๑๑. ตั้งพระราชาคณะ

ครั้นมาถึงเดือน ๙ จึงทรงพระราชดำริว่า อย่างธรรมเนียมโบราณ ตั้งการบรมราชาภิเศกและอุปราชาภิเศกแล้ว ต้องตั้งพระราชาคณะเป็นฤกษ์ก่อน จึงจะได้ตั้งข้าราชการต่อไป จึงโปรดญ ตั้งมหาศรีซึ่งเป็นพระครูอโนมสาวัน ตำแหน่งคู่สวดอยู่ก่อนขึ้นเป็นราชาคณะ ได้ชื่อว่าพระอโนมสิริมุนี ตั้งมหาอยู่เปรียญ ๘ ประโยค วัดอมรินทราราม เป็นที่พระธรรมโฆษา มหาบัวเปรียญ ๗ ประโยค วัดรังษี เป็นพระวินัยมุนี

และในระหว่างนั้นก็ได้ตั้งเจ้าและขุนนาง และเลื่อนพระราชาคณะบ้าง จะต้องกล่าวพระเสียก่อน แลเจ้านายเป็นที่ ๒ ขุนนางเป็นที่ ๓ ฟังจึงจะเข้าใจง่าย

ทรงตั้งกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตติยวงศ์ พระองค์นั้นเป็นอัจฉริยมนุษย์บุรุษยรัตน์อันพิเศษ ทรงพระปรีชาฉลาดในพระพุทธศาสน์และราชศาสตร์แบบอย่างโบราณราชประเพณีต่างๆ และได้เป็นพระอุปัธยาจารย์เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า ในพระบรมมหาราชวัง พระบวรราชวังหลายพระองค์ ณวันเดือน ๙ ขึ้น ๑ ค่ำ[๑] โปรดฯ ให้ยกพระที่นั่งกระยาสนานที่สรงเมื่อราชาภิเศกมาตั้ง แล้วสวดพระพุทธมนต์ ๓ วัน ครั้นณวันศุกรเดือน ๙ ขึ้น ๔ ค่ำ[๒] เวลาเช้า เป็นวันสรงมณฑปกระยาสนาน แล้วได้เพิ่มพระนามขึ้น จารึกในแผ่นสุวรรณบัฏใหม่ว่า สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตติยวงศบรมพงศาธิบดี จักรีบรมนารถ ปฐมพันธุมหาราชวรังกูร ปรเมนทรเรนทรสูริย์สัมมานาภิสักกาโรดมสถาร อริยสมศีลาจารพิเศษมหาวิมล มงคลธรรมเจดีย์ ยุตมุตวาทีสุวิรมนุญ อดุลยคุณคณาธาร มโหฬารเมตยาภิธยาศรัย ไตรปิฎกกลาโกสล เบญจปดลเศวตฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาสมณุตมาภิเศกาภิสิต ปรมุกกฤษฐสมณศักดิธำรง มหาสงฆปรินายก พุทธศาสนดิลกโลกุตตมมหาบัณฑิตย สุนทรวิจิตรปฏิภาณ ไวยัติญาณมหากระวี พุทธาทิศรีรัตนตรัยคุณารักษ เอกอรรคมหาอนาคาริยรัตน์ สยามาทิโลกปฏิพัทธพุทธบริษัทยเนตร สมณคณินทราธิเบศรสกลพุทธจักโรประการกิจ สฤษดิศุภการ มหาปาโมกษประธานวโรดม บรมนารถบพิตร เสด็จสถิตณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

ในวันนั้นเลื่อนพระราชาคณะขึ้นอีก ๑๐ องค์ คือพระพิมลธรรม (อู่) เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาน ๑ พระธรรมอุดม (เซ่ง) เป็นสมเด็จพระวันรัต ๑ พระพุฒาจารย์ (สน) เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระพุทธาจารย์ พระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) วัดโมฬีโลก เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ไปอยู่วัดมหาธาตุ ๑ พระธรรมไตรโลก (จี่) (วัดประยูรวงศาวาศ) เลื่อนเป็นพระพิมลธรรม ๑ พระพรหมมุนี (ถึก) (วัดพระเชตุพน) เลื่อนเป็นพระธรรมอุดม แปลงเป็นพระธรรมวโรดม พระญาณสมโพธิ์ (ยิ้ม) เป็นพระพรหมมุนี ๑ พระเทพกวี (รอด) วัดราชโอรส เป็นพระธรรมไตรโลก ๑ พระธรรมกิติ เป็นพระธรรมเจดีย์ ๑ มหาโตเปรียญ ๔ ประโยค ยกเป็นพระธรรมกิติ ๑ พระญาณไตรโลก (พุก) วัดมหาธาตุ เลื่อนขึ้นเป็นพระธรรมราชานุวัตร เจ้าคณะใหญ่กรุงเก่า ๑

ตั้งพระวรวงศเธอชั้น ๒ ขึ้นอีกพระองค์ ๑ พระนามเดิม พระองค์เจ้าฤกษ์ ทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร โปรดฯ ตั้งให้เป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ ปิยพรหมจรรย์ธรรมวรยุต ปฏิบัติสุทธคณนายก พุทธศาสนดิลกปวริยบรรพชิต สรรพธรรมิกกิจโกศลสุวิมลปรีชา ปัญญาอรรคมหาสมณุดม บรมบพิตร พระองค์ท่านนั้นก็แตกฉานในพระปริยัติธรรม และปฏิบัติเคร่งครัดตามพระวินัยบัญญัติ แล้วก็ทราบในโหราศาสตร์โดยมาก



[๑] อังคารที่ ๒๙ กรกฎาคม ฯ

[๒] วันที่ ๑ สิงหาคม ฯ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ