วันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๒๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับกระดาดเล็กลงวันที่ ๒๐ กับทั้งหนังสืออิทธิบาท ๔ ที่ประทานมาอีกเล่มหนึ่ง และลายพระหัตถ์ฉะบับกระดาดใหญ่ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคมนั้นแล้ว ขอขอบพระคุณที่ประทานหนังสือทั้ง ๒ ฉะบับ หม่อมฉันได้อ่านตลอดแล้วเห็นว่าแต่งดี โดยฉะเพาะที่เก็บธรรมหมวดอื่นมาให้เปนระยะเหมาะดี เขาควรได้รับรางวัล ถ้าจะหาที่ติก็มีแต่ที่ใช้ศัพท์พลาดด้วยขาดความรู้อยู่บ้าง แต่ก็ไม่สำคัญอันใด นึกสงสัยอยู่หน่อยในการที่ตัดสินรางวัล ปรากฏในคำนำว่าพระพิมลธรรมเปนผู้ตรวจหลักธรรมนั้น ก็สมควรอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่จะเลือกว่าสำนวนไหนควรได้รับรางวัล กล่าวแต่ว่ากรมศิลปากรเปนพนักงานเลือก คิดดูถึงตัวบุคคลทราบไม่ได้ว่าใครบ้าง

เรื่องผูกสีมาโบสถ์เมืองพะม่า หม่อมฉันนึกขึ้นถึงที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ เคยตรัสบอกหม่อมฉันว่า เมื่อเสด็จขึ้นไปเมืองสวรรคโลกเคยลองขุดตรวจสีมาวัดร้างแห่งหนึ่งไม่พบศิลาลูกนิมิตร์ ท่านทรงสันนิษฐานว่าวิธีผูกสีมาในสมัยนั้น ชะรอยจะเอาหินใบสีมานั่นเองเปนนิมิตร จึงนึกว่าถ้าเช่นนั้นก็คงต้องเอาใบสีมาตั้งเสียก่อนแล้วจึงทำพิธีผูกโบสถ์ โบสถ์นทีสีมาไทยเราก็ใช้มาแต่โบราณ ทุกวันนี้วัดตามบ้านนอกก็ยังทำแพจอดหน้าวัดแทนโบสถ์มีอยู่มาก วัดในเมืองไทยแต่โบราณก็จะมีโบสถ์สร้างบนบกแต่บางวัด ข้อนี้ชื่อที่เรียกกันว่า “วัดโบสถ์” ส่อให้เห็นว่าไม่มีโบสถ์ทุกวัด ทูลต่อไปถึงพิธีผูกพัทธสีมาดูพระถือพิถีพิถันกันเปนการยากมาก มีในพระราชนิพนธ์ของทูลกระหม่อมตรัสบอกพระสงฆลังกาไปแต่เมื่อยังทรงผนวช ว่าพิธีผูกสีมาในเมืองไทยมี ๒ อย่าง เปนอย่างมหานิกายทำมาแต่เดิมอย่าง ๑ เปนอย่างธรรมยุติทรงประดิษฐานขึ้นอย่าง ๑ ข้อนี้เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงสร้างวัดเบญจมบพิตรฯ จะให้พระมหานิกายผูกพัทธสีมา หม่อมฉันเคยได้ยินสมเด็จพระวันรัตน (แดง) ทูลสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ว่าทูลกระหม่อมได้เคยตรัสสอนวิธีผูกพัทธสีมาไว้แก่ท่าน ท่านจะผูกพัทธสีมาวัดเบญจมบพิตรฯ ตามแบบของทูลกระหม่อม ดังนี้ แต่ในเรื่องสีมาหม่อมฉันได้ความรู้ชัดเจนพอใจเมื่อฟังสมเด็จพระวันรัตน (แดตง) ท่านถวายเทศน์ในงานนั้น อ้างมูลเหตุเดิมว่าเมื่อพระพุทธองค์ ตรัสสั่งให้พระสงฆสาวกแยกกันไปเที่ยวสั่งสอนพระพุทธสาสนา และประทานพระบรมพุทธานุญาตให้พระสงฆ์ให้อุปสมบทด้วยวิธี ยัติจตุถคามทรงบัญญัติว่าพระสงฆ์หมู่ใดไปอยู่ ณ ที่ใดเมื่อจะทำสังฆกรรมต้องมาพร้อมกันหมด พระสงฆ์แยกกันไปหลายตำบลหนทางจึงต้องกำหนดเขตต์สีมาด้วยตำบลบ้าน หรือเครื่องหมายเขตต์อย่างอื่นโดยรอบให้เปนที่เข้าใจกัน ว่าบรรดาพระสงฆ์ซึ่งอยู่ในเขตต์สีมาอันหนึ่ง ต้องประชุมทำสังฆกรรมพร้อมกันได้ยินอธิบายดังนี้ก็เข้าใจหลักของสีมา และเหตุที่จำเปนต้องมีสีมา แต่ภายหลังมาเมื่อพระพุทธสาสนาเจริญรุ่งเรือง มีวัดวาอารามและพระสงฆ์มากมาย จึงเกิดมีสีมาเหมือนอย่างเปนวินัยกรรมบังคับฉะเพาะพระสงฆ์ที่อยู่ภายในเขตต์สีมาให้ทำสังฆกรรมด้วยกัน ถ้าอยู่นอกเขตต์สีมาแม้ในวัดเดียวกันก็ไม่จำเปนต้องไปเข้าในคณะปรกสังฆกรรม มีตัวอย่างเช่น พระสงฆ์ลงรับพระกฐินไม่หมดทั้งวัด สมเด็จพระสังฆราชฯ วัดราชประดิษฐฯ ท่านเคยตรัสว่าที่ให้พระสงฆ์รับกฐินแต่พอจุที่นั่งในพระอุโบสถนั้นท่านไม่ทรงเห็นด้วย เห็นว่าควรจะให้ลงหมดทั้งวัด แม้ที่นั่งในพระอุโบสถไม่พอก็ให้นั่งติดต่อหัตถบาทเรียงกันออกนอกประตูโบสถ์ แต่ก็ตกเปนพิธีทั้งนั้น

เรื่องมณฑปทรงโกศที่เมืองพุกามนั้น ตั้งแต่เห็นหม่อมฉันก็คิดวินิจฉัยมาจนเวลานี้ยังไม่ลุล่วง เห็นหลักแต่ว่าพระเจดีย์นั้นมาแต่พระสถูปที่ฝังอัษฐิธาตุเปนมูล เมื่อเกิดมีพระพุทธรูปจึงคิดยักเยื้องรูปพระเจดีย์เปนมณฑป เพื่อตั้งพระพุทธรูปแทนพระบรมธาตุ แต่มณฑปที่ได้เคยเห็นมาก่อนเปน ๒ อย่าง อย่าง ๑ มีช่องให้คนแลเห็นพระพุทธรูปที่อยู่ข้างใน อีกอย่าง ๑ (ดังเช่นมณฑปที่วัดมหาพฤฒาราม) ก่อตันคงเปนที่บรรจุพระพุทธรูปชำรุดที่เก็บรวบรวมมาไว้ แต่มณฑปทรงโกศที่เมืองพุกามไม่เข้าลักษณทั้ง ๒ สถาน ด้วยสังเกตในฉายาลักษณ์ฝามีช่องทั้ง ๔ ด้าน แต่เปนช่องเล็กไม่ใช่สำหรับดูพระพุทธรูปในนั้น และไม่ได้ก่อตันสำหรับบรรจุพระพุทธรูป จึงเกิดขัดข้องในวินิจฉัยข้อต้นว่าสร้างสำหรับอะไร และยิ่งขัดข้องต่อไปว่าเหตุใดรูปจึงไปพ้องกับโกศ ขอให้ทรงช่วยพิจารณาด้วย

ในคราวเมล์นี้ หม่อมฉันส่งเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าขึ้นตอนที่ ๔ ว่าด้วยเที่ยวเมืองมัณฑเลท่อนต้นถวายมาอีกท่อนหนึ่ง เรื่องท่อนนี้ไม่มีรูปฉายาลักษณ์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ