๒๒๐. ปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์

ครั้นมาถึงวันพฤหัสบดี เดือน ๒ขึ้น ๕ ค่ำ[๑] ปีฉลูเบญจศก จุลศักราช ๑๒๑๕[๒] ปี เวลายามเศษ เห็นที่องค์พระปรางค์เป็นดวงกลมออกตามซุ้มคูหาฝ่ายอุดรทิศ ดวงโตเท่าผลส้มเกลี้ยง มีรัศมีสว่างขึ้นไปเบื้องบนถึงยอดนภศูล เบื้องต่ำถึงชั้นทักษิณเดิม แล้วก็หายไป ได้จัดการทำมาได้ปีเศษ สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ให้ซื้อเอาอิฐมีผู้มารื้อขายที่วัดเก่าๆ บ้าง และให้ทำขึ้นบ้าง ก่อฐานขึ้นไปได้ ๘ ศอก

ครั้นมาถึงณวันเดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำปีเถาะ สัปตศก[๓] สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ถึงแก่พิราลัย จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพระยารวิวงศ์ ซึ่งแปลงชื่อมาเป็นเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี เป็นแม่กองเจ้าของทำการต่อไป จึงพระราชทานเมืองนครไชยศรีซึ่งขึ้นกรมมหาดไทยมาขึ้นกรมท่าด้วย เจ้าพระยาทิพากรวงศ์จึงได้เกลี้ยกล่อมพวกรามัญมารับจ้างทำอิฐบ้าง ที่เป็นทาสลูกหนี้ผู้มีชื่อ ก็ช่วยมาให้ทำอิฐหลาย ๑๐ ครัว คิดหักค่าตัวให้ ได้จ้างจีนเผาปูนและจีนก่อขึ้นไป จึงให้พระสุธรรมไมตรีเป็นกงสีจ่ายเงินค่าจ้างแรงจีนและค่าจ้างมอญทำอิฐ และดูการเบ็ดเสร็จทั่วไป ให้พระศรีธรรมศาสน์เป็นผู้ช่วยซื้อของส่งนายงานเก่า พระศรีสมบัติก็เลื่อนที่เป็นพระยาศรีสรราช หลวงพิทักษโยธา หลวงนราเรืองเดช เป็นเจ้ากรมไพร่หลวง ราชการมีมากให้กลับเข้ามารับราชการเสียในกรุง จึงตั้งนายงานใหญ่ ขุนหมื่นในกรมท่า หมื่นบำรุงเจดีย์ ๑ หมื่นชำนาญชลธี ๑ ทหารปืน หลวงศักดาเดชเจ้ากรม ขุนยงสงครามปลัดกรม และขุนหมื่นเป็นนายงานรองบ้าง เป็นเสมียนบ้างอีก ๓๐ นาย ได้สร้างพระเจดีย์เล็กๆ ไว้บนยอดเขาคนละองค์ มีชื่อปรากฏอยู่ในฐานพระเจดีย์นั้นแล้ว ได้ช่วยกันคุมคนหัวเมือง เมืองนครไชยศรี เมืองสมุทรสงคราม เมืองสมุทรสาคร เมืองราชบุรี เมืองพนัศนิคม มีจำนวนคนผลัดเปลี่ยนเป็น ๔ ผลัด ได้เดือนละ ๒๐๐ คน ก่อขึ้นไปได้สูง ๑๐ วา

ครั้นณวันอังคาร เดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีมะเมียสัมฤทธิศก[๔] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จโดยทางพยุหยาตราทางชลมารคขึ้นที่วัดไชยพฤกษมาลา ด้วยครั้งนั้นคลองมหาสวัสดิ์ คลองเจดีย์บูชายังขุดไม่แล้ว แล้วเสด็จทางสถลมารคไปประทับแรมที่พลับพลาท่าหอราตรี ๑ ครั้นณวันพุธเดือน ๕ ขึ้น ๑๐ ค่ำ[๕] เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคด้วยเรือกระบวนขึ้นที่ปากคลองเจดีย์บูชา แล้วเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารคประทับพลับพลาค่ายหลวง จึงโปรดให้กระทำเครื่องสักการบูชาต่างๆ เป็นอันมาก ครั้นเวลาบ่าย ๕ โมงเศษ เสด็จขึ้นประทับพลับพลาบนเนินฐานพระปฐมเจดีย์ ฟังพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์แล้วเสด็จพระราชดำเนินประทักษิณรอบ ๑ แล้วทรงจุดดอกไม้เพลิงกระทำสักการบูชา พอจุดฝักแคก็เห็นดวงย้อยออกมาตามซุ้มคูหาข้างบูรพทิศ รัศมีขาวตกลงมาหายไปที่หลังวิหารพระไสยาศน์เก่า ซึ่งอยู่ที่วิหารหลวงเดี๋ยวนี้ บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการที่เฝ้าอยู่บนนั้นได้เห็นก็เป็นอันมาก คนจำพวกที่อยู่ไกลได้เห็นก็ว่าดวงดาวตกใกล้จนถึงลานพระบ้าง ถึงหลังพระราชวังบ้าง ที่อยู่ใกล้ก็เห็นตกไกลออกไป ที่อยู่ใกล้ก็เห็นตกใกล้เข้ามาเสมอเพียงตัวอยู่ ก็เป็นการอัศจรรย์อย่าง ๑ ครั้นณวันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ มีการสมโภชต่างๆ และมีละครผู้หญิงข้างในและเวียนเทียนด้วย แล้วพระราชทานเงินพระคลังเดิมเป็นส่วนพระราชกุศลอีก ๓๐ ชั่ง พระราชทานแก่คนทำการ แล้วทรงโปรยทานแจกราษฎรที่มาเชยชมพระบารมีอยู่ที่ทางเสด็จพระราชดำเนิน สิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก

ฝ่ายพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการมีจิตต์เลื่อมใสศรัทธาบริจาคทรัพย์เข้าในส่วนพระราชกุศลตามศรัทธาแทบทุกคน แล้วโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เรียกว่า พระปฐมเจดีย์ ตามหนังสือเก่าๆ ด้วยทรงเห็นว่าพระเจดีย์นี้มีขึ้นก่อนพระเจดีย์ในประเทศสยาม แล้วทรงอุททิศยกคนบ้านพระปฐมเจดีย์ชายฉกรรจ์ถวายเป็นข้าพระ ๑๒๖ คน ตั้งเจ้ากรมเป็นที่ขุนพุทธเกษตรานุรักษ์ ตั้งปลัดกรมเป็นที่ขุนพุทธจักรรักษา หมื่นฐานาธิบาล สมุหบัญชี ยกค่านาและสมพัตสรที่ใกล้องค์พระเป็นกัลปนาขึ้นวัด ลางปีก็ได้ค่านา ๓ ชั่งบ้าง ๒ ชั่งเศษบ้าง สมพัตสรลางปีก็ได้ชั่ง ๑๐ ตำลึงบ้าง ๒ ชั่งบ้าง ทรงถวายนิตยภัตรด้วย แล้วก็เสด็จพระราชดำเนินกลับพระนคร

ครั้นณวันอาทิตย์เดือน ๖ ขึ้น ๕ ค่ำ[๖] พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินออกไปทอดพระเนตรพระปฐมเจดีย์ ครั้นณวันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ ได้ตั้งการสวดพระพุทธมนต์ ทรงจุดดอกไม้เพลิงกระทำสักการบูชา ครั้นรุ่งขึ้นก็มีการสมโภช แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระแท่นดงรัง แล้วเสด็จกลับพระนคร

ได้ก่อขึ้นไปอีกสูง ๗ วา ๒ ศอก รวมเป็น ๑๗ วา ๒ ศอก

ครั้นมาถึงปีวอกโทศก เดือน ๘ ขึ้น ๑๓ ค่ำ[๗] เวลากลางคืนได้ยินเสียงร้องไห้เซงแซ่ไปที่องค์พระจนชาวบ้านตกใจ ครั้นรุ่งขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ฝนตกหนักทั้งกลางวันกลางคืน อิฐที่ก่อนั้นหนักตัวก็เลื่อนซุดลงมารอบตัว เพราะฐานทักษิณไม่มี ข้างบนหนัก ข้างล่างบางเพียง ๓ ศอก ๔ ศอก ทรงกันไว้ไม่อยู่ต้องรื้อออกเสียทำใหม่ จึงโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ ปิยพรหมจรรยวรธรรมยุติ ซึ่งสถิตอยู่วัดบวรนิเวศพระองค์ ๑ กรมขุนราชสีหวิกรมองค์ ๑ คิดตัวอย่างถวายแล้วทรงแนะนำตัวอย่าง แล้วโปรดให้ถมพื้นที่ลุ่มดอนขึ้นมาให้เสมอกันไขส่วนสูง วัดด้วยวาทองธารพระกร ตั้งแต่พื้นดินขึ้นไปเสมอพื้นหน้าพระระเบียงกลม สูง ๔ วา ๒ ศอกบ้าง ๕ วาบ้าง แต่พื้นหน้าพระระเบียงขึ้นไปถึงทักษิณที่ ๑ สูง ๖ ศอกคืบ ๒ นิ้ว ตั้งแต่พื้นทักษิณที่ ๑ ขึ้นไปถึงฐานบัวคว่ำสูง ๘ ศอกคืบ ตั้งแต่ทักษิณที่ ๒ ขึ้นไปถึงปากระฆังสูง ๙ วาคืบนิ้ว องค์ระฆังสูง ๑๔ วา ๔ นิ้ว บัลลังก์สูง ๓ วา ๑ คืบ ๖ นิ้ว ตั้งแต่บัลลังก์ถึงหลังฝาละมีสูง ๕ วาคืบ ๑๑ นิ้ว ปล้องไฉน ๒๗ ปล้อง สูง ๑๕ วา ๒ ศอกคืบ ๕ นิ้ว บัลลังก์บัวแวงสูง ๓ วาคืบ ๖ นิ้ว ฐานทองเหลือง สูงศอกคืบ ๒ นิ้ว ยอดนภศูลขึ้นไปตลอดยอดมงกุฎสูง ๓ วานิ้ว คิดรวมตั้งแต่พื้นดินขึ้นไปตลอดยอดมงกุฎคิดได้เป็น ๓ เส้นคืบ ๖ นิ้ว ก่อฐานใหญ่รอบ ๕ เส้น ๑๖ วา ๓ ศอก ทักษิณที่ ๑ ก่อออกมากว้าง ๕ วา ตั้งแต่ลูกแก้วหลังบัวถลาขึ้นไปก่อกว้าง ๔ วาบ้าง ๔ วาเศษบ้างตลอดถึงทักษิณที่องค์ปรางค์ตั้งอยู่ ก่อกว้าง ๗ วาบ้าง ๗ วา ๒ ศอกบ้าง ลดเข้าไปทุกทีจนกระทั่งที่ตั้งเวที ที่นั้นกว้าง ๓ วา ที่ปล้องฉนัยนั้นกว้าง ๕ ศอก จนตลอดยอดปรางค์ ฐานล่างถ้าจะชักเป็น ๔ เหลี่ยม ด้าน ๑ ยาว ๒ เส้น ๗ วา เท่ากับฐานกะเปาะทำไว้ทั้ง ๔ ด้าน

ครั้นตัวอย่างตกลงแล้ว พระฤกษ์เมื่อณวันพฤหัสบดีเดือน ๑๑ ขึ้น ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๒๒ ปีวอกโทศก[๘] จะได้ก่อพระฤกษ์ จึงรับสั่งว่ามีราชการอยู่ที่กรุง เสด็จออกไปไม่ได้ จึงโปรดให้กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ ปิยพรหมจรรยวรธรรมยุติ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ออกไปก่อพระฤกษ์ องค์พระปฐมเจดีย์นั้นก่อขึ้นแล้วที่ชั้นทักษิณที่ ๑ ปักเสานางเรียงรอบองค์แล้วมีเสาปักขาทรายค้ำเสานางเรียงด้วย ชั้นทักษิณที่ ๒ มีแต่เสาขาทรายไม่มีเสานางเรียง ที่ตรงบัวถลาลงไปมีนางเรียงปักไม้ซุงทั้งต้นปักถึงพื้นอีกรอบ ๑ รัดด้วยไม้ซุงทั้งต้น แล้วเอาสายโซ่ใหญ่รัดที่หน้ากระดานท้องไม้ใต้บัวถลาแห่ง ๑ รัดหลังบัวถลาแห่ง ๑ รัดตั้งแต่ท้องไม้ลูกแก้วถึงบัวคลุมปากระฆังอีก ๕ ชั้น ที่กลางองค์ระฆังมีเสานางเรียงรัดสายโซ่อีก ๓ รอบ ที่คอถลามีเสานางเรียง ตีนเสาเชิงเรียงนั้นใส่ปลอกไม้ซากชั้น ๑ แล้วรัดสายโซ่อีก ๕ รอบ ปลายเสานั้นเอาไม้ซาก ๑๐ นิ้ว ๔ เหลี่ยมสับปากกันเป็นปลอกปลายเสาอีกชั้น ๑ ลูกแก้วปล้องฉนัยฝาละมีรัดสายโซ่มีท้องไม้อีก ๘ รอบ แล้วก่ออิฐถือปูนหุ้ม

การที่ทำในบริเวณองค์พระนั้นได้ก่อวิหารไว้ ๔ ทิศ ประดิษฐานรูปพระปฏิมากรทั้ง ๔ ปาง วิหารใหญ่ข้างทิศบูรพานั้น ห้องนอกไว้พระพุทธรูปมารวิไชยได้ตรัส ห้องในไว้พระแท่นที่นมัสการ มุขหน้าไว้พระพุทธรูปฉลองพระองค์ วิหารทิศทักษิณห้องนอกไว้พระเทศนาธรรมจักรโปรดปัญจวัคคีย์ ห้องหลังไว้พระนาคปรกซึ่งเป็นของเดิม มุขหลังไว้รูปพระยาภาน ทิศประจิมนั้นทำวิหารพระพุทธไสยาศน์ใช้ของเก่าหลัง ๑ พระพุทธไสยาศน์เดิมยาว ๔ วา องค์ใหม่ยาว ๘ วา ๒ ศอก วิหารห้องเบื้องหลังไว้พระนิพพานองค์ ๑ วิหารทิศอุดรนั้นห้องนอกไว้พระประสูติ ห้องเบื้องหลังไว้พระป่าเลไลยซึ่งเป็นของเดิม มุขหลังไว้พระรูปพระยากง แล้วชักระเบียงกลมล้อมรอบถึงกันทั้ง ๔ ด้าน จดจารึกคาถาพระธรรมบทไว้ทุกห้อง รอบนอกนั้นก่อหอระฆังรายรอบไปอีกชั้น ๑ ชั้นล่างก่อกำแพงถมดินกะเปาะขึ้นมาทั้ง ๔ ทิศ บนกะเปาะด้านข้างตะวันออกทำโรงธรรมข้าง ๑ ทำโรงพระอุโบสถตรงพระอุโบสถเก่าขึ้นมาข้าง ๑ ประดิษฐานพระคันธารราฐซึ่งได้มาแต่วัดทุ่งพระเมรุ ด้านใต้บนกะเปาะจำลองรูปพระปฐมเจดีย์เดิมไว้ข้างตะวันออกองค์ ๑ สูง ๙ วา ๑ คืบ ยอดนภศูลศอกคืบ ๒ นิ้ว ต่ำกว่าองค์เดิมอยู่ ๒๖ วาศอก ๒ นิ้ว ข้างตะวันตกนั้นได้จำลองรูปพระเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช ที่เรียกว่าพระบรมธาตุใหญ่ศักดิ์สิทธิ์ทำขึ้นไว้ เดิมของท่านสูง ๓๗ วา ๒ ศอกตลอดยอดพุ่ม จำลองใหม่สูง ๑๐ วา ๒ ศอก ๑ คืบ ยอดนภศูล ๓ ศอก ๑ นิ้วกึ่ง ต่ำกว่าองค์เดิม ๒๖ วาคืบ ๑ นิ้วกึ่งเพื่อให้สัตบุรุษเห็น จะได้ส่งใจไปนมัสการพระธาตุเมืองนคร กะเปาะด้านตะวันตกนั้น ชั้นบนได้ประดิษฐานพระมหาโพธิเมื่อครั้งพระอาจารย์ดี พระอาจารย์เทพออกไปเกาะลังกาได้เข้ามา ชั้นล่างประดิษฐานไม้สำคัญที่ควรจะกระทำสักการบูชาเป็นที่ระลึก คือไม้อัชปาลนิโครธ แปลว่าไม้ไทร ที่พระพุทธเจ้าฉันมธุปายาสได้ตรัสแล้วเสด็จไปเสวยวิมุตติสุขอยู่ที่นั้นอีกคราว ๑ ถึง ๗ วัน แล้วเสด็จไปอาศัยอยู่ใต้ร่มไม้มุจลินท์คือไม้จิก คราวนั้นฝนตกหนักพระยานาคขึ้นมาทำกายวงล้อมพระพุทธเจ้า แล้วเลิกพังพานปกเบื้องบน ฝนก็ไม่รั่วน้ำก็ไม่ท่วมเข้าไปได้ พระองค์อยู่ใต้ร่มไม้จิก ๗ วัน แล้วเสด็จมาประทับอยู่ใต้ร่มไม้ราชายตนะคือไม้เกต ครั้นนั้นได้รับสะตูก้อนสะตูผง ของนายตปุสสะภัลลิกะพ่อค้าเกวียน ตั้งแต่ได้ตรัส ๔๘ วัน มาเสวยพระกระยาหารในวันที่ ๔๙ และไม้พหูบุตตนิโครธคือไม้กร่าง ที่พระองค์ได้พบพระมหากัสสปในร่มไม้นั้น สาลรุกโขคือไม้รัง เป็นที่พระองค์ได้ประสูติในร่มไม้นั้นอย่าง ๑ ปรินิพพานใต้ต้นไม้รังอย่าง ๑ เป็น ๒ อย่างด้วยกัน ไม้ชมพูคือไม้หว้า เมื่อพระองค์ยังเยาว์อยู่ตามเสด็จพระราชบิดาไปแรกนาขวัญ ได้ประทับอยู่ในร่มไม้นั้นก็ได้พิจารณากรรมฐานถึงปฐมฌานเป็นปฐมที่ ๑ ครั้งนั้นเกิดอัศจรรย์หลายอย่างจนแผ่นดินไหว เงาไม้ก็มิได้ย้ายไปตามพระอาทิตย์ ไม้อัมพวา คือไม้มะม่วง ที่พระองค์ได้กระทำยมกปาฏิหาริย์ในยอดไม้มะม่วงนั้น ไม้ที่พรรณนามานี้ก็คล้ายๆ กันกับไม้พระศรีมหาโพธิเรียกว่าสัตตมหาสถาน จึงเอามาประดิษฐานไว้เป็นที่ระลึกด้วย กะเปาะข้างทิศเหนือนั้นก็ทำเป็นคลัง ๑ โรงประโคมหลัง ๑ ระหว่างกะเปาะทำเป็นภูเขาไว้ทั้ง ๔ ทิศ หน้าภูเขาออกมามีรั้วเหล็กล้อมชั้น ๑ หน้ารั้วเหล็กออกมาทำเป็นฐานพระมหาโพธิทั้ง ๔ ทิศ ได้ผลมาแต่เมืองพุทธคยาบุรี ว่าเป็นหน่อเดิมที่พระได้ตรัส พระมหาโพธิต้นนั้นมีพระระเบียงล้อมถึง ๗ ชั้น พวกพราหมณ์หวงแหนอยู่แน่นหนา เจ้าเมืองอังกฤษจึงไปขอเอาผลและใบถวายเข้ามา ทรงเพาะได้งอกงามดี พระราชทานให้ไปปลูกที่วัดหลวงทุกวัด หน้าชานพระมหาโพธิออกมาชักกำแพงปีกกามีหลังคาพอคนอาศัยได้ บรรจบกะเปาะออกมาทั้ง ๔ ทิศ ที่มุมมีหอกลองหลัง ๑ หอระฆังหลัง ๑ สลับกันทั้ง ๔ มุม คิดจะมิให้ของโบราณเสื่อมศูนย์ ไปเที่ยวเก็บเอาศิลาใหญ่อยู่ในป่าในรกเอามาไว้ให้ดูทุกสิ่ง แล้วตั้งพระราชาคณะไปอยู่ ชื่อพระสนิทสมณคุณ พระครูชื่อพระครูปฐมเจติยานุรักษ์ เสด็จพระราชดำเนินออกไปครั้งไร ก็ทรงพระราชดำริแนะนำให้กระทำทุกครั้ง แล้วมีพระราชอุตสาหะทรงอิฐ ๑ แผ่น ๒ แผ่นบ้าง เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปทางสะพานนั่งร้านทรงก่อทุกครั้ง แล้วเปลื้องพระภูษาทรงสะพักขึ้นทำธงบูชาที่ก่อนั้นด้วย จนองค์พระสูงขึ้นไปจนถึงปล่องฉนัยชั้นที่ ๕



[๑] อังคารที่ ๓ มกราคม ฯ

[๒] พ.ศ. ๒๓๙๖ ฯ

[๓] พุธที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๘

[๔] ศุกรที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๐๑ ฯ

[๕] วันที่ ๒๔ มีนาคม ฯ

[๖] วันที่ ๑๘ เมษายน ฯ

[๗] อาทิตย์ที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๐๓

[๘] พุธที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๓

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ