๑๘๐. โปรดเกล้าฯ ให้จำลองปราสาทที่นครวัด

และเมื่อณเดือน ๓ แรม ๑๓ ค่ำ[๑] ปีขาล อัฐศก โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระสามภพพ่ายออกไปถ่ายแบบปราสาทที่พระนครวัด จะจำลองขึ้นไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อจะให้คนทั้งหลายเห็นว่าเป็นของอัศจรรย์ ทำด้วยศิลาทั้งสิ้นไม่มีสิ่งไรปน พระสามภพพ่ายกลับมาถึงกรุงเทพมหานครณวันเดือน ๗ ขึ้น ๙ ค่ำ[๒] กราบทูลว่าได้ถ่ายรูปราสาทและพระระเบียงเข้ามา พระนครวัดนั้นมีคู ๓ ด้าน กว้าง ๑๐ วา ลึก ๓ ศอก ด้านยาวๆ ๒๖ เส้น ด้านสกัดยาว ๒๔ เส้น คูนั้นซี่เขื่อนกรอบเขื่อนเป็นศิลามีลายจำหลักลงไปจนในน้ำพ้นปากคูข้างในเข้าไป ๗ วา มีกำแพงรอบ ๓ ด้าน พ้นกำแพงเข้าไป ๓๐ วาถึงพระระเบียง มีประตูด้านละ ๓ ประตูๆ กลางเป็นยอดปราสาท ประตูข้าง ๒ ประตูยอดเป็นจตุรมุข พระระเบียงชั้นที่ ๑ หันหน้ามาข้างนอก ยาว ๔ เส้น ๑๒ วา พื้นสูง ๗ ศอก ศิลาปูพื้นยาวศอกคืบ หน้าใหญ่ ๑๘ นิ้ว หน้าน้อย ๑๔ นิ้ว กว้างร่วมใน ๖ ศอกคืบ ขื่อกว้าง ๘ ศอก ผนังสูง ๗ ศอก หน้า ๑ คืบ ๑๘ นิ้ว เสาในประธานสูง ๗ ศอก หน้า ๒๐ นิ้ว ๔ เหลี่ยม มีบัวปลายเสาเป็นลูกแก้วเดี่ยว หลังคาสูง ๓ ศอกคืบ เฉลียงกว้าง ๔ ศอก เสาเฉลียงสูง ๓ ศอกคืบ หน้า ๑๖ นิ้ว ๔ เหลี่ยม มีบัวลูกแก้ว ปลายเสาห้องละ ๕ ศอก ขื่อขัดหน้า ๑๖ นิ้ว ๔ เหลี่ยม ผนังระเบียง ๔ ด้านๆ ข้างหน้าสลักเป็นเรื่องรามเกียรติ ด้านข้างตะวันออกสลักเป็นกระบวนพลม้าแห่กษัตริย์ ด้านตะวันตกสลักเป็นทะเลและมีเกาะและสัตว์ในทะเลต่างๆ ด้านหลังสลักเป็นกระบวนแห่พลช้าง ระเบียงด้านหน้ามีประตูใหญ่ ๓ ประตู หลังคาเป็นจตุรมุขเฉลียงรอบ มีประตูเล็กในระหว่างประตูใหญ่อีก ๒ ประตู ชานตั้งแต่ระเบียงชั้นต้นถึงชั้น ๒ กว้าง ๑ เส้น ๖ วา ประตูมุมยอดเป็นปราสาท ระเบียงชั้น ๒ ยาว ๒ เส้น ๑๖ วา พื้นสูง ๑๑ ศอก ศิลาปูพื้นยาว ๑ ศอกคืบ หน้าใหญ่ ๑๘ นิ้ว หน้าน้อย ๑๔ นิ้ว กว้างร่วมใน ๖ ศอกคืบ ขื่อกว้าง ๘ ศอก เสาในประธานสูง ๖ ศอกคืบ หน้าใหญ่ ๒๐ นิ้ว ๔ เหลี่ยม มีบัวลูกแก้วปลายเสา สพานทับปลายเสาหน้าใหญ่ ๒๐ นิ้ว หน้าน้อย ๘ นิ้ว ลอกลูกแก้วยาวห้องละ ๕ ศอก เฉลียงกว้าง ๓ ศอกคืบ มีเสา๔ เหลี่ยมสูง ๓ ศอก หน้า ๑๖ นิ้ว มีสพานทับปลายเสาหน้าใหญ่ ๑๖ นิ้ว หน้าน้อย ๖ นิ้ว ลวดลูกแก้วห้องละ ๕ ศอก มีลูกมะหวดรับสพานในระหว่างห้องระยะห่างกัน ๑๔ นิ้ว ขื่อขัดหน้าใหญ่ ๑๖ นิ้ว ๔ เหลี่ยม มีประตูหลังคาเป็นจตุรมุขที่มุมทั้ง ๔ ทำเป็นปรางค์เรียกว่าปราสาท มีบันไดขึ้นไปจากพื้น มีประตูเข้าไปในปราสาท แล้วออกหลังปราสาท ตั้งแต่ระเบียงชั้น ๒ มาถึงพระระเบียงชั้น ๓ กว้าง ๙ วา พระระเบียงชั้น ๓ หันหน้าเข้า ยาว๑ เส้น ๑๗ วา พื้นสูง ๕ วา ๒ ศอก ขื่อกว้าง ๘ ศอก ศิลาปูพื้นเท่ากันกับชั้นที่ ๒ กว้างร่วมใน ๖ ศอกคืบ เฉลียงเท่ากันกับชั้นที่ ๒ มีประตูกลางประตู ๑ ทั้ง ๔ ด้าน หลังคาเป็นจตุรมุข ที่มุมพระระเบียงทำเป็นปราสาท มียอดปรางค์ในระหว่างกว้าง ๗ ศอก สูง ๑๕ วา มีประตูและบันไดขึ้นไปจากพื้นทั้ง ๔ ปราสาท มีประตูออกจากปราสาทเข้าไปปราสาทใหญ่ หลังคาพระระเบียงเอาศิลายาว ๒ ศอก หน้าใหญ่ ๑ ศอกเศษ หน้าน้อยกำมา ๑ ทับเหลื่อมกันขึ้นไปประจบเป็นอกไก่ พื้นหลังคาสกัดเป็นลูกฟูก เอาศิลาแผ่นยาวๆ ทับหลังเหมือนอย่างทับหลังคา ไม่มีสิ่งไรรับข้างล่างก็ตั้งอยู่ได้ทั้ง ๓ ชั้น ด้วยเป็นของหนัก ถัดพระระเบียงเข้าไปมีลานกว้าง ๑๐ วาถึงองค์ปรางค์ เขมรเรียกว่าปราสาท ฐานกว้าง ๑๑ วา สูง ๑๙ วา ๒ ศอก มีในร่วมข้างในที่หว่างมุม ๔ ด้าน กว้าง ๗ ศอกคืบ ตรงกลางนั้นก่อตัน หน้ากระดานสลักเป็นลายเขมร กลีบขนุน สลักเป็นครุฑเป็นเทวดา ตั้งพระพุทธรูปไว้ในหว่างมุขทั้ง ๔ มุขๆ ละองค์ รวมตั้งแต่แผ่นดินขึ้นไปจนถึงพระระเบียง ๓ ชั้น สูง ๑๐ วา องค์ปราสาทใหญ่นั้นสูง ๑๙ วา ๒ ศอก ตลอดยอดสูง ๑ เส้น ๙ วา ๒ ศอก ยอดต่างหาก แต่ยอดหามีไม่ จะสูงเท่าไรกำหนดมิได้ คูและกำแพงด้านหลังนั้นทำค้างไว้หรือประการใดไม่แจ้ง ที่ว่างอยู่นั้นไม่มีภูเขาและอะไรติดเนื่องกัน จะเว้นไว้ทำอะไรต่อออกไปอีกก็ไม่ปรากฏ มีแต่พลับพลาติดพระระเบียงเข้าไว้ ดูข้างหลังก็เห็นเป็นพระระเบียง ๒ ชั้น จึงโปรดฯ ให้ช่างกระทำจำลองตามแบบที่ถ่ายเข้ามานั้น ขึ้นไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามจนทุกวันนี้



[๑] ศุกรที่ ๒๑ กุมภาพันธ์

[๒] อังคารที่ ๑๑ มิถุนายน ฯ

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ