วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๕ สิงหาคม ขอทูลสนองข้อที่ตรัสถามถึงสังฆาวาสที่มีในเมืองไทยแต่โบราณ หม่อมฉันเคยเห็นในหนังสือเรื่องหนึ่ง (นึกว่าเห็นจะเปนพงศาวดารเหนือ) เรียกชื่อวัดในเมืองสัชนาลัยวัดหนึ่งว่า “วัดสังกวาศ” จำได้อย่างคลับคล้ายคลับคลาว่าดูเหมือนในหนังสือนั้นจะมีนิทานเล่าถึงเหตุที่วัดนั้นมีประวัติเกี่ยวข้องกับปลาสังกวาศด้วย เมื่อหม่อมฉันไปถึงเมืองสัชนาลัยครั้งแรก ไต่ถามชาวเมืองถึงวัดสังกวาศก็ชี้โว้ชี้เว้ไม่ได้หลักฐาน เมื่อหม่อมฉันไปครั้งหลังได้สั่งให้เขาถางที่วัดต่าง ๆ ตอนกลางเมืองสัชนาลัยไว้ให้ดู ไปเห็นที่แปลงใหญ่แห่งหนึ่งมีกำแพงล้อมรอบ แต่เปนที่ว่างเปล่าไม่มีเจดียสถานอย่างหนึ่งอย่างใดอยู่ในบริเวณ จึงนึกขึ้นว่าคงจะเปนวัดสำหรับพระสงฆ์อยู่เพราะกุฏิทำด้วยไม้จึงสูญไปหมดเหลือแต่ที่เปล่า แล้วเลยนึกต่อไปว่าวัดนั้นแต่เดิมน่าจะเรียกว่า “วัดสังฆาวาส” นานมาเรียกแปร่งไปเปน “สังกวาศ” จึงไปพ้องกับชื่อปลา แต่ปลาดอยู่ที่เปลี่ยน “สังฆะ” เปน “สังกะ” มีเรื่องนอกจากชื่อวัดที่ว่ามาอีก หม่อมฉันยังจำได้เมื่อปีเสด็จพระอุปัชฌาย์พระชันสาครบ ๘๐ ปี ไปถวายพุ่มท่านทรงปรารภว่าพระชันสาเท่ากับกรมขุนนรานุชิต ซึ่งนับว่าพระชันสายืนยิ่งกว่าเจ้านายผู้ชายพระองค์อื่น เลยตรัสต่อไปว่ากรมขุนนรา ฯ นั้น พระนามเดิมว่า “สังกะทัต” พระราชาคณะผู้ใหญ่แต่ก่อนมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย (จี่) เปนต้น เคยสงสัยกันว่าไฉนจึงไปขนานพระนามว่า “สังกทัต” เพราะมีวิเคราะห์อยู่ว่า “สํเฆนฺทินฺโน สํฆทตฺโต” ดังนี้ บางองค์ก็เห็นว่าจะให้หมายสงฆ์ที่มีตัวเรียกว่า สังฆะ สงฆ์ที่ไม่มีตัวเรียกว่า สังกะ ดอกกระมัง ตรัสเล่าเปนอย่างเห็นขบขัน ทรงพระศรวลและ “อื๋อ” นับไม่ถ้วน แต่นอกจากพระนามกรมขุนนรานุชิตยังมีอีก คือถวายสังฆทานยังเรียกกันว่า “สังกทาน” อยู่จนทุกวันนี้ ถ้าไม่ทรงทราบเหตุที่เปลี่ยน ฆ เปน ก ลองตรัสถามสมเด็จพระพุทธโฆษาจารยดูสักทีเปนไร

ที่โปรดประทานพระวินิจฉัยรูปกุฏิวัดสะลินที่เมืองมัณฑเล ว่าเปนรูปปราสาทรีนั้นดีนัก พระดำรินี้ก็ควรปรากฎเปนหลักในการช่างได้อย่างหนึ่ง หม่อมฉันคิดเห็นต่อไปว่าปราสาทรีนั้น แบบเดิมเขาจะทำเพียง ๓ ชั้น ที่ต่อขึ้นไปถึง ๕ ชั้นเหมือนเช่นมหามณเฑียรแก้วในราชวังเมืองมัณฑเลดูเกินดีไป เหมือนกับทำเศวตฉัตร ๙ ชั้นฉะนั้น ถ้าใครแต่งตำราลักษณการช่างของไทย เห็นควรจะเอาแบบพะม่ามาเทียบเมื่อว่าถึงกระบวรช่างปลูกสร้างด้วยจึงจะดี ที่จะทูลต่อไปนี้ถ้าทรงเห็นว่าฟุ้งสร้านขอประทานโทษ หม่อมฉันอยากนักให้ชายใสจำนงใจที่จะแต่งตำราเช่นนั้น เมื่อเธอสมบูรณ์ด้วยความสามารถในภายหน้า ถ้าทำได้เช่นนั้น จะเปนอนุสสาวรีย์และประเสริฐกว่าสร้างวังใหม่หรือสร้างโรงหนังฉายมากทีเดียว

ที่ทรงพระอุตสาหะเสด็จไปประทานพรชายดิศกับหญิงหลุย เมื่อขึ้นเรือนใหม่นั้นหม่อมฉันยินดีและขอบพระเดชพระคุณเปนอันมาก ที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศไม่สู้เลื่อมใสในพระบริโภคเจดีย์ต่างๆ นั้นก็พอเข้าใจได้ เพราะไม่ได้อ่านพงศาวดารอินเดียนั่นเอง หม่อมฉันเชื่อว่าที่ ๔ แห่งที่นับถือกันทุกวันนี้คงไม่ผิดตำบล ถ้าจะเคลื่อนคลาดก็เพียงตำแหน่งที่ เพราะบูชากันมาแต่แรกพระพุทธเจ้าเข้าปรินิพพาน มิใช่เกิดนับถือต่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช

ข่าวที่เมืองปีนังก็ไม่มีอะไรแปลกปลาด นอกจากผลของการเล่นแสดงตำนานที่หม่อมฉันได้ทูลไปในจดหมายฉะบับก่อน พระยารัษฎาธิราชภักดี (คอยูจ๋าย) มาเล่าว่ามีจีนพวกเถ้าเกนายเหมืองเมืองที่ใกล้เคียงพากันมาดูมาก แต่ดูแล้วไม่ชอบใจทั้งพวกแขกมลายูและพวกจีน พวกมลายูเห็นว่าประจานการที่มาเอาบ้านเมืองของมลายู พวกจีนไม่ชอบใจที่เล่นเชิดชูเกียรติแต่อังกฤษ คิดดูก็ชอบกลด้วยการเล่นแสดงตำนานเปนการให้รู้สึกพูมใจ เรื่องที่เล่นมันเปนเรื่องพูมใจแต่อังกฤษจริงๆ ด้วย

หม่อมฉันส่งเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าถวายมากับจดหมายฉะบับนี้อีกท่อนหนึ่ง นับเปนท่อนที่ ๓ ในตอนที่ ๕ มีรูปฉายประกอบ ๑๒ รูป คือ

๑. รูปจำอวดนำกระบวรแห่บวชนาค

๒. รูปตัวเจ้านาค

๓. รูปคนเข้ากระบวรแห่

๔. รูปคนเข้ากระบวรแห่

๕. รูปเด็กเข้ากระบวรแห่

๖. รูปเด็กเข้ากระบวรแห่

๗. รูปพิธีอุปสมบท เมื่อสอนนอกหัตถบาส

๘. รูปพิธีอุปสมบท เมื่อถามต่อหน้าสงฆ์

๙. รูปพิธีอุปสมบท เมื่อสวดญัตติ

๑๐. รูปพิธีอุปสมบท เมื่อบอกอนุสาสน์

๑๑. รูปพิธีอุปสมบท เมื่อเสร็จการอุปสมบท

๑๒. รูปฤาษีพะม่า อย่างโพกผ้า

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ ชั้น ๑ พระองค์เจ้าสังกะทัต กรมขุนนรานุชิต ต้นสกุลสังขทัต

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ