เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๗ ล่องแม่น้ำเอราวดี (ท่อนที่ ๓)

วันอาทิตย์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ ลงเรือไฟด่วนของบริษัทฯ อีกลำหนึ่งชื่อ “เซลอน” Ceylon เปนเรืออย่างเดียวกันกับลำที่มาจากเมืองมัณฑเล ออกจากบ้านหนองอูเวลาเช้า ๑๑ นาฬิกา ล่องลงมาตอนนี้ผ่าน “ภูเขามหาคิรี” ซึ่งพะม่ามักเรียกกันตามชื่อตำบลว่าภูเขา “โปปา” Pôpa (ดูราวกับจะเพี้ยนมาแต่คำ “ภูผา” ภาษาไทย) ภูเขานั้นอยู่ทางฝั่งตะวันออกห่างเมืองพุกามไปสัก ๙๐๐ เส้น แม้อยู่ไกลถึงเพียงนั้นก็แลเห็นตระหง่าน ด้วยเปนเขาทะโมนอยู่กลางทุ่งสูงกว่า ๘๐๐ วา (๕,๐๐๐ ฟุต) ถ้าใครเคยเห็นภูเขาไฟมาแล้ว เห็นภูเขามหาคิรีก็รู้ทันทีว่าเคยเปนภูเขาไฟอยู่ก่อน เช่นเดียวกันกับภูเขาหลวงที่เมืองสุโขทัย เพราะภูเขาไฟยอดเปนปากปล่องรูปผิดกับยอดภูเขาอย่างอื่น แต่ไฟทั้งที่ขึ้นทางภูเขาหลวงและภูเขามหาคิรีเห็นจะดับมาเสียหลายพันปีแล้วจึงไม่มีวี่แววปรากฏอยู่ในพื้นเมือง แม้ในจดหมายเหตุเก่าที่สุด ว่าภูเขานั้นเคยเปนภูเขาไฟ ปล่องที่ยังมีอยู่ไม่รู้ว่าปล่องอะไรก็สันนิษฐานกันไปต่างๆ เช่นที่ภูเขาหลวงเมืองสุโขทัยสมมตกันว่าเปนทางสำหรับพวกนาคขึ้นมาจากบาดาน ดังกล่าวในพงศารดารเหนือตอนว่าด้วยกำเนิดพระร่วงที่ภูเขามหาคิรีพะม่าก็สมมตว่าเปนเมืองของพวกอมนุษยที่เรียกว่า “แน็ต” Nat พิเคราะห์ดูตรงกับที่ไทยเรียกว่า “ผี” คือคนตายแล้วแต่ยังท่องเที่ยวอยู่ในมนุษยโลก เพราะวิญญาณยังไม่ไปปฏิสนธิถือกำเนิดเปนอย่างอื่น อธิบายข้อนี้มีเรื่องที่เมืองมัณฑเลเปนอุทาหรณ์ ว่าครั้งหนึ่งในรัชกาลพระเจ้ามินดง ผีแน็ตที่ศาลแห่งหนึ่งดุร้ายทำให้เกิดภัยตรายแก่ผู้คนจนร้อนถึงพระเจ้ามินดง (เห็นจะให้ทำพิธีส่งวิญญาณด้วยประการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว) ตรัสว่าผีแน็ตนั้นไปปฏิสนธิแล้ว ให้รื้อศาลเสียคนจะได้หายครั่นคร้าม ผู้แต่งหนังสือเล่าต่อไปว่าอยู่มาพระเจ้ามินดงประชวร มีอาการให้จุกแดกเปนกำลัง หมอหลวงถวายพระโอสถเสวยก็ไม่หาย พวกข้าเฝ้าปรึกษากันเห็นว่าคงเปนด้วยถูกผีแน็ตที่ถูกรื้อศาลกระทำร้าย ด้วยยังมิได้ไปเกิดใหม่ดังพระราชบริการ ให้กลับทำศาลขึ้นอย่างเดิม พระเจ้ามินดงก็หายประชวร ในเมืองพะม่าเชื่อถือกันทั่วไปว่ามีผีแน็ต แต่โดยมากเปนผีที่นับถือกันฉะเพาะถิ่น มีผีที่ขึ้นชื่อลือนามทั้งบ้านทั้งเมืองนับถือกับเปน “เจ้าผี” หรือ “ผีหลวง” เรียกว่า “แน็ตมิน” Nat Min แต่ ๓๗ ตน มีตำราเรียกว่า “มหาคีตะเมคะนี” Maha Gita Magani ว่าด้วยเจ้าผีเหล่านั้น เปนส่วนหนึ่งอยู่ในคัมภีร์โลกพยุหะ Lawka Bayuha อันเปนต้นตำราประเพณีเมืองพะม่า เ:อยอชสก๊อต ผู้เรียบเรียงหนังสืออภิธานเมืองพะม่าเหนือ Upper Burma Gazetteer พรรณนาว่าด้วยหนังสือมหาคีตะเมคะนีนั้น ว่ามีทั้งรายชื่อและเรื่องประวัติของเจ้าผีทั้ง ๓๙ ตน และบอกระเบียบพิธีลงผี เปนต้นว่าคนทรง (ซึ่งเปนผู้หญิงโดยมาก แต่ผู้ชายก็มีบ้าง) จะทรงเจ้าผีตนไหนต้องแต่งตัวอย่างไร ต้องใช้คำขับ Ode อย่างไร ฟ้อนรำอย่างไรและพวกปี่พาทย์ต้องทำหน้าพาทย์เพลงอะไร สำหรับเจ้าผีตนนั้น งานพิธีลงผีในเมืองพะม่าทั้งที่ทำเปนงานหลวงและเปนงานเชลยศักดิ์ทำตามตำรามหาคีตะเมคะนีทั้งนั้น

ในบัญชีเจ้าผี ๓๙ ตนนั้น สมมตพระอินทร เรียกว่า “สักร” เปนเจ้าผีองค์ต้น อ้างว่าเพราะเปนใหญ่แก่หมู่ผีแน็ตทั้งสิ้น และย่อมเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงลงมาประทานพรมนุษย์เมื่อสงกรานต์ ปีละครั้งหนึ่งเปนนิจ (แต่สันนิษฐานว่าเห็นจะเพิ่มพระอินทรเข้าในบัญชีต่อชั้นหลัง) ถัดแต่พระอินทรมาก็ถึงเจ้าผีที่เขามหาคิรี มีเรื่องประวัติเปนอัศจรรย์ ว่าในอดีตกาลนานมาราวเมื่อ พ.ศ. ๘๐๐ ที่เมืองตะโก้งมีช่างตีเหล็กคนหนึ่งชื่อ งะตินดอ Nga Tin Daw มีลูก ๒ คน คนใหญ่เปนผู้หญิงชื่อ ชเว มยัต หละ Shwe Myat Hla คนน้องเปนผู้ชายชื่อ งะตินเด Nga tin De และงะตินเดนั้นเมื่อเติบใหญ่ขึ้นเรียนรู้วิชาอาคมอยู่คงและเปนคนเก่งกาจ (ชรอยจะมีพรรคพวกมากด้วย) จนเจ้าผู้ครองเมืองตะโก้งเกรงว่าจะเปนขบถ สั่งให้จับก็ตามหาตัวไม่ได้ เจ้าตะโก้งจึงคิดอุบายขอพี่สาวไปเปนนางในแล้วยกขึ้นเปนมเหษี และบอกนางว่าจะตั้งน้องชายให้กินเมืองให้นางมเหษีเรียกตัวมาเฝ้า ฝ่ายงะตินเดเห็นว่าเจ้าตะโก้งรักใคร่พี่สาวก็เข้าไปเฝ้าโดยดี พอเข้าไปถึงในวังเจ้าตะโก้งก็สั่งให้จับประหารชีวิต แต่งะตินเดอยู่คงฟันแทงไม่เข้าจึงเอาตัวมัดกับต้นสะคะ Saga ที่ในวังแล้วเอาไฟคลอก นางมเหษีรู้วิ่งออกไป เห็นเขาเอาไฟคลอกงะตินเดก็ตรงเข้าไปกอดน้องชายตายด้วยกันในกองไฟ เจ้าตะโก้งสั่งให้ดับไฟก็ไม่ทัน ไฟไหม้ตัวสูญหมดเหลืออยู่แต่หัวทั้ง ๒ คน ก็กลายเปนผีแน็ตสิงอยู่ที่ต้นสะคะนั้น เปนผีดุร้ายใครเข้าไปใกล้กรายก็เอาชีวิตเสีย เกิดเปนเภทภัยร้ายกาจขึ้นในวัง เจ้าตะโก้งจึงให้ถอนต้นสะคะนั้นไปทิ้งเสียในแม่น้ำเอราวดี น้ำพาไหลลอยลงมาติดอยู่ที่หาดเมืองพุกาม แต่แรกใครเข้าไปใกล้กรายก็ทำร้ายเหมือนหนหลัง จนร้อนถึงพระเจ้าสันติคยอง Thinti Kyaung ซึ่งครองเมืองพุกามอยู่ในเวลานั้น ให้บนบ่วงโดยไมตรีจิตร ผีทั้ง ๒ จึงไปเข้าพระสุบินทูลให้ทราบเรื่องที่มีมาแต่หนหลัง พระเจ้าสันติคยองก็ให้เอาต้นสะคะนั้นไปปลูกไว้ที่ภูเขามหาคิรีและทำศาลประทานผีแน็ตทั้ง ๒ ให้อยู่เป็นสุข ณ ที่นั้น ผีจึงกลับมีไมตรีจิตร พวกชาวเมืองพุกามก็นับถือเส้นวักแต่นั้นมา ครั้นถึงสมัยพระเจ้า Kyanzittha (เปนคำภาษามคธเรียกตามเสียงพะม่าอันนึกว่าอาจจะเปนคำ) คันชิต ราชบุตรของพระเจ้าอนุรุธ ซึ่งเสวยราชย์ ณ เมืองพุกาม (แต่ พ.ศ. ๑๖๒๗ จน พ.ศ. ๑๖๕๕) ผีแน็ตงะตินเดทำความขอบช่วยอุปการะพระเจ้าคันชิตด้วยประการต่างๆ จนได้เปนพระเจ้าราชาธิราช (นับเปนมหาราชองค์หนึ่งในพงศาวดารพะม่า) พระเจ้าคันชิตจะสนองคุณงะตินเดจึงให้สร้างศาลพระราชทานใหม่ใหญ่โต และให้มีงานบวงสรวงประจำปีในเดือน ๗ เสมอมา นอกจากนั้นประกาศสั่งพวกชาวเมืองให้สักการะบูชาผีแน็ตงะตินเดด้วย จึงเกิดประเพณีสร้างศาล (อย่างศาลพระภูมิ) เอาลูกมะพร้าวตั้งไว้แทนศีรษะงะตินเด เปนที่บูชาทุกบ้านเรือน ถ้าใครเจ็บไข้ไม่สบายก็ไปบนบวงหรือถ้าเห็นลูกมะพร้าววิปริตไปอย่างไรก็ต้องหาที่ดีมาเปลี่ยนใหม่ ด้วยกลัวผีจะทำร้าย แม้ทุกวันนี้บ้านที่ถือกันเช่นว่าก็ยังมีอยู่ ตั้งแต่พระเจ้าคันชิตทรงอุปการะยกย่องผีแน็ตงะตินเดก็ได้นามว่า “มหาคิรีแน็ตมิน” น่าแปลว่า “ปู่เจ้าเขามหาคีรี” อย่าง “ปู่เจ้าเขาเขียว” ในเรื่องพระลอ จึงเปนเทพารักษหลักพระนครสืบมา และยังมีเรื่องต่อมาอีกถึงชั้นหลัง ว่าพระเจ้าปะดุง (ซึ่งเสวยราชย์ตรงกับรัชชกาลที่๑ กรุงรัตนโกสินทร ทำนองจะได้ทรงบนบาลอย่างใดอย่างหนึ่ง) ให้ทำรูปศีรษะงะตินเดกับศีรษะนาง ชเว มยัต หละ ด้วยทองส่งไปไว้ยังเมืองพุกาม เมื่อถึงงานลงผีที่เขามหาคิรีให้เจ้าเมืองแห่เอาไปตั้งให้คนบูชา ครั้งอังกฤษได้เมืองพะม่าเหนือเอาศีรษะทั้ง ๒ นั้นเก็บไว้ในคลังที่เมืองพุกาม จนบ้านเมืองเรียบร้อยแล้วจะมอบให้เอาไปไว้ที่บ้านปูปาสำหรับราษฎรทำพิธีลงผีเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่ถึงชั้นนี้การปกครองเมืองพุกามลดลงเปนแต่อย่างกิ่งอำเภอ พวกพะม่าไม่กล้ารับผิดชอบที่จะรักษาให้ปลอดภัย รัฐบาลจึงให้ส่งศีรษะทั้ง ๒ มารักษาไว้ที่หอสมุดเบอนาดในเมืองร่างกุ้งจนบัดนี้

เจ้าผีแน็ตของพะม่าต่อมาอีก ๓๕ ตนนั้น พิจารณาตามบัญชีดูปลาดอยู่ที่มีผีบุคคลทุกชั้น ตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินลงมาจนเปนราษฎรสามัญ มีทั้งผีผู้ชาย ผู้หญิงและเด็ก ผู้ใหญ่ จะอาศัยเกณฑ์อันใดเปนหลักในการเลือก พิเคราะห์ตามเรื่องประวัติเห็นพ้องกันมากที่มักถูกผู้อื่นผลาญชีวิต (อย่างไทยเราเรียกว่าเปน “ผีตายโหง”) แต่มิได้ตายเพราะประพฤติทุจริต จะเล่าพอให้เห็นเปนอุทาหรณ์อีก ๒ เรื่อง เรื่องหนึ่งเปนผีลูกฝาแฝด ในเรื่องประวัติว่าเมื่อราว พ.ศ. ๑๕๐๐ มีเรือมาค้าขายจากอินเดียลำหนึ่งถึงอับปางที่อ่าวเมืองสะเทิม ชาวอินเดียที่มาในเรือนั้นมีเด็กชาย ๒ คนพี่น้อง ชื่อ บยัตวี Byat Wi คนหนึ่ง บยัตโต Byat To คนหนึ่ง คลื่นซัดขึ้นฝั่งรอดได้ไปอาศัยพระอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง อยู่มาวันหนึ่งพระผู้เปนอาจารย์พาไปในป่า ไปพบทรากศพฤาษีนอนตายอยู่ พระอาจารย์พิจารณาแล้วบอกเด็กพี่น้องนั้น ว่าลายยันตรที่สักตัวฤาษีเปนแบบวิทยาคมอย่างสำคัญนัก ให้ช่วยกันยกเอาศพฤาษีมายังวัด ในค่ำวันนั้นพี่น้อง ๒ คน อยากจะได้วิทยาคมจึงชวนกันไปลอบเฉือนเนื้อศพฤาษีที่ตรงยันตรมาต้มกินก็บันดาลให้เกิดกำลังวังชาอาจจะไปไหนๆ ได้รวดเร็วและทนทานยิ่งคนอื่น แต่บยัตวีคนพี่ชายยังไม่ทันสำแดงอิทธิฤทธิ์ลอบไปเปนชู้กับหญิงสาวซึ่งเจ้าเมืองสะเทิมได้ขอสู่ไว้ ถูกจับประหารชีวิตเสียที่เมืองสะเทิม บยัตโตน้องชายจึงหนีมาอยู่เมืองพุกามในสมัยเมื่อพระเจ้าอนุรุธเสวยราชย์ (ระวาง พ.ศ. ๑๕๘๗ จน ๑๖๒๘) พระเจ้าอนุรุธเห็นว่ามีกำลังไปไหนได้รวดเร็วอดทนแปลกกว่าผู้อื่นจึงให้เปนพนักงานไปเก็บดอกไม้ที่ภูเขามหาคิรีมาถวายทุกวัน บยัตโตไปได้หญิงชาวบ้านที่เชิงเขามหาคิรี นัยหนึ่งว่าเปนนางยักษ์ เปนเมีย วันหนึ่งนอนกับเมียตื่นสายไปเอาดอกไม้เข้ามาถวายไม่ทันเวลา พระเจ้าอนุรุธกริ้วสั่งให้ประหารชีวิตเสีย แต่ในเวลานั้นเมียมีครรภ์อยู่ เมื่อคลอดเปนลูกแฝดผู้ชายทั้ง ๒ คน เด็กนั้นได้กำลังวังชาของพ่อสืบสายโลหิตมาเมื่อเติบใหญ่ถวายตัวเปนมหาดเล็ก พระเจ้าอนุรุธทรงพระเมตตาใช้สอยฝึกหัดให้รบพุ่งจนได้เปนนายทหารเอก แล้วทำความชอบได้พระราชทานพานทองเปนบำเหน็จรางวัลทั้ง ๒ คน คนทั้งหลายจึงเรียกว่า “ชเวบยินคยี” Shwe Byin Gyi แปลว่าพานทองใหญ่ คนหนึ่งเรียกว่า “ชเวบยินเง” Shwe Byim Mge แปลว่าพานทองน้อยคนหนึ่ง ในบัญชีเจ้าผีก็เรียกชื่อเช่นนั้น ครั้นเมื่อพระเจ้าอนุรุธยกกองทัพไปตีเมืองจีน (มีอัดถาธิบายว่าคือ “เมืองนันเจา” เดี๋ยวนี้จีนเรียกว่าเมือง “ตาลิฟู” แต่ในสมัยนั้นยังเปนเมืองไทย จีนได้เปนอาณาเขตต์ต่อภายหลัง) มีชัยชนะแล้ว ยกกองทัพกลับมาถึงท่าที่จะลงเรือ ณ เมือง “ตองบะยน” Tmung Byon (อยู่ข้างเหนือเมืองมัณฑเลไปไม่ไกลนัก) ดำรัสสั่งให้สร้างพระเจดีย์ “สุดองบยี” Su Daung Byi แปลว่าพระเจดีย์สมประสงค์ สำหรับบรรจุพระบรมธาตุที่ได้มาจากเมืองจีน ในการสร้างพระเจดีย์นั้นตรัสสั่งกำชับว่าให้บรรดาผู้ที่ไปทัพครั้งนั้นทั้งนายและไพร่หาอิฐมาก่อคนละแผ่นรายตัวทั่วทุกคน ถ้าใครไม่ทำตามรับสั่งจะประหารชีวิตเสีย พี่น้องพานทองใหญ่กับพานทองน้อยเผอิญเล่นถั่ว Playing Beans กันเพลินไป ไม่ได้เอาอิฐไปก่อพระเจดีย์ตามรับสั่ง เมื่อพระเจ้าอนุรุธเสด็จไปฉลองพระเจดีย์ทอดพระเนตรเห็นมีช่องขาดอิฐอยู่ ๒ แผ่น ให้ไต่สวนได้ความจริงจึงตรัสสั่งให้ประหารชีวิตพี่น้อง ๒ คนนั้นเสีย วิญญาณก็กลายเปนผีแน็ตเมื่อพระเจ้าอนุรุธลงเรือพระที่นั่งจะมาจากเมืองตองบะยน ผีแน็ตทั้ง ๒ บันดาลให้เรือติดล่องลงมาไม่ได้ แล้วไปเข้าพระสุบินทูลว่า ตัวตายไปเปนผีแน็ตยังไม่มีที่จะอยู่ พระเจ้าอนุรุธจึงให้สร้างศาลประทานที่ริมบริเวณพระเจดีย์นั้น นัยว่ารอยอิฐขาด ๒ แผ่นที่พระเจดีย์แลศาลที่พระเจ้าอนุรุธสร้างประทานยังปรากฎอยู่ และชาวเมืองยังมีงานลงผีพานทอง ๒ คนในเดือน ๘ เสมอทุกปีจนบัดนี้

อีกเรื่องหนึ่งเปนผีเจ้า ว่าเมื่อพระเจ้าอะลองคะสิทธุ (ในหนังสือราชาธิราชเรียกว่าพระเจ้าอลังคจอสู) ครองราชสมบัติ ณ เมืองพุกาม (ในระวาง พ.ศ. ๑๖๕๕ จน พ.ศ. ๑๗๑๐) มีราชบุตรกับมเหษีฝ่ายเหนือ ๒ องค์ ทรงนามว่า สิทธุ Sithu องค์หนึ่ง กะยอชวาองค์หนึ่ง มีราชบุตรกับมเหษีฝ่ายใต้องค์หนึ่งทรงนามว่า ชเวลอง Shwe Laung พระเจ้าอะลองคะสิทธุจะให้เจ้าชเวลองเปนรัชชทายาทแต่เกรงว่าเจ้าอีก ๒ องค์จะคิดร้ายจึงให้เจ้า ๒ องค์ที่เปนลูกมเหษีฝ่ายเหนือไปครองหัวเมืองไกลต่อแดนเกรี่ยง เจ้ากะยอชวาไปได้หญิงคนขายสุราเปนหม่อมแล้วรักใคร่ลุ่มหลง หญิงนั้นเลยพาให้เปนนักเลงสุราเมามายไม่เอาการงาน ชอบแต่เที่ยวเล่นชนไก่มักวิวาทบาดเทลาะกับพวกไพร่บ้านพลเมือง จนเจ้าสิทธุพี่ชายทนไม่ไหวให้ฆ่าเสีย เจ้ากะยอชวากลายเปนผีแน็ตมีความโกรธแค้นกระทำเอาเจ้าสิทธุจนตาย เจ้าทั้ง ๒ องค์นั้นจึงเลยได้เปนเจ้าผี มีศาลอยู่ที่เมืองมะยองตุยวา Myaungtuywa จนบัดนี้ เจ้าผีแต่ละตนดูเปน “ผีดุ” ทั้งนั้น น่าจะเปนด้วยเหตุนั้นเองที่ทำให้คนทั้งหลายนบนอบยำเกรง

พิธีลงผีที่กล่าวในตำรามหาคีตะเมคะนีนั้นดูเปนการใหญ่ถึงเทศกาลลงผีที่ศาลอยู่ตำบลไหน พวกชาวบ้านชาวเมืองก็พากันไปประชุมที่ตำบลนั้น ทำนองเดียวกับไทยเราขึ้นพระบาท ให้ปลูกโรงพิธีที่หน้าศาล กับทั้งโรงพักผู้คนและออกร้านขายของ (เช่นงานภูเขาทองในกรุงเทพฯ) มีการเล่นมหรสพต่างๆ นอกจากนั้นยังต้องปลูกเรือนให้พวกคนทรงพัก เพราะยกย่องว่าเปนคนโปรดของเจ้าผี ถ้าเปนผู้หญิงก็สมมตว่าเปนเมียของเจ้าผีตนที่ลงนั้น เห็นจะได้ลาภผลมาพอเลี้ยงตัว จึงมีผู้สมัครเปนคนทรงอยู่เสมอมิได้ขาด ถึงวันทำพิธีคนทั้งหลายกับทั้งพวกปี่พาทย์ไปประชุมกันที่โรงหน้าศาล การลงผีนั้นเริ่มด้วยคนทรงออกมาบูชา และเส้นสุรามังสาหารต่างๆ ที่หน้าเจว็ด ปี่พาทย์ประโคมเวลาบูชาเปนครั้งแรก ในชั้นนี้คนทรงยังแต่งตัวอย่างปกติ เมื่อบูชาแล้วจะเชิญผีตนไหนคนทรงก็ไปแต่งตัวอย่างผีตนนั้น ตามที่พรรณนาไว้ในตำรามหาคีตะเมคะนี กลับออกมานั่งสำรวมใจเชิญผี พอผีเข้าสิงแล้วก็ลุกขึ้นทำท่าทางวางกิริยาอย่างผีตนนั้น เช่นทรงเจ้าผีกะยอชวาที่กล่าวมาแล้วก็ทำท่าทางเปนอย่างคนเมาสุราและกิริยาเล่นชนไก่ถ้าทรงผีตนที่เปนผู้หญิงกิริยาก็แช่มช้อยชม้อยชม้าย ถ้าทรงผีเด็กกิริยาก็เปนอย่างทารกชอบเล่นตุ๊กตา เปนต้น แล้วกล่าวคำ Ode ประกาศแก่คนทั้งหลาย เซอยอชสก๊อต แปลแบบคำประกาศของปู่เจ้าเขามหาคิรีพิมพ์ไว้เปนภาษาอังกฤษ มีเนื้อความขึ้นต้นบอกชื่อกับเครื่องแต่งตนและเล่าเรื่องประวัติของคนให้คนรู้จัก (สันนิษฐานว่าถ้าใครมีกิจธุระจะไต่ถามเจ้าผีก็เห็นจะถามและตอบกันในตอนนี้) แล้วเจ้าผีให้โอวาทสั่งสอนคนทั้งหลายให้ประพฤติสุจริต อย่าเบียดเบียนกันและกัน ให้รักษาความสัจซื่อตรงจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน (ความตอนนี้ส่อให้เห็นเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินทรงอุดหนุนพิธีลงผี) แล้วอำนวยพรแก่คนทั้งหลายที่ได้ช่วยกันทำการพิธีทั้งทุกคน พอหมดคำประกาศพวกปี่พาทย์ก็ทำเพลงดนตรีให้ผีฟ้อนรำต่อไป เมื่อฟ้อนแล้วผีก็ออกจากคนทรง ถ้าทรงผีหลายตนก็เปลี่ยนคนทรงมาเชิญผีตนอื่นเข้าสิงต่อๆ ไปทีละตนโดยทำนองเดียวกัน (สันนิษฐานว่าแม้เจ้าผีตนเดียวถ้ามีคนต่างพวกปราถนาจะไต่ถามความต่างกันก็เห็นจะเชิญเข้าทรงซ้ำหลายครั้ง เพราะมีคนทรงมากและมีงานหลายวัน) ปรากฎว่าที่บางแห่งเชิญเจว็ดเจ้าผีหลาย ๆ ตนมาทำพิธีพร้อมกันก็มี

พิเคราะห์การถือผีของไทยเราดูก็คล้ายกับพะม่า เชื่อกันว่ามีผีอยู่ทั่วทุกแห่ง เปนผีไม่มีศาลเรียกกันว่า “ผีท้องเลว” ก็มี เปนผีมีคนนับถือสร้างศาลให้อยู่ก็มี เปนผีที่ยกย่องเปนชั้นสูง

เรียกกันว่าเจ้าพ่อเจ้าแม่ เช่น “เจ้าพ่อหอกลอง” และ “เจ้าแม่ทับทิม” เปนต้นก็มีแต่ไทยเราไม่มีตำราอย่างมหาคีตะเมคะนีของพะม่าความรู้เรื่องประวัติของเจ้าผีเหล่านั้นจึงสูญไปเสีย ถึงเจ้าผีเองที่ลืมกันสูญไปเสียแล้วก็คงมีไม่น้อย การถือผีในเมืองไทยแต่โบราณก็อาจจะมีพิธีรีตองเปนการใหญ่ข้อนี้มีเค้าเงื่อนในกฎมณเฑียรเก่าตอนว่าด้วย “พิธีเบาะผก” วัตถุที่ฉลองในการทำพิธีนั้นเรียกว่า “แม่ยั่วพระพี่” ดูทำนองเปนเจว็ดผีเชิญขึ้นพระราเชนทรยานแห่แหนเปนการใหญ่ การเชิญผีเข้าคนทรงก็มีในเมืองไทยมาแต่โบราณ แต่เห็นจะมาเสื่อมลงตั้งแต่ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา สังเกตดูหนังสือที่แต่งในสมัยนั้น เช่นในบทละคอนเรื่องสังข์ศิลป์ชัย เมื่อกล่าวถึงคนทรงลงผีสำนวนดูหมิ่นไม่นับถือ ถึงกระนั้นก็ยังมีการเชิญผีเข้าคนทรงอยู่ไม่ขาด เมื่อฉันยังเปนเด็กได้เคยเห็นครั้งหนึ่งคนทรงเปนผู้หญิงอายุสัก ๔๐ ปี ก่อนจะเชิญผีเข้าคนทรงอาบน้ำชำระกายให้สอาด แล้วแต่งตัวนุ่งผ้าลายสีแดงลอยชาย ห่มแพรแถบสีแดงพาด ๒ บ่าเหมือนอย่างผู้ชาย นั่งประนมมือถือธูปจุดไฟหลายดอกกำไว้ในมือ หลับตาสำรวมใจเชิญผีอยู่หลายนาที ขณะนั้นคนที่รู้เห็นเปนใจก็นั่งคอยดูอยู่ เมื่อแรกผีจะเข้านั้นมือคนทรงที่ถือธูปเริ่มสั่นน้อย ๆ แล้วสั่นหนักขึ้นทุกทีจนธูปหล่นร่วงจากมือหมดแล้ว คนทรงเปลี่ยนท่าเปนนั่งขัดสมาธิวางมือพาดหัวเข่าทั้ง ๒ ข้างโยกตัวไปมาไม่หยุดก็รู้ว่าผีเข้าแล้วคนที่นั่งดูอยู่ถามว่า “ท่านเปนเจ้าองค์ไหน” ผีตอบว่า “ข้าเปนเจ้าพ่อพระประแดง” แต่นี้ใครจะถามอะไรก็ถาม ผีก็ตอบอย่างสั้นๆ ปลาดอยู่อย่างหนึ่งที่คนพูดกับผีใช้ศัพนามเรียกตนเองว่า “ลูกช้าง” จะมีมูลมาอย่างไรฉันยังไม่รู้จนเดี๋ยวนี้ พูดกันพอสิ้นข้อถามสักประเดี๋ยวผีว่า “ข้าไปละนะ” พอว่าเท่านั้น คนทรงก็สั่นเทิ้มไปทั้งตัวจนล้มฟุบลงกับที่ เมื่อฟื้นขึ้นเหงื่อแตกโทรมตัวดูอ่อนเพลียต้องพักอยู่สักครู่หนึ่งจึงลุกไปได้ ฉันได้เคยเห็นทรงผีอย่างไทยครั้งเดียวเท่านั้น แต่ได้ยินว่าในปัจจุบันนี้การทรงผีก็ยังมี แต่ลอบทำกันอย่างปกปิด น่าจะเปนเพราะเคยมีประกาศห้ามและถูกจับกุมมาแต่ก่อน จึงไม่กล้าทรงผีโดยเปิดเผยเหมือนอย่างเจ๊ก เขาว่าพระภิกษุสงฆ์ในเมืองพะม่ารังเกียจการถือผีนักไม่ยอมเกี่ยวข้องพ้องพานด้วยทีเดียว เรื่องทรงผียังมีปลาดอีกอย่างหนึ่ง ที่ฝรั่งพากันเชื่อถือขึ้นแพร่หลายในสมัยนี้ เรียกว่า สปิริชวลลิสัม Spiritualism เดิมก็เปนแต่เชิญผีเข้าสิงสิ่งของเช่นโต๊ะและถ้วยแก้วเปนต้น แล้วไต่ถามให้ผีตอบเพียงรับหรือปฏิเสธคำที่ถามนั้น ต่อมาในบัดนี้ถึงเชิญเข้าคนทรงได้แล้ว เมื่อคิดดูก็คือเอาอย่างชาวตะวันออก เมื่อเขาทำกันมาหลายร้อยปีจนจืดแล้ว ไปทำบ้างนั่นเอง

เรือล่องพ้นเขตต์เมืองพุกามเข้าเขตต์เมืองเยนันคยอง Yonan Gyaung แปลว่าถิ่นน้ำมันดิน แต่โบราณเปนปลายแดนพะม่าต่อกับมอญเคยเปนเหตุให้พระเจ้าราชาธิราชกับพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องรบพุ่งกันเพราะพลเมืองทั้ง ๒ ฝ่ายชิงกันขุดบ่อหาน้ำมันดินที่ตรงนี้ เมื่อเมืองตกเปนของอังกฤษรัฐบาลให้ชันสูตรตลอดเขตต์ที่มีน้ำมันดินแล้วกำหนดเปนแปลงละไมล์ ๓๙ เส้นจตุรัส ได้ ๒๖ แปลง บางแปลงอนุญาตให้ราษฎรหาน้ำมันดินอย่างเดิม บางแปลงอนุญาตให้บริษัทหาน้ำมันดินโดยวิธีอย่างฝรั่ง วิธีราษฎรหาน้ำมันดินนั้นขุดบ่อให้ลึกลงไปจนถึงสายน้ำแล้ว เอาครุผูกเชือกหย่อนลงไปตักน้ำขึ้นมาแยกเอาน้ำมันดินขาย ส่วนวิธีฝรั่งนั้นตั้งร่างร้านและเครื่องจักร ฝังท่อเจาะแผ่นดินลงไปดูดน้ำขึ้นมาแยกเอาน้ำมันดิน ส่งลงมาประสะที่โรงงานทำเปนน้ำมันประเภทต่างๆ ณ ปากน้ำเมืองร่างกุ้งดังกล่าวมาแล้ว ด้วยฝังท่อจากบ่อให้น้ำมันไหลมาลงเรือสำหรับบรรทุกน้ำมันบ้าง ว่าลงทุนฝังท่อให้น้ำมันไหลไปจนถึงโรงงานที่เมืองร่างกุ้งก็มี ที่ซึ่งบริษัทฝรั่งตั้งทำการหาน้ำมันดินมีอยู่ ๓ ตำบล แต่ละตำบลเมื่อผ่านมาแลดูเห็นร่างร้านที่ตั้งตรงปากบ่อสพรั่งไปราวกับเปนป่าไม้ และมีเรือนโรงที่อยู่ของคนทำการ ทั้งตลาดยี่สานราวกับเปนเมืองอันหนึ่งทุกแห่ง ที่เจาะบ่อน้ำมันดินในตำบล “ละนิวา” Lanywa ข้างฝ่ายเหนือเพิ่งตั้งใหม่แต่ปลาดกว่าเพื่อน ด้วยตรวจพบทางน้ำมันดินมีลงมาจนถึงใต้แม่น้ำเอราวดี บริษัทพยายามถมหาดให้สูงขึ้นเสมอพื้นแผ่นดินสำหรับจะได้ตั้งร่างร้านเจาะบ่อเอาน้ำมันที่ตรงนั้นรุกแม่น้ำออกมามากน่ากลัวดินที่ถมจะทานสายน้ำอยู่ไม่ได้ แต่เขาคงคิดอุบาย “ยั่ว” สายน้ำให้ไปเดินทางอื่นได้แล้ว จึงกล้าลงทุนถมแม่น้ำออกมาเช่นนั้น

เรือหยุดรับสินค้าที่ตำบลละนิวาแล้วล่องต่อมา ตอนนี้ที่กับตันฝรั่งลงนำร่องเดินเรือกลางคืน จน ๑ นาฬิกาจึงถึงสถานีที่จอดพัก

วันจันทรที่ ๓ กุมภาพันธ์ เรือออกจากสถานีเวลาเช้า ๖.๓๐ นาฬิกา ผ่านย่านบ่อน้ำมันอีก ๒ ตำบล จอดพักที่เมืองเยนันคยองครู่หนึ่งแล้วล่องต่อมา ถึงเมืองมักเว Magwe แวะส่งกับตันบาน A Barn ที่ได้นำร่อง และรับสินค้าแล้วทอดสมอนอนกลางแม่น้ำที่เมืองมักเวนั้น

วันอังคารที่ ๔ กุมภาพันธ์ เรือออกเวลาเช้า ๖.๓๐ เหมือนวันก่อน ตอนเช้าผ่านตำบลมินหละ Minhla มีป้อมพะม่าสร้างรักษาชายแดน และอังกฤษต้องรบกับพะม่าที่ป้อมนี้มากกว่าที่อื่นเมื่อตีเมืองพะม่าครั้งหลัง ตอนนี้ผ่านเขตต์พะม่าเหนือเข้าเขตต์พะม่าใต้ ถึงเมืองธเยตมโยอังกฤษตั้งเปนเมืองปลายแดนเมื่อพะม่าเหนือยังมีพระเจ้าแผ่นดินปกครอง เรือจอดรับสินค้าอยู่ชั่วโมงหนึ่งแล้วแล่นต่อมา วันนี้จะเปนด้วยเหตุใดไม่ทราบ เรือถึงเมืองแปรต่อ ๑๙ นาฬิกา ช้ากว่าปกติถึง ๓ ชั่วโมง พวกเราไม่ประมาทเรียกอาหารเย็นกินแต่เวลา ๑๘ นาฬิกา เมื่อเรือถึงเวลามืดค่ำไม่เห็นใครมารับ กำลังปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี ก็มีพะม่าลงมาหา ๒ คน เวลาที่มาแต่งตัวนุ่งกางเกงจีนใส่เสื้อกุยเฮง ผู้เปนหัวหน้าบอกว่าตัวเขาชื่อ อูโปกยา U Po Kya เปนตำแหน่งผู้ตรวจการกรมตำรวจ Chief Inspector of Police และเปนหัวหน้าข้าราชการที่เมืองแปร (ในการปกครองที่ตัวเมืองแปรเปนแต่อย่างอำเภอ สถานที่ว่าการจังหวัดไปตั้งอยู่ที่อำเภอปองเด Paungde ข้างใต้เมืองแปรระยะทางรถยนต์ไปสักชั่วโมงหนึ่ง) รัฐบาลได้สั่งให้เขาเปนผู้รับพวกเรา เขาได้คอยรับอยู่จนค่ำมืดพ้นเวลาเรือเคยถึง คาดว่าเรือเห็นจะมาถึงต่อพรุ่งนี้จึงกลับไปบ้าน ตอนค่ำเวลามาเดินเที่ยวอยู่ที่ตลาดคนไปบอกว่าเรือถึงแล้ว จะกลับไปแต่งเครื่องแบบที่บ้านก่อนก็กลัวฉันจะต้องคอยอยู่นานนัก จึงลงมารับทั้งอย่างนั้นขออย่าให้ฉันถือโทษเลย เขาให้ไปตามรถและคนขนของอยู่แล้วคงขึ้นได้ในไม่ช้า รออยู่สักประเดี๋ยวเขาก็เชิญให้ขึ้นบก ออกระอาเรื่องต้องปีนตลิ่งอีก ที่เมืองมัณฑเลเปนขาลงค่อยยังชั่ว ที่เมืองแปรต้องปีนขาขึ้นทั้งเปนในเวลาค่ำต้องเดินระวังด้วย ที่บางแห่งเขาเกาะเปนคั่นบันไดไว้ให้ขึ้นง่ายถึงกระนั้นก็เหนื่อยหอบถึงต้องขอหยุดพักครั้งหนึ่ง แต่เขาจัดรถยนต์มารับ และมีคนขนของพอแก่การขึ้นรถไปสักประเดี๋ยวก็ถึงเรือนรับแขกของรัฐบาล

เมืองแปรที่จริงเปน ๒ เมือง มีเมืองสำคัญเปนเมืองโบราณเรียกว่า “สารเขตต์” อยู่ข้างเหลือ เมืองแปรเปนเมืองสร้างภายหลังอยู่ข้างใต้ เรื่องตำนานเมืองสารเขตต์เกี่ยวเนื่องกับเมืองพุกาม เพราะฉะนั้นจะเอาตำนานเมืองสารเขตต์ไปเล่าด้วยกันกับเรื่องเมืองพุกามในตอนหน้า รอเรื่องเมืองแปรไว้เล่าอีกตอนหนึ่งต่อไป

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ