เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๓ เที่ยวเมืองหงสาวดี

วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ มกราคม เวลาเช้า ๘ นาฬิกาเศษ ขึ้นรถยนต์ออกจากเมืองร่างกุ้งไปเมืองหงสาวดี รถที่ไปวันนี้มิสเตอร์คัสโตเนียจัดรถขนาดย่อมกว่ารถ “อาคาข่าน” ให้ใช้ ๒ หลังด้วยกัน และให้ผู้ช่วยในห้างอิสต์เอเซียติคไปเปนเพื่อนคน ๑ เพราะทางที่จะไปไกลกว่า ๒,๘๐๐ เส้น (๔๖ ไมล์) จึงคิดเตรียมป้องกันความลำบาก หากจะเกิดขึ้นในระวางทาง หนทางที่ไป พอออกจากชานเมืองพ้นหมู่เนินแล้วก็ถึงที่ราบ เปนทุ่งนา มีบ้านเรือนราษฎรตั้งเปนหย่อม ๆ ตลอดไป ดูคล้ายกับที่สองข้างทางรถไฟในระวางกรุงเทพฯ กับกรุงศรีอยุธยา แต่ถนนรถปูพื้นด้วยอัสฟัล์ดเรียบราบดีตลอดทาง เมื่อรถแล่นไปราว ๒ ชั่วโมง ใกล้จะถึงเมืองหงสาวดีข้ามเนินแห่งหนึ่งเปนที่สูง เห็นพระมหาธาตุมุเตาแต่ไกล พอแลเห็นก็ใจหาย ฉันทราบอยู่แล้วว่าเมื่อแผ่นดินไหวในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๓ (ซึ่งไหวไปถึงกรุงเทพ ฯ ด้วย แต่เวลานั้นฉันไปยุโรป กำลังอยู่ในเรือแล่นทางทะเล ไม่รู้สึก) ที่เมืองพะม่าแผ่นดินไหวแรงมากถึงพระมุเตาหักพัง เคยนึกแต่ว่ายอดหักและเชื่อว่าคงปฏิสังขรณ์คืนดีดังเก่าแล้ว ถึงได้ออกปากถามที่เมืองร่างกุ้งว่าพระมุเตานั้นซ่อมเสร็จแล้วหรือยัง เขาตอบแต่ว่ายังไม่แล้ว ฉันก็สำคัญว่าการปฏิสังขรณ์ยังค้างอยู่บ้างสักเล็กน้อย พอแลเห็นที่ไหนเล่า พระมุเตาพังหมดทั้งองค์เหลือแต่ฐานจึงตกใจ เมื่อถึงเมืองให้ขับรถไปยังศาลากลางก่อน เพราะกรมเลขานุการของรัฐบาลบอกว่าได้สั่งผู้ว่าราชการเมืองหงสาวดี ให้หาผู้ชำนาญไว้สำหรับนำพวกเราเที่ยว ครั้นไปถึงศาลากลางพบผู้ว่าราชการเมืองเปนพะม่า ชื่อ อู สันติน U Than tin คอยรับอยู่บอกว่าตัวเขาจะนำเอง และเมื่อเที่ยวแล้วขอเชิญไปกินกลางวันณจวนที่อยู่ของเขาด้วย ฉันก็รับด้วยขอบใจ

ตรงนี้จะเล่าเรื่องตำนานเมืองหงสาวดีเสียก่อน ผู้อ่านรู้เรื่องตำนานเมืองแล้วอ่านความพรรณนาว่าด้วยวัตถุสถานที่ฉันได้ไปดู จึงจะเข้าใจแจ่มแจ้งดีขึ้น เรื่องตำนานเมืองหงสาวดีควรลำดับอธิบายเปนตอน ๆ ดังนี้ คือ

ตอนที่ ๑ นับแต่ พ.ศ. ๑๑๑๖ จน พ.ศ. ๑๖๐๐ ในตำนานว่ามีราชบุตรของพระเจ้ากรุงสะเทิม (อันตั้งอยู่เหนือเมืองเมาะตมะ) ๒ องค์ ทรงนามว่า “เจ้าสามล” องค์ ๑ “เจ้าวิมล” องค์ ๑ มาตั้งเมืองหงสาวดีขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๑๑๖ ขณะเมื่อจะสร้างเห็นหงส์ทำรังอยู่ณเกาะใกล้กับเมืองเปนนิมิตร์ จึงขนานนามเมืองว่า “หงสาวดี” แต่คนทั้งหลายมักเรียกกันและยังเรียกอยู่จนบัดนี้ว่า “เมืองพะโค Pegu” เพราะอยู่ริมลำน้ำพะโค เมืองหงสาวดีเมื่อแรกสร้างนั้นอยู่ริมชายทะเล เพราะในสมัยนั้นยังเปนทะเลเข้าไปไกล ตรงนั้นเปนอ่าวปากน้ำสะโตง เปรียบดังเช่นอ่าวปากน้ำเจ้าพระยา เมืองสะเทิมอยู่ทางฟากตะวันออกอย่างเมืองจันทบุรี เมืองหงสาวดีอยู่ทางฟากตะวันตกอย่างเมืองเพ็ชรบุรี นานมาตลิ่งงอกออกไปทั้ง ๒ ฟาก จนบัดนี้ทั้งสองเมืองนั้นกลายเปนเมืองดอนไปแล้ว เรื่องตำนานเมืองหงสาวดีตอนแรกสร้างมิใคร่มีอะไรเปนแก่นสาร พึงสันนิษฐานแต่ว่าคงเปนเมืองขึ้นของกรุงสะเทิมเมื่อยังเปนอิสสระอยู่ข้างฝ่ายใต้ตลอดสมัยนั้น

เรื่องตำนานตอนที่ ๒ นับแต่ พ.ศ. ๑๖๐๐ จน พ.ศ. ๑๘๓๐ เมื่อพระเจ้าอนิรุทธเมืองพุกามมีอานุภาพแผ่อำนาจลงมาข้างใต้ ได้กรุงสะเทิมไว้ในราชอาณาเขตต์เมื่อ พ.ศ. ๑๖๐๐ เมืองหงสาวดีก็ตกไปเปนเมืองขึ้นของกรุงพุกามอยู่สัก ๒๐๐ ปี ในตอนนี้ปรากฏว่าเมืองหงสาวดีเปนประเทศราช และเคยพยายามจะเปนอิสสระแต่ทานกำลังกรุงพุกามไม่ไหว ก็ต้องเปนเมืองขึ้นตลอดมาจนพุกามเสียแก่จีน เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๐

เรื่องตำนานตอนที่ ๓ นับแต่ พ.ศ. ๑๘๓๐ จน พ.ศ. ๒๐๗๔ เมื่อพวกมงโกลได้เปนใหญ่ในประเทศจีน และได้ประเทศนันเจาอันเปนเมืองเดิมของไทยไว้ในอาณาเขตต์แล้ว พระเจ้ากรุงจีนกุบไลข่าน Kublai Khan ต้นราชวงศหงวนให้ทูตมายังเมืองพะม่า ทูตมาถูกพระเจ้ากรุงพุกามดูหมิ่น พระเจ้ากุบไลข่านจึงให้กองทัพจีนกับไทยสมทบกันยกมาตีได้เมืองพุกาม ๆ ก็สิ้นอำนาจมาแต่นั้น เมื่อกองทัพจีนกลับไปแล้ว พวกไทยใหญ่ก็แผ่อำนาจรุกแดนพะม่าทางข้างเหนือ พวกไทยน้อยที่อยู่ในประเทศสยามก็รุกแดนเมืองมอญทางข้างใต้ ในสมัยนั้นมะกะโทไทยน้อยตั้งตัวเปนใหญ่ได้ที่เมืองเมาะตมะ ด้วยอาศัยความอุดหนุนจากกรุงสุโขทัยในรัชชกาลพระเจ้ารามกำแหงมหาราช ทรงตั้งเปนเจ้าประเทศราช พระราชทานนามว่า “พระเจ้าฟ้ารั่ว” (พะม่าเรียกว่า “วเรรุ”) และพระราชทานอนุเคราะห์อย่างอื่น ๆ จนสามารถขยายอาณาเขตต์ขึ้นไปได้ถึงเมืองหงสาวดี ที่อ้างในศิลาจารึกของพระเจ้ารามกำแหงฯ ว่าราชอาณาเขตต์ทางด้านตะวันตกถึงเมืองหงสาวดีนั้น เปนอันตรงกับในพงศาวดาร เมื่อสิ้นพระเจ้าฟ้ารั่วแล้ว พระยามหากษัตริย์ซึ่งสืบวงศฟ้ารั่วยังตั้งราชธานีอยู่ณเมืองเมาะตมะ Mataban ต่อมาอีกหลายองค์ จนถึงพระยาอู่ (อันเปนพระชนกของพระเจ้าราชาธิราช) ซึ่งเสวยราชย์แต่ พ.ศ. ๑๘๙๖ จน พ.ศ. ๑๙๒๘ จึงย้ายราชธานีไปตั้งที่เมืองหงสาวดี ถึงสมัยนั้นพะม่าก็กลับตั้งตัวเปนอิสสระได้ สร้างเมืองอังวะเปนราชธานี มีพระยามหากษัตริย์ปกครองมาหลายชั่ว จึงเกิดเปนประเทศมอญอยู่ข้างใต้ประเทศพะม่าอยู่ข้างเหนือ ต่างมีอิสสระเสมอกัน พอล่วงรัชชกาลพระยาอู่แล้ว พระเจ้าราชาธิราชได้ครองกรุงหงสาวดีในระวาง พ.ศ. ๑๙๒๘ จน พ.ศ. ๑๙๖๖ มอญกับพะม่าก็เกิดรบกันเปน “มหายุทธสงคราม” ดังปรากฏในหนังสือเรื่องราชาธิราช รบกันอยู่ช้านานจนอ่อนกำลังลงด้วยกันจึงเลิกสงคราม เชื้อสายของพระเจ้าราชาธิราชได้ครองเมืองหงสาวดีต่อมาอีก ๔ องค์ หมดสิ้นเจ้าชายที่จะรับรัชชทายาท ชาวเมืองหงสาวดีจึงยกนางพระยาตะละเจ้าเท้า (พะม่าเรียกว่า Shin Saw Bu) ราชธิดาของพระเจ้าราชาธิราชขึ้นครองแผ่นดิน อยู่ในราชสมบัติแต่ พ.ศ. ๑๙๙๖ จน พ.ศ. ๒๐๒๕ นางไม่มีราชบุตรจึงมอบเวนราชสมบัติแก่พระมหาปิฎกธรราชบุตรเขย เสวยราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๒๕ จน พ.ศ. ๒๐๔๙ ทรงพระนามว่า “พระเจ้ารามาธิบดี” แต่เรียกกันเปนสามัญว่า “พระเจ้าธรรมเจดีย์” พระเจ้าหงสาวดีองค์นี้ร่วมสมัยและเปนมิตรไมตรีกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และพระเจ้าติโลกมหาราช เมืองเชียงใหม่ ได้สร้างโบราณวัตถุสถานและจัดการบ้านเมืองหงสาวดีหลายอย่าง ซึ่งจะพรรณนาเมื่อกล่าวอธิบายถึงวัตถุสถานนั้น ๆ ต่อไปข้างหน้า เชื้อสายของพระเจ้าธรรมเจดีย์ได้ครองเมืองหงสาวดีต่อมาอีก ๒ องค์ ถึง พ.ศ. ๒๐๘๔ พวกพะม่าเมืองตองอูก็ลงมาตีได้เมืองหงสาวดี

เรื่องตำนานตอนที่ ๔ นับแต่ พ.ศ. ๒๐๘๔ มาจน พ.ศ. ๒๑๔๒ ในตอนนี้มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับประเทศสยามมาก จำเดิมแต่เมืองพุกามเสียแก่จีนแล้วถูกพวกไทยใหญ่ย่ำยี ต่อมาพวกพะม่าหนีภัยไปรวมกันอยู่ที่เมืองตองอูโดยมาก เมืองตองอูก็กลายเปนเมืองพะม่ามีกำลังมากขึ้นโดยลำดับ เมื่อพระเจ้าหงสาวดีที่เปนเชื้อสายของพระเจ้าธรรมเจดีย์อ่อนกำลังลง ทางเมืองตองอูเกิดมีวีรบุรุษขึ้นในวงศเจ้าเมืองตองอู ๒ องค์ องค์หนึ่งชื่อ “มังตรา” เปนราชบุตรของพระเจ้าตองอู ได้รับรัชชทายาท ทรงนามว่า “พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้” (แปลว่า “สุวรรณเอกฉัตร”) อีกองค์หนึ่งก็เปนเชื้อพระราชวงศและเปนพี่พระมเหษีของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้จึงตั้งให้มียศเรียกว่า “บุเรงนอง” (แปลว่า “พระเชษฐาธิราช”) เปนแม่ทัพ ช่วยกันทำสงครามแผ่อาณาเขตต์ตีเมืองหงสาวดีได้เมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๔ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ย้ายราชธานีมาอยู่เมืองหงสาวดี ในหนังสือพงศาวดารไทยเรียกพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ แต่ว่า “พระเจ้าหงสาวดี” หรือว่า “พระเจ้าหงสาลิ้นดำ” ทำให้เข้าใจกันว่าเปนมอญ แต่ที่จริงพระเจ้าหงสาวดีตอนนี้เปนพะม่าทั้งนั้น หาใช่มอญไม่ เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ได้เมืองหงสาวดีเปนที่มั่นแล้ว เที่ยวรบพุ่งปราบปรามบ้านเมืองที่ใกล้เคียงจนได้เมืองพะม่า มอญ ยักไข่ และไทยใหญ่ โดยมากไว้ในราชอาณาเขตต์ แล้วยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๑ (คราวสมเด็จพระสุริโยทัยขาดคอช้าง) แต่ตีกรุงศรีอยุธยาไม่ได้ต้องล่าทัพกลับถอยไป เมื่อกลับไปถึงเมืองหงสาวดี พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ไปเกิดวิกลจริตด้วยติดสุราเมามายร้ายกาจ จนพวกมอญพากันเอาใจออกหากเปนขบถขึ้นที่เมืองเมาะตมะ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ให้บุเรงนองลงไปปราบปราม พอบุเรงนองออกจากเมืองหงสาวดีไปยังไม่ทันถึงเมืองเมาะตมะ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ก็ถูกจับปลงพระชนม์แล้วพวกมอญยกสมิงทอรามราชบุตรของพระเจ้าหงสาวดีพระยาราญ หลานพระเจ้าธรรมเจดีย์ขึ้นครองราชสมบัติ เจ้าเมืองตองอูและเจ้าเมืองแปรก็พากันตั้งตัวเปนอิสสระ บ้านเมืองเปนจลาจล บุเรงนองไม่สามารถจะปราบได้ก็ต้องหลบหนีไปคราวหนึ่ง แต่ไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมซ่องสุมผู้คน ในไม่ช้าก็หากำลังได้เพียงพอ เพราะคนเคยกลัวฝีมือมาแต่ก่อนทั้งพวกมอญและพะม่า พากันมาเข้าด้วยเปนอันมาก บุเรงนองจึงตีได้ทั้งเมืองแปรเมืองตองอูและเมืองหงสาวดี แล้วราชาภิเศกเปนพระเจ้าหงสาวดีเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๔ พระเจ้าบุเรงนองมีอานุภาพยิ่งกว่าพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ สามารถปราบปรามประเทศอื่นที่ใกล้เคียงทั้งพะม่า มอญ ไทยใหญ่ ยักไข่ และได้ประเทศลานนา เชียงใหม่ ประเทศลานช้าง ตลอดจนตีได้กรุงศรีอยุธยาเอาประเทศสยามเปนเมืองขึ้น แม้ประเทศอื่นที่มิต้องขึ้นต่อกรุงหงสาวดี เช่นประเทศลังกา อินเดีย (ครั้งมหาวงศมงโกล) และโปรตุเกศ (ซึ่งมามีอำนาจและเมืองขึ้นทางตะวันออกในตอนนี้) ก็ต้องทำทางไมตรี ไม่มีใครกล้าเบียดเบียน ในพงศาวดารจึงยกย่องพระเจ้าบุเรงนองเปนมหาราช เรียกว่า “พระเจ้าชนะสิบทิศ” พระเจ้าบุเรงนองสร้างเมืองหงสาวดีให้มีป้อมปราการเปนมหานครกว้างขวาง (แผนผังปรากฏอยู่ในหนังสือฝรั่งแต่งในสมัยนั้น) สัณฐานเปน ๔ เหลี่ยมจตุรัส พระราชวังตั้งอยู่กลางเมืองเหมือนกับเมืองมัณฑเล ซึ่งถ่ายแบบมาจากเมืองอมรบุระอันเปนราชธานีอยู่ก่อน น่าสันนิษฐานต่อไปเมื่อพระเจ้าปะดุงสร้างเมืองอมรบุระ คงจะถ่ายแบบเมืองหงสาวดีของพระเจ้าบุเรงนองไปสร้าง ด้วยบำเพ็ญพระเกียรติเจริญรอยพระเจ้าบุเรงนอง ในหนังสือพงศาวดารกล่าวต่อไปว่าเมืองหงสาวดีที่พระเจ้าบุเรงนองสร้างนั้น มีประตูซุ้มยอดด้านละ ๓ ประตู (เหมือนกับเมืองมัณฑเล) ให้เรียกตามชื่อเมืองประเทศราชที่ถูกเกณฑ์คนไปทำการ เช่นเรียกว่า ประตูอังวะ ประตูอโยทธยา และประตูเชียงใหม่ เปนต้น (เมื่อสร้างกรุงรัตนโกสินทรฯ ก็เกณฑ์คนเมืองประเทศราชมาช่วยสร้างทำนองเดียวกัน) มีของปลาดสิ่งหนึ่งซึ่งน่าจะนำมากล่าวอธิบายไว้ในที่นี้ด้วย คือที่ริมประตูข้างในพระราชวังเมืองมัณฑเลมีหอสูงหลังหนึ่งเรียกว่า “หอพระเขี้ยวแก้ว” ยังปรากฎอยู่จนเดี๋ยวนี้ แต่เล่ากันว่าหาเคยมีพระเขี้ยวแก้วอยู่ในหอนั้นไม่ ที่เรียกว่าหอพระเขี้ยวแก้วเพราะสร้างตามแบบอย่างพระราชวังของพระเจ้าบุเรงนองณเมืองหงสาวดี ก็ในเรื่องพงศาวดารรัชชกาลพระเจ้าบุเรงนองนั้น กล่าวถึงการเกี่ยวข้องกับพระเขี้ยวแก้วที่เมืองลังกามียืดยาว ว่าพระเจ้าบุเรงนองทรงเลื่อมใสในพระเขี้ยวแก้วมาก ถึงเอาเส้นพระเกศาของพระองค์เองและของพระอัครมเหษีทำแส้ส่งไปถวายพระเขี้ยวแก้วเปนพุทธบูชา ครั้นถึง พ.ศ. ๒๑๐๓ พวกโปรตุเกศตีได้เมืองลังกา ชิงเอาพระเขี้ยวแก้วไปยังเมืองเคาว์ Gao อันเปนเมืองหลวงของโปรตุเกศในอินเดีย พระเจ้าบุเรงนองทรงทราบก็แต่งทูตให้ไปว่ากล่าวแก่โปรตุเกศ จะขอไถ่พระเขี้ยวแก้วด้วยเงินสินไถ่ ๖ แสน และจะให้เข้าสารเปนเสบียงแก่พวกโปรตุเกศที่มาตั้งอยู่ณเมืองมละกาด้วย ไวสรอย Viceroy ข้าหลวงต่างพระองค์พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกศ จะยอมให้ไถ่พระเขี้ยวแก้วด้วยยินดี แต่สังฆราชโรมันคาธอลิคขัดขวาง อ้างว่าทำเช่นนั้นเปนการเกื้อกูลสาสนาซึ่งเปนปรปักษ์ด้วยเห็นแก่สินบน ประกาศติเตียนอย่างรุนแรงจนไวสรอยต้องเอาพระเขี้ยวแก้วไปมอบให้สังฆราช ๆ เอาพระเขี้ยวแก้วใส่ครกโขลกจนเลอียด แล้วเผาไฟเทเท่าถ่านทิ้งลงน้ำให้สูญไป ทูตของพระเจ้าบุเรงนองต้องกลับมาเปล่า แต่เมื่อมาถึงเมืองคอลมโบที่เกาะลัง พวกขุนนางคนสนิทของเจ้าเมืองคอลมโบกระซิบบอกให้ทราบว่าที่พวกโปรตุเกศว่าได้ทำลายพระเขี้ยวแก้วเสียแล้วนั้นไม่จริง ด้วยพระเขี้ยวแก้วกระทำปาฏิหาริย์กลับมาเมืองลังกา เจ้าเมืองคอลมโบได้ไว้ แต่ต้องปิดบังซ่อนไว้ด้วยเกรงโปรตุเกศจะมาติดตาม พวกขุนนางเหล่านั้นพาทูตเข้าไปดูถึงหอพระที่ทำไว้เปนห้องลับที่ในวัง ก็เห็นพระเขี้ยวแก้วอยู่ที่นั่นจริง ทูตลองพูดทาบทามกับเจ้าเมืองคอลมโบ ๆ บอกว่าเวลานั้นมีความเดือดร้อนอยู่ด้วยข้าศึกจะมาตีเมือง ถ้าพระเจ้าหงสาวดีทรงเปนที่พึ่งป้องกันให้พ้นภัยได้ ก็จะยอมถวายพระเขี้ยวแก้วด้วยความยินดี ทูตนำความมาทูล พระเจ้าบุเรงนองจึงตรัสสั่งให้กองทัพไปช่วยต่อสู้ข้าศึก ครั้นมีชัยชนะ เจ้าเมืองคอลมโบก็ส่งพระเขี้ยวแก้วมาถวายตามสัญญา พระเจ้าบุเรงนองจึงให้สร้างหอขึ้นเปนที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วไว้ที่ในพระราชวัง และมีมหกรรมฉลองพระเขี้ยวแก้วเมื่อมาถึงเมืองหงสาวดีเปนการใหญ่ใต ให้ปรากฎพระเกียรติยศที่สามารถเชิญพระเขี้ยวแก้วย้ายมาจากเมืองลังกาได้ แต่ทางเมืองลังกาในสมัยนั้นก็แยกกันเปนหลายอาณาเขตต์ พอกิตติศัพท์ระบือไปว่าเจ้าเมืองคอลมโบถวายพระเขี้ยวแก้วแก่พระเจ้าบุเรงนอง เจ้าเมืองสิงห์ขันฑนคร Kandy ก็ประกาศว่า พระเขี้ยวแก้วองค์ที่ตกมายังเมืองหงสาวดีนั้นเปนของปลอม องค์ที่จริงนั้นปาฏิหาริย์มาอยู่ณเมืองสิงห์ขัณฑนคร (ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้) หาได้ไปสู่เมืองคอลมโบไม่ เรื่องมีมาดังนี้ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองครองกรุงหงสาวดีอยู่ถึง ๓๐ ปี ตั้งเจ้านายเชื้อพระวงศให้เปนประเทศราชครองเมืองอังวะองค์ ๑ เมืองแปรองค์ ๑ เมืองตองอูองค์ ๑ เมืองเชียงใหม่องค์ ๑ และมีประเทศราชชาติอื่น คือประเทศสยาม ๑ ประเทศยักไข่ ๑ ประเทศลานช้าง ๑ กับทั้งเมืองไทยใหญ่ที่เปนอย่างประเทศราชขึ้นต่อกรุงหงสาวดีก็หลายเมือง แต่ล้วนมีความกลัวเกรงพระเจ้าบุเรงนองไม่กล้าคิดร้าย บ้านเมืองก็เรียบร้อยมาจนตลอดรัชชกาล ครั้นถึง พ.ศ. ๒๑๒๔ พระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์ มังชัยสิงห์ราชโอรสซึ่งเปนพระมหาอุปราชาได้รับรัชชทายาทเปนพระเจ้าหงสาวดี ทรงพระนามว่า “พระเจ้านันทบุเรง” พอเปลี่ยนรัชชกาลก็เกิดความลำบาก เหตุด้วยเจ้าประเทศราชทั้งปวงไม่กลัวเกรงนับถือพระเจ้านันทบุเรงเหมือนอย่างพระเจ้าบุเรงนอง เริ่มเกิดเหตุด้วยพระเจ้าอังวะตั้งแข็งเมืองก่อน แล้วสมเด็จพระนเรศวรก็ประกาศประเทศสยามเปนอิสสระภาพ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงสามารถเอาชัยชนะเมืองอังวะได้ แต่เมื่อมาปราบประเทศสยามกลับพ่ายแพ้สมเด็จพระนเรศวรติด ๆ กันถึง ๔ ครั้ง ครั้งหลังพระมหาอุปราชามาชนช้างกับสมเด็จพระนเรศวร-สิ้นพระชนม์ แต่นั้นพระเจ้าหงสาวดีก็เข็ดขยาดไม่กล้ามาตีเมืองไทยอีก พวกประเทศราชและหัวเมืองทั้งปวงเห็นพระเจ้าหงสาวดีสิ้นฤทธิ์ก็ยิ่งยำเกรงน้อยลง พอสมเด็จพระนเรศวรตีได้เมืองตะนาวศรีกับเมืองทวาย หัวเมืองมอญทางฝ่ายใต้ลำน้ำสลวินก็มาสามิภักดิ์ขอขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรได้ทีจึงเสด็จขึ้นไปตีเมืองหงสาวดี (ครั้งแรก) เมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๘ ไปตั้งล้อมเมืองอยู่ ๓ เดือน ได้ทรงทราบว่าพระเจ้าอังวะ พระเจ้าแปร และพระเจ้าตองอู ยกกองทัพลงมาช่วยเมืองหงสาวดี เห็นข้าศึกมีกำลังมากนักก็เสด็จยกทัพกลับมาเสียครั้งหนึ่ง ก็เจ้าเมืองทั้ง ๓ องค์นั้น พระเจ้าแปรกับพระเจ้าอังวะเปนราชบุตร์ของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง แต่พระเจ้าตองอูเปนลูกพระปิตุลา ได้ครองเมืองนั้นมาแต่ครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง กองทัพพระเจ้าอังวะกับพระเจ้าตองอูมาถึงเมืองหงสาวดีก่อน แต่พระเจ้าแปรโอ้เอ้ยังไม่ยกกองทัพลงมา พระเจ้าหงสาวดีขัดเคืองจึงตั้งพระเจ้าอังวะเปนพระมหาอุปราชา (แทนองค์ที่ขาดคอช้าง) พระเจ้าแปร (เห็นจะเปนพี่) ก็เกิดโทมนัส ใส่โทษพระเจ้าตองอูว่าเปนผู้คิดอ่านยุยงส่งเสริม เลยยกกองทัพที่ได้เตรียมไว้ไปตีเมืองตองอู แต่ตีไม่ได้ กลับไปเมืองแปรก็เลยตั้งตัวเปนอิสสระ ฝ่ายพระเจ้าตองอูเห็นว่าเมืองหงสาวดีกับเมืองแปรแตกกันเช่นนั้นแล้ว ถ้าสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพไปอีกคงได้เมืองหงสาวดี ถ้ามาเข้ากับสมเด็จพระนเรศวรเสียก่อน อาจจะได้เปนพระเจ้าหงสาวดีในภายหน้า จึงลอบแต่งทูตให้นำบรรณาการมาถวายสมเด็จพระนเรศวร และให้ทูลว่าถ้าเสด็จไปตีเมืองหงสาวดีเมื่อไรจะรับช่วย พระเจ้าตองอูจะได้ชักชวนพระเจ้ายักไข่แต่ในตอนนี้หรืออย่างไรไม่ปรากฏ แต่พระเจ้ายักไข่ก็ให้ทูตมาทูลสมเด็จพระนเรศวรอย่างเดียวกัน เพราะอยากได้หัวเมืองมอญตอนปากน้ำเอราวดีเปนอาณาเขตต์ สมเด็จพระนเรศวรได้ทีก็ตรัสสั่งให้เตรียมกองทัพ จะเสด็จไปตีเมืองหงสาวดีอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ. ๒๑๔๒ ให้เจ้าพระยาจักรีคุมกองทัพล่วงหน้าไปสะสมเสบียงอาหารไว้ที่เมืองเมาะลำเลิงก่อน ในเวลานั้นที่เมืองตองอูมีพระมหาเถรองค์หนึ่งชื่อ “เสียมเพรียม” เห็นจะเปนอาจารย์ของพระเจ้าตองอู ทูลทักท้วงว่าอุบายอย่างที่คิดนั้นเห็นจะไม่เปนประโยชน์ดังปรารถนา เพราะถ้าสมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงสาวดีได้ ที่ไหนจะปล่อยให้มีกำลังอยู่เปนคู่แข่งกรุงศรีอยุธยาเหมือนแต่ก่อน คงกวาดต้อนเอาผู้คนไปเปนเชลย และตัดกำลังด้วยประการอย่างอื่น แม้ได้เปนพระเจ้าหงสาวดีก็จะได้ครองแต่เมืองเปล่า แล้วบอกอุบายให้ทำอย่างอื่น พระเจ้าตองอูเห็นชอบด้วย จึงให้ไปว่ากล่าวบนบานพระเจ้ายักไข่ก็ยอมกลับใจไปร่วมคิดด้วย พระเจ้าตองอูแต่งคนสนิทให้แยกย้ายกันมาเที่ยวลวงพวกมอญเมืองเมาะตมะที่ถูกเกณฑ์ทำนาหาเสบียงส่งกองทัพไทย ว่าพอเสร็จการทำนาแล้วไทยจะกวาดต้อนเอาไปเปนเชลย พวกมอญก็เกิดหวาดหวั่นพากันหลบหนี เมื่อถูกจับกุมก็ยิ่งตื่นหนักขึ้น ครั้นเจ้าพระยาจักรีว่ากล่าวเอาโทษมอญชั้นมูลนายที่ควบคุม พวกนั้นก็เลยไปเข้ากับพวกชาวนา จึงเกิดเปนขบถขึ้นในเมืองเมาะตมะ ไทยต้องปราบขบถเสียเวลาหลายเดือน ทางโน้นได้ช่องพระเจ้ายักไข่ก็ยกกองทัพขึ้นไปตั้งติดเมืองหงสาวดี ฝ่ายพระเจ้าตองอูก็ยกกองทัพลงมา โดยอ้างว่าจะมาช่วยรักษาเมืองหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงมิรู้ที่จะทำอย่างไร ด้วยพระเจ้าแปรก็ตั้งแข็งเมือง พระเจ้ายักไข่ก็จะตีเมือง และสมเด็จพระนเรศวรก็จะยกขึ้นไปตีเมืองหงสาวดีในเร็ว ๆ นั้น ซ้ำพวกชาวเมืองแม้จนพระมหาอุปราชาก็ไปเข้าด้วยพระเจ้าตองอูโดยมาก ก็ต้องยอมมอบอำนาจให้พระเจ้าตองอูเปนผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พอพระเจ้าตองอูได้ว่าราชการก็ทำสัญญาอย่าสงครามกับพระเจ้ายักไข่ โดยยอมยกหัวเมืองปากน้ำเอราวดีมีเมืองสิเรียมเปนต้น ให้เปนอาณาเขตต์เมืองยักไข่ ทั้งยกราชธิดาของพระเจ้าหงสาวดีองค์ ๑ กับช้างเผือกตัว ๑ ให้พระเจ้ายักไข่ด้วย พระเจ้ายักไข่ก็ถอยทัพกลับไป แต่ยังวางพวกกองโจรให้ซุ่มอยู่ในแขวงเมืองหงสาวดี พอกองทัพพระเจ้ายักไข่ถอยไปแล้วพระเจ้าตองอูทูลพระเจ้าหงสาวดี ว่ากองทัพสมเด็จพระนเรศวรที่จะยกขึ้นไป มีกำลังใหญ่หลวงยิ่งกว่ากองทัพพระเจ้ายักไข่มาก จะตั้งต่อสู้ที่เมืองหงสาวดีเห็นจะรักษาเมืองไว้ไม่ได้ ขอเชิญเสด็จย้ายไปยังเมืองตองอูจึงจะพ้นภัย พระเจ้าหงสาวดีก็ต้องบัญชาตาม พระเจ้าตองอูก็ให้กวาดต้อนผู้คนเมืองหงสาวดีพาไปเมืองตองอู พอพระเจ้าตองอูกวาดคนไปแล้วพวกกองโจรเมืองยักไข่ได้ทีก็เข้าค้นคว้าหาทรัพย์สินที่ตกค้างเลยเผารั้ววังทั้งปราสาทราชมณเฑียรและบ้านเรือนไฟไหม้หมดทั้งเมือง สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพขึ้นไปถึงได้เมืองหงสาวดีแต่ซากซึ่งไฟไหม้ยังไม่ดับหมด ก็แค้นพระราชหฤทัยให้ยกกองทัพเลยไปตีเมืองตองอู ตั้งล้อมเมืองอยู่จนขาดเสบียงอาหาร เพราะพวกกองโจรเมืองยักไข่คอยลอบสกัดตัดลำเลียงอยู่ข้างใต้ ต้องเสด็จเลิกทัพกลับอีกครั้งหนึ่ง แต่การที่พระเจ้านันทบุเรงต้องทิ้งเมืองหงสาวดีหนีสมเด็จพระนเรศวรครั้งนั้น เปนเหตุให้กรุงหงสาวดีอันเปนที่ยำเกรงกันมาแต่ก่อนหมดอำนาจในทันที หัวเมืองมอญข้างใต้เมืองหงสาวดีก็มายอมเปนเมืองขึ้นกรุงศรีอยุธยา เมืองไทยใหญ่ทางฝ่ายเหนือก็มาสามิภักดิ์ แม้จนพระเจ้าเมืองเชียงใหม่ซึ่งเปนพระอนุชาของพระเจ้าหงสาวดีเอง ก็มาอ่อนน้อมยอมเปนเมืองขึ้นของไทย ราชอาณาเขตต์ของสมเด็จพระนเรศวรจึงกว้างใหญ่ไพศาลจนจรดประเทศจีน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ