๙๐. เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี

ครั้นมาถึงณวันอาทิตย์เดือน ๔ ขึ้น ๘ ค่ำ[๑] เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปพระพุทธบาท ยกยอดมณฑปและบรรจุพระบรมธาตุ ด้วยเสด็จขึ้นไปครั้งนั้นเป็นกระบวนใหญ่ สมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์ประชวรอยู่ ก็โปรดฯ ให้ตามเสด็จขึ้นไปด้วย พระเจ้าลูกเธอ ๑๕ พระองค์ เจ้าจอม ๒๐ พระราชวงศานุวงศ์ฝ่ายในและเจ้าจอมเถ้าแก่ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่ได้เคยไปนมัสการพระพุทธบาท ก็โปรดฯ ให้ตามเสด็จขึ้นไปด้วยเป็นอันมาก ละครข้างในสำรับเล็กด้วย วันพุธเดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ[๒] เสด็จขึ้นไปประทับพระราชวังท้ายพิกุล ณวันพฤหัสบดีเดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ สวดพระพุทธมนต์บนลานพระพุทธบาท เวลาค่ำมีระบำ ครั้นณวันอาทิตย์เดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เป็นวันพระฤกษ์ยกยอดพระมณฑป บรรจุพระบรมธาตุในพระมกุฎพันธนเจดีย์แล้วมีละครด้วย ครั้นขึ้น ๑๔ ค่ำ ทรงปิดทองพระพุทธรูปในถ้ำพิมานจักกรี เวลาบ่ายสวดพระพุทธมนต์ที่ถ้ำประทุน ครั้นรุ่งขึ้น ๑๕ ค่ำ บรรจุพระบรมธาตุพระเจดีย์ศิลาที่สั่งให้ทำเข้ามาแต่เมืองจีน เวลาบ่ายมีธรรมเทศนา

วันแรม ๑ ค่ำ เสด็จพระราชดำเนินไปเขาแก้วทางพุแคโดยทางสถลมารค ถึงพลับพลาที่ประทับเขาแก้วแล้วได้ทอดพระเนตรเห็นช้างสำคัญสีเหลืองเป็นพื้นเจือแดง จักษุเหมือนน้ำทอง ขนตัวขนหางก็เหลืองด้วย เป็นเผือกโทเทียมเอก ในตำราช้างจะเรียกว่า เหมหัตถี ก็ได้

ครั้นรุ่งขึ้นวัน แรม ๒ ค่ำ เวลาบ่ายเสด็จไปทรงนมัสการพระฉาย ประทับแรมราตรี ๑ แรม ๓ ค่ำ เสด็จกลับมาประทับเขาแก้ว รุ่งขึ้นวันแรม ๔ ค่ำ ให้มีละครทำขวัญช้าง วันแรม ๕ ค่ำ เสด็จกลับมาประทับแรมอยู่พลับพลาท่าเจ้าสนุก ทรงพระราชดำริว่าศาลเทพารักษ์เขาตกนั้น เดิมเป็นช่อฟ้าเครื่องไม้ ไฟป่าลามมาไหม้ก็ต้องทำบ่อยๆ เห็นว่าไม่มั่นคง จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ทำเป็นเก๋งฝาอิฐปูนขึ้นหลัง ๑ แล้วให้หลวงสัจจพันธศิรีเลือกหาก้อนศิลาเนื้อดีริมศาลเจ้า ส่งลงไปกรุงเทพมหานคร จะทำจะเหว็ดเทวรูปจะเอาขึ้นไปไว้แทนจะเหว็จใหม่ วันแรม ๗ ค่ำ เสด็จกลับมาถึงกรุงเทพมหานคร

ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลาคุมช้างลงมาได้วัน ๑ ครั้นเดินมาถึงบ้านเริงราง ช้างนั้นป่วยเป็นไข้ให้ตัวสั่นไปก็ล้มเสีย ได้ทรงทราบแล้วรับสั่งว่าเสียดายนักหายาก



[๑] วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ฯ

[๒] จันทร์ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ฯ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ