๕๒. หนังสือองค์พระหริรักษ์ถึงพระเจ้านโปเลียนที่ ๓

ฝ่ายที่เมืองเขมรนั้นเมื่อณเดือน ๑๒ นั้น องค์พระหริรักษ์ได้มีหนังสือไปด้วยกำปั่นของพระหริรักษ์ ไปส่งมองซิเออมองติคนีที่เมืองสิงคโปร์ ใจความว่า

หนังสือองค์พระหริรักษรามมหาอิศราธิบดี เป็นเจ้าตั้งแต่พงศ์เผ่าสาวดาน[๑] ตั้งแต่เดิมหลายแผ่นดินมา ทรงราชดำรงเมืองเขมรทั้งสิ้นตามธรรมเนียมแต่ก่อนมา บัดนี้ดูพอพระทัยรักใคร่นับถือมหาราชพระบรมนาโปเลออนคำรบ ๓ เป็นเจ้านครฝรั่งเศส ก็อยากใคร่ชี้บอกใจรักซื่อตรงกับเธอ ด้วยตูเป็นเจ้าเมืองเขมร ใช้มองติคนีแวะเข้ามาเยี่ยมนั้นมีจิตต์ยินดีนัก ได้ใช้ขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองเขมร ๓ คน กับขุนนางรอง ๑๕ คนออกมารับยินดีณเมืองกำปอด ด้วยเมื่อปีก่อนหลายปีมาแล้ว บรรดาบาดหลวงฝรั่งเศสไปอยู่เมืองเขมรได้บอกตูผู้เป็นเจ้าเมืองเขมร สรรเสริญว่าเจ้าฝรั่งเศส ชาติฝรั่งเศส ถือเพศมีใจเอ็นดูทุกประเทศทั้งปวง มิได้เบียดเบียนชาวต่างประเทศให้ขาดประโยชน์ มีแต่ช่วยทำนุบำรุงทุกประเทศให้มีประโยชน์ได้ความสุขสบาย ใจเจ้าฝรั่งเศสดีไม่เหมือนประเทศชาติฝรั่งแขกทั้งปวง คิดแต่เบียดเบียนให้เสียประโยชน์เขา ตูเจ้าเมืองเขมรได้ยินดังนั้น ก็มีใจยินดีอยากจะผูกไมตรีกับเจ้าเมืองฝรั่งเศส จะมีประโยชน์ไมตรียืดยาวต่อไป นครก็จะได้กว้างขวางมีประโยชน์แก่ราษฎรเป็นอันมาก จึงได้ให้บาดหลวงฤทราวิเรมดอกตีมิชะเปะดานสารา (?) ทำเป็นหนังสือชี้บอกใจรักใคร่ ถวายงาช้าง ๔ กิ่ง นอระมาด ๒ ยอด รงหนัก ๕ หาบ น้ำตาลทรายหนัก ๕ หาบ พริกไทยหนัก ๔ หาบ มาให้เจ้าฝรั่งเศส ข้อความนั้นก็หายไปหลายปีไม่ได้รับตอบ บัดนี้ถวายผ้าเขมร ๔ ผืน งาใหญ่ ๔ กิ่ง นี้น้อยนักพอแต่ให้เห็นใจ จะถวายมามากด้วยมองติคนีว่าไปพูดไมตรีกับเมืองญวน แล้วจะเลยไปเมืองจีนยังไม่กลับไปเมืองฝรั่งเศส จึงถวายแต่น้อยพอให้เห็นใจ แล้วทูลเจ้าฝรั่งเศสให้ได้รู้ ด้วยเมืองเขมรเดิมเป็นเมืองใหญ่มีเขตต์แดนกว้างขวาง ครั้นอยู่มาญวนเป็นคนใจร้ายทำไมตรีกับเมืองเขมร เบียดเบียนเอาเมืองเขมรทีละเมือง ๒ เมือง เมื่อครั้งเจ้ายาลองวิวาทกับเจ้าไกเซินหนีไปพึ่งกรุงเทพมหานครพบกับบิดาตูเจ้าเมืองเขมรที่กรุงเทพมหานครได้เป็นไมตรีกัน ครั้นหนีมาจากกรุงเทพมหานครไปอยู่เมืองพระตะพัง ตั้งทัพรบกับกองทัพไกเซิน บิดาตูอยู่เมืองเขมรได้ให้กองทัพไปช่วยรบจนชะนะเจ้าไกเซิน ได้เป็นเจ้าเมืองญวน ให้มาขอเมืองพระตะพังแต่บิดาตู ว่าเมืองพระตะพังมีคุณ ขอเมืองนั้นอย่าให้เอาส่วยแลใช้สอยคนเมืองนั้น บิดาตูเห็นว่าเป็นทางไมตรี ก็ยอมยกส่วยและมิได้ใช้คนเมืองนั้น ครั้นนานมาก็เอาเมืองนั้นเป็นเมืองขึ้นญวน ครั้นมาถึงพี่ตูอีกกลับไปพึ่งเจ้ายาลอง ตูไปอยู่กรุงเทพมหานคร บุตรเจ้ายาลองชื่อมินมางได้เป็นเจ้า ให้ขุดคลองตัดเมืองเขมร ตั้งแต่เปียมมาถึงโจฎก ให้ขุนนางราษฎรญวนอยู่ ครั้นพี่ตูตายยังอยู่แต่บุตรหญิง เจ้ามินมางทำโทษให้เอาบุตรพี่ตูกับมารดาตูบุตรตูไปกักขังไว้ที่เมืองไซ่ง่อน ให้ฆ่าบุตรหญิงพี่ตูเสียคน ๑ ให้ขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองเขมรและราษฎรแยกกันไปอยู่เกาะบ้าง ไปอยู่เมืองตังเกี๋ยใกล้เมืองจีนบ้าง ราษฎรเขมรทั้งสิ้นรู้ว่าเจ้าเมืองญวนใจร้ายก็กำเริบฆ่าฟันญวนตายเป็นอันมาก ไปขอตูแก่กรุงเทพมหานครมาเป็นเจ้า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้เจ้าพระยาบดินทรเดชาแม่ทัพ คุมไพร่พลกว่า ๕,๐๐๐ ทั้งปืนใหญ่ปืนน้อยกับเครื่องศาสตราวุธ กะสุนดินดำ เสื้อผ้า สะเบียงอาหาร เงินทอง คิดเป็นเงินหลวงเสียหายไปหลายหาบ มาช่วยรบกับญวน ยังไม่ได้เมืองเขมร ๑๘ ปี เจ้าญวนให้ขอเป็นไมตรีกับส่งมารดาตู บุตรตู บุตรหญิงพี่ตู และขุนนางมุขมนตรีกับราษฎรที่แยกไปอยู่ทุกเกาะทุกเมือง รวบรวมส่งมาให้ตูทั้งสิ้น แล้วรับยินดีให้ตูเป็นเจ้าเมืองเขมร ให้ตราตั้งเป็นตราญวน ๒ ดวง ใหญ่ ๑ เล็ก ๑ แล้วสัญญาว่าเมืองเขมรที่ญวนได้ไปเท่าใดจะมอบให้ทั้งสิ้น เจ้าพระยาบดินทร์เดชาแม่ทัพคิดกับตูว่าควรรับเป็นไมตรีเถิด ด้วยได้มารดาบุตรและหลานกับขุนนางมุขมนตรีบ้านเมืองคืนมาสิ้นแล้ว ก็ได้รับเป็นไมตรีต่อกันแต่ศักราช ๑๒๐๙[๒] ปีมะแมนพศก ต่อมาฝ่ายเมืองซึ่งญวนได้(สัญญา)ไว้ว่าจะคืนให้ เมืองนั้นก็ไม่ให้มา กลับบังคับตู ส่วยก็มิให้เอา เขมรจะทำเป็นเรือเสาใช้ใบไปค้าขายประเทศนอกก็มิให้เข้าออก เนื้อความเมืองเขมรเช่นนี้ ขอทูลเจ้าฝรั่งเศสให้รู้คิดแต่ญวน เอาเมืองเขมรไปเป็นเมืองญวน เมืองดงหน่าย ๑ ญวนเอาไปเป็นเมืองญวนประมาณกว่า ๒๐๐ ปีแล้ว ที่เอาภายหลังนั้น เมืองไซ่ง่อน ๑ เมืองล่องโห้ ๑ เมืองสาแดก ๑ เมืองสมิถ่อ ๑ เมืองโชฎก ๑ เมืองกระมวนสอ ๑ เมืองอุบล ๑ เมืองตึกเขมา ๑ เมืองเปียม ๑ และเกาะสน ๑ เกาะตลาด ๑ ตั้งแต่ปีนี้ต่อไปเบื้องหน้า ถ้าญวนยกเมืองทั้งสิ้นนี้และเมืองใดๆ ถวายเจ้าฝรั่งเศสนั้น ขอเจ้าฝรั่งเศสอย่าได้รับเอา ด้วยเป็นเมืองเขมรจริง ตั้งแต่แม่น้ำเมืองไซ่ง่อนฝั่งข้างตะวันตกจนถึงเมืองเปียม และเกาะทั้ง ๒ ให้คงอยู่เป็นเมืองเขมรเหมือนแต่ก่อน ฝ่ายฝั่งตะวันออกแม่น้ำเมืองไซ่ง่อนต่อไปด้วย เมืองทั้งนั้นญวนเอานานแล้ว มิได้วิวาทปรารถนาดอก ให้เจ้าฝรั่งเศสรู้ อย่าให้ตูกับราษฎรเสียประโยชน์เกิดทุกข์เดือดร้อนคับแค้น เกียรติยศชื่อเจ้าฝรั่งเศสก็จะฦๅชาปรากฏว่าเป็นคนใจดี ให้มีประโยชน์แก่ประเทศอื่น เขมรกับฝรั่งเศสก็จะได้เป็นไมตรีรักใคร่กัน ค้าขายต่อไปเบื้องหน้า

ได้เขียนหนังสือนี้อยู่มนเทียรตูณเมืองอุดงมีไชย แล้วได้ประทับตราณวันอังคาร เดือน ๑๒ แรม ๑๓ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๑๘[๓] ปีมะโรง อัฐศก ส่งไปเมืองสิงคโปร์

ข้อนี้กล่าวไว้พอให้ทราบสำนวนเจ้าเขมรเล่น

ฝ่ายที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันศุกร เดือน ๑ ขึ้น ๑ ค่ำ[๔] กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ซึ่งประชวรพระโรคทุลาวะสาสิ้นพระชนม์ ณเดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ[๕] ได้เชิญพระศพกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ๒ พระศพมาลงเรือเอกไชยที่หน้าวัดพระเชตุพน ณเดือน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เพลา ๒ ยามเศษ จัดเป็นกระบวนแห่ข้ามไปเข้าเมรุผ้าขาวที่หลังวัดอรุณราชวราราม มีการมโหรสพ ๒ วัน ๒ คืน ครั้นณเดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ พระราชทานเพลิงพร้อมกันทั้ง ๒ พระศพ



[๑] พงศาวดาร?

[๒] พ.ศ. ๒๓๙๐ ฯ

[๓] วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๙๙ ฯ

[๔] วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ฯ

[๕] พฤหัสบดีที่ ๕ มีนาคม ฯ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ