๕๓. ราชทูตไทยไปประเทศอังกฤษ

ลุศักราช ๑๒๑๙[๑] ปีมะเสง นพศก เป็นปีที่ ๗ ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษและพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสเป็นประเทศอันใหญ่ ก็ยังแต่งราชทูตคุมของทรงยินดีเข้ามาขอทำหนังสือสัญญาเป็นทางพระราชไมตรีด้วย ฝ่ายเราควรจะแต่งราชทูตออกไปตอบแทนคำนับบ้างจึ่งจะสมควร ทางพระราชไมตรีจะได้สนิทยิ่งๆ ขึ้นไป ครั้นจะแต่งเรือให้ทูตออกไปแต่ลำพังก็จะเสียเงินมากนัก จึ่งได้ว่ากับกงสุลอังกฤษ กงสุลฝรั่งเศสว่า ที่กรุงจะแต่งทูตออกไปกรุงอังกฤษ กรุงฝรั่งเศสบ้าง จะขอพึ่งกำลังให้กำปั่นเข้ามารับจะได้หรือไม่ได้ กงสุลก็มีหนังสือแจ้งความออกไปถึงมินิสเตอร์ว่าการต่างประเทศ มินิสเตอร์ตอบเข้ามาว่าได้ปรึกษาคอเวอนเมนต์ทราบแล้ว ยอมจะให้เรือรบเข้ามารับ ถ้าทูตออกไปถึงแล้วก็จะรับรองแข็งแรงให้สมพระเกียรติยศ คอเวอนเมนต์อังกฤษมีหนังสือมาให้อัดมิราลที่อยู่ในทะเลจีน จัดกำปั่นรบเข้ามารับทูตไทยลำ ๑

ครั้นณวันศุกร เดือน ๘ แรม ๔ ค่ำ[๒] กัปตันโกแกแลแฮนคุมเรือรบกลไฟชื่อเยอระเปียน เข้ามารับราชทูตที่กรุงเทพมหานครออกไปเจริญทางพระราชไมตรีณกรุงลอนดอน ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ตั้งให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ บุตรสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ เป็นราชทูตนาย ๑ เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดีข้าหลวงเดิม เป็นอุปทูตนาย ๑ จมื่นมนเทียรพิทักษ์ข้าหลวงเดิมในพระบวรราชวัง เป็นตรีทูตนาย ๑ หม่อมราโชทัย เป็นล่าม ๑ จมื่นราชามาตย์ ๑ นายพิจารณ์สรรพกิจ ๑ คุมเครื่องราชบรรณาการ ๒ นาย กับข้าหลวงมีชื่อรวม ๒๗ นาย เชิญพระราชศาสน์และเครื่องมงคลราชบรรณาการ คือราชูประโภคและเครื่องสูง และตัวอย่างสินค้าต่างๆ ออกไปเจริญทางพระราชไมตรี สมเด็จพระนางเจ้าควีนวิคตอเรีย พระเจ้ากรุงบริตาเนีย ราชทูตได้กราบถวายบังคมลาออกจากกรุงเทพมหานคร เมื่อวันศุกรเดือน ๙ ขึ้น ๓ ค่ำ[๓]



[๑] พ.ศ. ๒๔๐๐ ฯ

[๒] วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ฯ

[๓] วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ฯ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ