วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๗๙

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

หญิงอามจับไข้ ต้องเปลี่ยนตัวให้หญิงไอเขียน เพราะดีดพิมพ์ยังไม่เป็น

ลายพระหัตถลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ประทานไปพร้อมด้วยพระนิพนธ์เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๗ เที่ยวเมืองพุกาม ท่อนที่ ๕ ได้รับประทานแล้ว ลำดับกษัตริเมืองพุกามจบลงด้วยความฉิบหาย เป็นเหตุให้เกิดความสลดใจนึกถึงพระอนิจจํ จะตัดความไปกราบทูลเรื่องอื่นต่อไป

พบโคลงแทงวิสัยเข้าอีกแห่งหนึ่ง มาในพระราชนิพนธ์รัชชกาลที่ ๕ เรื่องโสกันต์ (แห่ใน แรกทรงพระราชดำริจัดให้มีขึ้น) ว่าดั่งนี้

“๏ แทงวิไสยใส่เสื้อเช่น ซ่ยวกาง
สรวมเทรอดผอมโยเซ หนวดเลื้อย
ถือดาบโล่ห์ท่าทาง ซ่องแซ่ง
หนึ่งเทอดทวนฟ้อนเฟื้อน ฟาดฟาย ฯ
๏ ต่างแทงต่างป้องปัด กนนสอง
ย่างเหย่าเยื้องซุยซาย เหยาะเต้น
พิณพาทย์ผูกทำนอง เต๋งเต่ง เต้งแฮ
หมายมาดมุ่งเขม้นเข้น แก่กนน ฯ”

ปรากฎในโคลงนี้เปนอันว่า เมื่อต้นรัชชกาลที่ ๕ แทงวิไสยยังคงถือดาบโล่ห์อยู่คนหนึ่ง อย่างที่ปรากฎในโคลงครั้งกรุงเก่า เลิกโล่ห์เปลี่ยนเปนอาวุธยาวเสียภายหลัง เห็นจะเปนด้วยความมักง่าย ฉวยอะไรได้ก็ใช้ไป เพราะฉะนั้นการเล่นชนิดนี้ ชื่อว่า “แทงปิไส” เปนแน่แล้ว

ในการที่จัดให้ผู้หญิงเล่น สงสัยว่าจะจัดขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เมื่อแรกทรงจัดโสกันต์แห่ในขึ้นนั้นเอง ในโคลงเรื่องโสกันต์แห่ใน มีการเล่นซึ่งถอดจากผู้ชายเล่นเข้าไป ๓ อย่าง คือ ระเบ็ง แทงวิไสย กับกะอั้วแทงควาย เครื่องแต่งตัวแทงวิไสยตามที่ฝ่าพระบาททรงสังเกตได้ก็เปนเครื่องกระดาษ นั่นแสดงอยู่ในตัวว่าเปนของทำขึ้นเล่นเพียงชั่วคราว แล้วก็เลยเปนธรรมเนียมต่อมา ได้ค้นพบบัญชีแจกเงินทางฝ่ายหน้า ครั้งงานโสกันต์กรมขุนสุพรรณภาควดี มีแจก “แทงนิไสย” คนละ ๒ สลึงอยู่ในนั้น ที่จดว่าแทงนิไสยก็เห็นได้ว่าจดด้วยได้ฟังพลัดๆพลาดๆ เปนพยานว่า ที่เรียกแทงวิไสยก็พลาดมาแล้วเหมือนกัน อย่างไรก็ดี เปนอันฟังได้ว่ายังมีผู้ชายเล่นแทงปิไสมาจน พ.ศ. ๒๔๒๑ เปนแน่นอน

ตามที่ทรงพระเมตตาช่วยค้นศัพท์ “จรีกาง” นั้น เปนพระเดชพระคุณอย่างยิ่ง ตามที่ทรงค้นได้นั้นเสียงใกล้มาก แต่เสียใจที่คำแปลเฉไปเสียไม่เข้ารูปที่ต้องการ นึกขึ้นมาได้ว่าในคำฉันท์สมุทโฆษ มีกล่าวถึงคู่แขกมลายูสู้กันด้วยจรีที่เปนกริชไปเสีย หรือหนึ่งคำ “จรีกาง” จะหมายถึงเหน็บกริชกางก้าดอกกระมัง อันเครื่องแต่งตัวเซี่ยวกางนั้นทำให้น่าสงสัยมาก หากจะดูแต่จำเพาะสิ่งก็เปนของไทยทั้งนั้น แต่ไม่มีรูปภาพไทยอย่างอื่นแต่งตัวเหมือนอย่างนั้นเลย ท่วงทีไปทางข้างแขกหรือจีน จึ่งได้ลองคลำถามพระเจนจีนอักษรดู ได้ความว่าทางจีนก็มีรูปทำไว้ตามประตูเหมือนกัน เรียกว่า “มึ่งซิ้น” แปลว่าเทวดารักษาประตู ไปทางพวกทวารปาละ เสียงไม่เข้าใกล้ เขี้ยวกาง เซี่ยวกาง จริกาง อย่างใดเลย การเล่นคน ๒ คนสู้กัน สัตว์ ๒ ตัวสู้กัน มีในเรื่องสมุทโฆษหลายอย่าง เห็นได้ว่าเปนการเล่นกีฬาอย่างเก่าที่สุด

ตามที่ทรงสันนิษฐานว่าการเล่นในงานโสกันต์ จะเปนพวกประเทศราชจัดมาช่วยงานนั้น เกล้ากระหม่อมเห็นว่าถูกแท้ทีเดียว กะอั้วแทงควายนั้นก็สงสัยอยู่แล้ว ว่าชื่อกะอั้วไม่ใช่ภาษาไทย ซ้ำเข้าใจผิดไปเสียด้วยว่ากะอั้วเปนชื่อหญิงผู้ภรรยา ตัวสามีนั้นไม่ทราบชื่อ เพิ่งมาทราบที่ถูกต้องตามที่ตรัสบอกคราวนี้ว่าผัวชื่อกะอั้ว เมียชื่อกะแอ จริงแล้วผัวต้องชื่อกะอั้ว เพราะชื่อการเล่นนั้นเรียกว่า “กะอั้วแทงควาย” กะอั้วเปนตัวแทงต้องเปนชื่อผัว เมียจะชื่อกะอั้วไม่ได้เพราะไม่ได้แทง ซ้ำยังได้ทราบว่าชื่อนั้นเปนภาษาของทวายด้วย ดีมาก จะทูลถามถึงเครื่องแต่งตัวเสียด้วยทีเดียว เกล้ากระหม่อมจำได้แต่นางกะแอว่าผัดหน้าขาวจ้อกวอก แต้มไฝไว้เม็ดใหญ่ถนัด หัวสวมผมปีก ห่มผ้าสีแดงแจ๊ดสใบเฉียง กระเดียดกะทาย แต่ตัวจะสวมเสื้อหรือไม่ และนุ่งอะไร โจงกระเบนหรือนุ่งจีบนุ่งถุงอย่างไรจำไม่ได้ ส่วนตากะอั้วแต่งตัวอย่างไรจำไม่ได้เลย จำได้แต่ว่าถือหอกใหญ่ใบกว้างเกินสมควรทำด้วยกระดาษเท่านั้น

กุลาตีไม้เปนของแขกอินเดียแน่ ชื่อกุลาก็บอกอยู่ในตัวแล้ว เกล้ากระหม่อมเคยเห็นรูปตีพิมพ์ของฝรั่ง ซึ่งเขาลอกรูปเขียนในอินเดียมา มีรูปเทวดายืนเปนวง สองมือถือไม้ประกันล้อมอยู่รอบกลอง พอเห็นก็เข้าใจได้ทันทีว่า นี่คือรูปเล่นกุลาตีไม้ มีหนังสือสํสกฤตจดไว้ว่า “ศิราษ มัณฑละ” เข้าใจเอาเองว่านั่นเปนชื่อของการเล่นชนิดนั้น

จะตั้งปัญหาทูลถามเป็นการเล่น เห็นในหนังสือเก่าๆกล่าวถึงระเบ็ง ว่าเล่นในการพิธีอะไรเปนหลายอย่าง ตกมาถึงชั้นเราได้เห็นแต่เล่นในการพิธีโสกันต์ เรื่องที่เล่นก็เกี่ยวเข้าไปในการโสกันต์ด้วย ดั่งปรากฎในคำร้องว่า “โอละพ่อจะไปไกรลาศ” ถ้าหากไปเล่นในพิธีอื่นจะมิต้องเปลี่ยนเรื่องเล่นเปนอย่างอื่นไป เหมือนกับละครเปลี่ยนเรื่องฉะนั้นหรือ อนึ่งคำที่พูดกันว่า “ละเม็งละคร” คำละเม็ง จะได้แก่ ระเบ็ง เสียดอกกระมัง

เรื่องเจ้าพะม่า ซึ่งได้ความมาว่านับเปนสามชั้นนั้น ตรงกันกับไทยแน่นอน พระองค์เจ้ากับหม่อมเจ้านับว่าเจ้าไม่มีปัญหา ตกถึงหม่อมราชวงศ์นั้นแหละเปนปัญหาว่านับเปนเจ้าด้วยหรือไม่ เจ้าวิเทหราชา เจ้านราธิราชนั้น ต้องคัดออกเสียนอกวง เพราะเราไม่รู้ว่าเขาเหล่านั้นเปนพระราชวงศ์ชั้นไร จะว่าแต่ใกล้ๆ ที่เรารู้ เช่นหม่อมราชวงศ์โต หมอม้า ก็เรียกกันว่าเจ้าโต เหมือนเจ้าเฉลิม พระยาสากลเช่นตรัสอ้างแล้วนั้น แม้จะอย่างนั้นก็ดี หม่อมราชวงศ์ก็ไม่ได้เรียกกันว่าเจ้าทุกคนไป แต่ดูเปนอันเข้าใจกันอยู่ทั่วไป ว่าหม่อมราชวงศ์นั้นอยู่ในเกณฑ์เจ้า ส่วนหม่อมหลวงนั้นปรากฎในพระราชหัตถเลขาของทูลกระหม่อม อันได้ตีพิมพ์แล้วคราวใดคราวหนึ่ง ตรัสอธิบายว่าหม่อมราชวงศ์กับหม่อมหลวงเปนนามอันเดียวกัน จะเรียกว่าหม่อมราชวงศ์หรือหม่อมหลวงก็ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นทำให้เข้าใจว่า เดิมจัดเจ้าเปน ๓ ชั้น ที่มาแยกหม่อมหลวงนับเปนต่ำลงไปอีกชั้นหนึ่งนั้น มาแยกในรัชชกาลที่ ๕ จะแยกด้วยเข้าใจผิด หรือตั้งใจแยกให้เปน ๒ ชั้นก็ยังไม่พบหลักฐานที่ไหน เชื่อว่าจะเข้าใจผิดเสียแหละมาก

ตามที่กราบทูลมาในหนังสือเวรก่อน ว่าจะเอาเครื่องราชกกุธภัณฑ์พม่าซึ่งจดประทานเติมไป แทรกเข้าในกฎมนเทียรบาลพม่านั้น ได้ปรับแทรกเข้าส่งไปให้หอสมุดแล้ว เช่นได้คัดสำเนาส่งมาถวายกับหนังสือนี้ แม้ไม่โปรดก็แก้ได้

ขอประทานหนังสือฝรั่งกำกับชื่อนักสนม ๒ ชั้นด้วย คือ มโยสา กับ ยรวาสา เพราะสำคัญในใจว่าหนังสือนั้นจะเปนทางช่วยการเรียน มีอะไรให้สมบูรณ์ไว้เปนดี

ตั้งใจจะกราบทูลมาในหนังสือเวรก่อนให้ทราบฝ่าพระบาท ว่าลายพระหัตถ์ฉบับเล็กลงวันที่ ๒๒ พฤศจิกายนนั้น ได้รับประทานแล้ว แต่แล้วก็ลืมเสียไม่ได้เขียนทูลมา ในการที่ไม่ได้จดมาว่าของใครถวายนั้น จะต้องซัดชายดิส เพราะหวังใจว่าเธอจะกราบทูลมา

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ