๓๘. เตรียมการต้อนรับเซอร์ยอนโบวริง

ฝ่ายที่กรุงเทพมหานคร ณเดือน ๑๐ แรม ๑๐ ค่ำ[๑] นายบำรุงราชบทมาลย์กลับเข้ามาแต่เมืองสิงคโปร์ ด้วยกำปั่นสุดสาคร รับหนังสือเซอยอนโบวริงเจ้าเมืองฮ่องกงเข้ามาด้วยฉะบับหนึ่ง ใจความในหนังสือนั้นว่า พระมหากษัตริย์ของเซอร์ยอนโบวริงให้เข้ามาทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีค้าขาย และการอื่นๆ หลายอย่าง เพื่อจะให้บ้านเมืองเจริญขึ้น เซอรยอนโบวริงจะต้องบอกว่า เรือกี่ลำ คนกี่คน เดี๋ยวนี้ที่ทะเลเมืองจีนมีเรือรบอยู่ในบังคับอังกฤษมาก เซอยอนโบวริงจะเข้ามาเยี่ยมเยือน มิใช่จะมาให้บ้านเมืองไทยตื่นตกใจ เซอร์ยอนโบวริงจะเข้ามาเรือน้อยลำ ท่านเสนาบดีอย่าเข้าใจผิดไปแล้วก็อย่าให้เป็นเหตุขัดขวางทางสัญญาไมตรีค้าขาย เพราะมาน้อยลำ ถ้ารับรองโดยรักใคร่กัน ใจของเซอร์ยอนโบวริงคิดสมควรกับบ้านเมืองใหญ่ แล้วในใจเซอร์ยอนโบวริงไม่อยากจะเอากำลังอำนาจใหญ่ใช้เลย ความพิสดารแจ้งอยู่ในหนังสือนั้นแล้ว ได้นำหนังสือขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมว่า เมื่อครั้งแผ่นดินกรุงธนบุรี กัปตันเล็กอังกฤษได้เอาปืนคาบศิลาเข้ามาถวายครั้ง ๑ ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กัปตันเล็กได้นำพระแสงกระบี่เข้ามาถวายครั้ง ๑ ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าแผ่นดินเมืองโปรตุคอลแต่งให้กาละลส มันแวนสิงไวระ[๒]* คุมเครื่องราชบรรณาการเป็นราชทูตเข้ามาเป็นทางพระราชไมตรี ขอเป็นกงสุลอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และขอทำหนังสือสัญญาด้วย ครั้งนั้นโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานรับรองกาลสมันโดยสมควร ครั้นมาถึงปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าเมืองกะละกะตา แต่งให้การะฝัด[๓] เป็นทูตเข้ามาขอทำหนังสือสัญญาก็ครั้ง ๑ ก็โปรดให้เจ้าพนักงานรับรองเป็นอันดี แต่มิได้ทำสัญญากัน ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าเมืองกะละกะตาแต่งให้กัปตันหันตรีบารนี[๔] เป็นทูตเข้ามาขอทำหนังสือสัญญาก็ครั้ง ๑ ครั้งนั้นได้ทำสัญญากันเป็นสัญญา ครั้นมาถึงปลายแผ่นดิน สมเด็จพระนางเจ้าควีนวิกตอเรีย พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ แต่งให้เซอร์เยมสบรุกเจ้าเมืองสระวะ เป็นราชทูตเข้ามาขอแก้หนังสือสัญญาเก่า ครั้งกัปตันหันตรีบารนีเข้ามาทำไว้เสียใหม่ ให้เป็นทางพระราชไมตรีด้วยเมืองหลวง ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรอยู่ ไม่สบายพระองค์ เซอร์เยมสบรุกก็ไม่ได้เฝ้า หนังสือสัญญาก็ไม่ได้แก้ ครั้งนี้สมเด็จพระนางเจ้าควีนวิกตอเรียผูกพันที่จะเป็นทางพระราชไมตรีกับกรุงเทพมหานคร จึงตั้งให้เซอร์ยอนโบวริง เจ้าเมืองฮ่องกงเป็นราชทูตเข้ามาขอทำหนังสือสัญญาใหม่ ถ้าจะไม่รับถึง ๒ ครั้งแล้วเห็นว่าทางพระราชไมตรีเก่าที่ทำไว้ด้วยกัปตันหันตรีบารนีก็จะมัวหมองเสียไป หนังสือสัญญาที่ทำไว้แต่ก่อนก็เป็นแต่ทำด้วยเจ้าเมืองเบงคอลเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษเท่านั้น การได้ทำมาแต่เดิมแล้วก็จะต้องทำเสียใหม่ แล้วก็ได้ทำกับเจ้าแผ่นดินเมืองใหญ่ๆ ก็สมควรอยู่แล้ว จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปรึกษาท่านเสนาบดีตามพระกระแสพระราชดำริ ถ้าไม่ทำหนังสือสัญญาด้วยเซอร์ยอนโบวริงครั้งนี้แล้วก็คงจะขาดทางพระราชไมตรีไป จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยามหาอรรคนิกร คุมเลขทหารปืนทำศาลาใหญ่ขึ้นที่หน้าเมือง ขื่อยาว ๓ วา ๕ ห้อง มีเฉลียง ๒ ชั้นรอบทั้ง ๔ ด้าน เป็นที่รับทูตหลัง ๑ ฝ่ายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระรามอิศรเรศรซึ่งประชวรพระโรคลม ถึงณวันเสาร์เดือนอ้าย ขึ้น ๑๒ ค่ำ[๕] สิ้นพระชนม์ ๆ ได้ ๖๕ พรรษา ๑ เดือน ๑๐ วัน



[๑] เสาร์ที่ ๑๖ กันยายน ฯ

[๒] คือกาลส มันแวนซ์สิลไวร์ ซึ่งเจ้าเมืองหมาเก๊าให้เป็นทูตมาขอเจริญทางพระราชไมตรี พ.ศ. ๒๓๖๑ และเจ้าเมืองโคให้เข้ามาทำหนังสือสัญญา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๓ อีกครั้ง ๑ ฯ

[๓] คือ ยอห์น ครอเฟิด ฯ

[๔] คือ เฮนรี่เบอร์นี ฯ

[๕] ศุกรที่ ๑ ธันวาคม ฯ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ