๒๑๗. สร้างและปฏิสังขรณ์พระอารามหัวเมือง

ทีนี้จะว่าด้วยวัดหัวเมืองต่อไป

วัดทรงธรรมที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงสร้างค้างอยู่ ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระอุโบสถนั้นทำด้วยฝากะดาน โปรดให้พระยามนตรีสุริยวงศ์จ้างลูกจ้างทำพระอุโบสถ พระเจดีย์ กุฏิขึ้นใหม่

แล้วทรงพระราชดำริว่า พระสมุทรเจดีย์ เมืองสมุทรปราการ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชดำริไว้ว่า จะให้ทำที่เกาะทรายท้ายป้อมผีเสื้อสมุทร ก่อสร้างพระสมุทรเจดีย์ขึ้น ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เจ้าพระยาพระคลังซึ่งว่าที่สมุหพระกลาโหม ถมศิลาเป็นเกาะก่อพระเจดีย์ขึ้นสูง ๑๐ วา มีศาลา ๔ ทิศ ชักกำแพงแก้วล้อมสูง ๑ ศอกคืบ ก็เป็นที่ประชาชนลงไปนมัสการและกระทำสักการบูชาทุกปีในวันเดือน ๑๑ แรม ๘ ค่ำ มิได้ขาด จึงทรงพระราชดำริว่าพระสมุทรเจดีย์นี้เป็นของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชดำริไว้แต่เดิมแล้ว แต่ยังมิได้กระทำ เดี๋ยวนี้ก็เป็นที่ราษฎรไปนมัสการปีละครั้งเป็นนักษัตรฤกษ์ใหญ่คราว ๑ ที่เกาะก็คับแคบอยู่ เรือลูกค้าไปมาก็ได้เห็นเป็นพระเกียรติยศแผ่นดินอย่าง ๑ จะทรงสถาปนาให้สูงใหญ่ขึ้นไปอีก จะให้มีพระพิหารเป็นเรือนพระเจดีย์ด้วย แต่พระเจดีย์ไม้ ๑๒ นี้ไม่โปรดด้วยไม่ต้องอย่าง จึงโปรดให้ช่างไปถ่ายอย่างพระเจดีย์กรุงเก่ามาทำ เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดีเป็นแม่กองเจ้าของการ พระยามหาอรรคนิกร พระอมรมหาเดชเป็นนายงานคุมเลขทหารปืนปากน้ำทำ ได้จัดซื้อศิลาถมเพิ่มออกไปอีกให้รอบเกาะ ข้างทิศใต้ถมเป็นชานออกไปอีก จึงก่อพิหารขึ้นหลัง ๑ องค์พระเจดีย์นั้นได้ก่อฐานพอกออกมากว้าง ๖ ศอกรอบองค์เก่าเป็นฐานกว้าง ๑๐ วา ไขส่วนสูงขึ้นไปอีก ๘ วาทำกำแพงและศาลารายใหม่ทั้ง ๔ ทิศ มีหอระฆังที่หน้าพระพิหาร เรือนตะเกียงใหญ่น้อยรายรอบขอบเกาะ มีหลักศิลาปักสำหรับผูกเชือก ที่เกาะนั้นก่อแลงเป็นคั่นบันไดล้อมเกาะไว้รอบ ฝ่ายข้างเหนือให้ถมศิลาก่อพิหารน้อยๆ ๒ หลัง เพื่อว่าผู้ที่สร้างพระพุทธรูปจะได้เอาไปฝากไว้ แล้วให้ก่อกะถางปลูกต้นมหาโพธิ ซึ่งได้ผลมาเพาะแต่เมืองพุทธคยาบุรี เป็นที่นับถือของพวกพราหมณ์ว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัส เป็นเจดียฐานขึ้นอีกแห่ง ๑ พวกสัตบุรุษได้ทำสักการบูชานมัสการ ทรงบริจจาคพระราชทรัพย์ใช้ในการทำเจดีย์ และพระพิหารการอื่นสิ้นทั้งเกาะ พระราชทรัพย์ ๒๖๕ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ๑ บาท ๒ สลึง เงินสาธารณะ ๑๖ ชั่ง ๑๖ ตำลึง ๑ สลึง เงินตัวเลขขาด ๒๖ ชั่ง ๑๙ ตำลึง ๒ บาท ๒ สลึงเฟื้อง รวมเงิน ๓๐๙ ชั่ง ๖ ตำลึงสลึงเฟื้อง ให้ค่าจ้างถือปูน ๓๓ ชั่ง ๑ บาทเฟื้อง ค่าจ้างทำลูกมะหวดศิลารับยอดพระเจดีย์ ๓ ชั่ง ๔ ตำลึง ค่าจ้างปั้นช้าง ๒ ชั่ง ๓ ตำลึง ค่าช่างไม้ ๓ ชั่ง ๕ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึง ค่าเลื่อยไม้ ๕ ชั่ง ๑ ตำลึง สลึงเฟื้อง ค่าจ้างปูกระเบื้อง ๑ ชั่ง ๒ ตำลึง ๓ บาท รวมค่าจ้าง ๔๘ ชั่ง ๔ ตำลึง ซื้ออิฐ ๑๐๔ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ซื้อปูนหอยปูนศิลา ๖๓ ชั่ง ๑ ตำลึง ๒ บาท สลึงเฟื้อง ซื้อศิลาถมเติมเกาะและก่อรอบเกาะ ๘๐ ชั่ง ๓ ตำลึง ๑ บาท ๓ สลึง ใช้เบ็ดเสร็จ ๒ ชั่ง ๑๓ ตำลึง ค่ากระเบื้องเคลือบมุงพระพิหาร เงิน ๙ ชั่ง ๑๕ ตำลึง รวมเป็นเงิน ๒๖๐ ชั่ง ๒ ตำลึง ๑ บาท สลึงเฟื้อง แต่ของเบิกนั้นไม่ได้คิด และการวาดเขียน และปั้นลายหน้าบันช่อฟ้าหางหงส์ ประดับกะจกในการพระพิหารยังไม่แล้วเสร็จ จะมีจดหมายในแผ่นศิลาต่อไป

ฝั่งข้างตะวันออกข้างเมือง ก็โปรดให้สร้างเป็นวังที่ประทับสำหรับมีการสมโภชสมุทรเจดีย์ไว้พระเกียรติยศขึ้นอีกตำบล ๑ ที่พลับพลานั้นให้ชื่อว่าพระที่นั่งสมุททาภิมุข ที่พระบรรทมนั้นชื่อพระที่นั่งสุขไสยาศน์ ที่เรือนประเทียบหลัง ๑ ให้ชื่อตำหนักนาฎนารีรมย์ ที่ตึกแถวให้ชื่อสนมนิกร โรงละครชื่อสัณฐาคารสภา สำหรับรับแขกเมืองที่นั่นด้วย โรงหัดทหารให้ชื่อโรงศึกษาสงคราม ที่ต้นมหาโพธิหน้าเมืองก็โปรดให้ทำพิหารและก่อกำแพงล้อมด้วย ด้วยเป็นมหาโพธิต้องอย่างมาแต่เกาะลังกา

ที่อ่างศิลาแขวงเมืองชล อากาศดี โปรดให้ทำที่ประทับแห่ง ๑ ได้ทำแต่อิฐปูนขึ้นไว้กับถมสพานศิลาเป็นถนนออกมาสาย ๑ พณฯหัวเจ้าท่าน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหมสร้างตึกใหญ่ขึ้นไว้หลัง ๑ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้สร้างตึกขึ้นไว้หลัง ๑ เพื่อจะให้พวกยุโรปที่เจ็บไข้ไปอยู่รักษาตัวตากอากาศที่นั้นเป็นการบุญ และที่ตลาดหลังเขาสมมุขนั้น โปรดให้ทำพลับพลาเป็นที่ประพาสขึ้นไว้หมู่ ๑ ให้ถมศิลาเป็นถนนออกมาสาย ๑

ที่เกาะสีชังนั้นก็เสด็จออกไปประพาสเนืองๆ เห็นแหลมเกาะข้างทิศตะวันออกแห่ง ๑ เป็นที่ชอบกลอยู่ ควรจะสร้างเป็นพระอารามน้อยขึ้นไว้สำหรับชาวเกาะทำบุญให้ทาน จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดีจ้างผู้มีชื่อสร้างพระอุโบสถ กุฏิ เสนาสนะ ศาลาโรงธรรมขึ้นไว้ที่เกาะนั้นตำบล ๑ ยังไม่ได้พระราชทานชื่อ

และที่บางพระนั้น พระครูวรกันทราจารย์ถวายพระพรว่า ที่วัดนั้นพระอุโบสถชำรุดเครื่องบนผุไป หามีผู้ใดบุรณะปฏิสังขรณ์ไม่ จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี จ่ายเงินภาษีเข้าสถาปนาให้งามดีขึ้น เปลี่ยนเครื่องบนเสียใหม่และเสริมผนังขึ้นไปอีก ๒ ศอก ต่อมุขหลังออกไปสร้างพระเจดีย์ขึ้นหลังพระอุโบสถองค์ ๑ สูง ๕ วา

และเมื่อปีมะแมเอกศก[๑] เสด็จพระราชดำเนินออกไปเมืองสงขลา เสด็จกลับเข้ามาถึง จึงโปรดให้พระยาสามภพพ่ายเป็นข้าหลวงออกไปให้เจ้าพระยาสงขลาสร้างพระเจดีย์ขึ้นที่ยอดเขาตังกวนฝั่งข้างเมืององค์ ๑ สูง ๙ วา ๓ ศอก



[๑] พ.ศ. ๒๓๙๗

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ