วันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๖ มีนาคม ๒๔๗๙

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ได้รับประทานแล้ว

เรื่องหม่อมเจ้าปิย พร้อมทั้งเรื่องจางวางรอด ซึ่งทรงทราบเรื่องมาก ตรัสเล่าประทานไปนั้น สนุกดี นึกปลาดใจที่จางวางรอดกับลูกน้องช่างกล้าหาญเสียเหลือเกิน สมบัติของหม่อมเจ้าปิยซึ่งกรมศิลปากรรับซื้อไว้นั้น พระยาอนุมานก็ตื่นหนังสือ บอกเกล้ากระหม่อมว่าหนังสือดี ๆ มีมาก เกล้ากระหม่อมก็อดไม่ได้ ได้พูดตักเตือนว่า ระวังเถิด ลางทีจะมีหนังสือที่ไม่ควรเชื่อเจือปนอยู่ในนั้น

หนังสือแจกงานศพพระยาโบราณ เชื่อแน่ว่าเจ้าภาพคงจะจัดส่งมาถวายในโอกาสอันควรไม่ละลืม แล้วจะทำนายต่อไปว่า เขาคงจะส่งของอันเปนที่ระลึกมาถวายอีกด้วย

ถ้อยคำเจ้าสมัย ที่ว่าท้อใจในการที่จะเข้าวิสาสะกับเกล้ากระหม่อม ด้วยได้ทราบจากเจ้าโป๊ะว่าต้องกระทำความเพียรอยู่ถึงสี่ปี ดูเหมือนหนึ่งพวกอสูรกระทำความเพียรเพื่อขอพรพระผู้เปนเจ้าฉะนั้น เกล้ากระหม่อมรู้สึกว่าต้องอธิกรณ์เปนความเสียหายอยู่ อยากจะกลับตัวปลงอาบัฏิสำรวมระวังต่อไป แต่คำหาในอธิกรณ์นั้น เกล้ากระหม่อมจะต้องทูลปฏิเสธว่า นัตถิภันเต เกล้ากระหม่อมเองก็มีใจใคร่แสวงวิชาช่างไม่ว่าของชาติใด จะได้มากหรือน้อยก็เปนไปตามฐานของผู้สมัครเล่น เพราะเหตุดังนั้นเมื่อเจ้าโป๊ะเธอได้วิชาช่างทางฝรั่งเข้ามา เกล้ากระหม่อมก็มีใจใคร่ที่จะวิสาสะกับเธอเท่ากับที่เธอใคร่จะวิสาสะกับเกล้ากระหม่อมเหมือนกัน เมื่อใจต่างตรงกันเช่นนั้นก็เกิดความชอบพอกัน เห็นจะภายในไม่ถึงเดือน ไม่ใช่ตั้งปี

ปราสาทพลับพลา ซึ่งเจ้าสมัยจะไปคุมที่แสดงพิพิธภัณฑ์ในปารีสนั้นเกล้ากระหม่อมก็ได้ทราบข่าวจากลูกชายไส เธอแสดงความหนักใจว่าปราสาทนั้นกรมศิลปากรทำถอดหมายเข้าบรรจุหีบ เจ้าสมัยไม่ได้เห็นนอกจากได้รับแต่กระดาษ แล้วจะไปคุมด้วยใช้กุลีฝรั่งที่เมืองนอก น่ากลัวจะลำบาก เกล้ากระหม่อมได้ไล่เลียงว่าประสาทนั้นทำเปนอย่างไร เธอบอกว่าเหมือนเมรุ โตก็เท่าเมรุ กลางเมรุมีบุษบก เอ๊ะ ในบุษบกตั้งอะไร ถามเธอด้วยความตกใจสงสัย เธอบอกว่าตั้งข้าว สิ้นเคราะห์ไปเถิด ให้นึกว่ามันไม่เหมาะจะเปนที่ตั้งของแสดงพิพิธภัณฑ์เสียดอกกระมัง

พระพรหมพิจิตรเห็นจะถนัดเมรุมาก มีเรื่องที่ควรจะเล่าถวายพ่วงไปด้วย วันหนึ่งเจ้าพระยายมราชพูดกับเกล้ากระหม่อมว่า เขาวานให้เปนธุระช่วยจัดการสร้างสานหลักเมืองที่สุพรรณบุรีใหม่ ท่านได้ว่าวานหลวงวิจิตรวาทการ อธิบดีกรมศิลปากร ไปตรวจและคิดแบบที่จะก่อสร้าง เมื่อทำแบบแล้วจะขอนำมาหารือเกล้ากระหม่อมขอความเห็น ต่อมาอีกนาน วันหนึ่งเจ้าพระยายมราชมาหา หอบแบบพาพระพรหมพิจิตรมาด้วย ว่าจะได้เป็นผู้อธิบาย เมื่อคลี่แบบออกดูก็เห็นเปนเมรุหลังหนึ่ง เกล้ากระหม่อมจึ่งสอบถามว่า สิ่งที่จะตั้งในนั้นเปนอะไร จะเปนของดูได้สี่ด้านสมกับแบบสานที่คิดทางขึ้นสี่ทิศนั้นแล้วหรือ สานเก่าเปนอย่างไร มีสิ่งใดอยู่บ้าง เทวรูปเล็กๆ มีหรือไม่ ถ้ามีจะเอาขึ้นไปตั้งไว้บนสานใหม่ อันมีช่องคูหาใหญ่สี่ทิศ ไม่มีบานปิด จะรักษาไม่ให้หายไปได้โดยง่ายแล้วหรือ อนึ่งสานซึ่งราวกับว่าเมรุนี้ตั้งอยู่อย่างไร มีที่แคบกว้างเท่าไร มีถนนหนทางติดต่อทางไหน คำถามเหล่านี้ไม่มีใครตอบได้สักอย่างเดียว เกล้ากระหม่อมจึงว่า ถ้าเช่นนั้นก็คือเขียนรูปเมรุมาให้เกล้ากระหม่อมตรวจว่างามหรือยัง เกล้ากระหม่อมก็จะบอกได้ว่างามแล้ว เจ้าพระยายมราชรู้สึกเดือดร้อน ว่าจะแต่งคนขึ้นไปตรวจ แล้วก็เงียบหายไปจนบัดนี้

ช่างที่ควรจะนับว่าเปนช่างดี จะต้องประกอบด้วยองค์คุณสองประการ คือต้องประกอบด้วยฝีมือดีอย่างหนึ่ง ประกอบด้วยความคิดดีรู้ที่ควรมิควรอีกอย่างหนึ่ง ประการหลังนั้นแหละสำคัญมาก ถ้ามีแต่ฝีมือดีก็จะเปนได้แต่ลูกมือเสมอไป ต้องมีความคิดด้วยจึงจะเลื่อนขึ้นเปนนายช่างได้

เมื่อกล่าวถึงข้อนี้ทำให้นึกถึงครอกต๋ง แม่โตหยิบดาราตราจักรีออกมาวางไว้ เตรียมจะติดเสื้อให้เข้าไปในงานรัชชมงคล เห็นเข้าก็จับตาพาให้พิจารณา รู้สึกในใจว่าครอกต๋งเธอเปนช่างที่มีความคิดรู้ดีรู้ชั่วอย่างสูง สมควรจะไหว้ได้ ที่จริงเกล้ากระหม่อมก็รู้ตัวมานานแล้วว่าสู้เธอไม่ได้

หม่อมเจิมกลับเข้าไปถึงกรุงเทพฯ ไปหาเกล้ากระหม่อม แต่ไม่ได้พบ เพราะเกล้ากระหม่อมเข้าวังในการพระราชพิธีรัชชมงคลเสีย แกฝากของแก่ลูกไว้ให้ มีพัดของฝ่าพระบาทประทานไปเล่มหนึ่ง กับรูปท้องนาทำด้วยฟางตัดประดับของแกเอาเข้าไปฝากเองรูปหนึ่ง เปนของพึงชมทั้งสองอย่าง แต่ของฝ่าพระบาทแพ้ของหม่อมเจิม ด้วยน่าชมน้อยกว่า แม้กระนั้นก็ดี ย่อมรู้สึกน้ำพระทัยได้ว่าทรงพระเมตตารำลึกถึงเกล้ากระหม่อมเปนอันมาก เปนพระเดชพระคุณล้นเกล้า ขอถวายบังคมแทบฝ่าพระบาท ให้หลงใหลในรูปท้องนาซึ่งประดับด้วยฟางนั้นเปนอันมาก ที่ตรงฝีมือนั้นไม่ปลาดอะไร เปนของทำได้ง่าย ๆ ที่ปลาดนั้นอยู่ที่ความคิด คิดดีจริงๆ นั่นแหละแสดงว่าคนคิดเปนนายช่างอย่างที่กราบทูลมาแล้วทีเดียว ทำง่ายด้วย ดูดีด้วย

งานรัชชมงคลไม่มีอะไรจะกราบทูล เพราะเปนการทำตามเคย มีแปลกจากที่เคยทำไปแต่เขาเอาการตั้งสมณศักดิ์ ซึ่งเคยตั้งในงานเฉลิมพระชันษาย้ายมาตั้งในงานรัชชมงคล พระสงฆ์ซึ่งได้รับตั้งสมณศักดิ์เปนตำแหน่งในหัวเมืองเปนพื้น พอรับตั้งแล้วสังฆการีเขาก็รับเอาพัดมาปักไว้ ณ ที่นั่ง ส่วนองค์พระสงฆ์นั้นลงไปครองไตร นั่งพิจารณาดูพัดซึ่งเขานำมาปักไว้เปนแถว รู้สึกเห็นพัดชะนิดที่เรียกว่าพุดตานสลับสีเปนงามล้ำเลิศ ใจกลางเปนผ้าส้ารบับ กลีบบัวชั้นในสีน้ำเงิน กลีบบัวชั้นนอกสีแดง มีปักทองแต่ลวดขอบล้อมลาย ดูเห็นจะแจ้งงามดีกว่าพัดพุดตานอย่างเอก ที่ปักลายทองถี่เต็มไปทั้งตัวนั้นเสียอีก เห็นได้ว่าเปนของที่นายช่างเขาคิด ของที่จัดว่าอย่างดีนั้นเห็นได้ว่าคนไม่ใช่ช่างเขาคิดแก้ไขเปลี่ยนแปลง เช่นพัดแฉกตาดเปนต้น เอาทองปักทอง จะหางามได้ที่ไหน พื้นกับลายกระทบกันเห็นอะไรไม่ได้ เปนแต่ได้ความภูมิใจว่าได้ใช้ของดีเลิศทำหมดทั้งสิ้นด้วยกันเท่านั้น

คำที่เรียกว่าพัดพุดตานนั้นเห็นว่าผิด เพราะที่จริงเปนดอกบัวไม่ใช่ดอกพุดตาน อยากจะหาความว่าเรียกชื่อพัดพุดตานจะเกิดขึ้นไม่แก่กว่ารัชชกาลที่ ๓ เพราะลายเทศพุดตานเกิดขึ้นในรัชชกาลนั้น เปนแฟชั่นที่ใช้ชื่อนั้นตลอดไป จนถึงพระที่นั่งพุดตานด้วย น่าสงสัยว่าพัดพุดตานนั้นแต่ก่อนท่านจะเรียกกันว่าพัดอะไร

ไปนั่งอยู่ในงานพระราชพิธี ตาก็กวาดดูอะไรต่ออะไร ไปเห็นของที่ทำในรัชชกาลที่ ๑ เช่น พระแท่นเศวตรฉัตรและพานพระมหากฐินเปนต้น ช่างงามจับใจเสียจริง ๆ เปนสิ่งซึ่งเปนครูได้อย่างยากที่จะทำตามถึงทั้งนั้น พานพระมหากฐินได้ใส่ใจจำไปเขียนหลายหนแล้ว แพ้ท่านทุกที ไม่มีข้ามไปได้เลย ทำไมช่างในรัชชกาลที่ ๑ จึงแขงมือหนัก คงล้วนแต่เปนคนเก่าซึ่งตกทอดมาแต่แผ่นดินพระเจ้าบรมโกศกรุงเก่า แล้วทำไมช่างในแผ่นดินนั้นจึงเชี่ยวชาญหนัก ลางทีฝ่าพระบาทจะทรงพยากรณ์ได้

เห็นหนังสือพิมพ์ไทยๆ เขาลงพิมพ์รูปสถานที่ซึ่งจางซัวเหลียงจับเจียงไกเช็กไปขังไว้ เปนสถานที่อันเจาะหน้าผาเข้าไปเปนห้อง อย่างเดียวกับพวกวิหารเก่าในเมืองอินเดีย รู้สึกปลาดใจด้วยไม่นึกว่าในเมืองจีนจะมี แต่รูปที่เขาลงพิมพ์ก็แมวเต็มทน ดูทีเปนฝรั่งไม่เจ๊กเลย หนังสือพิมพ์เปนของไว้ใจยาก อาจเอาอะไรมาลงหลอกให้ก็ได้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ