วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๙

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ได้รับประทานทราบความทุกประการแล้ว

ดีจริงที่ได้ประทานพระดำรัสบรรยายเรื่องโกศสี่เหลี่ยมหุ้มผ้าขาวยอดฉัตร ซึ่งเกล้ากระหม่อมควรจะทูลถามความทรงจำแห่งฝ่าพระบาท แต่หนักปากไปไม่ได้ทูลถาม เผอิญฝ่าพระบาทก็ตรัสบรรยายไปให้ทราบดีทีเดียว

อันโกศพระศพพระองค์เจ้าปฤษฎางค์นั้น เขาต่อเปนลุ้งสี่เหลี่ยมหุ้มผ้าขาว ฝาปิดเปนแผ่นกระดาน บนหลังกระดานปักฉัตรกลมสามชั้น ตัวผู้ทำไม่เคยเห็นที่ทำมาก่อน ทำไปตามที่ได้ยินพูดกันมาเท่านั้น เกล้ากระหม่อมดูเห็นลุ้งก็เปนลุ้งไปต่างหาก ฉัตรก็เปนฉัตรไปต่างหาก ไม่กินกันอย่างว่าเปนฝาเปนตัว นึกว่าทำไม่ถูกเปนแน่ แต่จะว่าผิดอะไรว่าลงไปไม่ได้ เพราะจำไม่ได้ว่าแต่ก่อนทำอย่างไร สังเกตได้แต่เพียงว่าแนบเนียนกว่าที่ทำคราวนี้เท่านั้น ได้ลองคิดว่าควรทำอย่างไรจะดีก็คิดเห็นว่า ฝานั้นควรทำเป็นเพดาน ให้มีระบายปรกตัวลุ้งลงไป แล้งจึงปักฉัตรบนนั้น อย่างเดียวกับพระแท่นสรงมุรธาภิเษก ตามที่คิดไปเช่นนั้นก็เพราะนึกไม่ถึงว่าฉัตรจะทำเปนสี่เหลี่ยมได้ตามพระดำรัสบรรยายว่าทำฉัตรสามชั้นเปนสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ระบายครอบตัวลุ้งลงไปทีเดียวนั้น เปนอันต้องลักษณไปทางเดียวกับความคิดของเกล้ากระหม่อมที่ว่าต้องมีระบายปรกตัวลุ้งลงไปจึ่งจะเปนฝาเปนตัว ซ้ำยังสนิทกว่าที่เกล้ากระหม่อมคิดไปเสียอีก

ที่เรียกว่าโกศลังกา จะเปนทูลกระหม่อมทรงทำขึ้นตามพระลังกามาทูลถวาย จะเปนว่าพระเถระผู้ใหญ่ในเมืองลังกาทำโกศเช่นนั้นใส่ศพกันได้กระมัง คำเรียกว่าโกศลังกาควรจะเปนว่าแบบมาแต่ลังกามากกว่าอย่างอื่น

ลุ้งหุ้มผ้าขาวซึ่งแก้ฝายอดฉัตรเปนฝาทรงมณฑ์นั้น ถ้าไม่รู้กาละที่แก้เปลี่ยนแล้ว จะต้องสันนิษฐานว่าแก้เปลี่ยนพร้อมกับเมื่อทำลองปิดทอง สำหรับประกอบลุ้งผ้าขาวนั้นขึ้น เพราะลุ้งผ้าขาวยอดฉัตรจะประกอบลองทองไม่ได้ด้วยติดฉัตร ต้องแก้ฝาไปตามโกศ

ฝักแคไม้กระบอกซึ่งตรัสถึงนั้น เกล้ากระหม่อมไม่เคยเห็นเลย แต่เปนหลักอันสำคัญ สันนิษฐานได้เปนตุเปนตะว่า อย่างไม้กระบอกนั้นจะเปนของเดิม ซึ่งสืบมาแต่จุดลูกหนูดอกไม้ไฟนั้นทีเดียว สายสูตรที่ประคองฝักแคก็คือสะพานลูกหนูนั้นเอง ที่มาประดิษฐเปนรูปตัวนาคขึ้นจะมาประดิษฐแก้ไขขึ้นภายหลัง

เรื่องสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ลาออก เกล้ากระหม่อมยังไม่เคยได้ยินข่าวมาเลย จะสืบหาความจริงดูก่อน สังเกตว่าสมัยนี้ทางหมู่พระสงฆ์มีเหตุหยุกหยิกเกิดขึ้นบ่อยๆ ไม่เรียบร้อยเหมือนครั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงปกครองอยู่ เห็นได้ว่าอำนาจการปกครองหย่อนลงกว่าแต่ก่อน

ออกพระนามสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทำให้นึกขึ้นได้ว่า รูปแว่นแก้วซึ่งมีในพระตราของทูลกระหม่อมนั้น เห็นจะทรงพระราชดำริหมายถึงวชิรญาณนั้นทีเดียว สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงบัญญัติตราของพระองค์เปนรูปเพชรลูก คิดเห็นว่าเปนของใหม่เกินไปและไม่ถูกแนว ควรจะทำเปนแว่นแก้วน้อยประกับกับแว่นแก้วใหญ่จะเปนเหมาะที่สุด เมื่อทรงบัญญัติตราเพชรขึ้นนั้นท่านไม่ได้ตรัสปรึกษา หากได้ตรัสปรึกษาจะถวายความเห็นเช่นกล่าวแล้วนั้น

พระองค์ชายเฉลิมพลทิฆัมพรมาตามไปในการทำขวัญเดือนลูกเมื่อวันที่ ๒๑ ไปเห็นกรงกุ้งกรงปลาซึ่งทำอย่างกรงนก เอากุ้งปลาเข้าไปเสียบไว้ในกรงนกนึกเห็นขันเปนโคมลอยใบเขื่องทีเดียว แต่ก็เปนประเพณีที่ทำเช่นนั้นกันมาเสมอ เห็นว่าจะเกิดขึ้นด้วยได้ยินแต่ปลายคำเก็บเอามาทำด้วยเข้าใจผิด คิดว่าการกระทำนั้นจะมาแต่พิธีลงท่า ทำกรงลงในแม่น้ำ คือรั้วกันสัตวร้ายที่จะมาทำอันตราย ในแม่น้ำหลวงที่บ้านดอนเขาก็ทำรั้วล้อมในที่จะลงอาบน้ำกันเปนของประจำเพื่อกันจรเข้กัด ในการที่ทำกรงขึ้นเพื่อการพิธีลงท่านั้น อยากให้หรูหราเปนงานเปนการ จึ่งทำกุ้งปลาเงินทองลงเสียบประดับในกรง แต่การพิธีลงท่านั้นเลิกกันเสียแล้ว เหลือแต่คำพูด คนฟังฟังไม่ศัพท์จับเอามากระเดียดทำเปนกรงนกขังกุ้งปลาใช้ในการอาบน้ำทำขวัญเดือนเหลวพิลึก

เห็นหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์เขาลงเมื่อวันที่ ๒๔ เรื่องกำเนิดชาติพะม่า เขาว่าแยกจากพวกพยุกับมอญ ตั้งขึ้นที่เมืองสารเขตร์เปนประเดิม เขาเรียกเมืองนั้นว่าโปรมเก่า เขาบอกชื่อว่าเมืองศรีเกษตร หวุดหวิดเฉียดกันไป ทั้งนี้ก็เห็นจะเปนการเดาด้วยกันทั้งนั้น ด้วยคำบาลีสํสกฤตซึ่งพะม่านำมาใช้นั้นออกเสียงคลาดเคลื่อนเลือนเลอะเต็มที เรื่องเที่ยวเมืองพะม่าไม่จำเปนจะต้องทรงพระนิพนธ์โดยรีบร้อน เปนของที่ควรจะทรงกระทำตามสบายพระทัย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ