วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

หัวหิน

วันที่ ๔ เมษายน ๒๔๗๙

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ขอถวายพระพร ให้ทรงพระสำราญสุขในปีใหม่พร้อมทั้งพระญาต

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๗๘ ทรงพระเมตตาโปรดประทานรายงานเล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าต่อตอนที่ ๒ ไปพร้อมด้วยรูปฉายาลักษณ์ ๗ รูป ได้รับประทานแล้วด้วยดี เปนพระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้

เรื่องเที่ยวเมืองพะม่าต่อตอนที่ ๒ คราวนี้ อ่านสนุกมากทีเดียว มีอะไรหลายข้อที่จับใจ ขอประทานกราบทูลต่อบ้างค้านบ้างตามความเห็นความรู้ ถ้าข้อใดผิดพลั้งไปแล้วขอประทานโทษ

การทำรูปสิงห์คู่ตั้งปากทางนั้น หมายถึงให้เฝ้าทางเปนแน่ ฝันว่าได้เห็นรูปเขียนที่ไหน เปนรูปเรื่องนิทานพวกแฟรีเตล อาจเปนนิทานอินเดียนแฟรีเตลก็ได้ เขาเขียนเปนรูปสิงห์ตัวเปน ๆ มีโซ่ล่ามคอผูกไว้สองข้างประตูดูเข้าทีมาก จะเปนเดิมทำกันเช่นนั้นจริง ๆ ก็ได้ หรือจะคิดผูกขึ้นให้สมกับที่ทำรูปหุ่นตั้งกันก็ได้ ไม่ใช่ทำแต่รูปสิงห์อย่างเดียว ทำรูปยักษ์ก็มี รูปเขี้ยวกางหรือเซี่ยวกางก็มี เทวดาก็มี อย่างไรก็ดี มักเลือกทำสิ่งที่ดุร้ายหมายเปนทวารปาละแน่นอน

ตำนานพระเกศธาตุนั้น ขอประทานโทษ เกล้ากระหม่อมไม่เชื่อท่านผู้แต่งตำนานต่าง ๆ นั้นลิ้นยาวไม่ใช่หยอด นึกจะว่าไรก็ว่าไปตามใจ ตาฝรั่งผู้ชำนาญว่าก่อเสริม ๗ ครั้งก็ว่าตามตำนานเท่านั้นเอง เหตุใดจึงเห็นดังนั้น เหตุด้วยพิจารณาตามขนาด แรกพระยาอู่สร้างสูงเพียง ๔ วา ๒ ศอก คิดตามส่วนสูงฐานพระเจดีย์จะต้องกว้างไม่เกินกว่า ๓ วา ถ้าหากว่าก่อต่อขึ้นไปต่อขึ้นไปจนที่สุดสูงถึง ๖๑ วาบนพระเจดีย์เดิม ซึ่งมีขนาดฐานกว้างเพียง ๓ วา จะต้องเปนเสาหงส์ ไม่เปนพระเจดีย์ได้ ตามพระดำริที่ว่าคงจะก่อพระเจดีย์องค์ใหม่ ครอบพระเจดีย์องค์เดิมนั้นชอบยิ่งนัก แต่ก็ขัดกับที่ตาฝรั่งผู้ชำนาญแกว่าแกเห็นรอยก่อต่อ ๗ ครั้ง เพราะฉะนั้นคำตาฝรั่งผู้ชำนาญจึงเปนคำที่ฟังไม่ขึ้น ยังที่ตำนานกล่าวว่า นางพระยาตละเจ้าท้าวให้ถมที่รอบองค์พระธาตุขึ้นสูง ๘ วานั้นก็ฟังไม่ได้ ประเพณีแต่บุราณมา การสร้างพระเจดีย์ถ้ามีเนินมีเขาอยู่ ท่านย่อมเลือกที่สร้างบนเนินบนเขา เพราะจะช่วยให้เห็นพระเจดีย์สูงมีสง่า เนินพระเกศธาตุนั้น เปนของใหญ่โตไม่ใช่ของทำอย่างท่านผู้แต่งตำนานว่า จึงเปนคำที่เชื่อไม่ได้ หากว่านางพระยาตละเจ้าท้าวจะได้ถมจริงก็คงจะเปนแต่ถมเกลี่ยให้มีลานรอบพระธาตุสูงสม่ำเสมอกันเท่านั้น ไม่ใช่ถมให้เปนเนินขึ้นสูง ๘ วา

ตามพระประสงค์ให้เกล้ากระหม่อมช่วยสืบ ว่าพระเกศธาตุมอญเรียกว่ากะไรนั้น เกล้ากระหม่อมได้สั่งเข้าไปให้สอบถามพระสุเมธมุนี ท่านบอกมาว่าเรียกกันสองอย่าง อย่างหนึ่งเรียก “ธาตุสก” อันนี้ก็ตรงกับที่ไทยเราเรียกพระเกศธาตุนั้นเอง อีกอย่างหนึ่งเรียก “กยัต ตะเกอง” กยัต แปลว่า พระ รวมกันก็เปน “พระ(เมือง) ตะเกอง” อันนี้ก็คล้ายไปทางพะม่า แล้วท่านยังกรุณาเขียนคำบูชาพระเจดีย์เมืองมอญมาให้ด้วย ดั่งเขียนถวายมานี้ แต่อักขรเห็นจะวิบัติอยู่มาก

“นกโร(?) กกฺกุสนฺโธ ธมฺมกรณํ (ทมฺมกรกํ?)

โกนาคมโน กายพนฺธนํ

สาตกํ (สาฏกํ?) กสฺสโป พุทฺธา

โคตโม อตฺถ (อฏฐ?) ธาตุเกสา

สิงฺคุตฺถานํ (สิงฺคุตฺตรฐานํ?)

อหํวนฺทามิ ทูรโต

อหํวนฺทามิ สพฺพโส ฯ”

คำบูชานี้ดูเปนจะกล่าวถึงพระเจดีย์ ๕ แห่ง ๑ พระเจดีย์ของพระเจ้ากักกุสันโท บรรจุทัมกรก ๒ พระเจดีย์ของพระเจ้าโกนาคม บรรจุรัดประคต ๓ พระเจดีย์ของพระเจ้ากัสสป บรรจุผ้าสาฎก ๔ พระเจดีย์ของพระเจ้าโคดม บรรจุพระเกษาแปดเส้น ๕ พระเจดีย์สิงคุดร ทั้งห้าองค์นี้ทราบได้แต่องค์ที่ ๔ คือ ชะเวดะกองที่เมืองร่างกุ้ง องค์ที่ ๕ คือ ชะเวสันดอ ที่เมืองแปร ตามที่เคยกราบทูลแล้วว่าพระประดิฐไพเราะ (ตาด) เรียกพระธาตุสิงคุดรเห็นจะได้จากในคำบูชานี้เอง อีกสามองค์ยังไม่ทราบตำแหน่ง เห็นจะเปนพระมุเตาด้วยองค์หนึ่งเปนแน่

ตามพระดำรัสที่ว่านรสิงห์ของไทยทำตัวเปนมนุษย์หน้าเปนสิงห์นั้นคลาศเคลื่อน ที่จริงนรสิงห์ของไทยทำกายเบื้องบนเปนมนุษย์เพียงเอว ต่อลงไปเปนท่อนท้ายของสิงห์มีแต่สองขาหลัง ส่วนที่ทำตัวเปนมนุษย์หน้าเปนสิงห์นั้น เปนของทำในอินเดีย หมายเปนรูปนรสิงหาวตาร ส่วนที่พะม่าทำหน้าเปนมนุษย์ตัวเปนสิงห์มีปีกนั้น ไม่เหมือนอินเดีย ไปเหมือนสิเรีย ประหลาดหนักหนาอยู่ ตำนานที่พะม่าเล่านั้นฟังไม่ได้

ทีนี้จะกราบทูลถึงเทวดานพเคราะห์ ดูเหมือนจะเปนสิ่งที่นับถือในลำดับที่ ๔ ว่าตามคัมภีร์พราหมณ์

ลำดับที่ ๑ นับถือฟ้ากับดิน ว่าฟ้าเปนพ่อ ดินเปนแม่ (สัตวโลกเปนลูก) คติอันนี้จีนก็รับถ่ายเอาไป ยังคงนับถืออยู่จนทุกวันนี้

ลำดับที่ ๒ ก็พิจารณาหาสิ่งที่ให้คุณแก่สัตวโลกเปนยิ่งใหญ่ในฟ้าในดิน ในฟ้าเห็นว่าพระอาทิตย์ให้คุณแก่สัตวเปนอย่างยิ่ง จึงหนักไปในทางนับถือพระอาทิตย์ คติอันนี้ถ่ายเอาไปหลายชาติด้วยกัน มีแขกอิหร่านเปนต้น

ลำดับที่ ๓ ค้นหาสิ่งที่มีคุณแก่สัตวอีกต่อไป ก็ได้น้ำลมเปนต้น และอื่น ๆ อีกมากมาย

ลำดับที่ ๔ ยกสิ่งที่มีคุณทั้งหลายขึ้นเปนเทวดา รวมทั้งเทวดานพเคราะห์ด้วย คตินี้ก็ถ่ายทอดกันไปมากหลาย ตลอดถึงพวกกรีกและโรมันในยุโรป ไทยเราก็รับถ่ายทอดมา มีโหรเปนตัวเจ้าของ โหรนั้นเห็นจะเปนพราหมณ์รุ่นเก่าซึ่งมาสมพงศ์กับไทย จนกลายเปนไทยไป ที่ในอินเดียยังมีสถานพระอาทิตย์ตั้งรูปพระอาทิตย์เปนประธานอยู่กลาง ตั้งเทวดาพระเคราะห์อื่นล้อมรอบแปดทิศ มีพระจันทรอยู่หน้าทางทิศบุรพา นอกนั้นจำไม่ได้ ไม่มีตำรามาค้นกราบทูลตลอดไปได้ ดูเหมือนพระราหูกับพระเกตุเอาไว้เฉียงหลัง พระราหูอยู่หรดี พระเกตุอยู่พายัพ ในการที่จัดเช่นนี้ พระอาทิตย์จึงได้นามอันหนึ่ง เรียกว่า “คฺรหปติ” แต่เราเอาพระเกตุเข้าตั้งกลางเปนเคราะหบดีนั้นผิด

ลำดับที่ ๕ เกิดพระพุทธเปนที่นับถือขึ้นในโลก ต่างก็รับถ่ายทอดไปรวมทั้งไทยเราด้วยก็รับเอามา ทีตาโหรแกจะหากินได้ยากเข้า เพราะต่างนับถือพระพุทธเจ้ากันขึ้นมาก แกจึงเอาเทวดาของแกมาพ่วงเข้ากับพระพุทธศาสนา คิดให้สวดพระพุทธปริตตามกำลังเทวดาเปนเครื่องเสดาะเคราะห์จนกระทั่งคำบูชาของแกก็มาปนพระพุทธศาสนา เช่น “พุทธเตเชนะ ธรรมเตเชนะ สังฆเตเชนะ อินทเตเชนะ พรหมเตเชนะ” ไม่น่าฟังเลย ที่พระเกศธาตุเขาจัดเอาองค์พระธาตุเปนเคราะหบดีอยู่สูญกลางแล้ว เทวดาแปดทิศเขาตัดพระเกตุ เปนการถูกต้อง เพราะพระเกตุกับพระราหูเปนเทวดาตนเดียวกัน หากขโมยน้ำทิพถูกจักรพระนารายณ์ตัวขาดเปนสอง จึงกลายเปนสององค์ขึ้น แม้การผูกดวงชาตาของเรารุ่นก่อนก็ไม่มีพระเกตุ เรียกว่าอัฏฐเคราะห์

ลำดับที่ ๖ ยกเทวดารุทรขึ้นเปนพระศิว ยกวิษณุเทวดารับใช้ของพระอินทร์ไป เที่ยวนิมมิตอะไรต่างๆ ซึ่งเราเรียกว่าพระวิษณุกรรมนั้นขึ้นเปนพระเจ้าทั้งสององค์ นี่เปนที่นับถือที่พึ่งของพวกพราหมณ์ในปัจจุบันนี้

เปรต หรือ เปต ความหมายในทางบาลีสํสกฤตว่าผู้ที่ตายแล้วเท่านั้นจะไปสวรรคหรือตกนรกหรืออยู่ที่ไหนก็เรียกว่าเปรตเสมอกันหมด ไม่ได้หมายถึงผีผอมสูงอย่างเราเข้าใจกัน จะทูลถวายตัวอย่าง เช่นนอนตะแคงเอาข้างขวาลง เรียกว่า “สีหเสยฺยา” คือนอนอย่างสิงห์ ย่อมทรงทราบอยู่แล้ว ต่อไปอีกนอนตะแคงเอาข้างซ้ายลง เรียกว่า “กามโภคเสยฺยา” คือนอนอย่างนอนกอดเมีย ถ้านอนหงาย เรียกว่า “เปตเสยฺยา” คือนอนอย่างคนตาย คำ “เปตานํ อุปกปฺปติ” แปลว่าจงเปนไปสำเร็จแก่ผู้ตาย ที่แท้คำอนุโมทนา “ยถา” นั้น ควรจะใช้แต่ในการทำบุญหน้าศพทำบุญกระดูก หาควรจะใช้ในการทำบุญงานมงคลเพื่อคนเปนไม่ แต่ได้ใช้กันเปนอาจิณมาด้วยไม่เข้าใจความกันจนเปนธรรมเนียมเสียแล้ว ก็เปนไปเลยตามเลย สมเด็จพระมหาวีรวงษ์ท่านห้ามการใช้คาถา “ยถา” ก็เปนการเล่นเพื่องานของท่าน แต่ตัวท่านเองไปงานของคนอื่นก็ไม่อาจเอาคาถาอื่นมาใช้แทน “ยถา” ตามเคยเหมือนกัน

การตีระฆังตามคำอธิบายของพะม่านั้นถูกแน่ แต่กระดึงใบโพธิ์นั้นยังสงสัย ด้วยได้เคยเห็นในหนังสือเล่มหนึ่ง เรียกชื่อว่าอะไรก็ลืมเสียแล้ว พระองค์เจ้าธานีนิวัตได้ต้นฉะบับมาแต่เมืองญี่ปุ่น เปนหนังสือทางมหายาน พรรณนาถึง “เมืองแก้ว กล่าวแล้วคือพระอมตมหานครนฤพาน” อันว่าเมืองแก้วนั้นเปนที่อยู่ของพระพุทธเจ้าซึ่งเข้าพระปรินิพพานไปแล้ว ผู้แต่งตั้งใจจะกล่าวถึงเมืองแก้วให้วิตถารน่าพึงใจ มีกำแพงแก้วมีปราสาทมีสวน พรรณนาถึงสวนมี “ตตฺถนิจฺจ พลารฺกขา” “มยูร โกญจา” “โกกิลา” เหมือนในภาณยักข์ แล้วมีกล่าวถึงกระดึงใบโพธิ์ เมื่อต้องลมก็บรรเลงศัพท์วังเวงใจด้วยหนังสือนั้นอ่านจับใจ ได้รู้อะไรที่เราเคยเข้าใจซึมทราบมาหลายอย่าง เช่นพระนิพพานเปนเมืองที่สถิตย์พระพุทธเจ้า และตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก ทำให้ไขความออกว่า ที่สร้างโบสถ์บังคับให้ตั้งหน้าทางตะวันออกนั้น ก็เพื่อจะให้การไหว้พระตรงไปถูกทิศที่พระเจ้าประทับอยู่ในเมืองแก้ว คำที่เราพูดกันว่า “พระเจ้าเท่าเม็ดกรวดเม็ดทรายในท้องพระมหาสมุทร” ก็มีในนั้น

คราวนี้จะกราบทูลทักฉายาลักษณ์ซึ่งโปรดประทานไปในลางรูป ฝ่าพระบาทจะได้ทรงสังเกตหรือเปล่า ประตูก่อบานเหล็ก ซึ่งปรากฏในรูปหญิงพูนกับหญิงเหลือกำลังถวายเครื่องบูชาสักการอยู่นั้น ตอนล่างเปนฝรั่ง ตอนบนเปนพะม่า แปลว่าการเปลี่ยนแปลงเปนอย่างเทศนั้นมีมานานแล้ว แต่เขาทำด้วยความคิดอันฉลาดดูไม่ขัดตา ก็ผ่านพ้นไป เมื่อถึงกูฎาคารทางขึ้นที่ทำใหม่ ทำด้วยคองกรีตเลียนเอากูฎาคารเครื่องไม้ของเก่า แปลว่าทำด้วยสิ้นปัญญาคิดเองไม่ได้ จึงขวางตาดูไม่ได้ ที่ในเมืองไทยเวลานี้ก็ตื่นทำคองกรีตกันมาก ที่ทำเทียมก่ออิฐก็มีทำเทียมปลูกด้วยไม้ก็มี ทำตามลักษณของคองกรีตเองก็มี เกล้ากระหม่อมพิจารณาเห็นว่าการทำเทียมนั้นเปนของใช้ไม่ได้ รูปภาพจำลักที่มีเหลืออยู่นั้น ดูงามเพลินใจยิ่งนัก ทั้งหมดนั้นมีอะไรก็มีเท่ากันกับรูปภาพของไทย ผิดกันเล็กน้อย แต่ที่ภาษาช่างเรียกว่า “ปลายมือ” หมายถึงมือคนทำแสดงให้ปรากฎว่าต่างภาษากัน ห้อยหน้าและชายแครงไปทางพระทรงเครื่องของเรา เสียใจที่พระรูปฝ่าพระบาทไม่ทรงหิ้วรองพระบาทตามประเพณีสัปปุรุษซึ่งขึ้นมัสการพระเกศธาตุ

เกล้ากระหม่อมจะกลับเข้ากรุงเทพฯ วันนี้ ลายพระหัตถ์ฉะบับหน้าโปรดให้สลักหลังส่งกรุงเทพ ฯ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ