- คำนำ
- ๑. อัญเชิญสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฎฯ เสด็จจากวัดบวรนิเวศ
- ๒. กราบทูลอัญเชิญสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ขึ้นเสวยราชย์
- ๓. ทรงแก้ไขธรรมเนียมข้าราชการเข้าเฝ้าให้สรวมเสื้อ
- ๔. พระราชพิธีบรมราชาภิเศก
- ๕. ข้าราชการฝ่ายในถวายตัว
- ๖. เสด็จเลียบพระนครทางสถลมารค
- ๗. เสด็จเลียบพระนครทางชลมารค
- ๘. พระราชพิธีบวรราชาภิเศก
- ๙. พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบพระนคร
- ๑๐. ราชทูตไทยไปเมืองจีน
- ๑๑. ตั้งพระราชาคณะ
- ๑๒. ตั้งกรมเจ้านาย
- ๑๓. เจ้าประเทศราชเข้ามาเฝ้า
- ๑๔. ตำนานเมืองน่าน
- ๑๕. ตำนานเมืองแพร่
- ๑๖. ทรงแก้สร้อยพระนาม องค์สมเด็จหริรักษรามา เจ้ากรุงกัมพูชา
- ๑๗. ทรงแต่งตั้งขุนนาง
- ๑๘. ขุดคลองคูพระนครชั้นนอก
- ๑๙. การเทศนากระจาดใหญ่
- ๒๐. ถวายพระนามพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมราชชนนี และกรมพระราชวังบวรที่สวรรคตแล้ว
- ๒๑. งานพระบรมศพ
- ๒๒. ราชทูตไทยไปเมืองจีน
- ๒๓. ขุดคลองผดุงกรุงเกษมและสร้างป้อม
- ๒๔. สมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดีสิ้นพระชนม์
- ๒๕. เริ่มการศึกเชียงตุง
- ๒๖. บรรจุดวงพระชาตาพระนคร
- ๒๗. สมณทูตไทยไปลังกาทวีป
- ๒๘. งานพระศพสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี
- ๒๙. สมณทูตกลับจากลังกาทวีป
- ๓๐. ได้พระวิมลรัตนกริณี ช้างพังเผือกตรี
- ๓๑. สมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์ประสูติเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
- ๓๒. การทัพศึกเมืองเชียงตุง
- ๓๓. เรื่องเรือกะทงลอยพระประทีป
- ๓๔. สร้างพระเจดีย์และถวายพระนามพระประธานในวัดพระเชตุพน
- ๓๕. กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสและกรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิ์สิ้นพระชนม์
- ๓๖. สร้างสระปทุมวันและวัดปทุมวนาราม
- ๓๗. การทัพศึกเมืองเชียงตุง (ต่อ)
- ๓๘. เตรียมการต้อนรับเซอร์ยอนโบวริง
- ๓๙. การฉลองคลองคูพระนครชั้นนอก (คลองผดุงกรุงเกษม)
- ๔๐. สร้างพระอภิเนาวนิเวศน์
- ๔๑. ได้พระวิสุทธรัตนกริณี ช้างพังเผือกโท
- ๔๒. เซอร์ยอนโบวริงเข้ามาทำหนังสือสัญญา
- ๔๓. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ถึงแก่พิราลัย
- ๔๔. มิสเตอร์ฮาริปักเข้ามาแก้หนังสือสัญญา
- ๔๕. ทูตอเมริกันเข้ามาทำหนังสือสัญญา
- ๔๖. การถวายสลากภัตรในวัดพระเชตุพน
- ๔๗. ทูตฝรั่งเศสเข้ามาทำสัญญา ๓๒ ข้อ
- ๔๘. พม่าถือหนังสือเสนาบดีผู้ใหญ่เมืองพม่าเข้ามาถวายพระสังฆราช
- ๔๙. หนังสือเดินทางของพม่า
- ๕๐. ลิขิตสมณศาสน์ตอบหนังสือเสนาบดีพม่า
- ๕๑. ทูตฝรั่งเศสไปเมืองเขมรและเมืองญวน
- ๕๒. หนังสือองค์พระหริรักษ์ถึงพระเจ้านโปเลียนที่ ๓
- ๕๓. ราชทูตไทยไปประเทศอังกฤษ
- ๕๔. สร้างสวนอนันตอุทยาน
- ๕๕. ขุดคลองมหาสวัสดิ์
- ๕๖. เสด็จประพาสหัวเมืองตะวันออก
- ๕๗. พระราชทานที่ให้ชาวต่างประเทศตั้งห้างและขุดคลองถนนตรง
- ๕๘. พระราชทานทรัพย์สร้างศาลาที่เมืองร่างกุ้ง
- ๕๙. หนังสือองญวนข้าหลวงเมืองไซ่ง่อนถึงเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหพระกลาโหม
- ๖๐. หนังสือตอบองญวนข้าหลวงผู้สำเร็จราชการเมืองไซ่ง่อน
- ๖๑. หนังสือองญวนข้าหลวงผู้สำเร็จราชการเมืองไซ่ง่อน ตอบเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์
- ๖๒. ทูตเดนมาร์กเข้ามาทำหนังสือสัญญา
- ๖๓. ราชทูตไทยกลับจากลอนดอน
- ๖๔. ทูตเดนมาร์กกลับ
- ๖๕. โปรดฯ ตั้งองค์พระนโรดมและองค์หริราชดะไนไปช่วยราชการเมืองเขมร
- ๖๖. ฝรั่งเศสรบกับญวน
- ๖๗. ดาวหางขึ้น
- ๖๘. พระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ และสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย
- ๖๙. ทูตโปรตุเกศเข้ามาทำหนังสือสัญญา
- ๗๐. งานเฉลิมพระมหามนเทียรพระที่นั่งอนันตสมาคม
- ๗๑. สร้างประตูกำแพงพระบรมมหาราชวังชั้นนอก
- ๗๒. เรื่องรักใคร่ระหว่างขุนสุวรรณกับเจ้าจอมช้อย
- ๗๓. พระราชทานเงินคนชราพิการ
- ๗๔. เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก
- ๗๕. กรมสมเด็จพระเดชาดิศรสิ้นพระชนม์
- ๗๖. เสด็จประพาสตลาดสำมุข
- ๗๗. โปรดฯ ให้รื้อปราสาทผไทตาพรหม
- ๗๘. ฝรั่งเศสรบกับญวน (ต่อ)
- ๗๙. งานพระศพกรมสมเด็จพระเดชาดิศร
- ๘๐. เกิดความไข้ที่กรุงเทพฯ
- ๘๑. ได้พระมหาศรีเศวตวิมลวรรณ ช้างพลายเผือกโท
- ๘๒. โปรดเกล้าฯ ให้งดการรื้อปราสาทผไทตาพรหม
- ๘๓. พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาศหัวเมืองปักษ์ใต้
- ๘๔. ทูตฮอลันดาเข้ามาทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี
- ๘๕. คนสนิทของสุลต่านมะหมุดเข้ามาขอกำลังรบเมืองปาหัง
- ๘๖. องค์พระหริรักษ์ เจ้ากรุงกัมพูชา สุรคต
- ๘๗. สมโภชพระสมุทรเจดีย์
- ๘๘. ราชทูตไทยไปประเทศฝรั่งเศ
- ๘๙. ใบบอกพระยาสระบุรีเรื่องคล้องได้ช้างพังเผือกโท
- ๙๐. เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี
- ๙๑. ราชทูตกราบถวายบังคมลา
- ๙๒. สมโภชพระพุทธบุษยรัตน์ จักรพรรดิพิมลมณีมัย
- ๙๓. กรมหลวงสรรพศิลป์ปรีชาและกรมหลวงมหิศวรินทรามเรศรสิ้นพระชนม์
- ๙๔. สุลต่านมะหมุดเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
- ๙๕. สมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์สิ้นพระชนม์
- ๙๖. เรื่องเมืองเขมร
- ๙๗. ทูตปรุศเซียเข้ามาทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี
- ๙๘. ราชทูตไทยกลับจากประเทศฝรั่งเศ
- ๙๙. เรื่องเมืองเขมร (ต่อ)
- ๑๐๐. งานพระศพ กรมหลวงมหิศวรินทร์ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ และพระองค์เจ้านิลวรรณ
- ๑๐๑. ส่งองค์พระนโรดมไปครองเมืองเขมร
- ๑๐๒. ทูตปรุศเซียกราบถวายบังคมลา
- ๑๐๓. ทำเงินตราใช้แทนเบี้ยและหอย
- ๑๐๔. ตัดถนน ๓ สายและขุดคลอง
- ๑๐๕. สร้างสะพานข้ามคลอง
- ๑๐๖. งานพระศพกรมหมื่นเชษฐาธิเบนทร์และพระองค์เจ้าสว่าง
- ๑๐๗. โสกันต์พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์
- ๑๐๘. พระราชพิธีรับพระสุพรรณบัฏ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
- ๑๐๙. เจ้าเมืองเบตาเวียเข้ามาเปลี่ยนหนังสือสัญญาฮอลันดา
- ๑๑๐. งานพระศพสมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์
- ๑๑๑. ราชศาสน์เจ้ากรุงจีน
- ๑๑๒. พระราชศาสน์ถึงเจ้ากรุงจีน
- ๑๑๓. ญวนทำสัญญาใช้เบี้ยปรับให้ฝรั่งเศส
- ๑๑๔. เรื่องสุลต่านมะหมุด
- ๑๑๕. สร้างถนนเจริญกรุงตอนใน
- ๑๑๖. กรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธรสิ้นพระชนม์
- ๑๑๗. พระราชพิธีรับพระสุพรรณบัฏ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล
- ๑๑๘. โสกันต์พระเจ้าลูกเธอ ๓ พระองค์
- ๑๑๙. การรับและสมโภชพระเศวตสุวรรณาภาพรรณ ช้างพังสีประหลาด
- ๑๒๐. กรมพระพิทักษเทเวศรสิ้นพระชนม์
- ๑๒๑. งานโสกันต์
- ๑๒๒. พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสถวายเครื่องราชอิศริยยศ
- ๑๒๓. งานพระศพพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร
- ๑๒๔. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑลฯ สิ้นพระชนม์
- ๑๒๕. งานพระศพกรมพระพิทักษเทเวศร และพระองค์เจ้าใย
- ๑๒๖. เตรียมการสมโภชพระบรมอัฏฐิ
- ๑๒๗. เรื่องราชศาสน์เจ้ากรุงจีน
- ๑๒๘. เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ (ลองเรืออรรคราชวรเดช)
- ๑๒๙. องค์พระนโรดมบอกเรื่องทำหนังสือสัญญาระหว่างเขมรกับฝรั่งเศส
- ๑๓๐. สุลต่านมะหมุดหนีกลับ
- ๑๓๑. สร้างถนนบำรุงเมือง
- ๑๓๒. สร้างถนนเฟื่องนคร
- ๑๓๓. ฝรั่งเศสถวายรูปราชสีห์
- ๑๓๔. สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา เสด็จไปเที่ยวค้นดูช้างในแขวงเมืองนครนายก
- ๑๓๕. พระราชทานสุพรรณบัฏเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์
- ๑๓๖. ญวนแต่งทูตไปกรุงปารีส
- ๑๓๗. สร้างพระบรมบรรพต
- ๑๓๘. สมโภชพระบรมอัฏฐิและพระอัฏฐิ
- ๑๓๙. งานพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล
- ๑๔๐. งานพระศพพระองค์เจ้าขนิษฐน้อยนารี
- ๑๔๑. พระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยานิกรบดินทร์
- ๑๔๒. ตั้งผู้แทนทำหนังสือสัญญาเขตต์แดนอังกฤษกับไทย
- ๑๔๓. ราชาภิเศกองค์พระนโรดมขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินกรุงกัมพูชา
- ๑๔๔. งานฉลองสพานและถนน
- ๑๔๕. คล้องได้ช้างเผือกเอก
- ๑๔๖. เปรสิเดนต์ส่งกระบี่เครื่องทองคำเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย
- ๑๔๗. สุลต่านมะหมุดถึงแก่กรรม
- ๑๔๘. ช้างเผือกและช้างสำคัญในรัชชกาลที่ ๔
- ๑๔๙. น้ำไหลมาแต่เหนือมีสีแดง
- ๑๕๐. เฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖๐
- ๑๕๑. การแบ่งเขตต์แดนประเทศสยามกับพม่าของอังกฤษ
- ๑๕๒. การฉลองศาลาที่เมืองร่างกุ้ง
- ๑๕๓. เรื่องค่านาคู่โค
- ๑๕๔. โสกันต์พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ และพระองค์เจ้ามัณยาภาธร
- ๑๕๕. เสด็จประพาสเมืองราชบุรีและกาญจนบุรี
- ๑๕๖. ตั้งผู้ปรึกษาทำหนังสือสัญญาเขตต์แดนเมืองเขมร
- ๑๕๗. โปรดฯ ให้ชำระเจ้าพนักงานฉ้อพระราชทรัพย์
- ๑๕๘. นายพลเรือโท ยอช กิง เข้ามากรุงเทพฯ
- ๑๕๙. พระยามนตรีสุริยวงศ์ออกไปเมืองนครฯ
- ๑๖๐. ทรงเปลี่ยนนามเจ้าพระยาทิพากรวงศ์
- ๑๖๑. โสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
- ๑๖๒. พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต
- ๑๖๓. โสกันต์พระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าหลานเธอ ๓ พระองค์
- ๑๖๔. การปักเขตต์แดนสยามกับพม่าของอังกฤษ
- ๑๖๕. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงพระผนวชสามเณร
- ๑๖๖. เรื่องหนังสือสัญญาการเมืองเขมร
- ๑๖๗. พระราชทานเพลิงศพพระยามนตรีสุริยวงศ์และพระยาอภัยสงคราม
- ๑๖๘. สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ถวายเทศนามหาชาติ
- ๑๖๙. เสด็จพระราชดำเนินไปสมโภชพระพุทธชินราชที่เมืองพิศณุโลก
- ๑๗๐. เรื่องปันเขตต์แดนทางประเทศพม่า
- ๑๗๒. ทำแผนที่อาณาเขตต์ทางหัวเมืองลำแม่น้ำโขง
- ๑๗๓. งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
- ๑๗๔. งานพระศพเจ้านาย
- ๑๗๕. ขุดคลองภาษีเจริญ
- ๑๗๖. ทำกะโจมไฟที่หลังสันดอน
- ๑๗๗. สร้างพระราชวังสราญรมย์
- ๑๗๘. มีละครทำขวัญพระบรมมหาราชวัง
- ๑๗๙. โสกันต์พระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าหลานเธอ ๕ องค์
- ๑๘๐. โปรดเกล้าฯ ให้จำลองปราสาทที่นครวัด
- ๑๘๑. ฝรั่งเศสได้เมืองญวน ๓ เมือง
- ๑๘๒. พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสถวายพระแสง
- ๑๘๓. กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาสสิ้นพระชนม์
- ๑๘๔. ราชทูตไทยกลับจากประเทศฝรั่งเศ
- ๑๘๕. ทูตฝรั่งเศสเข้ามาประทับตราหนังสือสัญญา
- ๑๘๖. ทูตโปรตุเกศเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี
- ๑๘๗. โสกันต์พระเจ้าลูกยาเธอ ๓ องค์
- ๑๘๘. ราชทูตโปรตุเกศกราบถวายบังคมลากลับ
- ๑๘๙. เปลี่ยนหนังสือสัญญากับฝรั่งเศส
- ๑๙๐. ฉลองวัดปทุมวนาราม
- ๑๙๑. เรื่องปักเขตต์แดนทางเมืองเขมร
- ๑๙๒. อักษรศาสน์ไว้ส์รอยอินเดีย
- ๑๙๓. งานพระศพกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส
- ๑๙๔. การฉลองวัดหงษ์และโรงธรรมวัดกัลยาณมิตร
- ๑๙๕. ตั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เป็นกรมขุนพินิตประชานา
- ๑๙๖. อสุนีบาตตกหลายแห่ง
- ๑๙๗. เปิดคลองดำเนินสดวก
- ๑๙๘. ขุดคลองบางลี่และแก้คลองลัดยี่สานเมืองสมุทรสงคราม
- ๑๙๙. ขุดคลองที่ลัดขุนเมืองสมุทรสาคร
- ๒๐๐. ไวซ์รอยอินเดียทำแผนที่เขตต์แดนส่งมาประทับตรา
- ๒๐๑. สถานที่ซึ่งทรงก่อสร้างและเปลี่ยนแปลงในรัชชกาลที่ ๔
- ๒๐๒. การพระราชกุศล
- ๒๐๓. การภาษีอากร
- ๒๐๔. ขุดได้พระพุทธรูปนิรันตราย
- ๒๐๕. สั่งปืนเข้ามาใช้ในราชการ
- ๒๐๖. ต่อเรือพระที่นั่งและเรือกลไฟ
- ๒๐๗. เมืองที่ทรงตั้งในรัชกาลที่ ๔
- ๒๐๘. ทรงแปลงและตั้งนามขุนนาง
- ๒๐๙. ทรงตั้งนามราชทูตและกงสุล
- ๒๑๐. ทรงตั้งและแปลงนามบรรดาศักดิ์ขุนนาง
- ๒๑๑. ทรงตั้งและแปลงนามเจ้าเมืองกรมการ
- ๒๑๒. ทรงตั้งและแปลงนามพระราชาคณะฐานานุกรม
- ๒๑๓. ทรงตั้งและแปลงนามวัดต่างๆ
- ๒๑๔. เสนาบดีเข้าชื่อกันทำเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวาย เรื่องราษฎรกล่าวว่า พระบาง พระพุทธรูปทำให้ฝนแล้ง
- ๒๑๕. พระราชทานพระบางคืนไปเมืองหลวงพระบาง
- ๒๑๖. สร้างและปฏิสังขรณ์พระอารามในกรุง
- ๒๑๗. สร้างและปฏิสังขรณ์พระอารามหัวเมือง
- ๒๑๘. สร้างพระนครคีรี ที่เมืองเพ็ชรบุรี
- ๒๑๙. กระแสพระราชดำริก่อนปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์
- ๒๒๐. ปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์
- ๒๒๑. กล่าวด้วยปาฏิหาริย์พระปฐมเจดีย์
- ๒๒๒. สร้างพระราชวังที่นครปฐม
- ๒๒๓. ขุดคลองเจดีย์บูชา
- ๒๒๔. ทรงปฏิสังขรณ์วัดเฉลิมพระเกียรติ
- ๒๒๕. ปฏิสังขรณ์วัดชุมพลนิกายารามและสร้างตำหนักที่บางปะอิน
- ๒๒๖. ทรงบุรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธบาทและวังท้ายพิกุล
- ๒๒๗. ทรงสร้างพระนารายน์ราชนิเวศน์เมืองลพบุรี
- ๒๒๘. กงสุลฝรั่งเศสเข้ามาเปลี่ยนตัว
- ๒๒๙. เสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- ๒๓๐. ลงพระราชอาชญาพวกมหาดเล็กเล่นไพ่
- ๒๓๑. ทำทัณฑกรรมโหรและท้าวสมศักดิ์ท้าวโสภา
- ๒๓๒. สมโภชพระปฏิมากรแก้วมรกต
- ๒๓๓. ทรงพระประชวร
- ๒๓๔. พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒนสัตยา
- ๒๓๕. ตั้งกองล้อมวง
- ๒๓๖. ประชุมหมอหลวงถวายพระโอสถ
- ๒๓๗. กระแสพระราชดำริถึงผู้สืบราชสมบัติ
- ๒๓๘. แปลคำที่ทรงคาถาขอขมาพระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์
- ๒๓๙. ทรงขอขมาพระบรมวงศานุวงศ์และท่านเสนาบดี
- ๒๔๐. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต
- ๒๔๑. สรงน้ำพระบรมศพ
๔. พระราชพิธีบรมราชาภิเศก
เมื่อณวันศุกร เดือน ๖ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีกุนตรีศก[๑] โหรมีชื่อคำนวณพระฤกษ์มหามงคลอันอุดม ตั้งบายศรีแก้ว บายศรีทอง บายศรีเงิน บายศรีตอง ขุนสารประเสริฐได้จารึกพระนามลงในแผ่นพระสุพรรณบัฏทองเก้าน้ำ พระสุพรรณบัฏกว้าง ๗ นิ้ว ยาว ๑๔ นิ้ว เมื่อพระมหาราชครูจุณเจิมแล้วพันด้วยไหมเบญจพรรณใส่ในพระกล่องทองคำจำหลักลายกุดั่น แล้วประดิษฐานไว้ในหีบถมทองคำ สวมถุงเข้มขาบประทับตราประจำครั่ง เชิญขึ้นประดิษฐานไว้ในพานทองคำ ๒ ชั้นสำรับใหญ่ ปิดคลุมหักทองขวาง ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย พร้อมกันสมโภชเวียนเทียน พราหมณ์ก็เป่าสังข์ทักขิณาวัฏ สังข์อุตราวัฏ ประโคมดุริยางคดนตรี แตร สังข์ พิณพาทย์ ฆ้องกลอง สมโภชพระสุพรรณบัฏเสร็จแล้ว จึงกำหนดพระฤกษ์ จะได้กระทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเศก ณวันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ[๒] เป็นวันวิสาขบุรณมีอุดมมหามงคลฤกษ์สมควรยิ่งนัก จะได้ตั้งสวดณวันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ[๓] เจ้าพนักงานได้จัดการปลูกโรงพิธีพราหมณ์หน้าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยตามอย่างธรรมเนียม ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยนั้น ตรงประตูกลางที่แขกเมืองเข้าเฝ้า ตั้งเตียงพิธีพระสวดท้องภาณ ที่หลังลับแล ตั้งเครื่องนมัสการ ตั้งโคมเทียนไชย ตั้งเครื่องสูงทุกสิ่งไว้ตามที่ ตั้งต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง และตกแต่งเปลี่ยนพระมหาเศวตฉัตรใหม่ และเตียงพิธีนั้นสำหรับพระสงฆ์จะได้สวดท้องภาณ ตั้งแต่สมัยกาลจนเสร็จพระราชพิธีราชาภิเศก แต่งที่ไว้พระสงฆ์สวดพระปริตร ๓๐ รูป
ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ได้ตกแต่งข้างบูรพทิศ ตั้งพระแท่นแว่นฟ้ามีเพดานระบายตาด แล้วตั้งระย้ากินรบรรจุพระบรมธาตุ ตั้งพระปฏิมาไชย ๑ พระพุทธบุศยรัตน์ ๑ พระแก้วเชิงแสน ๑ พระแก้วเรือนทอง ๑ พระไชยทอง ๑ พระไชยเงิน ๑ พระไชยเนาวโลหะ ๑ พระไชยผ้าห่มลงยาราชาวดี ๑ พระไชยพิธี ๑ พระห้ามสมุทร ๒ องค์ รวม ๑๒ องค์ ครอบพระกริ่ง ๑ ตั้งพระสุพรรณบัฏแลซรอยธุหร่ำ ดวงพระชัณษา เครื่องมุรธาภิเศก พระเต้าเบญจครรภประดับเพ็ชรพลอย ๕ อย่าง ทำด้วยโมราองค์ ๑ ทำด้วยศิลาหยกองค์ ๑ ตั้งพระเต้าปทุมนิมิตรทอง ๑ พระเต้าปทุมนิมิตรนาก ๑ พระเต้าปทุมนิมิตรเงิน ๑ พระเต้มปทุมนิมิตรสัมฤทธิ์ ๑ พระเต้าเทวบิฐ ๑ ไกรลาศ ๑ เนาวเคราะห์ ๑ บังกะลี ๑ พระมหาสังข์ทักขิณาวัฏ พระมหาสังข์ ๓ พระมหาสังข์ ๕ เครื่องพิไชยสงคราม เกราะนวมฉลองพระองค์ลงราชวัติ ๑ ฉลองพระองค์ ๓๒ ชั้น พระภูษา ๗ สี ขวดใส่น้ำศีร์ษะขวดแก้วใส่น้ำมันเครื่อง ๒ ขวด ธงไชยศึกและธงกระบี่ครุฑ[๔] พระเครื่องต้นราชกกุธภัณฑ์ พระมหามงกุฎ พระแสงขรรค์ไชยศรี พัดวาลวิชนี ธารพระกร ฉลองพระบาท พระมาลาเบี่ยง พระมหาชฎาเพ็ชร พระธำมรงค์ พระสุพรรณภาชน์ใหญ่ พระสุพรรณภาชน์น้อย พานพระขันหมากเข้าพิธีและพระเต้าราชาวดี พระสุพรรณศรีบัวแฉก เครื่องทั้งนี้มีผ้าโขมพัสตรรอง พระแสงดาบคาบค่าย ๑ พระแสงหอกไชย ๑ พระแสงดาบเชลย ๑ พระแสงตรี ๑ พระแสงจักร ๑ พระแสงธนู ๑ พระแสงเวียดห้าว ๑ พระแสงของ้าวพลพ่าย ๑ พระแสงปืนคาบชุดข้ามแม่น้ำสะโตง ๑ พระแสงดาบเขน ๑ พระแสงดาบใจเพ็ชร ๑ พระแสงขอตีช้างล้ม ๑ พระแสงขอคร่ำไม้เท้า ๑ ตั่งทำด้วยไม้อุทุมพรรองเครื่องนมัสการ และบาตรน้ำบาตรทรายสิ่งละ ๕ เกี่ยวหญ้าคาถักเป็นสายสิญจน์ กับด้ายสายสิญจน์ประสมกัน วงสายสิญจน์โยงทั่วไปทุกแห่งรอบพระบรมมหาราชวัง แต่งที่พระสงฆ์นั่งเจริญพระปริตร ๕๐ รูป ริมพระแท่นพิธีแว่นฟ้า ตั้งพระที่นั่งอัฐทิศทำด้วยไม้อุทุมพร มีพระเศวตฉัตรปักกลาง มีเทพยดาทั้ง ๘ ทิศ ตั้งกลศสังข์พานทองเครื่องบูชาเทวดาทุกทิศ แล้วตั้งพระที่นั่งภัทรบิฐเบื้องปัศจิมทิศ ทำด้วยไม้ไชยพฤกษ์ หุ้มด้วยเงินชั้น ๑ ทองชั้น ๑ กั้นเศวตฉัตร ๗ ชั้น พื้นพระที่นั่งลาดผ้าอุทุมพร แล้ววางแผ่นทองคำเขียนรูปราชสีห์ด้วยชาดหรคุณ แล้ววางตรางคาแผ่นทอง และพราหมณ์โรยแป้งเข้าสาลีเสกด้วยอิศวรมนต์ และปูผ้าลาดบนพระที่นั่งภัทรบิฐ พระที่นั่งภัทรบิฐคล้ายพระที่นั่งเก้าอี้ ที่มุขกระสัน พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ตั้งโต๊ะเครื่องบูชาหน้าเสาทุกเสา ข้างมุขกระสันฝ่ายตะวันออก ตั้งพระที่นั่งกระยาสนานสรงน้ำมุรธาภิเศก ทำด้วยไม้อุทุมพรเป็นมณฑปเครื่องทองคำ เพดานและม่านผ้าขาวเขียนลายทอง มีราชวัติฉัตรทอง ฉัตรเงิน ฉัตรนาก รายรอบทั้ง ๔ ทิศ ในพระมณฑปตั้งพระแท่นสรงลาดผ้าขาว แล้ววางถาดทองรองใบไม้ไชยพฤกษ์ในถาดนั้น แล้วมีผ้าโขมพัสตรปิดไว้ในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน แต่งการในที่พระมหามณเฑียร ตั้งแท่นทองดาดเพดาน บนแท่นตั้งพระบรมธาตุห้ามสมุทรทองคำ พระไชยข้าหลวงเดิม เครื่องนมัสการเทียนเท่าพระองค์เล่ม ๑ เทียนพระมหามงคลเล่ม ๑ พระมหามงคลสรวมเมื่อฟังสวดองค์ ๑ พานทองรองดอกหมากทองคำ พานทองรองลูกกุญแจ พานทองถั่ว พานทองงา พานทองฟัก พานทองศิลาบด พานทองเข้าเปลือก แต่งที่พระสวดบนพระแท่นบรรทม ๕ รูป แต่งที่เสด็จฟังพระปริตรแห่ง ๑ มีพระภูษาทรงพระพักตร ๑ พระครอบทองคำ ๑ ตั้งไว้ริมที่ เจ้าพนักงานจัดการเสร็จแล้ว การข้างนอกก็ปักราชวัติฉัตรเบญจรงค์ ๗ ชั้น รอบพระราชวังชั้นในชั้นนอก ที่ประตูมีเสาธงจุดประทีปหน้าประตูเป็นคู่ๆ ทุกประตู ขอแรงขุนนาง เจ้าภาษี นายอากร กับจีนนายสำเภาเอาโต๊ะเครื่องสักการบูชาเข้าไปตั้งในพระราชวังเต็มแล้ว จึงไปตั้งรายรอบวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วย เป็นโต๊ะเครื่องบูชารวมกัน ๑๐๐ และกำแพงแก้วพระมหามนเทียร พระมหาปราสาทตามประทีปชวาลา มีจำนวนจ่ายน้ำมันคืนหนึ่งถึง ๗,๐๐๐ ดวง ครั้นณวันเดือน ๖ ขึ้น ๑๒ ค่ำ[๕] เวลาบ่าย ๓ โมง พราหมณ์เชิญเทวรูปเข้าสู่พิธี แล้วทรงพระภูษาลายเขียนทองพื้นขาว ฉลองพระองค์กรองทองพื้นขาว รัดพระองค์ประดับเพ็ชร
พระบรมวงศานุวงศ์ก็แต่งพระองค์ทรงผ้าเขียนทองคาดเสื้อครุยต่างสี ข้าราชการก็นุ่งสมปักลายคาดเสื้อครุยขาวตามเสด็จ หมู่องครักษ์ก็ขัดกระบี่นำแห่เสด็จพระราชดำเนินเข้าในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงถวายผ้าไตรย่ามพัดวีชนีแก่พระสงฆ์ราชาคณะ ๘๕ รูป ครองผ้าไตรแล้วทรงถวายเทียนชนวนแก่สมเด็จกรมหมื่นนุชิตชิโนรสศรีสุคตขัตติยวงศ์ ให้ทรงจุดเทียนไชย แล้วพระสงฆ์ราชาคณะสวดพระพุทธมนต์ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ๓๐ รูป เข้าไปสวดในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ๕๐ รูป เข้าไปสวดในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ๕ รูป แล้วก็เสด็จเข้าไปในพระที่นั่งไพศาลทักษิณจุดเครื่องนมัสการทรงศีลฟังพระสงฆ์ประกาศเทวดาแล้ว เสด็จเข้าไปในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน จุดเทียนเครื่องนมัสการฟังพระสงฆ์เจริญพระปริตรในพระที่นั่งทั้ง ๓ วัน ถวายไทยทานผ่อนไปทุกๆ วัน
ครั้นณวันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ[๖] เวลาเช้าเป็นมหามงคลฤกษ์อันอุดม พระสงฆ์ราชาคณะเข้าไปพร้อมประจำที่อยู่ทุกแห่ง แล้วกรมหมื่นนุชิตชิโนรสก็ดับเทียนไชยเสียก่อนยังไม่ทันเสด็จ ครั้นเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปเห็นเทียนไชยดับจึงดำรัสถาม ข้าราชการทั้งปวงกราบทูลว่า กรมหมื่นนุชิตชิโนรสทรงดับ ดำรัสว่าไม่ถูกยังไม่แล้วการ แล้วเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงจุดเทียนนมัสการแล้ว ครั้นเวลานาฬิกา ๑ กับ ๙ บาท ได้วิสาขนักษัตรฤกษ์พระมหาไชยมงคลบรมราชาภิเศกต้องอย่างบุราณราชประเพณีแต่ก่อน เจ้าพนักงานจึงเชิญเสด็จสรงพระกระยาสนาน ชาวภูษามาลาถวายพระภูษาขาวขลิบทอง ราชบัณฑิตเชิญพระไชย พระครูพราหมณ์เชิญพระพิฆเนศวร์ แล้วโปรยเข้าตอกเป่าสังข์ทักขิณาวัฏ นำเสด็จไปสู่พระมหามณฑปกระยาสนาน ขึ้นสถิตเหนืออุทุมพรราชอาสน์บ่ายพระพักตร์สู่ทิศอิสาณ จึงชาวภูษามาลาถวายเครื่องมุรธาภิเศกแล้วไขสหัสธารา
ครั้นเสด็จสรงสหัสธาราน้ำปัญจมหานทีแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ที่มีพระชนมายุ ฝ่ายบรรพชิตคฤหัสถ์เข้าไปถวายน้ำพระปทุมนิมิตร กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตติยวงศ์พระบรมวงศผู้ใหญ่ถวายน้ำพระเต้าแก้ว พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าฤกษ์ถวายน้ำพระเต้าเนาวโลหะ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ถวายน้ำพระเต้าทอง พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมขุนรามอิศเรศรถวายน้ำพระเต้าเงิน พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนเดชอดิศรถวายน้ำพระเต้านาก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ถวายน้ำพระเต้าสัมฤทธิ์ แล้วพระบรมวงศ์เสนาบดีผู้ใหญ่ เจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหมถวายน้ำพระเต้ามังสีเครื่องทอง พระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษาถวายน้ำพระเต้ามังสีเครื่องเงิน สรงน้ำพระเต้าประทุมนิมิตรเสร็จแล้ว จึงหลวงศรีสิทธิไชยหมอเฒ่าถวายน้ำพระสังข์ทักขิณาวัฏ ๑ พระมหาราชครูพิธีถวายน้ำพระเต้าเบญจครรภ ๑ พระครูอัษฎาจารย์ถวายน้ำพระมหาสังข์ทอง ๑ หลวงจักรปาณีถวายน้ำพระมหาสังข์เงิน ๑ หลวงราชมุนีถวายน้ำพระมหาสังข์นาก ๑ หลวงศิวาจารย์ถวายน้ำพระมหาสังข์งาจำเริญช้างเผือก ๑ หลวงเทพาจารย์ถวายน้ำพระครอบ ๑ ทรงรับน้ำด้วยพระหัตถ์แล้วพราหมณ์ก็เป่าพระมหาสังข์ทักขิณาวัฏ ๒ องค์ อุตราวัฏ ๖ องค์ เจ้าพนักงานประโคมดุริยางคดนตรีมะโหระทึกแตรสังข์บัณเฑาะว์ พระสงฆ์สวดไชยมงคล
ครั้นสรงมุรธาภิเศกแล้ว พระสงฆ์เข้าไปในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานทั้ง ๕๐ รูป ชาวพระภูษามาลาถวายพระภูษาทรงผลัดพื้นเหลืองเขียนทอง ทรงฉลองพระองค์คาดริ้วทอง เสด็จกลับมาสถิตเหนืออัฏฐังโสทุมพรราชาอาสน์ มีตั่งอัฐทิศล้อม มีราชบัณฑิตประจำทิศละคน ผันพระพักตร์ไปสู่บูรพทิศเป็นปฐม จึงราชบัณฑิตกล่าวคำอันเป็นมงคลโดยมคธภาษา ถวายมอบแผ่นดินอันเป็นที่ตั้งแห่งพระพุทธศาสนา ทรงรับด้วยพระเต้าเบญจครรภกระทำด้วยโมราประดับเพ็ชรประดับทับทิม มีราคาเป็นอันมาก พราหมณ์ถวายน้ำพระมหาสังข์ทักขิณาวัฏน้ำกลศ ทรงรับมาสรงพระพักตร์แล้วเสวยหน่อยหนึ่ง แล้วผันพระองค์ไปตามทิศอาคเนย์โดยทักขิณาวัฏ ทรงรับน้ำพระพุทธปริตรน้ำสังข์ทั้ง ๘ ทิศเสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินมาขึ้นบนพระที่นั่งภัทรบิฐ ผันพระพักตร์สู่อิสาณทิศ พระครูพราหมณ์ก็อ่านอิศวรเวทสรรเสริญเขาไกรลาศ แล้วกราบบังคมทูลถวายสิริราชสมบัติ อันพระมหากษัตริย์จะครอบครองสืบต่อไป เจ้าพนักงานกราบบังคมทูลถวายพระมหาบวรเศวตฉัตร เป็นที่เฉลิมสิริราชสมบัติสำหรับพระบรมกษัตริย์สืบมา แล้วพระมหาราชครูถวายพระสุพรรณบัฏ พระมหาพิไชยมงกุฎ พระมหาสังวาล ทรงรับมาสวมสอดทรงในพระองค์ แล้วพระมหาราชครูถวายธารพระกรกับพระแสงขรรค์ ทรงรับธารพระกรพาดเบื้องขวา พระแสงพาดเบื้องซ้าย แล้วทรงรับพระแสงอัษฎาวุธเครื่องราชกกุธภัณฑ์ราชูปโภค ประกอบด้วยวิษณุเวทอิศวรมนต์ ทั้งนี้ทรงรับแล้ว แต่ฉลองพระบาทพระมหาราชครูมาสอดทรงถวายเสร็จแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการตรัสสั่งแก่พระมหาราชครูผู้ใหญ่ ว่าผลพฤกษ์ชลธารและสิ่งของในแผ่นดินเขตต์พระนครซึ่งหามีผู้หวงห้ามไม่นั้น ตามแต่สมณพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎรจะปรารถนาเถิด จึ่งพระมหาราชครูผู้ใหญ่รับพระบรมราชโองการเป็นประพฤติเหตุก่อนว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทใส่เกล้าใส่กระหม่อม ดังนี้ แล้วทรงโปรยดอกพิกุลทอง ดอกพิกุลเงิน ทรงหลั่งน้ำทักษิโณทกแล้ว พราหมณ์เป่าพระมหาสังข์ ประโคมดุริยดนตรีมะโหระทึกกึกก้อง หยุดประโคมแล้วก็เสด็จเข้าไปในพระมหามนเทียร ทรงถวายสำรับคาวหวานแก่พระสงฆ์ราชาคณะ มีกรมหมื่นนุชิตชิโนรสเป็นประธาน รับพระราชทานฉันเสร็จแล้ว ทรงถวายเครื่องสมณบริขารไทยธรรมทั้งปวง พระสงฆ์ราชาคณะรับแล้วก็ถวายอติเรกสัพพพุทธา แล้วถวายพระพรลาไป จึงพระครูพระราชพิธีขึ้นไปบนพระมหามนเทียร ประพรมน้ำกลศสังข์รอบพระมหามนเทียรทั้งข้างในข้างนอก อวยชัยถวายพระพร
พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระแสงขรรค์ประดับเพ็ชร สอดฉลองพระบาท เสด็จออกณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ถวายไทยธรรมแก่พระสงฆ์ราชาคณะ ๓๐ รูปเสร็จแล้ว พระสงฆ์จึงถวายพระพรลาไป เสด็จเข้าในพระวิสูตรทรงผลัดพระภูษาเขียนทองต่างสี ทรงฉลองพระองค์พระกรน้อยชั้นในฉลองพระองค์ครุยชั้นนอก ทรงพระมหาชฎาเดินหนเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายทหารพลเรือนทุกพนักงาน แต่งตัวเต็มยศอย่างเสด็จออกใหญ่ ตั้งเครื่องยศตามตำแหน่งผู้ใหญ่ผู้น้อยทุกนาย ฝ่ายในจัดทหารอย่างยุโรปขึ้นแถวหนึ่ง ๒๐๐ คน ฝ่ายนอกประตูพิมานไชยศรี จัดทหารไทย ๑๐ หมู่ ๑,๐๐๐ คน แต่งตัวถืออาวุธต่างๆ เป็นเหล่าๆ ยืน ๒ ฟากถนน ผูกช้างต้นม้าต้นยืนในปรำประจำที่เกย คือพระยาไชยานุภาพ ผูกเรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย ๑ ไกรสรมุข ๑ มีบุษบกฝีพายแต่งตัวพร้อม ประทับอยู่หน้าพระตำหนักน้ำตามราชประเพณีแต่ก่อน
บรรดาแขกเมืองต่างประเทศ เขมร ลาวลื้อ ลาวเมืองหลวงพระบาง เมืองน่าน อันเป็นเมืองมาอ่อนน้อม ถวายต้นไม้ทองเงินเป็นเครื่องราชบรรณาการ ซึ่งเข้ามาค้างอยู่ณกรุงเทพมหานคร กับพวกอังกฤษ อเมริกัน วิลันดา โปรตุเกศ แขกเทศมะลายู ซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ณกรุงเทพมหานคร แต่ก่อนมิได้มีธรรมเนียมที่จะเข้าประชุมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในเวลานี้ โดยทรงพระมหากรุณาเมตตาแก่คนต่างประเทศ ก็โปรดฯ ให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วยจะได้เชยชมพระบรมสิริวิลาศเห็นวิเศษ ในการพระบรมราชาภิเศก ชาววังไขพระวิสูตรแล้ว เสด็จพระราชดำเนินออกมาขึ้นบนพระที่นั่งใต้พระมหาบวรเศวตฉัตร ๙ ชั้น เหนือพระบรมราชรัตนาภรณ์พิจิตรสุพรรณบัลลังก์ จึงประโคมแตรสังข์ มโหรี พิณพาทย์ กลองมะโหระทึกกึกก้อง กลองชนะ ฆ้องไชย หลวงราชมนูชูพุ่มดอกไม้ทอง จางวางมหาดเล็กตีกรับเป็นสัญญา ให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบถวายบังคมพร้อมกัน ครั้นสุดเสียงประโคมแล้ว พราหมณ์อ่านวิษณุเวทอิศวรมนต์ เป่าพระมหาสังข์ถวายไชยมงคล พระศรีภูริปรีชา เสนาบดีศรีสารลักษณ์ เจ้าพนักงานซึ่งได้นำความกราบทูลก่อนเสนาบดีทั้งปวง กราบทูลว่า
สรวมชีพข้าพระพุทธเจ้า ผู้รับอธิบายแห่งท่านทั้งหลายนี้ อัครมหาเสนาบดีและอำมาตย์มุขมนตรีข้าทูลละออง บรรดามาพร้อมในสถานที่นี้ ขอถวายอัญชลีบังคมประณมน้อมศิโรตมางค์แด่พระบาทสมเด็จพระบรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันได้เสด็จเถลิงถวัลยราชย์บรมราชาภิเศก เป็นองค์เอกอัครมหาราชาธิราช ทรงพระยศวโรภาศสถิตภายใต้พระมหาบวรเศวตฉัตร เหนือพระวโรดมบรมรัตนราชบัลลังก์ มีพระปรมาภิไธยได้ประดิษฐานตั้งในแผ่นพระบรมสุพรรณบัฏโดยอักษรลักษณ แสดงอรรถว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ สุทธิสมมุติเทพยพงศ วงศาดิศรกษัตริย์ วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรกรีบรมนารถ อดิศรราชรามวรังกูร สุจริตมูลสุสาธิตอุกฤษฐวิบูลย บุรพาดูลยกฤษฎาภินิหาร สุภาธิการรังสฤษดิ ธัญญลักษณวิจิตรโสภาคสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนต บาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพสุภผลอุดม บรมสุขุมาลยมหาบุรุษยรัตน ศึกษาพิพัฒนสรรพโกศล สุวิสุทธิวิมลศุภศีลสมาจารย์ เพ็ชรญาณประภาไพโรจน์ อเนกโกฏิสาธุคุณวิบุลยสันดาน ทิพยเทพาวตาร ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ เอกอัครมหาบุรุษ สุตพุทธมหากระวี ตรีปิฏกาทิโกศลวิมลปรีชา มหาอุดมบัณฑิต สุนทรวิจิตรปฏิภาณ บริบูรณ์คุณสารสยามาทิโลกยดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษสิรินธร มหาชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิษิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหสวริยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหาราชาธิราชวโรดม บรมนารถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิอัคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชย์ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยา สรวมชีพข้าพระพุทธเจ้า เจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี ว่าที่สมุหพระกลาโหม[๗] พระยาราชสุภาวดี ว่าที่สมุหนายก พระยาพิพัฒนโกษา เจ้าพนักงานกรมท่า ๑๒ พระคลัง พระยาบำเรอภักดิ์ เจ้าพนักงานกรมวัง พระยาประชาชีพ เจ้าพนักงานกรมนา พระยาเพ็ชรปาณี เจ้าพนักงานกรมพระนครบาล ขอรับพระราชทานพระบรมราชวโรกาศอนุญาตแด่พระบาทสมเด็จพระบรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อจะกราบทูลพระกรุณามอบถวายสรรพสิ่งซึ่งเป็นเครื่องประดับพระบรมราชอิสสริยยศ และราชสมบัติทั้งปวงอันปฏิพัทธเฉพาะพนักงานต่างๆ ตามธรรมเนียมแต่ก่อนมา ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จบรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ควรมิควรสุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
ขอเดชะ
สิ้นคำอาลักษณ์กราบทูลเบิกแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งว่า บรรดาเสนาบดีมุขมนตรีหมู่อำมาตย์ซึ่งมีบรรดาศักดิ์ จะได้เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในที่ฉะเพาะพระพักตร์ทั้งปวงตั้งแต่วันนี้ไป จงได้โอกาศเพื่อจะกราบทูลเหตุการณ์อันสมควร ตามอัธยาศัยในเวลาอันควร อย่าให้ป่วยการเนิ่นช้าด้วยจะหาผู้กราบทูลแทนตัวเลย จงมีความสะดวกใจในที่จะกราบทูลพระกรุณาด้วยวาจาของตนทุกคนนั้นเถิด อาลักษณ์ผู้กราบทูลเบิกขอรับพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ดังนี้ จึงจางวางมหาดเล็กตีกรับเป็นสัญญาให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบถวายบังคมให้พร้อมกันอีกครั้ง ๑ เสนาบดีจตุสดมภ์กราบบังคมทูล
เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ว่าที่สมุหพระกลาโหม กราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายมหาพิไชยราชรถและเรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย เรือพระที่นั่งไกรสรมุข เรือพระที่นั่งมีชื่อต่างๆ เรือกระบวนใหญ่น้อย และเครื่องสรรพยุทธทั้งปวง กับเมือง เอก โท ตรี จัตวา ไพร่พลฝ่ายทหาร ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จบรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมแล้วดังนี้ จึงพระยาราชสุภาวดี (โต) ว่าที่สมุหนายก กราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายพระยาช้างพระที่นั่งต้น พระยาม้าพระที่นั่งต้น กับเมือง เอก โท ตรี จัตวา ทั้งไพร่พลฝ่ายพลเรือน ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระบรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมแล้วดังนี้ จึงพระยาบำเรอภักดิ์ ราชปลัดทูลฉลองฝ่ายกรมวังกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายพระมหามนเทียรปราสาทราชนิเวศน์สถาน พระราเชนทรราชยานทั้งเครื่องสูงเฉลิมพระเกียรติยศ ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท สมเด็จบรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมแล้วดังนี้ จึงพระยาเพ็ชรปาณี ราชปลัดทูลฉลองฝ่ายกรมเมืองกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยา ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระบรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมแล้วดังนี้ จึงพระยาประชาชีพ ราชปลัดทูลฉลองฝ่ายกรมนากราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายธัญญาหารแดนสถานลานนาเขตต์ประเทศตำบลในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระบรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมแล้วดังนี้ จึงพระยาพิพัฒนโกษา ราชปลัดทูลฉลองฝ่ายกรมท่ากราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายเครื่องพระพัทธยากรราชสมบัติทั้ง ๑๒ พระคลัง ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระบรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมแล้วดังนี้
ครั้งนั้นปลัดทูลฉลองได้กราบทูล เพราะจตุสดมภ์ไม่มีตัว มิใช่เป็นธรรมเนียมของปลัดทูลฉลองดอก ครั้นทูลถวายเสร็จแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการตรัสปฏิสัณฐารแก่เจ้าพระยาและพระยาทั้งปวง ว่าสิ่งของทั้งปวงนี้ จงจัดการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาสืบไป แล้วอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่รับพระบรมราชโองการกราบถวายบังคมทูล ว่าข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงขอรับพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทใส่เกล้าใส่กระหม่อม จึงทรงตรัสเป็นราชปฏิสัณฐารกับราชอำมาตย์ทั้งปวง ด้วยข้อความคือการอันเป็นธรรมโดยราชบริหาร อันเป็นมงคลสมควรกับธรรมเนียมแล้ว จึงทรงปราศรัยกับด้วยพวกแขกต่างๆ ที่เข้ามาประชุมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ให้ล่ามแปลตามภาษาให้แขกบ้านแขกเมืองฟังบ้างเล็กน้อย แล้วจึงดำรัสสั่งให้ล่ามเจ้าพนักงานต่างภาษาพาพวกแขกเมืองทั้งปวง ไปเลี้ยงโต๊ะที่โรงเลี้ยงแขกเมืองต่างประเทศ แล้วให้เจ้าพนักงานเอาดอกพิกุลทอง พิกุลเงิน กับเงินตรา ทองตรามงกุฎแผ่นดินใหม่ มีสัณฐานต่างๆ อย่างเช่นใช้ในกรุงเทพมหานครทุกอย่าง ใส่ถุงผ้าแดงคิดเป็นเงินตรา ๒ ตำลึงกับดอกพิกุลคนละ ๒ ดอก ไปพระราชทานให้ทั่วทุกคน แล้วหลวงราชมนูชูพุ่มดอกไม้ทองเป็นสัญญา พราหมณ์ก็เป่าสังข์ ชาวแตรก็เป่าแตร ประโคมดุริยดนตรี พิณพาทย์กลองมะโหระทึก กลองชนะ ฆ้องไชย ขึ้นพร้อมกัน จางวางมหาดเล็กก็ตีกรับเป็นสัญญา ให้ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยกราบถวายบังคม ๓ หน
[๑] วันที่ ๒ พฤษภาคม ฯ
[๒] วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ฯ
[๓] วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ฯ
[๔] ธงไชยกระบี่ธุช ธงไชยครุฑพาห์
[๕] วันจันทร์ที่ ๑๒ พฤษภาคม ฯ
[๖] วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ฯ
[๗] เวลานั้นตำแหน่งเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีว่างอยู่ตั้งแต่ต้นรัชชกาลที่ ๓ แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า จะทรงตั้งเจ้าพระยาพระคลังเป็นเจ้าพระยาอัครมหาเสนา สมุหพระกลาโหม ท่านไม่ยอมรับ รังเกียจว่า ผู้ที่เป็นตำแหน่งอัครมหาเสนาอยู่ไม่ได้นาน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านคงเป็นเจ้าพระยาพระคลัง แต่ให้ว่าที่สมุหพระกลาโหมด้วย ถือตรา ๒ ดวง ซึ่งในที่นี้กล่าวว่า เจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี ว่าที่สมุหพระกลาโหมนั้น เห็นจะหมายถึงเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ดังจะปรากฎต่อไปข้างหน้า