วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๙

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ทรงพระเมตตาโปรดประทานอะไรไปด้วยอีกเปนหลายอย่าง ได้รับประทานแล้ว เปนพระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้

ตามที่ได้ทรงพบเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของพะม่า แล้วทรงพระเมตตาโปรดจดประทานไปนั้นดีมาก เกล้ากระหม่อมคิดจะเอาแทรกเข้าในกฎมณเทียรบาลพะม่า ตอนพิธีราชาภิเษกแห่งใดแห่งหนึ่ง ในวรรคซึ่งเปนพระวิจารณของฝ่าพระบาท แต่เวลานี้ต้นฉะบับอยู่ที่พระยาอนุมานยังไม่แทรกได้ ถ้าได้แทรกเข้าที่ตรงไหนแล้วจะเขียนรายงานส่งมาถวายให้ทราบฝ่าพระบาท

เครื่องราชกกุธภัณฑ์อันมีที่มาเปนหลักฐานอยู่ก็สองแห่งเท่านั้น

๑. มาในคัมภีร์อภิธานปัปทีปิกาว่า

“ขคฺโค จ ฉตฺตมุณหีสํ

ปาทุกา วาฬวีชนี”

๒. มีที่บานบัญชรพระอุโบสถวัดบวรนิเวศว่า

“วาฬวีชนี อุณฺหีสํ

ขคฺโค ทณฺโฑ จ ปาทุกา”

ผิดกันที่ฉัตรกับทานพระกร เกล้ากระหม่อมได้เคยให้พระสารประเสริฐ ค้นในคัมภีร์ต่างๆ ที่พบก็เหมือนกันกับที่มาในคัมภีร์อภิธานปัปทีปิกาทั้งนั้น เอาเปนยุติได้ว่าแบบอินเดียนับเอาฉัตร แต่ไทยนับเอาทานพระกร คำที่บัญชรวัดบวรนิเวศเชื่อว่าทูลกระหม่อมทรงพระนิพนธ์ อนุโลมตามแบบอย่างข้างไทย ซึ่งปรากฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สันนิษฐานว่าที่ไทยไม่นับฉัตรเห็นจะเปนด้วย เราใช้วิธียื่นถวาย ฉัตรเปนของใหญ่โตมีปักอยู่แล้วเหนือภัทรบิฐ จึงเปลี่ยนเปนทานพระกร แม้กระนั้นในรัชกาลที่ ๔ ก็โปรดให้เอาฉัตรพระคชาธารมายื่นถวาย ได้ทำเช่นนั้นต่อมาจนถึงรัชชกาลที่ ๖ จึงได้โปรดให้ทำฉัตร ๙ ชั้นเล็ก ๆ ขึ้นถวาย ด้วยฉัตรพระคชาธารมีเพียง ๗ ชั้น ตำราที่ตรัสว่านับผ้ารัตกัมพลแทนมงกุฎนั้น เกล้ากระหม่อมก็ได้เห็น แต่นึกไม่ออกว่าเห็นที่ไหน ผู้บัญญัติตำรานั้นก็คงกอปด้วยหลักฐานเหมือนกัน พระสารประเสริฐจดมาให้ว่าได้พบในพระสูตรแห่งหนึ่ง ว่าพระเจ้าปัสเสนทิเสด็จจากพระนคร มอบราชการให้เสนาบดีผู้ใหญ่บังคับแทนพระองค์ ทรงมอบเครื่องราชกกุธภัณฑ์ มีผ้าโพกพระเศียรทอทองกับพระแสงพระราชทานไว้เปนสำคัญ ก็คำมกุฎนั้น ในภาษาบาลีมีความหมายอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเปนสิ่งอันใด หากใช้เปนเครื่องศิราภรณแล้วเรียกมกุฎทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นผ้าโพกก็คือมกุฎนั้นเอง ได้เคยเห็นอีกตำราหนึ่งนับเอาพระสังวาลเข้าเปนเครื่องราชกกุธภัณฑ์ แต่นั่นเห็นจะเปนของตากุหลาบ จะเปนคำให้การขุนหลวงหาวัดปลอมหรืออะไรพวกนั้น เอาเปนหลักฐานไม่ได้

รูปครรชิตซึ่งประทานไปคราวนี้ดีมาก มกุฎปรากฎเปนหมวกชัด รูปผิดกันกับที่พระเจ้าสีป่อทรงอยู่มาก ลักษณคล้ายหมวกกลีบลำดวนของเรา แสดงว่าเปนของอ่อนด้วย มีรอยพับที่ตรงหน้าผาก ที่กลีบหมวกนั้นจะเปนผ้าเหมือนกันหรือจะเปนเครื่องทองเห็นไม่ชัด ถ้าเปนเครื่องทองก็เปนแนวเดียวกับมาลาของเรา คือสวมหมวกแล้วสวมสุวรรณมาลาทับ และถ้าเปนสุวรรณมาลาก็ไปเข้ารูปสุวรรณมาลาพระพุทธรูปที่ได้กันมาจากเชียงใหม่ เห็นว่าได้หลักฐานสืบเนื่องกันมาเปนแน่ หมวกก็คือผ้าโพกทำสำเร็จให้แต่งได้ง่ายเท่านั้น แล้วก็เลยลดหย่อนให้ผ้าน้อยเบาขึ้น ส่วนเสื้อนั้นก็แบบเดียวกับของเรา หากว่าแต่งเต็มที่ก็ใส่เสื้อแขนชั้นใน ใส่เสื้อกั๊กชั้นนอก แต่เรามักทำติดกันเสีย เพื่อลดหย่อนให้ผ้าน้อยลงและใส่เบาขึ้น บรรดาเสื้อของเราที่มีขลิบต้นแขนนั้นแสดงให้รู้อยู่ว่าใส่เสื้อสองชั้น ที่ยังทำแขนสีหนึ่งตัวสีหนึ่งให้เหนปรากฏว่าเปนเสื้อสองชั้นอยู่ทีเดียวก็มี เช่นเสื้อโหม่งครุ่มเปนต้น รูปเขียนเก่าๆ ของเรา พบที่ทำใส่แต่เสื้อกั๊กชั้นเดียวเหมือนรูปครรชิตนั้นก็มี ปลายแขนของเสื้อครรชิตนั้นเหมือนกับต้นพระพาหาเครื่องต้นของเราทีเดียว อินทรธนูละครนั้นก็คือปลายแขนเสื้อกั๊กนั้นเทียว แต่เขาส่งรูปให้ใหญ่ยาวออกด้วยปรารถนาจะเสริมไหล่ให้กว้าง จะได้รับกับที่สวมหน้าโขนเพื่อไม่ให้เห็นหัวโตข่มตัว อนึ่ง รูปครรชิตนั้นยังให้ความรู้ที่อยากรู้อยู่อีกโสดหนึ่งด้วย โดยได้ทราบพระดำรัสเล่าถึงสถานที่ตั้งรูปพระมหากษัตริย์และพระมเหษีพะม่า ทำให้อยากทราบทางของเขาว่าทำรูปเหล่านั้นเปนรูปภาพอย่างที่ทำกันตามเห็นงาม หรือว่าพยายามจะทำให้เหมือนตัวจริง แต่ก็ทราบไม่ได้ ด้วยรูปเหล่านั้นสูญหายไปหมดแล้ว มารู้ได้จากรูปครรชิตนี้ ว่าทางของเขาทำรูปคนอย่างรูปภาพตามที่ช่างเห็นงาม เพียงแต่สมมติว่าเปนรูปคนนั้นเท่านั้น จะสังเกตได้แต่เพียงเครื่องแต่งตัว พอที่จะรู้ได้ตามศักดิตามประเภท

ข้อพระดำรัสอธิบายถึงการทำผ้าลาย ซึ่งได้ทอดพระเนตรเห็นที่เมืองสุหรัดนั้น ทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้งดีขึ้นมาก ได้คัดข้อความในลายพระหัตถ์ตอนนั้น ส่งไปให้พระยาอนุมานทราบไว้ด้วยแล้ว

เรื่องนักขัตตฤกษทีปาวลิ ได้เห็นหนังสือพิมพ์เขาลงแจ้งความของห้างการจิในกรุงเทพฯ ก่อน ว่าเขาจะปิดห้างในวันทีปาวลิ สดุดใจทำให้อยากทราบว่าทีปาวลิคืออะไร ตั้งใจว่าจะถามพราหมณ์ศาสตรี แต่ไม่ทันถาม ก็พอดีได้รับหนังสือพิมพ์ตัดซึ่งโปรดประทานไป ได้อ่านตรวจโดยถี่ถ้วนแล้ว ในฉะบับแรกอธิบายมูลเหตุแจ่มแจ้งมาก กล่าวความเปนสองตอนตั้งแต่หิรัณยากษ (หิรัณย+อักษ แปลว่าตาทอง) มาลักเอาภูมิเทวีไป เห็นจะหมายถึงนางพระธรณี แต่เรื่องของเราเปนลักม้วนเอาแผ่นดินไป ของเขาฟังแนบเนียนกว่า เพราะว่าลักเอาแต่ตัวนางผู้รักษาแผ่นดินไป ไม่เปนอันตรายแก่สัตวโลกผู้อยู่บนแผ่นดิน ทำให้ร้อนถึงพระนารายณ์ ต้องแปลงเปนหมูป่าไปฆ่าหิรัณยากษคืนเอานางกลับมาในการที่นางถูกลักไปแล้ว ได้รับการแก้ไขกลับคืนมานั้น นางได้ทำ “สัมเป๊ะ” กับยักษและกับนารายณ์ ตามคติลามกของความคิดพวกอินเดีย จึงเกิดบุตรขึ้นคนหนึ่งชื่อว่านรกาสูร มีฤทธิ์เดชมาก ด้วยเปนลูกเกิดแต่ยักษ์กับนารายณ์ผสมกัน แล้วนรกาสูรกำเริบฤทธิ์ขึ้นไปแย่งเอาฉัตรและมงกุฎของพระอินทร์กับทั้งตุ้มหูของแม่พระอินทร์ลงมา พระอินทร์สู้ไม่ได้ไปร้องอุทรณ์ต่อพระกฤษณ จึงเปนเหตุให้ต้องเสด็จไปปราบนรกาสูร นักขัตตฤกษทีปาวลินั้นเปนแสดงความยินดีในวันนรกาสูรตาย ส่วนฉะบับหลังผู้แต่งแกอายครึ จึงลงแก้ลากเอาเรื่องมาปรับกับทางสมัยใหม่ ซึ่งตรัสเรียกว่าวิทยาศาสตร์ ยกเอาแต่ปลายเรื่องมากล่าวนิดเดียว ว่าเมื่อนรกาสูรจะตายได้ขอพระให้ประชาชนทำทีปาวลิ คือแต่งประทีปเปนที่ระลึกในวันตาย

อันความหมายในถ้อยคำนั้นมันเดินไปอย่างประหลาด ฝ่าพระบาทเห็นจะยังไม่ทรงทราบว่าในกรุงเทพฯ เวลานี้ สิ่งที่ปลอมแปลงเขาเรียกว่า “วิทยาศาสตร์” แก้ผ้าเขาเรียกว่า “ศิลป” เหตุที่เรียกแก้ผ้าว่าศิลปนั้นเพราะหนังสือพิมพ์ลงรูปแก้ผ้า ถูกจับถูกฟ้องว่าเอารูปอนาจารลงพิมพ์ เขาแก้ว่าไม่ใช่รูปอนาจาร เปนรูปศิลปแสดงรูปทรงอันงดงามโดยธรรมชาติ ดูเหมือนรอดตัวมาได้ จึงได้ “ซู่ซ่า” กันเรียกรูปแก้ผ้าว่ารูปศิลป ส่วนของปลอมแปลงเรียกว่าวิทยาศาสตร์นั้น เกิดแต่ผู้หญิงตื่นคาดเข็มขัดนากกัน นาย ต. เง็กช้วนเห็นท่าดีจึ่งทำเข็มขัดทองแดงชุบนาคขึ้นขาย ประกาศว่าที่ร้านของเขามีเข็มขัดนากทำโดยทางวิทยาศาสตร์ขาย จะไม่มีเสียหายทั้งราคาก็ถูก จึงมีผู้หญิงที่อยากอวดมั่งมีแต่ทุนน้อยซื้อใช้กัน จนกระทั่งผู้ร้ายหลอกพาผู้หญิงไปฆ่า เพื่อปล้นเข็มขัดนากก็ได้เต่เข็มขัดวิทยาศาสตร์ ตัวนาย ต. เง็กช้วน ผู้ขายเข็มขัดปลอมก็ได้ชื่อว่านาย ต. วิทยาศาสตร์ นาย ต. มีสองคน คือนาย ต. บุญเทียมอีกคนหนึ่ง คนนั้นได้ชื่อว่า นาย ต. พระอภัย (เป่าปี่) ผู้หญิงที่ทาปากเขียนคิ้วใส่เสื้อยกทรง (คือก่องนม) ก็เรียกกันว่าผู้หญิงวิทยาศาสตร์ เพราะปลอมจะให้สวย

รถตุกตาไขกลแล่นได้บนโต๊ะไม่ตก ซึ่งทรงพระเมตตาฝากประทานไปให้ตุ๊ดตู่นั้นก็ได้รับแล้ว เปนพระเดชพระคุณล้นเกล้า ได้ส่งให้แก่ตุ๊ดตู่แล้ว รถชะนิดนั้นในกรุงเทพฯ ก็มีขาย ทีแรกมีขายที่ห้างไวต์อเวก่อน เปนของฝรั่งทำมาขายราคา ๖ สลึง ทีหลังญี่ปุ่นทำเข้ามาขายดาษดื่นราคา ๔๐ สตางค์ ดูราคาก็จะตกกันกับที่ปีนัง ดูรถตุ๊กตานั้นใจหาย หน้าต่างเล็กจนสมกับที่จะเรียกว่า รูต่าง เขาทำสำหรับเมืองหนาวแท้ๆ แล้วเราซื้อมาใช้ในเมืองร้อน ได้เคยไปขี่ที่สิงคโปร์หายใจไม่ออก

ในการทำปืนตลอดถึงตรวนมือให้เด็กเล่น เข้าใจว่าเปนนโยบายในการปกครองบ้านเมืองทีเดียว ด้วยกำลังเตรียมรบกัน เมืองใหญ่ล้วนมีอุบายที่จะอบรมให้เด็กชอบปืนรักการทหารกันทั้งนั้น ตรวนมือกับแป้งกดลายมือจะเปนทางฝึกหัด “บอย สเคาต์” เพื่อไว้ช่วยโปลิศ เปนทางที่เขาเห็นว่าเปนประโยชน์แก่บ้านเมือง

อ่านพระนิพนธ์เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๗ (ท่อนที่ ๔) คราวนี้ ล้วนแล้วไปด้วยพงศาวดารตอนเมืองพุกามรุ่งเรือง สนุกดี ได้รู้พงศาวดารพะม่าอย่างถี่ถ้วน ชื่อพระมหาเถร “ฉินระหัน” เห็นจะหมายถึง ชินอรหันต์

ขอทูลถวายรายงานในการที่จะตีพิมพ์กฎมณเทียรบาลพะม่า พระยาอนุมานรู้สึกสนุกด้วยมาก ในกฎมณเทียรบาลนั้นหลายแห่งที่ฝ่าพระบาทเขียนชื่ออะไรประทานไปมีแต่หนังสือฝรั่ง เมื่อนึกถึงคนที่อ่านหนังสือฝรั่งไม่ออกจะเดือดร้อนมาก จึงอยากให้มีชื่อเปนหนังสือไทยกำกับลงไว้เสียด้วย แต่ตัวเองจะเขียนลงก็ไม่กล้า เกรงว่าจะผิดเหมือนตำบลทุ่งคา ฝรั่งเอาไปเขียนหนังสือฝรั่งเปน Tongka ไทยเอามาแปลกลับเปน ตองแก จึงโล๊ะไปให้พระยาอนุมานช่วย แกก็ไม่กล้าเหมือนกัน เที่ยววิ่งหาพะม่าลืบสาว ได้ความก็เล็กน้อยเอาลงเปนร่องรอยไม่ได้ ด้วยพะม่าที่พบก็ไม่ทราบอะไรในทางราชการนัก แต่ได้เค้าที่ผิดพลาดอยู่ลางคำ เปนต้นเช่นที่ฝรั่งเขียน Myo เราอ่านว่า มโย แต่ภาษาพะม่าจริงๆ เปน เมี้ยว หมดทางที่จะเอาให้สมบูรณ์ได้ กำลังคิดกันอยู่ว่าควรจะทำอย่างไรดี

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. ตรี นาคะประทีป

  2. ๒. หม่อมราชวงศ์ดวงใจ จิตรพงษ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ