๑๐๙. เจ้าเมืองเบตาเวียเข้ามาเปลี่ยนหนังสือสัญญาฮอลันดา

ลุศักราช ๑๒๒๔ ปีจอ จัตวาศก[๑] เป็นปีที่ ๑๒ เมื่อณวันจันทร์ เดือน ๕ ขึ้น ๑ ค่ำ[๒] อาเล็กซันเดอร์ลูคอนที่ ๒ เจ้าเมืองเบตาเวียเข้ามาเปลี่ยนหนังสือสัญญาฮอลันดา ซึ่งคองเตระเกอเชียดเข้ามาทำไว้ ได้ถวายพงศาวดารครั้งกรุงศรีอยุธยาเก่าซึ่งมีในจดหมายเหตุและหนังสือต่างๆ ที่ชาวยุโรปจดไว้คัดออกทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย โปรดฯ ให้แปลออกมีความว่า เมื่อเดือนโนเวมเบอ คริสตศักราช ๑๖๐๑ ตรงกับเดือน ๑๒ จุลศักราช ๙๖๓ ปีฉลู ตรีศก[๓] อัดมิราลอันเนตได้มาทำหนังสือสัญญากับผู้ครองเมืองตานีซึ่งเคยส่งเครื่องบรรณาการที่กรุงสยาม ในสัญญานั้นว่าจะยอมให้ลูกค้าไปตั้งห้างค้าขาย ตั้งแต่นั้นมามีเรือลูกค้าเข้าไปค้าขายที่เมืองตานีบ้าง มาจนถึงคริสตศักราช ๑๖๐๔ ตรงกับจุลศักราช ๙๖๖ ปีมะโรง โทศก[๔] ครั้งนั้นกำแมนเดอร์ไวปรันวรเวกได้ตั้งผู้ดีนาย ๑ ชื่อโกระผิกลิศเปกสะให้เข้ามาเฝ้าพระเจ้ากรุงสยามกราบทูลให้ได้ความว่า พระเจ้ากรุงสยามจะมีพระทัยโปรดทำนุบำรุงให้พวกฮอลันดาเข้ามาตั้งห้างค้าขายหรือประการใดอยากจะใคร่ทราบ พระเจ้ากรุงสยามทรงพระกรุณาโปรดฯ รับรองทูตด้วยดี และยอมให้ลูกค้าฮอลันดาเข้ามาตั้งห้างค้าขาย ครั้นมาถึงคริสตศักราช ๑๖๐๘ ตรงกับจุลศักราช ๙๗๐ ปีวอก สัมฤทธิศก[๕] พระเจ้ากรุงสยามได้แต่งให้ราชทูตฝ่ายไทยไปถึงเมืองเฮก คือเมืองหลวงฮอลันดา ให้ไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินนิเธอแลนด์ฮอลันดาผู้เป็นปรินซ์ออฟออแรนซ์ ตั้งแต่นั้นมาทางพระราชไมตรีฝ่ายกรุงสยามกับกรุงนิเธอแลนด์ฮอลันดาก็ได้เป็นไมตรีกันสนิทมา

ฉะบับ ๑ มีความว่า ในครั้งนั้นพระเจ้ากรุงสยามมีอำนาจลงไปจนถึงข้างทิศใต้เป็นอันมาก และแหลมมลายูมีความปรารถนาจะยกเกาะที่ปากน้ำเมืองตะนาวศรีให้แก่พวกฮอลันดา เมื่อทางพระราชไมตรีนี้ยังอยู่ มิสเตอร์ปราวเออร์ราชทูตสำหรับเมืองญี่ปุ่นได้แวะเข้ามาที่กรุงสยาม ในคริสตศักราช ๑๖๑๓ ตรงกับจุลศักราช ๙๗๕ ปีฉลูเบ็ญจศก[๖] แล้วได้ตั้งห้างค้าขายขึ้นที่กรุงสยามและเมืองนคร โกระนีลิศวอรในอินรตูได้รักษาห้างนั้นไว้นาน

หนังสืออีกฉะบับ ๑ ว่า ในคริสตศักราช ๑๖๒๐ ตรงกับจุลศักราช ๙๘๒[๗] ปีวอก โทศก เจ้าเขมรที่อยู่กับไทยนั้นทำวุ่นวายขึ้น คอเวอเนอเยเนราลเจ้าเมืองเบตาเวีย ชื่อโกเอนได้ใช้ให้กำปั่น ๒ ลำมาช่วยพระเจ้าแผ่นดินสยามระงับพวกกบฏเขมร ครั้นมาถึงคริสตศักราช ๑๖๒๗ ตรงกับจุลศักราช ๙๘๙ ปีเถาะ นพศก พระเจ้ากรุงสยามได้มีพระราชศาสน์กับสิ่งของออกไปขอบใจเจ้าเมืองเบตาเวีย ให้ส่งของทรงยินดีออกไปเมืองหลวงฮอลันดา ครั้นมาถึงคริสตศักราช ๑๖๒๘ ตรงกับจุลศักราช ๙๙๐[๘] ปีมะโรง สัมฤทธิศก พระเจ้าแผ่นดินนิเธอแลนด์ได้ตั้งให้ขุนนางฮอลันดา ๒ คน ชื่อมิสเตอร์นาริศคน ๑ ชื่อมิสเตอร์ชะรูเตอคน ๑ เชิญพระราชศาสน์คุมสิ่งของมาทรงยินดีตอบแทนพระเจ้ากรุงสยาม ตั้งแต่นั้นมาทางพระราชไมตรี และการค้าขายทั้ง ๒ ฝ่ายได้เจริญทวีขึ้นเป็นอันมาก ครั้นมาถึงคริสตศักราช ๑๖๓๓ ตรงกับจุลศักราช ๙๙๕ ปีระกาเบ็ญจศก[๙] มีอีกคน ๑ ตำแหน่งสูงชื่อดีรอย กับที่ ๒ คน ๑ รับใช้มาแต่เมืองเบตาเวียได้มาที่กรุงสยาม เชิญพระราชศาสน์ของพระเจ้ากรุงนิเธอแลนด์คำนับมายังพระเจ้ากรุงสยาม พระเจ้ากรุงสยามได้รับทูต ๒ คนนี้โดยยศสมควรเป็นอันมาก ครั้นราชทูต ๒ คนนั้นได้รับพระราชศาสน์และของทรงยินดีของพระเจ้ากรุงสยามตอบแทนไปถึงพระเจ้ากรุงนิเธอและนด์แล้วก็ทูลลากลับไป มิสเตอร์ชะรูเตอที่อยู่ก่อนคน ๑ และคนของราชทูตค้างอยู่ชื่อมิสเตอร์วอนวะเลียตคน ๑ เมื่อเดือนแฟบวารีตรงกับเดือน ๓ ได้เข้าไปเฝ้าที่ศาลาโรงละคร แล้วพระเจ้ากรุงสยามได้ตั้งคน ๑ เป็นที่หลวง คน ๑ เป็นที่ขุน พระราชทานเครื่องยศถมตะพอง แล้วพระเจ้ากรุงสยามขอให้เจ้าเมืองเบตาเวียช่วยระงับการวุ่นวายที่เมืองตานี เจ้าเมืองเบตาเวียจึงได้ใช้ให้กำปั่น ๘ ลำและพวกทหารบก ๔๕๐ คน กับแม่ทัพชื่อมิสเตอร์กลาศบูรอินไปที่ปากอ่าวเมืองตานี ก็ได้ช่วยการวุ่นวายให้สงบลงแล้ว เจ้าเมืองตานีก็ยอมแต่งทูตไปขึ้นแก่พระเจ้ากรุงสยามดังเก่า การงานก็เจริญมาจนถึงคริสตศักราช ๑๖๕๘ ตรงกับจุลศักราช ๑๐๒๐ ปีจอสัมฤทธิศก[๑๐] ครั้งนั้นสมเด็จพระนารายน์ พระเจ้าช้างเผือก มีข้อเข้าพระทัยผิดไปมีเหตุขึ้น แต่ความนั้นสงบลงเร็วแล้วท่านจึงได้ตั้งชาวฮอลันดาอีก ๒ คนๆ ๑ ชื่อมิสเตอร์เวศเตอเวน คน ๑ ชื่อมิสเตอร์ดีไรกะ พระราชทานเครื่องยศเป็นเครื่องถมตะทอง การค้าขายก็ยังไม่เจริญขึ้นน้อยลงไป พวกฮอลันดาก็ได้เลิกห้างค้าขายที่กรุงและที่เมืองนครเสีย แล้วพระเจ้ากรุงสยามได้แต่งราชทูตเชิญพระราชศาสน์และของทรงยินดีไปถึงคอเวอเนอเยเนราลเจ้าเมืองเบตาเวียให้มาตั้งห้างค้าขายใหม่ คอเวอเนอเยเนราลก็ยอมตาม จึงได้ตั้งให้มิสเตอร์ดีบิดเป็นทูตให้มีอำนาจมาทำหนังสือสัญญาการค้าขายที่กรุงสยาม ราชทูตก็ได้ทำสัญญาเสร็จในเดือนออกัสต์ คริสตศักราช ๑๖๖๔ ตรงกับเดือน ๙ จุลศักราช ๑๐๒๖ ปีมะโรงฉศก[๑๑] ตั้งแต่นั้นมาการค้าขายก็ได้เจริญทวีขึ้นเป็นอันมาก

ฉะบับ ๑ว่า การวุ่นวายในคริสตศักราช ๑๖๘๘ ตรงกับจุลศักราช ๑๐๕๐[๑๒] ปีมะโรง สัมฤทธิศกนี้ คราวสมเด็จพระเพทราชา พระยาวิชาเยนทร์ อันมีชื่อเสียงในพงศาวดาร ได้มีคุณในการรักษาทางพระราชไมตรีทั้ง ๒ ฝ่าย ครั้นถึงอนิจจกรรมแล้วก็ไม่มีผู้ใดทำนุบำรุงทางพระราชไมตรี การวุ่นวายในบ้านเมืองก็ยังมีอยู่ ครั้นถึงคริสตศักราช ๑๗๐๔ ตรงกับจุลศักราช ๑๐๖๖ ปีวอก ฉศก[๑๓] พระเจ้าเสือได้ผ่านพิภพใหม่ เพราะการวุ่นวาย ห้างค้าขายที่กรุงสยามและที่เมืองนครก็ต้องเลิก ในคริสตศักราช ๑๗๐๕ ตรงกับจุลศักราช ๑๐๖๗ ปีระกา สัปตศก จนทูตกอลุเออร์ได้เข้ามาขอการค้าขายและเจริญทางพระราชไมตรีอีก ในคริสตศักราช ๑๗๐๘ ตรงกับจุลศักราช ๑๐๗๐ ปีชวดสัมฤทธิศก แต่ยังมีการวุ่นวายต่างๆ จนต้องเลิกอีก ในคริสตศักราช ๑๗๔๑ ตรงกับจุลศักราช ๑๑๓๐ ปีระกา ตรีศก[๑๔] คราวนั้นทรัพย์สิ่งของทั้งปวงต้องเก็บเอาไปเมืองเบตาเวีย เหลืออยู่แต่ ๒ คน ๓ คน พอได้รักษาห้างและของที่เหลือค้างอยู่นั้น ตั้งแต่ปีนั้นมาการค้าขายฝ่ายเบตาเวียและกรุงสยามไม่ใคร่จะเป็นผลประโยชน์ มีแต่เรือบางลำเคยไปมาบ้าง ฝ่ายประเทศสยามจึงได้มีหนังสือออกไปขอให้ขุนนางฮอลันดาเข้ามาทำหนังสือสัญญาใหม่ คอเวอเนอเยเนราล จึงตั้งให้มิสเตอร์บางและมิสเตอร์โยนาสเป็นทูตเข้ามาทำสัญญา ห้างเมืองนครไม่มีกำไรจึงได้เก็บทรัพย์สิ่งของทั้งปวงเข้ามาตั้งห้างค้าขายอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ครั้นมาถึงคริสตศักราช ๑๗๖๐ ตรงกับจุลศักราช ๑๑๒๒ ปีมะโรง โทศก[๑๕] มังลองพม่ายกมาตีกรุงศรีอยุธยาครั้ง ๑ ห้างก็ค้าขายไม่มีผลประโยชน์ มาจนถึงคริสตศักราช ๑๗๖๗ ตรงกับจุลศักราช ๑๑๒๙ ปีกุญ นพศก กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าห้างค้าขายก็เสียไปด้วย ทรัพย์สิ่งของพวกฮอลันดาพม่าก็เก็บเอาไปหมด พม่าฆ่ามิสเตอร์บางและอีกคน ๑ และจับพวกฮอลันดาอีก ๕ คนที่เป็นคนสำหรับห้างเอาไปเป็นชะเลย ตั้งแต่นั้นมาลูกค้าฮอลันดาก็ไม่อาจเข้ามาตั้งห้างค้าขายต่อไปอีกจนกาลทุกวันนี้ พระเจ้าแผ่นดินนิเธอแลนด์ได้ทราบว่ากรุงสยามตั้งขึ้นใหม่มีความเจริญ ด้วยลูกค้าพานิชเข้ามาค้าขายเป็นอันมาก คิดถึงทางพระราชไมตรีเก่าซึ่งเคยมีมาแต่ก่อน จึงได้แต่งให้คองเตระเกอเชียดเป็นราชทูตเข้ามาขอทำหนังสือสัญญา เมื่อเดือน ๑ ปีวอก โทศก จุลศักราช ๑๒๒๒

อาเล็กซันเดอร์ลูคอนเปลี่ยนหนังสือสัญญาแล้ว ก็กราบถวายบังคมลากลับไป



[๑] พ.ศ. ๒๔๐๕

[๒] วันที่ ๓๑ มีนาคม ฯ

[๓] พ.ศ. ๒๑๔๔

[๔] พ.ศ. ๒๑๔๗

[๕] พ.ศ. ๒๑๕๑

[๖] พ.ศ. ๒๑๕๖

[๗] พ.ศ. ๒๑๖๓

[๘] พ.ศ. ๒๑๗๑

[๙] พ.ศ. ๒๑๗๖

[๑๐] พ.ศ. ๒๒๐๑

[๑๑] พ.ศ. ๒๒๐๗

[๑๒] พ.ศ. ๒๒๓๑

[๑๓] พ.ศ. ๒๒๔๗

[๑๔] พ.ศ. ๒๒๘๔

[๑๕] พ.ศ. ๒๓๐๓

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ