เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๔ เที่ยวเมืองมัณฑเล

วันศุกรที่ ๒๔ มกราคม เวลาค่ำ ๒๐ นาฬิกาขึ้นรถไฟออกจากเมืองร่างกุ้งไปเมืองมัณฑเล วิธีเดินรถไฟในเมืองพะม่า “รถไปรษณีย” Mail Train อันเปนรถด่วนสำหรับคนโดยสารไปทางไกล เดินกลางคืนเหมือนอย่างรถไฟในอินเดีย เมื่อฉันไปอินเดียใน พ.ศ. ๒๔๓๔ รัฐบาลรับเปนแขกเมือง ฉันเคยร้องทุกข์ว่าไปรถไฟกลางคืนไม่ได้เห็นบ้านเห็นเมืองในระวางทาง ไปกลางวันไม่ได้หรือ เขาตอบว่าจะไปกลางวันก็ได้แต่เกรงฉันจะรำคาญ ฉันขอลองเขาจึงจัดให้เอารถที่ฉันไปพ่วงกับรถไฟที่เดินกลางวันวันหนึ่ง ลองวันเดียวฉันก็เข็ด เพราะไปกลางวันพอแดดแข็งฝุ่นก็ฟุ้งสาดเข้ารถเปรอะเปื้อน ทำเอาเราขะมุกขะมอมไปทั้งตัว จนในปากก็ต้องเคี้ยวฝุ่นไปตลอดวัน ต้องกลับใจยอมไปกลางคืนอย่างแต่ก่อน เขาว่าเวลานั้นเปนระดูหนาวยังดีเสียอีก ถ้าถึงระดูร้อนยังถูกไอแดดร้อนอย่างยิ่งเพิ่มขึ้นอีกด้วย ที่ในเมืองพะม่าก็เห็นจะเปนเพราะเหตุทำนองนั้น คนโดยสารรถไฟจึงชอบเดินทางกลางคืน ตัวรถที่พวกเราไปเปนรถสะลูนหลังหนึ่งต่างหากไม่ปะปนกับคนอื่น ในรถตกแต่งเรียบร้อยสอาดสอ้านดี แต่กั้นห้องแปลกไปตามวิธีเดินทางในเมืองพะม่า คือ มีครัวไฟกับห้องบ่าวอยู่ข้างท้ายรถ ต่อมาถึงห้องตัวนายอยู่ได้ ๒ คนห้องหนึ่ง มีเตียงยาวหุ้มเบาะอยู่ริมฝาข้างละเตียงสำหรับใช้เปนที่นั่งหรือที่นอนได้ทั้ง ๒ อย่าง และมีโต๊ะพับเก้าอี้ปลีกสำหรับนั่งกินอาหารด้วย ตอนกลางรถแบ่งที่เปนทางเดินซีกหนึ่ง กั้นเปนห้องเว็จกับห้องอาบน้ำซีกหนึ่ง ต่อไปข้างหน้ามีห้องสำหรับตัวนายอยู่ได้ ๒ คนเหมือนอย่างที่พรรณนามาแล้วอีกห้องหนึ่ง พวกเราชั้นตัวนายไป ๕ คน เขาจัดให้เจ้าหญิงนอนเตียงประจำรถ ส่วนตัวฉันเขาเอาเตียงพับพื้นผ้าใบตั้งให้นอนขวางริมฝาข้างหัวรถ ด้วยรถไฟเมืองพะม่าไม่ทำทางเดินต่อกับรถอื่นข้างในรถเหมือนเช่นรถไฟไทยหรือรถไฟมลายู พอรถออกพ้นสถานีบ๋อยของเราก็ขนม้วนที่นอนซึ่งเราเช่าจากบริษัททอมมัสกุ๊กมาคลี่ปู และเอาผ้าเช็ดหน้าเช็ดตัวไปแขวนในห้องน้ำพร้อมเสร็จอย่างรวดเร็วไม่ต้องสั่ง เห็นได้ว่าวิธีเดินทางในเมืองพะม่าเคยกันจนเปนแบบแผน จะกล่าวต่อไปถึงบ๋อยและกุ๊กที่เราหาได้ก็เหมาะดีนักหนา เปนแขกคริสตัง บ๋อยชื่อ จอน John กุ๊กชื่อ ปอล Paul พูดภาษาอังกฤษได้คล่องและเคยไปกับพวกท่องเที่ยวชำนาญทางที่เราจะไปคราวนี้ทั้ง ๒ คน ส่วนบ๋อยชำนาญการรับใช้และเลี้ยงดูตลอดจนอำนวยการขนของเวลาเดินทางไม่ต้องตักเตือน กุ๊กก็รสมือดีทำอะไรให้กินอร่อยเสมอไม่เลือกว่าในที่มีเสบียงบริบูรณ์หรืออัตคัด พอคุ้นกันพวกเราก็ชอบทั้ง ๒ คน ฝ่ายเขาก็เห็นจะชอบพวกเรา เมื่อจากกันมาถึงบอกว่าถ้าเราจะไปเที่ยวอินเดียหรือทางไหนอีก เขาทั้ง ๒ เต็มใจจะไปตามด้วยความยินดี แต่รถไฟพะม่ามีข้อเสียสำคัญอยู่อย่างหนึ่งด้วยทางไม่เรียบ เวลารถแล่นสะเทือนมาก แม้รถสะลูนที่เราไปเปนอย่าง “โบคี” มีล้อแฝด เวลานอนก็ยังเขย่าขะย้อนบางทีจนตัวลอยนอนหลับได้โดยยาก ถึงเจ้าหญิงพากันร้องทุกข์ว่าวันหน้าไม่จำเปน ขออย่าให้ไปเมืองพะม่าเวลากลางคืนอีกเลย แม้ผู้ที่อยู่ในเมืองพะม่าก็มีบางคนติเตียนให้ฉันฟัง ว่ารถไฟในเมืองพะม่าเลวกว่ารถไฟประเทศอื่นทั้งนั้น บางทีจะมีเหตุเนื่องในเรื่องประวัติของรถไฟเอง เดิมรถไฟสายนี้เปนของรัฐบาล แล้วให้บริษัทรับผูกไปจัดการมาจนบัดนี้ อาจจะเปนด้วยบริษัทไม่ลงทุนบำรุงทางให้พอแก่การทางจึงไม่เรียบ อย่างไรก็ดีได้ยินว่ารัฐบาลไม่พอใจในการที่บริษัททำ จะคืนเอารถไฟไปจัดการเองในไม่ช้านัก ถ้ารถไฟคืนไปอยู่ในมือรัฐบาล ก็เห็นจะแก้ไขให้พ้นเสื่อมทรามได้

รถไฟผ่านเมืองตองอูเวลาดึกเลยไม่ได้เห็นเมืองนั้น ฉันเคยคิดอยากไปเมืองตองอูอยู่แต่ก่อน ด้วยได้ยินว่ามีคลองสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขุดระบายน้ำออกจากคูเมือง เมื่อเสด็จไปตั้งล้อมจะจับพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง และคลองนั้นยังปรากฎอยู่พะม่าเรียกว่า “คลองโยเดีย” เมื่อเตรียมตัวจะไปคราวนี้ ฉันมีจดหมายไปถามพระไพรสณฑ์สารารักษ์ (อู อองเทียน) กรมป่าไม้ ซึ่งไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองตองอูเมื่อออกจากราชการไทยไปแล้ว ได้รับตอบมาว่าคลองโยเดียนั้นมีจริง แต่เดี๋ยวนี้ตื้นเต็มเปนแผ่นดินเสียแล้ว ได้สืบถามพวกชาวเมืองตองอู มีแต่คนอายุตั้ง ๗๐ ปีที่ได้ทันเห็นคลองโยเดียเมื่อยังเปนร่องรอยอยู่ ฉันได้ทราบเช่นนั้นก็ระงับความคิดที่จะไปเมืองตองอู แต่เมื่อขากลับจากเมืองพะม่าเหนือลงมาถึงเมืองร่างกุ้ง เจ้าฉายเมืองเธอไปพาอาจารย์พะม่าคนหนึ่งชื่อ อู โป กยา U Po Kya ซึ่งเปนผู้รู้โบราณคดีมาให้ฉันซักไซ้ไต่ถามอาจารย์คนนั้นบอกว่าที่เมืองตองอูมีพระเจดีย์โยเดียของโบราณอยู่ ๒ องค์ พะม่าเรียกว่า “มยัต สอ นยิ นอง” แปลว่า “พระเจดีย์เจ้าพี่น้อง” แต่มารู้เมื่อเวลาล่วงเสียแล้วก็ไม่ได้ไป

เสาร์ที่ ๒๕ มกราคม รถไฟแล่นเข้าเขตต์พะม่าเหนือตั้งแต่ดึก พอตื่นนอนมองดูทางช่องหน้าต่าง เห็นภูมิฐานสองข้างทางผิดไปเปนอีกอย่างหนึ่งทีเดียว เขากล่าวไว้ในหนังสือเรื่องเมืองพะม่าว่าเมืองพะม่าแผ่นดินผิดกันเปน ๓ ตอน ตอนใต้ (ที่เคยเปนเมืองมอญ) เรียกว่า “เดลตา” Delta หมายความว่า “ตอนแม่น้ำต่อทะเล” คือเดิมเปนทะเลแล้วตื้นขึ้นจนเปนแผ่นดิน เปรียบเหมือนท้องทุ่งแต่กรุงศรีอยุธยาลงมาตลอดกรุงเทพฯ จนถึงชายทะเล เปนที่ราบเนื้อดินอุดม ทั้งได้น้ำฝนน้ำท่าตามระดูเหมาะแก่การทำนา ตอนกลาง (ที่เคยเปนเมืองพะม่า) เรียกว่า “ไดรโซน” Dry Zone แปลว่า “ตอนแห้งแล้ง” เปนชายฝั่งทะเลแต่เดิม เปรียบเหมือนตั้งแต่บ้านพระแก้วขึ้นไปทางจังหวัดสระบุรี แต่ในเมืองพะม่าที่ตอนนี้ฝนตกน้อยมีเวลาแห้งแล้งมาก พาให้พื้นดินแห้งเกราะต้นไม้จึงมิใคร่ใหญ่โต แลดูภูเขาใกล้ทางรถไฟเห็นแต่หิน มีพุ่มไม้เล็กๆ เกาะเรี่ยรายอยู่ทั้งนั้น ท้องที่ตอนนี้การทำไร่นาต้องอาศัยคลองชลประทานซึ่งขุดระบายน้ำมาแต่บนภูเขาใหญ่เปนสำคัญ ปลาดอยู่ที่คลองชลประทานในท้องที่ตอนนี้ ปรากฏว่ามีมาแต่ครั้งพระเจ้าอนุรุทธ์ครองกรุงพุกาม เกือบพันปีแล้ว และพระเจ้าแผ่นดินพะม่าภายหลัง แม้ตลอดจนถึงเมื่อบ้านเมืองเปนของอังกฤษแล้ว ก็ยังขุดคลองชลประทานที่ตำบลอื่นๆ ต่อมา เพราะราชธานีพะม่า เช่นเมืองพุกามเมืองอังวะและเมืองมัณฑเลตั้งอยู่ในที่ตอนแห้งแล้งทั้งนั้น ตอนข้างฝ่ายเหนือและทางตะวันออกเฉียงเหนือ (อันเปนเมืองพวกไทยใหญ่) ไปจนต่อแดนประเทศจีน พื้นที่เปนแผ่นดินสูง อยู่บนภูเขาเปรียบเหมือนอย่างมณฑลนครราชสีมาและมณฑลพายัพ ฝนตกมาก จึงเปนแหล่งน้ำของเมืองพะม่า ทั้งที่ไหลลงมาทางลำแม่น้ำและคลองชลประทาน

เมื่อรถไฟใกล้จะถึงเมืองมัณฑเลผ่านที่เนินหมู่หนึ่ง มีวัดเก่าสร้างไว้ใหญ่โตหลายวัด วัดพระพุทธรูปมหามัยมุนีก็สร้างบนเนินหนึ่งในหมู่นี้ดูไปจากรถไฟเห็นพระเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งแปลกหนักหนา ด้วยทำยอดสูงโดดดูราวกับตั้งเสากระโดงปักฉัตรไว้บนพระเจดีย์ เห็นจะมีเช่นนี้แต่องค์เดียวในโลก น่าพิสวงว่าเพราะเหตุใดจึงสร้างอย่างนั้น คิดดูก็ไม่เห็นเหตุอื่น นอกจากจะสันนิษฐานว่าผู้สร้างคงบนบาลปฏิญาณตน ว่าจะสร้างพระเจดีย์ให้สูงเท่านั้นๆ วา แต่เมื่อสร้างเข้าจริงไม่มีกำลังพอจะทำรูปทรงตามส่วนพระเจดีย์สามัญได้ จึงสร้างเปนอย่างนั้นพอให้สูงเท่าที่ปฏิญาณไว้ หรือเขาจะมีเหตุอื่นก็เปนได้ แต่ดูเหมือนจะมีคนเลื่อมใสด้วยเห็นเปล่งปลั่งดีอยู่ รถไฟถึงสถานีเมืองมัณฑเลเวลาเที่ยงครึ่งมิสเตอรคูเปอร์ผู้บัญชาการมณฑล Division Commissioner กับมิสเตอร์วิลกีเจ้าเมืองมัณฑเล Deputy Commissioner of Mandalay มาคอยรับอยู่ พาขึ้นรถยนต์ไปส่งที่เรือนรับแขกของรัฐบาล อันอยู่ริมถนนต่อคูเมืองทางด้านใต้ ข้าราชการผู้ใหญ่ทั้ง ๒ คนนั้นบอกปวารณา ว่าถ้าฉันมีความประสงค์จะให้มาช่วยเหลืออย่างไรเมื่อใด ก็ขอให้บอกให้เขาทราบ และบอกต่อไปว่า รัฐบาลได้มีคำสั่งให้ผู้รั้งตำแหน่งเจ้ากรมตรวจโบราณคดีเปนพนักงานประจำนำฉัน

เที่ยวทั้งที่เมืองมัณฑเลและเมืองพุกาม และสั่งให้เขาบอกนักปราชญ์ฝรั่งเศสชื่อ มองสิเออร์ ดือ รอยเซลล์ ซึ่งเปนเจ้ากรมตรวจโบราณคดีอยู่แต่ก่อนให้มาหาฉันด้วย ส่วนตัวมองสิเออร์ ดือ รอยเซลล์ ก็บอกแก่เขาว่าอยากพบฉันเหมือนกัน ฉันจึงนัดให้มาหาในวันหลัง อีกประการหนึ่งเขาจะให้เจ้าพะม่าองค์หนึ่งซึ่งรู้ภาษาอังกฤษมาสำหรับให้ฉันไต่ถามขนบธรรมเนียมพะม่าด้วย อธิบายข้อหลังนี้เปนเพราะในเมืองพะม่าถือกันว่าชาวเมืองพะม่าใต้ เช่นเมืองร่างกุ้งมิใคร่รู้ราชประเพณีและขนบธรรมเนียมโบราณ เพราะเปนแต่ชาวหัวเมือง ไม่เหมือนพวกชาวเมืองมัณฑเลซึ่งเปนราชธานีมีพระเจ้าแผ่นดินเสวยราชย์มาจนเมื่อ ๕๐ ปีนี้ คงเปนด้วยเหตุที่ว่านี้ เมื่อเขารู้ว่าฉันชอบสืบถามโบราณคดีเขาจึงเลือกเจ้านายอันเคยอยู่ในราชสำนักให้มาเปนผู้ชี้แจง ก็เปนการดีน่าขอบใจหนักหนา และเลยเปนเหตุให้ฉันได้รู้จักกับเจ้านายในราชวงศพะม่าต่อออกไปอีกหลายองค์

เมื่อผู้บัญชาการมณฑลกับเจ้าเมืองกลับไปแล้วสักครู่หนึ่ง ผู้รั้งตำแหน่งเจ้ากรมตรวจโบราณคดีก็มาหา บอกความตามที่เขาได้รับคำสั่งให้ทราบ ผู้รั้งตำแหน่งเจ้ากรมตรวจโบราณคดีชื่อ อู่ เงว ชิน U Gwe Źin เปนมอญที่ฉันเคยอ้างเปนตัวอย่างว่าพูดภาษามอญไม่ได้ คงเปนเพราะเกิดหรือเข้าโรงเรียนในเมืองพะม่า ได้เรียนแต่ทางภาษาพะม่ากับภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็ก เมื่อออกจากโรงเรียนก็เข้าทำราชการในกรมตรวจโบราณคดี ได้เปนศิษย์ของ มองสิเออร์ ดือ รอยเซลล์ ศึกษาหาความรู้ในทางโบราณคดีมาโดยลำดับ จนมีความรู้และคุ้นเคยการงานในกรมนั้นยิ่งกว่าเพื่อนในเวลานี้ จึงได้เปนผู้รั้งที่เจ้ากรมในเวลาตำแหน่งว่าง อายุดูจะไม่เกิน ๔๐ ปีมีอัธยาศัยเรียบร้อย พอคุ้นกันแล้วพวกเราเรียกแกแต่ว่า “อู” ตามสดวกปาก อันคำพะม่าว่า “อู” นี้ดูคล้ายกับค่าว่า “ท่าน” ในภาษาไทย อันได้ยินอธิบายว่าธรรมเนียมเดิมเรียกว่า “อู” นำหน้าชื่อแต่ผู้ใหญ่ที่สูงอายุกว่า ๔๐ ปีขึ้นไปทั้งพระและคฤหัษฐ์ แต่ชั้นหลังมาใช้นำหน้าชื่อผู้มีตำแหน่งในราชการด้วย แต่จะใช้โดยมีกำหนดยศข้าราชการชั้นไหน ฉันหาทราบไม่

เมื่อกะการเที่ยวเมืองมัณฑเล มีความลำบากอยู่ด้วยวัตถุสถานที่น่าดูมีมาก แต่เรามีเวลาอยู่เมืองมัณฑเลเพียง ๔ วัน พ้นวิสัยที่จะไปเที่ยวดูทั่วทุกแห่งได้ จึงเอาหนังสือนำเที่ยวเปิดปรึกษา อู เงว ชิน เลือกไปแต่ที่สำคัญอันเห็นจำเปนจะต้องดู เริ่มเที่ยวแต่เวลาบ่ายในวันนั้น และวันหลังจะเที่ยวทั้งเช้าและบ่ายทุกวันไป

จะพรรณนาว่าด้วยเมืองมัณฑเล จำต้องเล่าเรื่องเมืองต่างๆ ที่อยู่ในหมู่เดียวกันให้ทราบเสียก่อน เพราะมีเมืองอันเคยเปนราชธานีอยู่ใกล้ๆ กันถึง ๔ เมือง คือเมืองชัยบุระ พะม่าเรียกกันเปนสามัญว่า “เมืองสะแคง” Sagaing ไทยเราเรียกว่า “เมืองจักกาย” เมือง ๑ เมืองรัตนบุระ เรียกกันเปนสามัญว่า “เมืองอังวะ” เมือง ๑ เมืองอมรบุระเมือง ๑ และเมืองรัตนบุระ เรียกกันเปนสามัญว่า “เมืองมัณฑเล” เมือง ๑ ชื่อที่เรียกกันเปนสามัญคงเปนชื่อเดิมของท้องที่เช่นเดียวกันกับ “บางกอก” เปนชื่อเดิมของท้องที่ซึ่งสร้างกรุงรัตนโกสินทร ฉะนั้น ข้อนี้เห็นได้ชัดที่ชื่อเมืองมัณฑเลเปนชื่อของภูเขาตรงนั้นมาแต่เดิมทำเลที่ตั้งทั้ง ๔ เมืองที่ว่ามาอาจเปรียบให้เข้าใจได้ง่ายๆ คือเมืองสะแคงตั้งริมแม่น้ำเอราวดีทางฝั่งตะวันตก เหมือนอย่างเมืองธนบุรี เมืองอังวะตั้งทางฝั่งตะวันออกตรงกันข้ามเหมือนอย่างพระนครฯ เมืองอมรบุระตั้งทางฝั่งตะวันออกเหนือน้ำขึ้นไปสักแค่วัดเขมาภิรตาราม เมืองมัณฑเลก็ตั้งทางฝั่งตะวันออกเหนือขึ้นไปราวที่เมืองนนทบุรี แต่ห่างฝั่งแม่น้ำสักหน่อย เวลามาในเรือเมื่อถึงตรงเมืองสะแคงแลเห็นได้ทั้ง ๔ เมืองพร้อมกัน เพราะเหตุใดจึงตั้งเมืองราชธานีถึง ๔ เมืองติดต่อกันไปเช่นนั้น มีอธิบายในเรื่องพงศาวดารว่าตั้งแต่ราชวงศพระเจ้าอนุรุทธเสียเมืองพุกามแก่จีนเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๐ เมืองพะม่าก็ยับเยินแยกกันออกไปเปนหลายอาณาเขตต์ เปนโอกาสให้พวกไทยทั้งไทยใหญ่ไทยน้อยไปย่ำยีเมืองพะม่า ต่อมาในสมัยนั้นมีเจ้าไทยใหญ่องค์หนึ่งพะม่าเรียกว่า “สอยุน” Sawyun (น่าจะมาแต่คำภาษาไทยว่า “เจ้ายวน”) ได้ครองอาณาเขตต์หนึ่ง จึงตั้งเมืองสะแคงเปนราชธานี เมื่อ พ.ศ. ๑๘๕๙ แต่เมืองสะแคงเปนราชธานีอยู่เพียง ๕๙ ปี เกิดเหตุด้วยเจ้านายฆ่าฟันกันขึ้นเอง เจ้าองค์ที่มีชัยชนะชื่อว่า “สะโดะมินพญา” Thado Min Bya จึงข้ามมาตั้งเมืองอังวะเปนราชธานีเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๗ เมืองอังวะแม้ต้องตกอยู่ในอำนาจศัตรูเปนครั้งคราว ก็เคยเปนราชธานีทั้งในสมัยเมื่อแยกกันกับมอญ และสมัยเมื่อรวมเปนอาณาจักรเขตต์เดียวกัน เปนเวลาเกือบ ๔๐๐ ปีนานกว่าเมืองอื่นทั้งสิ้น จนถึง พ.ศ. ๒๓๒๖ (ตรงกับรัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร) พระเจ้าปะดุงในราชวงศอลองพญา จึงสร้างเมืองอมรบุระขึ้นใหม่แล้วย้ายราชธานีมาตั้ง ณ ที่นั้น แต่เมืองอมรบุระเปนราชธานีอยู่เพียง ๗๖ ปี ถึงรัชชกาลพระเจ้ามินดงก็สร้างเมืองมัณฑเลขึ้นใหม่ พ.ศ. ๒๔๐๐ (ตรงกับรัชชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร) เมืองมัณฑเลเปนราชธานีอยู่ได้เพียง ๒๘ ปี ก็เสียประเทศพะม่าแก่อังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ตำนานของราชธานีพะม่าทั้ง ๔ เมือง มีมาดังนี้ ลองพิจารณาหามูลเหตุที่ย้ายราชธานี ได้ความเปนเค้าเงื่อนว่าเมืองสะแคงคับแคบ เพราะมีแม่น้ำอยู่ข้างหน้าและมีภูเขาอยู่ข้างหลัง ผู้คนพลเมืองมากขึ้นไม่มีที่จะขยายเมือง จึงย้ายราชธานีข้ามมาตั้งที่เมืองอังวะอันเปนที่ทำเลกว้างขวางและทางคมนาคมกับเมืองที่สดวกทั้งทางบกและทางน้ำ ครั้นถึงรัชชกาลพระเจ้าปะดุงเห็นว่าตัวพระนครซึ่งสร้างไว้ ณ เมืองอังวะเล็กนัก ไม่สมกับเปนราชธานีของพระเจ้าราชาธิราชอย่างเมืองหงสาวดีแต่ปางก่อน จึงให้สร้างเมืองอมรบุระขึ้นใหม่ พิเคราะห์ในแผนผังเห็นได้ว่าถ่ายแบบเมืองหงสาวดีของพระเจ้าบุเรงนองมาสร้าง แต่ภายหลังมาปรากฎว่าที่ตรงสร้างเมืองอมรบุระลุ่มกว่าที่เมืองอังวะ น้ำฝนน้ำท่าขังทำให้แผ่นดินชื้นอยู่นานมักเกิดความไข้เจ็บ พระเจ้ามินดงจึงย้ายไปสร้างเมืองมัณฑเลเปนราชธานี เพราะพื้นแผ่นดินสูงกว่าเมืองอมรบุระและเมืองอังวะ มูลเหตุที่จริงน่าจะเปนอย่างว่ามา แต่ตามคำพะม่าว่าไว้ในหนังสือต่างๆ ชอบอ้างเหตุเปนปาฏิหาริย์ เช่นว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จมาประทับที่ยอดเขามัณฑเลครั้งหนึ่ง ชี้พระหัตถ์ตรัสบอกพระอานนท ว่าเบื้องหน้าจะมีพระมหากษัตริย์มาสร้างพระนครราชธานีที่ตรงนั้นเปนต้น ถึงมีผู้ทำพระพุทธรูปยืนชี้พระหัตถ์ประดิษฐานไว้ในวิหารบนยอดเขามัณฑเล แต่มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าพระเจ้าปะดุงถ่ายแบบเมืองหงสาวดีมาสร้างเมืองอมรบุระ และพระเจ้ามินดงถ่ายแบบเมืองอมรบุระมาสร้างเมืองมัณฑเล เพราะแผนผังที่ฝรั่งเขียนตามสมัยยังมีอยู่ทั้งเมืองหงสาวดี เมืองอังวะ เมืองอมรบุระ และเมืองมัณฑเล และข้อที่ว่าเมืองอมรบุระเปนที่ลุ่มมักเกิดไข้เจ็บ ก็ยังกล่าวกันอยู่จนทุกวันนี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ