๒๒๖. ทรงบุรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธบาทและวังท้ายพิกุล

และเมื่อปีมะเส็งนพศก[๑] ทรงพระราชดำริว่า พระมณฑปพระพุทธบาทนั้น ทำแต่ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไฟไหม้ม่านและพระมณฑปชั้นใน การยับเยินไปหลายสิ่ง จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พระยาพิไชยสงคราม[๒] คุมช่างขึ้นไปทำดีดังเก่า แต่พระมณฑปใหญ่นั้นหาได้เปลี่ยนตัวไม้เครื่องบนและซุ้มไม่ แล้วโปรดให้พระครูมงคลเทพวัดนางเชิง เป็นผู้กำกับดูและกระทำซ่อมแซมต่อมา

ครั้งนี้ มีผู้เข้ามาว่าตัวไม้และซุ้มเครื่องบนนั้นผุยุ่ยไปหมด จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ให้ช่างขึ้นไปถ่ายแบบตัวอย่างตัวไม้ลงมาปรุงเครื่องบนใหม่ ไปแต่กรุงเทพมหานครทีเดียว เมื่อณวันศุกร เดือน ๒ แรม ๙ ค่ำ[๓] ปีมะเส็งนพศก โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระพิมลธรรมวัดพระเชตุพน กับสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยไปเกณฑ์เลขพระพุทธบาทมารื้อเครื่องบนเก่า เมื่อณวันอังคาร เดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ[๔] ปีมะเส็งนพศก ได้ยกเครื่องบนใหม่ แต่ลูกแก้วเดิมเป็นไม้ ก็ได้โปรดให้หล่อทองเหลืองเปลี่ยนเสียใหม่

พื้นในมณฑปเดิมปูแผ่นเงิน กาลนานมาแผ่นที่เชื่อมกันเข้าไว้หลุดออกจากกัน ก็เป็นแง่เหลี่ยม เกี่ยวผ้านุ่งสัตบุรุษขาดไป ฤดูหนึ่งก็หลายสิบคน จะเชื่อมเสียใหม่ก็เห็นจะไม่ติด จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์เป็นแม่กอง เอาแผ่นเงินเดิมมาหลอมชักเป็นลวดเส้นแบนสานเป็นเสื่อเงินขึ้น และพระอุโบสถพิหารศาลาโรงธรรม กุฏิ ศาลาราย และคลังบูชาในบริเวณเป็นของเก่า ก็โปรดให้บุรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นงามดีดังเก่าทุกแห่ง

พระราชวังเก่าที่ท้ายพิกุลก็ได้ทำที่ประทับขึ้นใหม่ มีพระที่นั่งและเรือนประเทียบขึ้นหลายหลัง ที่ท่าเรือเหนือวัดรวกขึ้นไป แต่ก่อนหาได้มีศาลาไม่ สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยได้ทำเป็นศาลาฝาอิฐปูนขึ้นอีก ๓ หลัง สำหรับสัตบุรุษได้พักอาศัยขึ้นนมัสการพระ แล้วให้ขุดบ่อน้ำปลูกศาลาตามระยะทางขึ้นไปอีก ตั้งแต่บางโขมดขึ้นไปเกือบถึงท้ายเขาตก แต่บริเวณพระพุทธบาทได้ทำกุฏิสงฆ์ ๒ ห้องขึ้นที่ท้ายพิกุล ๗ หลัง และในวังนั้นทำเป็นศาลายาว ๙ ห้องหลัง ๑ และโรงธรรม ๕ ห้องหลัง ๑ เป็นของสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยทำบุญ สำหรับสัตบุรุษอาศัย

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ได้บุรณะตึกเก่าที่หน้าวัดพุทธบาทริมตลาดตึก ๑ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศบุรณะสระสามเส้นขึ้นอีกแห่ง ๑ พณฯหัวเจ้าท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหม ได้บุรณะตึกเก่าขึ้นที่ริมบ่อโพงหลัง ๑ เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี ได้บุรณะโรงเครื่องที่ริมประตูยักษ์หลัง ๑ ไปปลูกกุฏิสงฆ์ที่วังท้ายพิกุลหลัง ๑ การมณฑปนั้นค้างอยู่ แต่การรักการทองที่เสารายมณฑป ๒๐ ต้น การพิหาร ๑๖ ห้อง ที่เรียกว่าท้องพระโรงแห่ง ๑ บานประตูและหน้าต่างสกัดเป็นดวงตราพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๔ พระองค์ ค้างอยู่แต่ที่เขียนลายเพดาน

รวมพระราชทรัพย์ทำพระมณฑปและในบริเวณ เงิน ๓๓๑ ชั่ง ๓ สลึงเฟื้อง รวมเป็น ๔๔๑ ชั่ง ๔ ตำลึง ๓ บาท ๑ สลึงเฟื้อง แต่ของเบิกไม่ได้คิด



[๑] พ.ศ. ๒๔๐๐ ฯ

[๒] ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒๕ ว่าพระยาราชสงคราม ฯ

[๓] วันที่ ๘ มกราคม ฯ

[๔] จันทร์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ฯ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ