วันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๔๗๙

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ขอประทานกราบทูลถวายความเห็นลางอย่าง อันเนื่องในพระนิพนธ์ตรัสเล่าเรื่องวังเมืองมัณฑเล (ตอนที่ ๔ ท่อน ๕)

“เนินปราสาท” หรือ “โคกปราสาท” ชื่อนี้เกิดทีหลังเมื่อราชมนเทียรและเขื่อนกันดินพังหมด ดินเลื่อนไหลแปรรูปไปเปนเนินเปนโคกไปแล้ว ประเพณีโบราณการสร้างราชมนเทียรมักตั้งเขื่อนถมดินให้สูงขึ้นก่อน แล้วจึงปลูกราชมนเทียรบนนั้น ราชมนเทียรเมืองมัณฑเลก็ทำเช่นนั้นเหมือนกัน ก็โคกปราสาทนั้น เมื่อยังดีอยู่จะเรียกว่าอะไรเล่า คะเนปรับกับคำที่เคยได้ยินใช้มาจะเปนได้สองอย่าง คือถ้าใช้ภาษาบาลีสํสกฤตก็จะเปน “ไพที” ถ้าใช้ภาษาไทยเห็นจะเปน “เกยลา” หรือตัดสั้นเรียกแต่ว่า “เกย” อาศัยสังเกตมาจากคำขับไม้เรื่องพระรถเมรี อันมีความว่า ทรงช้างมาประทับเกยช้าง แล้วเสด็จขึ้นเกยลา ทรงพระดำเนินไปขึ้นเรือนทอง อะไรจะเปนเกยลา ถ้าไม่ใช่เนินปราสาท ได้คัดสำเนาคำกาพย์มาถวายทรงพิจารณาต่อไปนี้

“๏ บัดนั้นภูบาล จึ่งทรงพระยาสาร ประทับเกยกุญชร นักเทศขันที กำนัลนารี เฝ้าท้าวเธอสลอน ก้มเกล้าถวายกร เชิญพระภูธร เสด็จขึ้น๏ ฯ

๏ เสด็จเหนือเกยมาศ นางจูงลีลาศ นำท้าวลีลา พระหัตถ์ถือมือนาง พระทัยไม่วาง คนึงในเสนหา ยุรยาตรนาดกรไคลคลา สองม่ายเมียงตา ระลุงลานสมรฯ

๏ นางรดพระบาท กุมคนทีมาศ มาท่าพระภูธร เสด็จขึ้นเรือนทอง ย่างพระบาทเหยียบฆ้อง นางชำระบทจร ก้มเกล้าถวายกร พิศโฉมภูธร ผู้จะมาครองสีมา ฯ”

คำว่า “เกยลา” เห็นจะเปนคำพร่องมาแต่ “เกยชาลา” “ชาลา” หมายความว่าที่ราบแจ้งต่อกับเรือน “เกย” หมายความว่าทำยกสูงขึ้น เกยช้างเกยม้าเกยราชยานทำด้วยไม้ก็มี ก่อด้วยอิฐก็มี เพราะฉะนั้นเกยลาก็อาจทำด้วยไม้หรือถมดินได้ทั้งสองอย่าง ปราสาทที่เมืองมัณฑเลเปนปราสาทเก่าซึ่งรื้อย้ายมาจากเมืองอมรปุระ ชะรอยที่เมืองอมรปุระจะทำเกยลาด้วยไม้เสาปราสาทจึงมีส่วนยาว ที่นำมาปลูกใหม่ไม่กล้าตัดอย่างทรงพระดำริ เกยลาจึงเปนอันทำด้วยไม้บ้างถมดินบ้างสลับกันไป

คำว่า “ปราสาท” ตามภาษาบาลีสํสกฤตหมายถึงเรือนซ้อนกันหลายชั้นไม่ใช่หมายถึงเรือนยอด เรือนยอดก็มีเหมือนกัน แต่เรียกไปอย่างหนึ่งเปน “กูฎาคาร” นิทานเศรษฐีขี้เหนียวซึ่งหนีคนขึ้นไปทำขนมเบื้องบนยอดปราสาทนั้นก็คือชั้นยอดแห่งปราสาท ซึ่งแสดงว่าปราสาทเปนเรือนซ้อนชั้น ยังปรากฎในเรื่องรามายณะซึ่งฝรั่งเขาแปลมา ตอนสุครีพหักฉัตรก็ว่าทศกรรฐ์พานางมณโฑขึ้นไปดูกองทัพลิงบนหลังคาปราสาท มีพนักงานเอางานถวายเครื่องสูง นี่ก็เปนการแสดงว่าปราสาทเปนเรือนซ้อนชั้น สูงจนขึ้นไปบนหลังคาเห็นไปนอกเมืองได้ ซ้ำปราสาทนั้นก็เปนหลังคาตัดเสียด้วย จึงขึ้นไปเดินเล่นได้ และแดดร้อนต้องถวายพระกลด เปนเหตุให้สุครีพเห็นเข้าก็บันดาลโกรธ เหาะขึ้นไปหักพระกลดฆ่าคนเชิญและรบกับทศกรรฐ์ เรื่องหักฉัตรของเขาง่ายกว่าของเรามาก ปราสาทของเราก็ปรากฎการปรุงตัวไม้เปนเรือนชั้นเหมือนกันกับพะม่า อย่างเดียวกับถะข้างจีน แต่เราไม่อยากให้สูงมากไป จึงทำกดลงมา จนหลังคาติดกันไม่แลเห็นเสาชั้น พะม่าเขาก็ทำกดลงเหมือนกัน แต่เขากดน้อยกว่าไทยยังมีเสาชั้นแลเห็นอยู่ ถ้าน้อยชั้นก็ยังเห็นส่วนเสายาว ครั้นมากชั้นอย่างปราสาทในพระราชมนเทียร จะปล่อยเสาตามชั้นไว้ยาวทรงก็จะสูงเกินไป เขาจึงกดให้สั้นต่ำลงอีก เปนเหตุให้มีทรงสัณฐานคล้ายยอดปราสาทไทยมากขึ้น จึงทอดพระเนตรสบพระทัยเห็นว่างามกว่าแห่งอื่น การกำหนดชั้นมากน้อยตามยศนั้นข้างไทยเราก็ถือเช่นเดียวกัน

ข้อที่ปราสาทในกรุงเทพ ฯ ทำยอดขึ้นไปตั้งบนหลังคาจตุรมุขนั้น เปนของทำย่อพวกเดียวกับชาวเหนือทำยอดเล็กขึ้นไปตั้งบนหลังคาโบสถ์ จะจัดว่าเปนแบบของไทยไปทีเดียวหาได้ไม่ ที่ถูกแบบจะต้องเปนมณฑปประกอบด้วยมุขอย่างพระเมรุ พิจารณาปราสาทในพระนครศรีอยุธยาซึ่งมีอยู่สี่องค์ เห็นฐานพระที่นั่งวิหารสมเด็จ และพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท ปรากฏเปนมณฑปประกอบมุขถูกต้องตามแบบอันแท้จริง พระที่นั่งสุริยาทิอมรินทร์ไม่มีผนังเหลืออยู่พอที่จะสังเกตได้ว่าทำเปนประการใด แต่พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์นั้นทำอยู่อย่างย่อเปนยอดตั้งบนหลังคาจตุรมุข ปราสาทสามองค์ซึ่งออกชื่อก่อนนั้นสร้างแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ที่ออกชื่อทีหลังสร้างแผ่นดินพระเพธราชา จะทึกทักเอาว่าปราสาทอย่างย่อที่ทำยอดตั้งบนหลังคาจตุรมุข จะเปนของคิดขึ้นใหม่ในแผ่นดินพระเพธราชาก่อนนั้นไม่มีจะได้กระมัง พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในกรุงเทพ ฯ นั้นถ่ายอย่างพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์มาทำ ด้วยความพึงใจที่ได้ห้องข้างในกว้างขวาง แล้วก็จำอย่างมาทำปราสาทองค์อื่นต่อไป กลายเปนแบบปราสาทในกรุงเทพ ฯ ขึ้นแท้จริงแม้ไม่มีมุขอย่างที่เรียกว่ามณฑปก็ควรจะเรียกว่าปราสาทเหมือนกัน ที่เอาคำมณฑปมาเรียกนั้นผิด ที่แท้ความหมายในภาษาบาลี มณฑปหมายว่าปะรำเครื่องสดเท่านั้น ไม่ใช่ของมียอด

อันชื่อว่าเมรุนั้น นึกว่าจะมาแต่ลักษณะแห่งการปลูกสร้าง ที่ทำปราสาทใหญ่ไว้กลาง และทำระเบียงและกำแพงล้อมเปนชั้นๆ เช่นปราสาทพระนครวัดเปนต้น สิ่งที่แวดล้อมเปรียบเหมือนเขาสัตตบริพันธ์ ปราสาทกลางจึงเปรียบเหมือนเขาพระเมรุ เมรุที่เผาศพของเราก็เปนลักษณะอย่างนั้น มีคดมีซ่างล้อมปราสาทที่เผาศพ จึงได้เรียกว่าเมรุ ทีหลังไม่ได้ทำคดทำซ่างทำแต่ที่เผาศพก็คงหลงเรียกว่าเมรุอยู่นั่นเอง พะม่าเรื่องปราสาทราชมนเทียรซึ่งไม่ได้ทำระเบียงล้อมแล้ว ว่า “เม๎ย ป๎ยาธาต” นั้นก็หลงเหมือนกัน

หลังคาพระราชมนเทียรสถานซึ่งมุงสังกะสีนั้น นึกว่าฝรั่งจะยัดเข้าให้ภายหลัง เดิมจะมุงไม้เลี้ย ด้วยได้ไปเห็นมณฑปพระศิลาใหญ่ในเมืองมัณฑเลนั้นเอง ผนังก่ออิฐมีบันไดขึ้นไปบนหลังคาได้ ได้ปีนขึ้นไป ดูเห็นหลังคามุงด้วยไม้เลี้ย จึงพาให้นึกไปว่า ในพระราชฐานเดิมทีก็เห็นจะมุงด้วยไม้เลี้ย ที่ทรงสืบความมาได้ว่าพระที่นั่งเดิมมุงด้วยดีบุกนั้นดีนัก ต้องกันกับทางเราซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสเล่าว่า เมื่อไฟไหม้พระที่นั่งอินทราภิเศกมหาปราสาทนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าตรัสสั่งให้ตำรวจเข้าไปยกพระแท่นมุกด์หนีไฟออกมา ทั้งกำลังดีบุกถูกไฟหลอมตกอยู่กราว ๆ ก็ยกออกมาได้ นั่นแสดงว่าหลังคามุงด้วยดีบุกเหมือนกัน อนึ่งเห็นควรจะกราบทูลไว้ในที่นี้ด้วย เกล้ากระหม่อมได้ทราบจากพระยาสามภพพ่าย (เจริญ) ว่าผู้ใหญ่บอกว่า พระที่นั่งอินทราภิเศกมหาปราสาทนั้นทำด้วยไม้

ร้านซุ้มบนหลังคาพระราชมนเทียรนั้นได้เห็นรูปฉายก่อนนานแล้ว นึกว่าสำหรับตั้งหม้อน้ำเตรียมไว้ใช้เมื่อเกิดฟืนไฟ อย่างเดียวกับโรงโขนโรงหุ่นในงานต่าง ๆ ของเรา แต่ครั้นเมื่อไปเที่ยวถึงเมืองมัณฑเลได้ถามเขา เขาบอกว่าเปนที่คนขึ้นไปนั่งยาม ไม่เข้าใจเลยว่าคนยามขึ้นไปเฝ้าอะไรบนหลังคา จนกระทั่งฝ่าพระบาทตรัสเล่าคราวนี้จึงทราบว่ายามไล่แร้ง เปนการประหลาดเหลือเกิน

หอสูงนั้นเต็มทน ตัวหอก็ไม่เปนรูปอะไร ซ้ำไม่เข้ากับปราสาท ซึ่งทำไว้บนยอดเสียอีกด้วย เห็นจะเปนของทำประติดประต่อทีละคราว แม้แรกทำหอนั้นก็จะไม่ได้คิดเอาดีเพื่อให้ดำรงคงอยู่ถาวรด้วย เปนแต่ต้องการจะปีนขึ้นไปดูอะไรเล่นสูง ๆ เท่านั้น

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ