนี้ให้อ้างว่า แผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว



[๑] พ.ศ. ๒๓๙๕

[๒] อาทิตย์ที่ ๒๕ เมษายน ฯ

[๓] จันทร์ที่ ๑๖ เมษายน ฯ

[๔] อังคารที่ ๒๗ เมษายน ฯ

[๕] อาทิตย์ที่ ๙ พฤษภาคม ฯ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ