วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๔๗๙

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๓ กันยายน ได้รับประทานแล้ว

เรื่องอาวาสกับอาราม ได้เคยพิจารณาหารือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ได้ความตกลงว่าอาวาสอยู่ในอาราม เหมือนกับชาวสวนของเรา เขาก็ปลูกเรือนอยู่ในสวนของเขานั้นเอง ถ้าเรียกแยกแล้วที่ปลูกต้นไม้เรียกว่าสวน ที่ปลูกเรือนอยู่เรียกว่า กบาลบ้าน ถ้าเรียกรวมกันก็เรียกว่าสวนคนนั้น ที่อยู่พระสงฆ์ก็เหมือนกัน จะเรียกว่าสังฆารามหรือสังฆาวาสก็ได้ อารามเปนของใหญ่ อาวาสเปนของเล็ก กลืนอยู่ในอารามนั้น

คำว่าอารามในภาษาบาลี สังเกตว่าไม่ได้หมายความเปนที่เพาะปลูก ตรวจดิกชันะรีจิลเดอร์ส์พบคำแปลให้ไว้ว่าที่เล่น (Playser) ไม่ได้แปลว่าที่เพาะปลูก (Cultivate) ทั้งนี้ก็สมกับที่นักปราชญ์ของเราแปลไว้ในทศพรคำหลวงว่า “นิโคฺรธสกฺ=กสฺสาราโม รมฺมณิโยติ สลฺลกฺเขตฺวา ธก็หมายในหฤทัย อันว่าไทรชาติพนาราม สนามเจ้านิโครธที่นั้นโสดสนุก ควรแก่พระผู้นฤทุกข์โทษบพิตรแล” เกล้ากระหม่อมเข้าใจในความนี้ว่า นิโครสธารามนั้นเปนที่เล่นของเจ้านิโครธคำว่าสวนที่เราใช้แปลคำอารามนั้นเราก็ใช้ได้สองอย่าง เปนที่เพาะปลูกซึ่งไม่เปนที่สนุกเลยก็ใช้ หรือเปนที่เล่นสนุกเช่นสุวรรณมาลีไปชมสวนเช่นนั้นก็ใช้ ตกว่าอารามหรือสวนก็คือว่าที่มากด้วยต้นไม้เท่านั้น แล้วคำว่าอารามซึ่งเราแปลว่าสวน ยังไประรานกับคำว่า “วน” ซึ่งเราแปลว่าป่าเข้าอีก วนะ เปนที่เล่นก็ได้เหมือนกัน เช่นปทุมวัน มิสกวัน ผารุสกวัน จิตรลดาวัน เปนต้น เราแปลวนะว่าป่าก็ไม่ผิด เปนสวนก็ได้เหมือนกัน เช่นป่าหมาก-นครป่าหมาก-หรือป่ามะม่วง-อัมพวัน-ก็คือสวนหมากสวนมะม่วงนั้นเอง เปนที่มากด้วยต้นหมาก ต้นมะม่วง เรายังซ้ำใช้นอกจากต้นไม้ออกไปอีก เช่นป่าโทนป่าถ่านป่าผ้าเขียวเปนต้น ตกเปนคำป่าแปลว่ามากเท่านั้นเอง ในภาษาบาลีใช้คำวนกับอารามซ้อนกันก็มี เช่น เวฬุวนาราม เห็นจะควรแปลว่าที่เล่นในป่าไผ่ อย่างไรก็ดีความในบาลีคงตกเปนตัดเอาป่าไม้ที่เล่นส่วนหนึ่ง ปลูกอาวาสถวายพระสงฆ์อาศัยนั้นเปนแน่นนอน

เรื่องพระขาดผ้ากราบ เกล้ากระหม่อมได้สังเกตเห็น และนึกรำคาญใจมาแล้วเหมือนกัน และได้สังเกตเห็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ท่านเองไม่ได้ขาดผ้ากราบเลย มีใส่ติดไปในย่ามเสมอ และยิ่งกว่านั้น ยังมีเศษผ้าเหลืองสำหรับผูกมือติดไปในย่ามเสมอด้วย ใครจะขอให้ผูกมือเด็กเมื่อไรก็เปนได้เมื่อนั้น นับว่าดีเลิศ แต่ที่ท่านจะออกคำสั่งเปนข้อบังคับให้ปฏิบัติกันทั่วไปเห็นจะยาก

ในการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปประทับแรมใกล้วัดไรก็ได้ทรงฟังพระสงฆ์วัดนั้นประชุมกันสวดมนต์ สำคัญว่าท่านทำตามวัตรปฏิบัติของท่านที่เคยทำอยู่เปนนิจ เพิ่งมาทราบเปนความลับในบัดนี้ว่าฝ่าพระบาททรงพุ้ย ดีมาก

ในการที่จะสอบถามพระราชาคณะเก่า ๆ ถึงข้อวัตรปฏิบัติเก่า ๆ นั้น อาจถามและจดหมายไว้ได้ไม่ยาก แต่จะต้องมีข้อตั้งไปถามท่านจึงจะได้เปนรูปร่างสำเร็จทันใจ ถ้าจะคุยกันเลเพลาดพาดไป ต่อพบอะไรเปนหลักฐานจึงจดก็เห็นจะได้เรื่องยากนัก เพราะฉะนั้นถ้าฝ่าพระบาททรงรำลึกข้อสงสัยอย่างไรได้บ้างจดหัวข้อประทานไป แล้วเอาไปตั้งเปนกระทู้ถามท่าน คงจะเปนทางลัดตัดให้สำเร็จได้ง่ายขึ้น

มีเรื่องเกล้ากระหม่อมบวชซึ่งติดจะขัน จะเก็บมาเล่าถวายอีกเรื่องหนึ่งคือเมื่อเกล้ากระหม่อมบวชนั้นได้ตั้งใจจะรักษากายวาจาใจให้เปนพระพ้นอาบัติทั้งปวงความปฏิบัติก็เปนไปได้สมปรารถนา แต่มาวันหนึ่งเจ้ากรรมจริง ๆ เดินกลับจากบิณฑบาต พอถึงแถวหน้าศาลเจ้าพ่อเสือก็พบคนขอทานตาบอด นั่งร้องเองสีซอเองอยู่ข้างถนน ตามที่ควรเปนแล้วดนตรีของคนขอทานนั้นควรจะไม่น่าฟังแต่ที่ไหนได้ นี่อะไรมันช่างเพราะดีเสียเหลือเกิน ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยพบการเล่นดนตรีที่ไพเราะจับใจเหมือนคราวนั้นเลย เล่นเอาลืมสติหย่อนฝีก้าวเดินช้า ๆ ฟังสำเนียกการบรรเลงจนพ้นมาด้วยความเสียใจ โกยเอาอาบัติไปพอแรง จะกราบทูลได้อย่างง่าย ๆ ว่าตาคนที่เล่นเพลงพาให้ลืมตัวไปได้นั้น คือตาคนที่มีชื่อลือชา เรียกกันโดยสมญาว่า “ตาสังขารา” นั้นแล ทำนองร้องของแกก็ไพเราะไปในทางร้อง และความก็ดีด้วย ส่วนทางซอของแกก็ไพเราะไปในทางดนตรีอีกทางหนึ่ง แต่ทั้งสองทางเข้ากันสนิทสนมกลมเกลียวดีเหลือเกิน ติดใจจนกระทั่งศึกออกมาแล้วได้ลองทำดูบ้างไม่ยักได้ ถ้าสีซอเหมือนร้องแล้วทำได้ แต่ร้องไปทางร้อง สีซอไปทางซอทำไม่ได้ ทำให้รู้สึกใจว่าตาสังขารานั้นเปนคนเลิศประเสริฐมนุษย์ แกแบ่งใจให้เปนสองภาคเล่นสองอย่างพร้อมกันได้ เราแบ่งไม่ได้จึงเล่นไม่ได้ ทางที่แกเล่นก็คือหุ่นกระบอกเรานี่เอง แต่เวลานั้นหุ่นกระบอกยังไม่เกิด หุ่นกระบอกก็เอาอย่างตาสังขารานั้นเองไปเล่น แต่หุ่นกระบอกนั้นไม่ประหลาด เพราะคนหนึ่งร้อง คนหนึ่งสีซอ เปนของทำได้ง่าย ไม่เหมือนตาสังขาราซึ่งร้องเองสีซอเอง เล่นยากเหลือเกิน

ในท้ายลายพระหัตถ์ตรัสบอกว่า เรื่องเที่ยวเมืองพะม่ายังทรงเรียงไม่แล้ว จะทรงพระเมตตาโปรดส่งประทานไปในคราวเมลวันจันทรที่ ๗ กันยายนแต่ครั้นถึงวันอังคารได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับเล็ก ลงวันที่ ๖ กันยายน ตรัสบอกว่ายังทรงเรียงไม่จบ อันเรื่องเที่ยวเมืองพะม่านั้นอย่าได้ทรงเปนกังวลหนักเลยเวลาสบายพระทัยก็ทรงเรียงไปเปนของเล่น ไม่ทรงสบายหรือมีอะไรอื่นมาพัวพันหยุดเสียก็แล้วกัน

คุณหญิงอนุรักษราชมนเทียรกลับเข้าไปถึงกรุงเทพ ฯ ได้ส่งลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๓ พร้อมทั้งผลเงาะ ซึ่งทรงพระเมตตาโปรดฝากไปประทานนั้นไปให้ได้รับแล้วด้วยความยินดี ขอบพระเดชพระคุณเปนล้นเกล้า ได้รับประทานกันทั้งครอบครัว มีความเห็นร่วมกันหมดว่าดีกว่าผลเงาะในกรุงเทพ ฯ เปนอันมากเห็นจะเปนเพราะแผ่นดินทางแหลมมลายูเปนแหล่งเกิดแห่งต้นเงาะ ดินถูกกันจึงได้ผลดี ที่กรุงเทพ ฯ รับถ่ายทอดไปปลูก ดินไม่เหมาะกันจึงไม่ได้ผลดีเหมือน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ