เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ยังอยู่ในตอนที่ ๓

เรื่องตำนานเมืองหงสาวดีตอนที่ ๗ นับแต่ พ.ศ. ๒๒๘๓ จนปัจจุบันนี้ (พ.ศ. ๒๔๗๙) ว่าเมื่อสมิงทอพุทธเกติ (หรือเรียกกันแต่โดยย่อว่า “สมิงทอ”) ราชาภิเศกเปนพระเจ้าหงสาวดีแล้ว แผ่อาณาเขตต์ขึ้นไปทางเมืองพะม่าจนได้เมืองแปรและเมืองตองอูไว้ในอำนาจ แต่ทางข้างใต้ไม่กล้ามาตีเมืองเมาะตมะและหัวเมืองมอญที่อยู่ต่อแดนไทย ด้วยเกรงไทย จึงแต่งทูตให้เชิญราชสาสนกับเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายพระเจ้าบรมโกศ ณ กรุงศรีอยุธยา ทูลว่ากรุงหงสาวดีมีพระมหากษัตริย์ครอบครองเปนอิสสระประเทศเหมือนอย่างแต่ก่อนแล้ว หมายจะเปนไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ขอพระราชทานราชธิดาไปอภิเศกเปนอัครมเหษี ให้สองประเทศเปนสัมพันธมิตร์เหมือนอย่างทองแผ่นเดียวกันต่อไป พระเจ้าบรมโกศเห็นจะได้ทรงทราบจากพวกมอญที่มาอยู่ในเมืองไทย ว่าสมิงทอมิใช่ผู้ดีมีตระกูลเปนแต่คนจรจัดได้โอกาสตั้งตัวขึ้นเปนใหญ่ จึงทรงขัดเคืองว่าบังอาจยกตัวตีเสมอ ไม่ตอบราชสาสนทูตมอญต้องกลับไปเปล่า เมื่อกิตติศัพท์รู้ไปถึงเมืองพะม่าว่าพระเจ้าหงสาวดีแต่งทูตมาทำทางไมตรีกับไทย พระเจ้าอังวะเกรงว่าไทยจะไปเข้ากับมอญ จึงอาศัยเหตุที่พระเจ้าบรมโกศได้ทรงรับพวกขุนนางพะม่าที่หนีมอญไว้ แต่งทูตให้เชิญพระราชสาสนกับเครื่องราชบรรณาการมาถวายขอบพระเดชพระคุณขอเปนไมตรีต่อไป ในราชสาสนคงกล่าวความอ่อนโยนไม่ทนงศักดิ์เหมือนอย่างพระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าบรมโกศจึงทรงรับเปนไมตรีกับพะม่า ฝ่ายสมิงทอเมื่อขอพระราชธิดาของพระเจ้าบรมโกศไม่ได้ดังประสงค์ จึงหันไปขอเปนทางไมตรีกับเมืองเชียงใหม่และขอธิดาของพระเจ้าเชียงใหม่เปนมเหษี ก็ในเวลานั้นพระเจ้าเชียงใหม่องค์คำเพิ่งตั้งตัวเปนอิสสระมาได้ไม่ช้านัก ยังกลัวพะม่าจะไปปราบปราม จึงยินดีรับเปนไมตรีกับมอญและยกราชธิดาชื่อ “นางสอิ้งทิพย์” ให้เปนมเหษีของพระเจ้าหงสาวดี ครั้นถึง พ.ศ. ๒๒๘๙ พระเจ้าหงสาวดียกทัพขึ้นไปตีเมืองพะม่า แต่เมื่อขึ้นไปใกล้จะถึงเมืองอังวะได้ข่าวว่ามีทูตกรุงศรีอยุธยาไปถึงเมืองอังวะ ก็หวาดหวั่นเกรงว่าไทยจะไปตีเมืองหงสาวดีช่วยพะม่า จึงถอยกองทัพกลับลงมาเมืองหงสาวดีแต่อยู่มาได้ไม่ช้านักก็เกิดเหตุ มูลเหตุที่เกิดนั้นเดิมเมื่อก่อนสมิงทอจะได้เปนพระเจ้าหงสาวดี มีขุนนางมอญคนหนึ่งเปนที่ “พระยาทละ” ได้อุปการช่วยเหลือมากถึงยกลูกสาวให้เปนภรรยา เมื่อสมิงทอได้เสวยราชย์จึงตั้งให้พระยาทละเปนอัครมหาเสนาบดี และยกธิดาของพระยาทละเปนที่มเหษี ครั้นได้ธิดาของพระเจ้าเชียงใหม่ไปพระเจ้าหงสาวดียกย่องให้เปนอัครมเหษี ด้วยเห็นว่าเปนนางกษัตริย์ ก็เกิดหึงส์หวงกับธิดาของพระยาทละจนถึงวิวาทกัน พระเจ้าหงสาวดีเข้ากับนางสอิ้งทิพย์ ธิดาของพระยาทละได้ความอัปยศอดสู พระยาทละก็โกรธแค้นเอาใจออกหากจากพระเจ้าหงสาวดี คิดกลอุบายให้เกิดกิตติศัพท์เลื่องลือว่ามีช้างเผือกที่ในป่าเมืองสะโตง ก็ประเพณีในสมัยนั้นถือกันทุกประเทศทางตะวันออก ว่าต่อพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดมีบุญญาภินิหารมากจึงมีช้างเผือกเปนราชพาหนะ พระเจ้าหงสาวดีได้ทราบข่าวก็ชื่นชมโสมนัส ตรัสสั่งให้ไปสร้างพลับพลาแรมที่เมืองสะโตง แล้วกะเกณฑ์ผู้คนเข้ากระบวรเสด็จพานางสอิ้งทิพย์ไปอยู่ที่พลับพลา เที่ยวค้นหาช้างเผือกอยู่ช้านานจนราชการบ้านเมืองคั่งค้าง ขุนนางผู้ใหญ่ไปทูลพระเจ้าหงสาวดีก็ไม่กลับ ด้วยเห็นว่าถ้าไม่ได้ช้างเผือกจะเสียพระเกียรติยศ พระเจ้าหงสาวดีตั้งค้นช้างเผือกอยู่จนข้าราชการและไพร่พลที่ถูกเกณฑ์ไปพากันเดือดร้อนทิ้งพระเจ้าหงสาวดีหลบหนีไปเสียเปนอันมาก พระยาทละได้ทีก็เปนขบถ พระเจ้าหงสาวดีมีกำลังเหลืออยู่น้อยนักจึงพานางสอิ้งทิพย์มายังเมืองเชียงใหม่ ขอกำลังไปช่วยปราบขบถ พระเจ้าเชียงใหม่ก็ให้กำลังตามประสงค์ พระเจ้าหงสาวดีให้นางสอิ้งทิพย์อยู่ที่เมืองเชียงใหม่ แล้วยกกองทัพเมืองเชียงใหม่ไปตีเมืองหงสาวดี แต่พวกมอญเมืองหงสาวดีเข้ากับพระยาทละโดยมาก ช่วยกันต่อสู้ตีกองทัพเมืองเชียงใหม่แตกพ่ายกลับไป พระเจ้าหงสาวดีสมิงทอยังปราร์ถนาจะตีเมืองหงสาวดีต่อไป จึงเข้ามายังเมืองไทย ชะรอยจะมาเที่ยวเกลี้ยกล่อมพวกมอญหรือมาทำทนงศักดิ์สามหาวอย่างหนึ่งอย่างใด ไม่ตรงมานบนอบเหมือนอย่างขอพึ่งพระบารมี พระเจ้าบรมโกศทรงชังอยู่แต่ครั้งขอราชธิดาแล้วจึงดำรัสสั่งให้จับสมิงทอจำไว้ พระยาทละก็ได้ครองเมืองหงสาวดีแต่ไม่ราชาภิเศกยกตนขึ้นเปนเจ้า ใช้นามแต่ว่า “พระยาหงสาวดี” มีศุภอักษรเข้ามาขอบพระเดขพระคุณพระเจ้าบรมโกศที่ไม่ทรงอุดหนุนสมิงทอให้ไปตีเมืองหงสาวดี แต่พระเจ้าบรมโกศเห็นจะทรงพระราชดำริว่าจะกักขังสมิงทอไว้ก็ไม่ควร เพราะมิได้คิดร้ายต่อไทย ครั้นจะปล่อยให้อยู่ในเมืองไทยก็เกรงจะไปก่อการร้ายต่อเมืองมอญ จึงดำรัสสั่งให้เอาตัวสมิงทอส่งลงเรือสำเภาเนรเทศไปเสียจากพระนคร ฝ่ายพระยาหงสาวดีทราบว่าไทยเนรเทศสมิงทอไปจากกรุงศรีอยุธยาสิ้นห่วงแล้ว จึงให้น้องชายคนหนึ่งซึ่งตั้งให้เปนที่อุปราชคุมกองทัพเรือ น้องชายอีกคนหนึ่งซึ่งตั้งให้เปนที่ตละปั้นคุมกองทัพบก ยกขึ้นไปตีเมืองอังวะ ประจวบเวลาเกิดทุพภิกขภัยในแขวงเมืองอังจะผู้คนกำลังอดอยากระส่ำระสาย มอญก็ตีได้เมืองอังวะเมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๕ จับพระเจ้าอังวะกับทั้งเจ้านายในราชวงศได้โดยมาก เมื่อได้เมืองอังวะแล้วอุปราชคุมเอาพระเจ้าอังวะกับเจ้านายพะม่าเลิกทัพกลับลงมาเมืองหงสาวดี ให้กองทัพตละปั้นอยู่รักษาเมืองอังวะ ให้กาลนั้นมีพรานคนหนึ่งซื่อ “อองไจยะ” เปนนายบ้านมุดโชโบซึ่งอยู่ห่างเมืองอังวะไปทางข้างเหนือ ไม่ยอมอยู่ในบังคับมอญ ฆ่าพวกมอญที่ไปเก็บส่วยตายเสียหลายคน นายกองมอญรวมกำลังยกไปจะจับกุม อองไจยะก็คุมสมัคพรรคพวกต่อสู้ฆ่าฟันมอญล้มตายแตกหนีไปอีก ตละปั้นผู้ครองเมืองอังวะเห็นเปนการใหญ่จึงแบ่งกองทัพให้ยกไปปราบปราม ทางโน้นเมื่อพวกพะม่าพลเมืองรู้ว่าอองไจยะชนะมอญ ก็พากันมาเป็นสมัคพรรคพวกเปนอันมากสามารถตีกองทัพมอญแตกไปอีกครั้งหนึ่ง แต่นั้นพวกพะม่าก็เชื่อว่าอองไจยะเปนผู้มีบุญมากู้บ้านเมือง กิตติศัพท์รู้ไปถึงไหนพวกพะม่าในที่นั้นก็ยินดีพากันไปเข้าด้วยจนอองไจยะมีกำลังรี้พลหลายหมื่น จึงตั้งบ้านมุดโชโบขึ้นเปนเมืองขนานนามว่า “เมืองรัตนสิงห์” (แต่คนทั้งหลายยังเรียกตามชื่อเดิมว่า “เมืองมุดโชโบ” หรือ “ชเวโบ Shwèbo” มาจนบัดนี้) แล้วตั้งตัวขึ้นเปนเจ้าใช้นามว่า “พระเจ้าอลองมินตยาคยี” แต่พวกที่นับถือเรียกว่า “พระเจ้าอลองพญา” แปลว่า “พระโพธิสัตว์” จึงเรียกนามนั้นในพงศาวดาร เมื่อพระเจ้าอลองพญารวบรวมกำลังได้มากก็ยกกองทัพลงมาตีเมืองอังวะเมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๖ ตละปั้นสู้พะม่าไม่ไหวต้องพาพวกมอญหนีกลับไปเมืองหงสาวดี พระเจ้าอลองพญาได้ทีก็ติดตามลงมาตีได้เมืองแปรอีกเมืองหนึ่ง พระยาหงสาวดีให้อุปราชขึ้นไปดีเมืองแปรคืน ก็พ่ายแพ้แตกหนีพะม่ากลับไปอีก พระยาหงสาวดีสำคัญว่าพวกพะม่ายกกองทัพมาครั้งนั้นด้วยประสงค์จะเอาพระเจ้าอังวะกลับไปครองราชสมบัติดังเก่า คิดจะตัดต้นเหตุจึงให้ปลงพระชนม์พระเจ้าอังวะกับทั้งราชวงศที่สูงศักดิ์เสีย แต่การนั้นกลับทำให้พวกพะม่าเชื่อบุญบารมีของพระเจ้าอลองพญายิ่งขึ้น ถึง พ.ศ. ๒๒๙๘ พระเจ้าอลองพญายกกองทัพลงมาตีได้หัวเมืองมอญทางปากน้ำเอราวดีจนถึงเมืองตะเกีง (คือเมืองร่างกุ้งเดี๋ยวนี้) ตัดกำลังที่จะช่วยแก้ไขเมืองหงสาวดีหมดแล้วจึงไปตั้งล้อมเมืองหงสาวดี เผอิญในปีนั้นที่เมืองหงสาวดีทำนาไม่ได้ผลตามเคย ถูกข้าศึกล้อมเมืองอยู่ไม่ช้านานเท่าใด ที่ในเมืองก็เกิดอดอยากด้วยอัตคัดขัดสนเสบียงอาหาร พระยาหงสาวดีกับพวกหัวหน้าปรึกษากันเห็นว่าจะไม่สามารถรักษาเมืองไว้ได้ แต่จะควรทำอย่างไรความเห็นแตกต่างกันเปนสองพวก พวกพระยาหงสาวดีเห็นว่าควรจะขอเปนไมตรีกับพระเจ้าอลองพญาเสียโดยดี แต่พวกอุปราชเห็นว่าควรออกรบตีหักจากที่ล้อมไปหาที่มั่นแห่งอื่น แต่ยอมตามความคิดพระยาหงสาวดีซึ่งเปนใหญ่ พระยาหงสาวดีจึงนิมนตร์พระสงฆ์มีพระสังฆราชาเปนประมุข ให้ออกไปเฝ้าพระเจ้าอลองพญาขอเปนไมตรีกัน เหมือนอย่างครั้งพระเจ้าราชาธิราชกับพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ถ้าและเปนไมตรีกับพระยาหงสาวดีจะยกธิดาถวายพระเจ้าอลองพญาด้วย พระเจ้าอลองพญาว่าเหตุการณ์ไม่เหมือนกัน เมื่อครั้งพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องกับพระเจ้าราชาธิราชทำทางไมตรีนั้น ทำในเวลามีกำลังเสมอกันทั้งสองฝ่าย แต่ครั้งนี้เมืองหงสาวดีอยู่ในเงื้อมมือแล้วถ้าจะให้พ้นภัยได้แต่อ่อนน้อมยอมสามิภักดิ์ต่อพะม่า พระยาหงสาวดีหวังจะให้พระเจ้าอลองพญาหย่อนข้อไขลง จึงส่งธิดาออกไปถวาย พระเจ้าอลองพญาก็รับไว้แต่หาผ่อนผันให้อย่างไรไม่ พวกอุปราชก็พากันโกรธไปว่ากล่าวกับพระยาหงสาวดีจนยินยอมกลับใจ ในค่ำวันนั้นพวกมอญยกจู่ออกไปปล้นค่ายพะม่า ฝ่ายพะม่าตั้งแต่พระยาหงสาวดีให้ไปว่ากล่าวจะเปนไมตรีก็พากันประมาทด้วยคาดว่าคงจะเลิกรบกัน ถูกมอญฆ่าฟันล้มตายเปนอันมาก แต่พะม่ามากกว่ามากนัก มอญไม่สามารถจะตีกองทัพพะม่าให้แตกทั้งหมดได้พอรุ่งเช้าต้องถอยกลับเข้าเมือง แต่ตละปั้นน้องยาพระยาหงสาวดีนั้นหนีไปได้ พระเจ้าอลองพญาจึงให้เข้าล้อมเมืองอย่างกวดขันแล้วให้รีบเร่งตีเมืองพวกมอญสิ้นเสบียงอาหารหมดกำลังก็เสียเมืองหงสาวดีแก่พระเจ้าอลองพญาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๐ นับเวลาแต่ตั้งเมืองหงสาวดีเปนอิสสระมาได้ ๗ ปี พระเจ้าอลองพญาโกรธแค้นว่ามอญไม่มีความสัตย์ ให้ฆ่าพวกมอญเสียเปนอันมากไม่เลือกว่าเปนพระหรือคฤหัษฐ์ ที่เปนพลเมืองก็เอาเปนเชลยกวาดต้อนไปเมืองพะม่ามิให้มีผู้คนเหลืออยู่ แล้วให้เผาวัดวาบ้านเรือนและรื้อป้อมปราการทิ้งเมืองหงสาวดีให้ร้าง มาตั้งเมืองตะเกีงเปนเมืองหลวงของพะม่าทางฝ่ายใต้ ขนานนามว่า “เมืองร่างกุ้ง” แต่นั้นเมืองหงสาวดีก็ป่นปี้ถึงเปนป่ารกร้างมาช้านาน ข้อนี้จะพึงเห็นอุทาหรณ์ เมื่อกล่าวถึงพระนอนองค์ใหญ่ต่อไปข้างหน้า แต่เมืองหงสาวดีมีสิริเปนข้อสำคัญอยู่ ๒ อย่าง คือภูมิลำเนาเปนที่ทำนาได้ผลมากอย่าง ๑ กับมีพระมุเตาอันเปนมหาเจดียสถานที่พวกมอญเลื่อมใสกันมากอยู่ที่เมืองนั้นอย่าง ๑ เมื่อพ้นสมัยภัยพิบัติแล้วก็มีราษฎรกลับไปตั้งทำไร่นามากขึ้นโดยลำดับ และมีคนต่างเมืองพากันไปบูชาพระมุเตาอยู่เสมอ ไม่ช้านานเท่าใดก็กลับมีผู้คนไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในท้องที่ คงร้างแต่ในบริเวณเมือง ครั้นถึงรัชชกาลพระเจ้าปะดุงซึ่งเสวยราชย์แต่ พ.ศ. ๒๓๒๕ จน พ.ศ. ๒๓๖๒ (ตรงกับรัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร) จึงกลับตั้งเมืองหงสาวดีขึ้นอีก แต่ให้เปนอย่างหัวเมืองสามัญไม่ได้เปนเมืองสลักสำคัญเหมือนแต่ก่อน เรื่องพงศาวดารพะม่าในราชวงศอลองพญาก็เกี่ยวข้องกับเมืองไทยมาก นับเปนสมัยมหายุทธสงครามอีกครั้งหนึ่ง เรื่องเสียพระนครศรีอยุธยา เรื่องพระเจ้ากรุงธนบุรีกลับกู้อิสระ และเรื่องพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุลาโลกได้ชัยชนะพะม่า อยู่ในสมัยนี้ทั้งนั้น แต่เรื่องไม่เกี่ยวกับตำนานเมืองหงสาวดีโดยฉะเพาะ จึงไม่กล่าวถึง ถ้าใครใคร่จะทราบจงไปอ่านดูในหนังสือพงศาวดารเรื่องไทยรบพะม่าที่ฉันแต่งไว้ก็จะทราบความโดยพิสดาร เรื่องตำนานเมืองหงสาวดีมาปรากฏอีกเมื่อพระเจ้าจักกายแมง (พะม่าเรียกว่า “พระเจ้าพะคยีดอ”) ซึ่งเสวยราชย์แต่ พ.ศ. ๒๓๖๒ จน พ.ศ. ๒๓๘๐ ด้วยพะม่าเกิดรบกับอังกฤษครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๖ (เวลาต่อรัชชกาลที่ ๒ กับรัชชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร) รบกันที่เมืองมณีบุระก่อน อังกฤษเห็นว่าพะม่าชำนาญรบพุ่งในป่าจะเอาชัยชนะยาก จึงมาชวนไทย (ในรัชชกาลที่ ๓) เปนสัมพันธมิตร์ แล้วกองทัพเรือจู่ไปตีเมืองร่างกุ้ง ไทยก็ให้กองทัพบกยกไปช่วยตีเมืองเมาะตมะอีกทางหนึ่ง พะม่าก็ต้องเรียกกองทัพกลับจากเมืองมณีบุระมาป้องกันบ้านเมืองทางข้างใต้ แต่อังกฤษตีได้เมืองร่างกุ้งเสียก่อนกองทัพพะม่าลงมาตีเอาบ้านเมืองคืนกลับพ่ายแพ้ต้องถอยทัพกลับไป อังกฤษจึงยกกองทัพติดตามหมายจะตีขึ้นไปทางเมืองหงสาวดีและเมืองตองอูให้ถึงเมืองอังวะ แต่เมื่อไปถึงเมืองหงสาวดีมีแต่เมืองเปล่า เพราะพะม่ากวาดต้อนผู้คนพลเมืองไปเสียหมดและทำลายเสบียงอาหารเสียด้วย อังกฤษก็ต้องเปลี่ยนกระบวรเปนทัพเรือยกขึ้นไปทางลำน้ำเอราวดี ตีหัวเมืองรายทางได้เปนอันดับขึ้นไปจนใกล้จะถึงเมืองอังวะ พระเจ้าอังวะจักกายแมงก็ต้องรับทำสัญญายอมแพ้อังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๘ ยอมเสียเงินสินไหม ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ รูปีย์ นอกจากนั้นต้องโอนเมืองอัสสัม เมืองยักไข่ และหัวเมืองข้างใต้ปากน้ำสลวิน ตั้งแต่เมืองเมาะลำเลิงลงมาจนถึงเมืองทะวายเมืองตะนาวศรี ซึ่งพะม่าตีได้ไปจากไทยให้เปนเมืองขึ้นของอังกฤษ เดิมอังกฤษคิดจะให้หัวเมืองตอนใต้ลำน้ำสลวินที่กล่าวมานี้แก่ไทยโดยได้ช่วยรบพะม่าในครั้งนั้น แต่จะขอให้ไทยคืนเมืองไทรให้มลายูอย่างเดิม แต่ฝ่ายไทยไม่ปราร์ถนาจะเสียเมืองไทร เห็นว่าถ้าเมืองมอญฝ่ายใต้ตกเปนของอังกฤษก็ปิดหนทางที่พะม่าจะมาบุกรุกเมืองไทย เปนประโยชน์เหมือนกัน เมื่อทำสัญญาเลิกสงครามแล้วอังกฤษก็คืนเมืองร่างกุ้งและหัวเมืองพะม่า กับทั้งหัวเมืองมอญฝ่ายเหนือให้แก่พะม่า แต่พระเจ้าจักกายแมงทรงโทมนัสในการที่แพ้สงครามครั้งนั้นจนถึงสัญญาณวิปลาส แสรกแมงราชอนุชาได้เปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินมาจนพระเจ้าจักกายแมงสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๐ แสรกแมงก็ได้เสวยราชย์พะม่าเรียกว่า “พระเจ้าสารวดี” แต่ไทยเราเรียกว่า “พระเจ้าแสรกแมง” ยังต้องขวนขวายหาเงินใช้สินไหมแก่อังกฤษด้วยเก็บเฉลี่ยเงินจากหัวเมืองขึ้นและราษฎรพลเมืองด้วยประการต่างๆ ต่อมา จนเกิดความเดือดร้อนทั่วไปในเมืองพะม่า แต่พระเจ้าแสรกแมงครองราชสมบัติอยู่ได้ ๙ ปีก็สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๙ มังถ่องราชโอรสซึ่งมียศเปน “เจ้าพุกาม” ได้รับรัชชทายาทพะม่าเรียกพระนามว่า “ปะกันมิน” (คือ “พระเจ้าพุกาม”) มีวิสัยอ่อนแอ พวกเจ้าเมืองที่เปนพนักงานเร่งเรียกเงินส่งสินไหมได้ที ก็พากันแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวพ่วงเข้าด้วย ครั้งนั้นมีขุนนางพะม่าคนหนึ่งชื่อ “มองโอ๊ก” เปนอุปราชอยู่ที่เมืองร่างกุ้งอันมีเรือชาวต่างประเทศไปมาค้าขายมาก มีคดีเกิดขึ้นด้วยนายเรืออังกฤษ ๒ คน ต้องหาว่าทำคนในเรือให้ถึงตาย มองโอ๊กเอาตัวไปกักขังไว้พิจารณาไม่ได้ความจริงดังข้อหา แต่มองโอ๊กพาลปรับไหมเอาเงินแล้วจึงปล่อยตัวไป นายเรือไปฟ้องรัฐบาลอังกฤษ ๆ จึงมีศุภอักษรให้นายเรือรบถือมา จะเรียกเอาค่าทำขวัญ ๑๐,๐๐๐ รูปีย์ พระเจ้าอังวะเปนแต่ยอมจะเอามองโอ๊กออกจากตำแหน่ง ให้ผู้อื่นลงมาเปนอุปราช แต่เมื่ออุปราชคนใหม่ลงมามีกองทัพลงมาด้วย มาตั้งเตรียมการต่อสู้อังกฤษทั้งที่เมืองร่างกุ้งและเมืองเมาะตมะ อังกฤษกับพะม่าจึงเกิดรบกันขึ้นเปนครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ (ตรงปีแรกรัชชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร) รบกันครั้งนี้ พวกมอญเข้ากับอังกฤษ ๆ ได้หัวเมืองมอญฝ่ายใต้ทั้งหมดตั้งแต่เมืองหงสาวดีลงมา แล้วประกาศเอาเปนเมืองขึ้นของอังกฤษ เมืองหงสาวดีจึงตกเปนเมืองขึ้นของอังกฤษแต่นั้นมาจนกาลบัดนี้ ในสมัยนั้นเมืองพะม่ายังแบ่งเปน ๒ อาณาเขตต์ พะม่าใต้เปนเมืองขึ้นของอังกฤษ พะม่าเหนือยังเปนราชอาณาเขตต์ของพระเจ้าแผ่นดินพะม่าต่อมากว่า ๓๐ ปี จนถึง พ.ศ. ๒๔๒๘ (ตรงในรัชชกาลที่ ๕ กรุงรัตนโกสินทร) อังกฤษกับพะม่าเกิดรบกันเปนครั้งที่ ๓ อังกฤษชนะจึงเอาเมืองพะม่าเปนเมืองขึ้นของอังกฤษทั้งหมด ถ้าว่าฉะเพาะเมืองหงสาวดีเมื่อแรกตกเปนของอังกฤษ ยังเปนเมืองสำคัญเพราะอยู่ต่อแดนพะม่า แต่เมื่ออังกฤษได้ประเทศพะม่าทั้งหมดแล้วก็เปนหัวเมืองสามัญเมืองหนึ่งในมณฑลพะโค แต่ก็ไม่ได้เปนที่ตั้งของผู้บัญชาการมณฑล มีสำคัญแต่เปนที่ชุมทางรถไฟที่จะแยกไปเมืองมัณฑเลทางฝ่ายเหนือทาง ๑ แยกไปเมืองเมาะตมะทางฝ่ายใต้ทาง ๑ และแยกมาเมืองร่างกุ้งอีกทาง ๑ สิ้นเรื่องตำนานเมืองหงสาวดีเพียงเท่านี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ