วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๙

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ประทานไปพร้อมทั้งพระนิพนธ์เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๙ ท่อนที่ ๒ ได้รับประทานแล้ว

ก่อนอื่นเห็นควรจะกราบทูลข่าวที่เศร้าใจให้ทรงทราบว่า พระองค์หญิงพิศมัย สิ้นพระชนม์เสียแล้ว เมื่อวันเสาร์ที่ ๖ เดือนนี้ เวลา ๑๒.๕๕ น ภายหลังหนังสือถวายตามเวรได้ส่งไปรษณีย์ไปแล้ว เปนความเปนไปด้วยไม่ผิดหมายก็จริง แต่เปนเหตุให้เศร้าใจที่เจ้านายล่วงลับไปเหลือน้อยเต็มทีแล้ว ได้ทำการสรงพระศพในวันนั้นเวลา ๑๗.๓๐ น. ที่ตำหนักของท่าน ณ ถนนวิทยุ แล้วเชิญพระศพเข้าไปจัดตั้งไว้ในหอนิเพธ เหนือแว่นฟ้าสองชั้นประกอบพระลองมณฑป แล้ววันที่ ๑๒ ได้มีการทรงบำเพญพระราชกุศล ๗ วันพระราชทานตามประเพณี

เมื่อวันที่ ๘ มีการพระราชทานเพลิงพระศพพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ จัดเปนงานไม่เสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานเครื่องกัณฑ์เทศน์กับผ้าไตร ๑๐ พร้อมทั้งเครื่องทรงขมาศพและเพลิงไปให้เจ้าภาพ ผู้ซึ่งไปส่งสักการพระศพน้อยเต็มที มีแต่ญาติลางคน เห็นว่าญาติที่ไปนั้นเปนผู้ที่มีใจดีมากอยู่ พระยาสีหศักดิเปนหัวหน้าเจ้าภาพ สิ่งที่แปลกในงานนี้ที่ควรจะกราบทูล คือเขาย้อนทำโกศราชวงศ์อย่างเก่าเปนลุ้งยอดฉัตรขึ้นอีก แต่ดูลุ้งกับยอดมันไม่กินกัน น่าจะมีอะไรเคลื่อนคลาด แต่ของเก่าท่านทำมาอย่างไรก็จำไม่ได้

วันที่ ๑๑ มีการพระราชทานเพลิงศพพระยาสุริยา จัดเปนงานมีเสด็จพระราชดำเนิน คณะผู้สำเร็จราชการไปแทนพระองค์ ๒ คน เว้นเจ้าพระเจ้ายมราช มีผ้าไตรพระราชทานแก่เจ้าภาพ แล้วประธานทรงจุดฝักแค ผู้ที่ไปส่งสักการศพ ผู้หญิงโหรงทีเดียว ส่วนผู้ชายนั้นมากมีพวกแต่งฟอมกับฝรั่งกะปิเปนส่วนใหญ่ ทูตขรก็มีไปกัน การแจกหนังสือในสมัยนี้ดูเหมือนจะต้องแจกเปนมัด ถ้าแจกเล่มเดียวทีจะกร่อย ในงานนี้มีหนังสือแจกมัดหนึ่ง ๕ เล่ม คือ

๑. ไว้อาลัยแด่พระยาสุริยานุวัตร คณะรัฐมนตรีพิมพ์แจก เปนบันทึกของรัฐมนตรีหลายคน เย็บรวมกันเปนเล่ม

๒. ใจความของพระพุทธศาสนา หลวงสุริยพงษ์พิสุทธิแพทย์ เรียบเรียง คุณหญิงสุริยานุวัตรพิมพ์แจก

๓. ถั่วเหลือง รำข้าว โดย ดร.ตั้ว ลพานุกรม ดร.ประจวบ บุนนาค ขุนกสิกรพิศาล นายแพทย์ ย่งฮั้ว ชัวเจริญวงศ์ พิมพ์แจก

๔. พระบรมราโชวาท และพระราชหัตถเลขา สมเด็จ ฯลฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชทานแด่ มหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร คุณหญิงลิ้นจี่ สุริยานุวัตร พิมพ์แจก

๕. เรื่องธนาคารแห่งชาติ ของพระยาสุริยานุวัตร นายมานิตย์ วสุวัต พิมพ์แจก

หนังสือเหล่านี้ ถ้าเจ้างานไม่ได้ส่งถวายมา ต้องพระประสงค์ทอดพระเนตรฉะบับใด จะส่งมาถวายได้

คราวนี้จะกราบทูลสนองข้อความ ซึ่งมีในลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๔ นั้น ต่อไป

เรื่องผ้าม่วงนั้น จริงอยู่ที่ผ้าเมืองไทยทอดีนุ่งสบาย แต่เขามักทำสีฉูดฉาดนุ่งเข้าฟอมไม่ได้ แม้จะต้องสั่งทำก็ลำบาก จึงหันไปนึกถึงผ้าพื้น ซึ่งจะหาสีน้ำเงินแก่เข้าฟอมได้โดยง่าย

เรื่องความคิดที่จะกลับใช้เสื้อยันตร์เจ้าขึ้นอีกนั้น พระดำรัสทักท้วงถูกที่สุด จะปฏิบัติตามพระดำริระงับไม่คิดเปลี่ยนแปลงต่อไป

เรื่องพระสงฆ์สวด โสอัตถลัทโธ หรือ สัพพพุทธา ซึ่งตั้งใจใช้แทนอติเรกนั้น เกล้ากระหม่อมเห็นว่าจะแทนไม่ได้เลย เพราะคำอำนวยพรสองบทนั้น ใช้ให้พรใครต่อใครอยู่ไม่ว่าที่ไหนต่อที่ไหน จะเอามาแทนอติเรก อันถวายพระพรด้วยออกพระนาม มหาราชา โดยจำเพาะถึงสองแห่งกะไรได้ ตามพระดำรัสบรรยายประวัติอติเรกซึ่งเปนมานั้นดีมาก ทำให้รู้สำนึกได้ว่าพระสงฆ์ต้องลำบากยากใจเพราะต้องตีอุภโตปัญหา ที่ใช้โสอัตถลัทโธ หรือ สัพพพุทธา แทนอติเรกนั้น ก็คือถือเอาแบบรัชชกาลที่ ๔ ทิ้งแบบสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ไม่ถวายอติเรกนั้นเอง ก็เมื่อจะไม่ถวายแล้วนิ่งเสียก็แล้วกัน จะต้องไปหาอะไรแทนทำไม พูดถึงอติเรกทำให้นึกต่อไปว่า ในที่ออกพระนามหนหลัง ซึ่งมีคำ ปรเมนท ปรมินท เสริมหน้าขึ้น เห็นจะเปนทูลกระหม่อมทรงเสริม หนหน้าจำได้ว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงเติม รามาธิปติ เข้า เดิมคงไม่มีพระนามจำเพาะทั้งสองแห่ง จนเอาไปใช้ถึงเมืองลังกาก็ได้ สำนวนที่เรียงความไว้แต่เดิมดูก็ชอบกลอยู่หนักหนา ขึ้นต้น อติเรก วสสตํ ชีวตุ ว่าถึงสามกลับ ทีฆายุโก โหตุ อะโรโค โหตุ ว่าสองกลับ สุขิโต โหตุ ว่าหนเดียว ดูเปนเพลงที่ทำกันสมัยใหม้ในเพลงเดียวทำสามชั้น แล้วก็สองชั้น แล้วก็ชั้นเดียว ซึ่งเรียกกันว่า เพลงเถานั่นเทียว

พระดำริเรื่องวีชนีนั้นสมเหตุสมผลดี แต่ก็เปนสันนิษฐาน เวลานี้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านยังไม่ละการสอบค้นหาหลักฐานเอาจริงเอาจัง เมื่อวันที่ ๕ ที่ล่วงมาแล้วนี้เอง ท่านยังบอกรายงานว่าท่านพบหนังสือตอนที่กล่าวถึงพระเจ้าจะเข้าสู่พระปรินิพพาน พระอรหันตสาวกชื่อใด ท่านบอกออกชื่อแต่จำไว้ไม่ได้ เปนผู้นั่งอยู่งานถวาย แต่ที่นั้นกล่าวเพียงกิริยาว่าโบกปัด จะโบกปัดด้วยวัดถุสิ่งใดได้กล่าวไม่ ก็เมื่อท่านยังค้นหาหลักที่แน่อยู่ ดูก็ยังไม่ควรจะเอาความคิดสันนิษฐานไปปรึกษาท่าน

ข้อที่ชาติมนุษย์จะสูญไป ทรงวินิจฉัยว่าภาษาจะต้องศูญไปก่อนนั้น เห็นเปนข้อสำคัญอันถูกแน่แท้ทีเดียว เขมรทุกวันนี้ภาษาเขาก็ยังมีอยู่ แต่ประหลาดหนักหนาที่ภาษาเขมรกับภาษาไทย มีคำที่เหมือนกันอยู่เปนอันมาก เปนแน่ว่าทั้งสองฝ่ายมีดินแดนอยู่ขนาบคาบเกี่ยวกันย่อมต้องต่างยืมคำกันใช้ ลางคำก็ตัดสินได้ว่าไทยยืมคำเขมรมาใช้ หรือเขมรยืมคำไทยไปใช้ แต่ลางคำก็ตัดสินไม่ได้ว่าใครยืมใครใช้ ยังพวกมอญก็ประหลาดอยู่ มอญในนี้ถึงจะเปนแต่พวกลูกหลานมอญซึ่งยกเข้ามาอยู่เมืองไทย พูดไทยได้คล่องทุกคน แต่เขาก็ยังพูดมอญกันอยู่ในพวกเขาออกจ้อไม่สูญหาย เคยได้ทราบจากพวกมอญในนี้นานมาแล้วว่าพูดกับมอญเมืองนอกกลางประโยคก็ไม่เข้าใจกัน เหตุนั้นได้เคยคิดสันนิษฐานว่าภาษามันเดิน มอญนอกกับมอญในอยู่ไกลกันจึงทำให้ภาษาผิดกันไป แต่มาได้ฟังตรัสเล่าคราวนี้ว่ามอญนอกทิ้งภาษาของตนไปใช้ภาษาพะม่า จนถึงลางคนไม่รู้ภาษามอญเสียเลยก็มี อยู่ข้างหนักมือมาก คิดไม่เห็นว่าอะไรทำให้เปนเช่นนั้น มอญทั้งหลายก็เปนมอญด้วยกัน ส่วนที่มาอยู่กับไทยทำไมจึงยังพูดทั้งสองภาษา ส่วนที่อยู่กับพะม่าทำไมจึงทิ้งภาษาของตนไปพูดพะม่าอย่างเดียว

อ่านพระนิพนธ์เรื่องเที่ยวเมืองพะม่าคราวนี้ มีข้อจับใจในเรื่องเผาศพอยู่เปนอันมาก รู้สึกว่าเปนประเพณีเดียวกันทั้งนั้น หากแต่บ้านเมืองอยู่ห่างกันประเพณีจึงผิดเพี้ยนกันไป แม้กระนั้นก็ยังมีรอยให้เห็นได้ แต่จะคุมเปนรูปเข้าไม่ติด ในการผูกรูปสัตว์ก็ผูกกันทุกบ้านทุกเมือง ทางพะม่าเคยเห็นรูปฉายผูกเปนช้างยืนสูงใหญ่ตระหง่านอยู่กลางทุ่ง มีอะไรตั้งอยู่บนหลัง มีหลายตัวด้วยไม่ใช่ตัวเดียว เจ้าของรูปฉายอธิบายว่างานศพสมภาร ทั้งนี้ก็ต้องกันกับที่ตรัสเล่า แล้วได้ยินเขาเล่าถึงทางลานนาลานช้าง ว่าทำรูปสัตว์ใหญ่โตเหมือนกัน บนหลังสัตว์มีวอตั้งศพในนั้น มาทางกรุงเทพฯ ก็ทำรูปสัตว์หิมพานขนาดเท่าม้า ชั้นแรกให้เจ้าขี่ ชั้นหลังเปลี่ยนเปนตั้งบุษบก ใส่ไตรที่บนหลัง ทางเขมรเห็นรูปฉายเมื่องานพระเมรุพระเจ้าศรีสวัสดิ มีรูปสัตว์หิมพานเหมือนกัน แต่โตเท่าสุนัขเท่านั้น การจุดลูกหนู วิ่งตามสายก็ดี วิ่งด้วยลูกล้อก็ดี หรือจุดฝักแคก็ดี เปนลักษณอันเดียวกันทั้งนั้น ลูกหนูและฝักแคย่อมตกแต่งกันต่าง ๆ อย่างประณีต ฝักแคของเราร้อยมาออกที่ปากนาค นาคเพลิงที่ทรงลั่นก็ดูทีจะทำให้เข้าชุดกับนาคฝักแคนั้นเอง แท้จริงก็คือทรงตีเหล็กไฟนั้นเอง แต่คิดทำเปนเครื่องตีให้ง่ายขึ้น เดี๋ยวนี้เปลี่ยนใช้ไม้ขีดไฟเสียแล้ว การใช้ไฟฟ้าซึ่งจุดด้วยแว่นใช้แต่ชั้นพระศพพระบรมวงศ์ขึ้นไป เข้าใจว่าทูลกระหม่อมทรงพระราชดำริจัดขึ้น นอกนั้นก็ทรงลั่นนาคเพลิงทั้งนั้น ถ้าเสด็จไปเมรุก็ทรงลั่นที่เมรุ ถ้าไม่เสด็จไปเมรุมหาดเล็กก็ตั้งถวายในพระที่นั่ง ทรงลั่นแล้วมหาดเล็กก็นำเอาเพลิงไป ในการที่เอาเพลิงไปเลี้ยงไว้ที่วัดพระแก้วนั้น เปนการจัดขึ้นภายหลังเพื่อจะให้เบา พระราชภาระที่ต้องทรงลั่นบ่อย ๆ ด้วยการเผาศพมากขึ้น เพราะขุนนางมากขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายเท่า ธูปเทียนนั้นเปนเครื่องขมาศพแน่ ไม่ใช่เผาศพ ส่วนเผาศพอยู่ที่ฝักแคและลูกหนู ดูเหมือนที่เขาเล่าถึงการเผาศพทางลานนา เขาจุดลูกหนูก่อน เมื่อไฟติดฟืนแล้วญาติจึงนำธูปเทียนเข้าไปใส่ ในระเบียบหน้าที่มหาดเล็กของโบราณอันได้ตีพิมพ์ไว้ ในหนังสือ ปฐม กกา หรือปฐมมาลา ของหมอปลัดเลนั้น มีสั่งให้มหาดเล็กจัดเครื่องพระราชทานเพลิง เครื่องขมาศพกับท่อนจันทน์ เห็นได้ว่าเครื่องขมาศพสำหรับทรงขมา ท่อนจันทน์นั้นคือฟืนสำหรับเผา ที่เดี๋ยวนี้ไม่มีท่อนจันทน์แต่มีดอกไม้จันทน์ขึ้นนั้น เห็นได้ว่าออกจากท่อนจันทน์นั้นเอง การเผาศพทางลานนาลานช้างได้ยินว่าเขาใช้ฟืนกองใหญ่ ไฟแรงไม่มีกลิ่นศพเลย พระยาปทุมเทวาลงมาเยี่ยมกรมหลวงประจักษ์ มาเห็นการเผาผีในกรุงเทพฯ เข้า บ่นอู้ว่าชาวกรุงนี้ปิ้งผี ไม่ใช่เผาผี เหมนจะตาย เรื่องเหล่านี้เปนบรรยายถวายเลเพลาดพาดเพราะคุมไม่ติด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๕ พระองค์เจ้าพิสมัยพิมลสัตย์ ประสูติวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๔ สิ้นพระชนม์ วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๙

  2. ๒. พระยาปทุมเทวาภิบาล (ยอแซ นาทะทัต)

  3. ๓. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๔ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ต้นราชสกุล ทองใหญ่

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ