วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๔๗๙

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

เริ่มแรกขอประทานกราบทูลแสดงความเศร้าเสียใจ ในการที่กรมพระกำแพงเพชรสิ้นพระชนม์ก่อน ได้พบสนทนากันเบิกบานใจเมื่อปลายเดือนก่อนสามสับดาหะเท่านั้นเองก็ได้ข่าวสิ้นพระชนม์ สลดใจเหลือเกิน เจ้านายเหลือน้อยแล้วก็ซ้ำร่อยหรอไปอย่างรวดเร็ว

ลายพระหัดถ์ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ประทานไปพร้อมด้วยพระนิพนธ์เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๒ วินิจฉัยเคราะห์กรรมเมืองพะม่า (ท่อนที่ ๑) กับรูปฉายพระเจ้ามินดงสำหรับประกอบกัน ได้รับประทานด้วยดีแล้ว เปนพระเดชพระคุณล้นเกล้า จะกราบทูลสนองข้อความในลายพระหัดถ์ก่อน

เรื่องกฎมนเทียรบาลพะม่าซึ่งเกล้ากระหม่อมคิดกราบทูลมานั้น เปนทางที่คิดหลีกให้พ้นทางที่ทรงรังเกียจที่สุดที่จะทำได้ แต่เมื่อทรงพระดำริเห็นว่ามากเกินไป ให้เปนแต่เพียงว่าประทานต้นฉะบับแก่เกล้ากระหม่อม แล้วให้เกล้ากระหม่อมไปติดต่อกับหอสมุด แต่งคำนำของเกล้ากระหม่อมลงไปเท่านั้นเปนพอเมื่อต้องพระประสงค์เพียงเท่านั้นก็เปนการที่จะปฏิบัติได้โดยง่าย จะทำตามพระประสงค์ทุกประการ ส่วนการแต่งคำนำนั้นเกล้ากระหม่อมไม่อยากพูดยาว ด้วยเปนทางประกาศแก่สาธารณชน ย่อมมีได้มีเสียอยู่ในนั้น จึงอยากจะพูดแต่เล็กน้อยหวุบหวับก็พ้นไป แต่อย่างไรก็ดี เกล้ากระหม่อมต้องร่างมาถวายทรงพิจารณาก่อน

ได้ตัดหนังสือพิมพ์ที่มีใช้คำ “ผัด” เปน “ผลัด” มาถวายทอดพระเนตร คนสมัยใหม่เดี๋ยวนี้ใช้กันผิดไปอย่างนี้ทั้งบ้านทั้งเมือง ฝ่าพระบาทไม่ได้ทรงหนังสือสัพเพเหระของคนสมัยใหม่ จึงไม่ทรงรู้สึกทราบในพระทัย ที่เขาแต่งสักวาว่าในนั้นเปนเจตนาดี เพื่อตักเตือนให้ใช้ให้ถูก และก็เปนความคิดดีด้วย ที่แต่งเปนทางตลก เพราะจะจับใจผู้รู้หัวเราะคนที่ใช้ผิดอยู่เนือง ๆ ทำให้คนที่ใช้ผิดนึกอาย แล้วขยับขยายแก้ตัวใช้ที่ถูก ถ้าเปนแต่พูดทักไปเปรย ๆ ก็คงจะผ่านพ้นไป ไม่มีใครสังเกต ไม่ได้ผลอะไร

<img>

พระนิพนธ์เรื่องเที่ยวเมืองพะม่าคราวนี้ดีอย่างยิ่ง เมื่ออ่านแล้วอาจหยั่งรู้ความจริงในความเปนไปแห่งเมืองพะม่า โดย “เคราะห์จำเพาะเปน” ได้ดีมาก น่าสงสาร

รูปฉายพระเจ้ามินดงซึ่งทรงพระเมตตาโปรดประทานไปคราวนี้ สบช่องที่ต้องใจมากที่สุด ด้วยมิใช่แต่จะได้เห็นลักษณแห่งพระเจ้าแผ่นดินเมืองพะม่าเท่านั้น ยังเปนที่ระลึกถึงตัวเกล้ากระหม่อมเองเมื่อยังเล็กอยู่อีกด้วย เมื่อประมาณอายุเกล้ากระหม่อมได้สัก ๑๑ หรือ ๑๒ ขวบ ให้มีใจรักการวาดเขียนเปนกำลัง เวลาขึ้นไปบนเพื่อรับใช้ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็เอาสมุดติดกระเป๋าขึ้นไปด้วย แล้วก็ดูอะไรต่ออะไรอย่างเหลวแหลกกำหนดใจจำมาพอมีเวลาว่างก็ควักสมุดออกมาเขียนตามที่จำมาได้ วันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จมาทอดพระเนตรเห็นเข้า เก็บไม่ทัน ตรัสเรียกเอาไปทอดพระเนตร คงทรงพิจารณาเห็นว่าจะมีประโยชน์ จึงเสด็จไปหยิบหนังสือพิมพ์ “อิลลัสเตรชันลอนดอนนิวส์” หรือ “กราฟิก” อะไรมาฉะบับหนึ่ง ซึ่งมีรูปพระเจ้ามินดง คือรูปนี้เอง แต่เขาเอาไปถ่ายทำเปนรูปแกะตีพิมพ์เพราะเวลานั้นทำรูปฉายเปนพิมพ์ยังไม่ได้ ทรงเปิดพระราชทานแล้วตรัสสั่งให้เขียนถ่ายรูปนั้นถวาย เกล้ากระหม่อมเหมือนจะตาย ตั้งแต่เกิดมาก็ยังไม่เคยเขียนรูปผู้รูปคนเลย แต่จะทำอย่างไรได้ ต้องจำเพียรเขียนเลียนถวายช่างรู้สึกยากเสียเหลือล้นพ้นประมาณ ดูเหมือนทำอยู่ถึงสองหรือสามวันจึงสำเร็จได้นำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย ตามที่กราบทูลทั้งนี้ ใช่จะคุยว่ารูปที่เขียนคราวนั้นดีปานใดก็หามิได้ เปนแต่จะกราบทูลให้ทรงทราบว่ารูปพระเจ้ามินดงนี้เองที่เปนสิ่งนำทางให้รู้เขียน โดยพระมหากรุณาแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเปนปฐม แล้วก็ตรัสใช้ให้เขียนอะไร ๆ ต่อมาจนทำการได้ดี รู้สึกว่าที่ทำการได้นั้นเพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงอุปถัมภ์ส่งเสริม เปนพระเดชพระคุณอยู่ล้นเกล้า ฯ

สังวาลย์ในรูปพระเจ้ามินดงนั้นงามจริง ๆ สังวาลย์ที่แยกเปนสองสายสามสายชะนิดนั้น เห็นเทวรูปทางอินเดียมี แต่มีทางเดียวทางบ่าซ้ายไม่มีสองบ่าไขว้กัน เห็นรูปนี้แล้วทำให้นึกถึงคำในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งกล่าวด้วยเครื่องราชูปโภคว่า “สเอ้งอุตรีอุตรา” เกล้ากระหม่อมคิดว่าจะเปนสังวาลย์สวมเบื้องซ้ายเบื้องขวาไขว้กัน แต่ไปพูดกับท่านผู้รู้ภาษาบาลี ท่านไม่ยอมว่าคำ “อุตรีอุตรา” จะเปนซ้ายเปนขวาไปได้ แต่เมื่อเห็นรูปนี้เข้าทำให้เชื่อว่าความคิดของตนถูกเข้าไปกว่าข้อนตัว อันเครื่องต้นซึ่งประกอบด้วยชายไหวชายแครงนั้นไม่ไหว ไม่สำหรับคนแต่ง อย่าว่าแต่พะม่าจะหลีกหนีเลย พระมหากษัตริย์ของเรา แม้บรมราชาภิเษกก็ไม่ได้ทรง ใช้แต่พระมหาพิชัยมงกุฎเท่านั้น

องค์เหมเสด็จจะไปชะวา ออกมากับรถไฟเมล์นี้ ผ่านปินังไปลงเรือที่สิงคโปร ถ้ามีเวลาพอเธอคงแวะมาเฝ้าเยี่ยมเยียนฝ่าพระบาท

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ