วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์แล้ว จะทูลสนองความในลายพระหัตถ์เปนเบื้องต้น

โกศ ๔ เหลี่ยมหุ้มขาวอย่างเช่นทรงพระศพพระองค์เจ้าปฤษฎางค์นั้น ได้ยินว่าทูลกระหม่อมทรงคิดแบบขึ้นแต่ยังทรงผนวช เพราะเหตุเจ้าฟ้าอาภรณ์ประชวรสิ้นพระชนม์ในระหว่างเปนโทษเนื่องกับคดีหม่อมไกรสร เมื่อตอนปลายรัชชกาลที่ ๓ พระศพต้องฝัง (และสันนิษฐานต่อไปว่า) ต้องใส่หีบเมื่อเผา ตามประเพณี ทูลกระหม่อมทูลขอและได้พระราชทานอนุญาตให้เปนเจ้าภาพจัดการปลงพระศพเจ้าฟ้าอาภรณ์ ตรัสว่าพระศพเจ้าฟ้าไม่เคยใส่หีบ แต่จะเรียกโกศหลวงก็ไม่ได้ จึงทรงพระราชดำริให้ทำโกศขึ้นอย่างใหม่ ตัวโกศทำเปน ๔ เหลี่ยมหุ้มผ้าขาว ตอนฐานรองโกศจะเปนอย่างไรไม่ทราบ แต่ผ้าโกศนั้นใช้แผ่นกระดานปิดปากโกศ แล้วมีฉัตรผ้าขาวซ้อนกัน ๓ ชั้นรูปเปน ๔ เหลี่ยมเหมือนกับโกศตั้งต่อขึ้นไป ระไบฉัตรชั้นล่างปรกปากโกศ จึงดูเหมือนฉัตร ๓ ชั้นนั้นเปนฝาโกศ เรียกกันว่า “โกศลังกา” เพราะเหตุใดหาทราบไม่ ในรัชชกาลที่ ๔ เอาแบบมาใช้เปนโกศหลวงอีกอย่างหนึ่งสำหรับทรงพระศพพระเจ้าลูกเธอที่สิ้นพระชนม์เมื่อยังทรงพระเยาว์ แล้วขยายออกไปถึงใช้ทรงพระศพพระองค์เจ้าวังหน้าและพระองค์เจ้าตั้ง แต่มิได้ใส่ศพบุคคลชั้นอื่นนอกจากเจ้า (น่าสันนิษฐานว่า เมื่อก่อนรัชชกาลที่ ๔ พระศพพระองค์เจ้าวังหน้าและพระองค์เจ้าวังหลังจะใส่หีบ ต่อที่ได้รับกรมหรือพระราชทานเกียรติยศพิเศษ จึงจะได้ใส่โกศ)

ฝาโกศลังกามาเลิกฉัตร ๓ ชั้น เปลี่ยนเปนฝาทรงมันเหมือนโกศอย่างอื่นในรัชชกาลที่ ๕ แต่คงเปนรูป ๔ เหลี่ยมและหุ้มผ้าขาวตามตัวโกศ (ฐานก็เห็นจะแก้เข้าแบบโกศอื่นในคราวเดียวกัน) หม่อมฉันเข้าใจจ่าการแก้ฝาโกศลังกานั้น จะแก้เมื่องานศพหม่อมเจ้าหญิงประวาศสวัสดี ปีใดจำไม่ได้ เมื่อเธอสิ้นชีพยกศพลงหีบไปก่อฝังไว้ที่วัด ครั้นเมื่อจะพระราชทานเพลิงทรงพระกรุณาโปรดให้ทำงานศพเสมอเปนพระองค์เจ้า เพราะเปนสะใภ้หลวง เมื่อทำศพหญิงประวาศนั้นเองจะเปนในสมัยกรมหมื่นปราบหรือสมัยเจ้าพระยาธรรมาจำไม่ได้แน่ จึงแก้แบบฝาโกศตามพระประสงค์ของกรมขุนพิทยลาภ แล้วใช้เปนแบบสืบมา แต่ลองประกอบโกศลังกานั้นเกิดมีขึ้นแต่ครั้งพระศพพระองค์เจ้าสิงหนาท ได้ยินว่าเจ้าพระยาเทเวศรไปทูลขอต่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบ จึงทรงประดิษฐขึ้น

หนังสือแจกงานศพพระยาสุริยานุวัตรนั้น บางทีเจ้าภาพจะส่งมาให้หม่อมฉันด้วย เพราะหม่อมฉันได้ส่งเครื่องขมาไป ไม่ต้องประทานก็ได้ แต่ก็ขอบพระคุณอยู่นั่นเอง

ในลายพระหัตถ์ตรัสถึงพระราชทานเพลิงศพด้วยจุดฝักแค ทำให้หม่อมฉันนึกขึ้นถึงชะนวนฝักแคพระราชทานเพลิงศพ ว่ามีอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ทำเปนตัวนาค เปนแต่เอาไม้รวกทั้งลำยาวสัก ๒ ศอก ทลวงข้อขัดเกลา เอากระดาษทองปิดเปนปล้องๆ เหมือนอย่างดอกไม้น้ำที่เรียกว่า “เป็ดไซ้แหน” พาดบนหลักแลหัวชะนวนอยู่ที่ปลายกระบอกอย่างเดียวกับที่ปากนาค จะเรียกว่าอะไรไม่ทราบ แม้แต่ที่หม่อมฉันได้เห็นเมื่อใดจะทูลยืนยันก็ไม่ได้ แต่มีเช่นนั้นเปนแน่ จึงมาคิดสันนิษฐานว่าอย่างนั้นเปนแบบเดิม ที่ทำเปนตัวนาคประดิษฐขึ้นภายหลัง

อติเรกนั้น แบบเดิม “อติเรกวสฺสสตชิวะ” ทูลกระหม่อม ทรงเติมคำ “ตุ” และที่ตรงคำ “มหาราชวรสฺส” ทูลกระหม่อมทรงเพิ่มคำ “ปรเมนฺท” เข้าข้างหน้า หม่อมฉันเห็นว่าคงเปนเพราะในสมัยนั้นต้องถวายอติเรกพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์ ให้เพิ่มคำ ปรเมน สำหรับพระองค์ ใช้คำ ปวเรนท ถวายอติเรกพระบาทสมเด็จพระปื่นเกล้าฯ อยู่ในเรื่องที่เกิดคำ “บรม” กับ “บวร” นั่นเอง ถึงรัชชกาลที่ ๕ เปลี่ยนคำปรเมนทเปนปรมินฺท โดยไม่มีความจำเปนเหมือนเมื่อรัชชกาลที่ ๔ ความจึงกลายเปนแต่อย่างให้รู้ว่ามิใช่พระองค์ก่อนถึงรัชชกาลที่ ๖ สมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ต้องพระประสงค์จะให้ใช้คำ “รามาธิบดี” ในอติเรกด้วย สมเด็จพระมหาสมณจึงเอาเข้าซ้อนหน้าคำ “มหาราชา” ข้างต้นว่า “รามาธิปติ มหาราชา” แต่มางดคำรามาธิปติเสียเมื่อรัชชกาลที่ ๗ จึงเหลือแต่ “ปรมินฺท มหาราชฺวรสฺ”

ที่มอญเมืองไทยยังพูดภาษามอญได้อยู่มากนั้น คงเปนเพราะเหตุที่มีตำบลบ้านอยู่แต่พวกมอญเปนแห่งๆ มอญอยู่รวมกันมากก็พูดมอญกันได้สดวก ถึงกระนั้นก็ต้องเรียนภาษาไทยให้รู้มาแต่เด็กพูดได้ทั้ง ๒ ภาษาทุกคน แต่เมื่อมอญคนไหนแยกไปสมพงศอยู่ด้วยกันกับไทยหรือฝรั่ง เกิดลูกหลานก็ไม่รู้ภาษามอญ ๆ ในเมืองไทยคงจะหมดไปเหมือนกัน หม่อมฉันเคยทราบจากพระสุเมธมุนี ว่าในวัดชนะสงครามแต่ก่อนมีพระพูดมอญได้ด้วยกันมาก เดี๋ยวนี้มีสัก ๒๐ องค์เท่านั้น หัวเมืองมอญของพะม่าทางข้างใต้ก็น่าจะเปนเค้าเดียวกับในเมืองไทย

เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ มีพระมาหาหม่อมฉัน ๔ องค์ เปนพระราชาคณะเจ้าคณะจังหวัดพัทลุง (หม่อมฉันไม่เคยรู้จักมาแต่ก่อน) องค์ ๑ พระครูวัดมัชฌิมาวาสเมืองสงขลา เคยรู้จักกันแล้วองค์ ๑ เปรียญวัดมัชฌิมาวาส (ไม่เคยรู้จัก) องค์ ๑ กับพระมหาทองสืบวัดมงกุฎกระษัตริย์ ซึ่งเคยชอบกับหม่อมฉันมาแต่ก่อนองค์ ๑ ได้สนทนากับพระมหาทองสืบมากกว่าองค์อื่น ถามเธอถึงสวด โสอัตฺถลทฺโท แลสพฺพพุทฺธา เธอตอบว่าเธอเปนเพียงเปรียญมิใคร่ได้รับนิมนต์ในงานพิธีหลวง แต่เคยเข้าไปได้ยินสวด สพฺพพุทฺธา ครั้ง ๑ แต่สวด โสอัตฺถลทฺโท หาเคยได้ยินไม่ ได้ทราบจากเธอเรื่องหนึ่งซึ่งหม่อมฉันออกรำคาญ เคยได้ยินจากพระองค์หญิงวัลภาเทวีแล้วว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์จะเวรคืนหน้าที่แทนมหาสังฆปรินายก มาได้ยินชัดเจนยิ่งขึ้นจากมหาทองสืบ ว่าได้ลาแล้วถึง ๓ ครั้ง และได้ปรึกษากันในที่ประชุมมหาเถรสมาคม ไม่มีพระมหาเถรองค์ใดที่จะรับเปนแทน จึงยังติดอยู่เพียงนั้น ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์อยากออกนั้นก็ไม่ปลาดอันใดด้วยท่านต้องรับภาระอันลำบากมานานแล้ว หม่อมฉันรำคาญอยู่ที่จะตกลงกันอย่างไร ถ้าเสื่อมกำลังมหาเถรสมาคม พระสาสนาจะพลอยเสื่อมทรามหนักไปด้วย คดีก็เคยมีเช่นเรื่องสาสนสมบัติ หากมหาเถรสมาคมมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เปนอาทิ ยืนยันแขงอยู่จึงรอดมาได้

คราวเมลนี้หม่อมฉันไม่สามารถจะถวายเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าต่อได้ ด้วยแต่งขึ้นบ้างแล้วไม่ชอบ จะแก้ต้องแต่งใหม่ทำไม่ทันคราวเมล ต้องขอทูลผัดไปถวายคราวหน้า

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. หม่อมเจ้าประวาศสวัสดี โสณกุล ต่อมาได้เป็นชายา จอมพล กรมหลวงนครไชยศรี

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ