วันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๒ มกราคม แล้วที่ได้ทรงรับจดหมายเวรช้าไปหลายวันเห็นจะเปนด้วยพนักงานหยุดคริสต์มัสนั่นเองคิดไม่เห็นอะไรอื่น ที่เลยเปนเหตุให้ทรงห่วงเกรงว่าหม่อมฉันจะป่วยนั้น ก็เปนด้วยทรงสิเนหาปรานี หม่อมฉันขอบพระคุณมาก ที่จริงนั้นสบายดีอยู่ รำคาญแต่หูตึงเท่านั้น เวลานี้ที่ปีนังเริ่มเข้าระดูแล้งมีลมหนาวและอากาศแห้งสบายกว่าเดือนก่อน พวกทมิฬกำลังลงมือตระเตรียมจะทำพิธีกติเกยา ซึ่งได้เห็นและได้เคยทูลแล้ว ๒ ครั้ง

ที่ท่านทรงระลึกถึงท่าพวกโหม่งครุ่มได้อีก ๒ ท่านั้นถูกแล้ว หม่อมฉันลืมไปเสีย มาคิดดูดูเหมือนรำท่าทั้ง ๓ นั้นต่อกันดังนี้ ท่าที่ ๑ ถวายบังคมแล้วลุกขึ้นตีไม้เต้นเวียนกลองร้องถัดท่าถัดไปตามจังหวะฆ้องสัก ๓ รอบ แล้วเปลี่ยนเปนท่าที่ ๒ ฆ้องตีรัวเปนสัญญาให้หยุดยืนรอบกลองรำท่าบัวหงายบัวคว่ำยักตัวไปตามจังหวะฆ้อง แล้วเปลี่ยนเปนท่าที่ ๓ ด้วยฆ้องย่ำสัญญาก่อนแล้วให้จังหวะตีไม้ ๒ หนตีกลองหนหนึ่ง แล้วเต้นตีไม้เวียนกลองร้องถัดท่าถัดอย่างท่าที่ ๑ ต่อไปอีก

กุลาตีไม้นั้นหม่อมฉันเพิ่มนึกขึ้นได้ว่ามีบทร้อง

“ศักดานุภาพ เลิศลบแดนไตร
สิทธิครูมอบให้ จึงแจ้งกิจจา
ฤทธาเชี่ยวชาญชัย เหตุใดนะพ่อ
เหตุพระคุณปกเกล้า ไพร่ฟ้าอยู่เย็น”

เคยคิดกันว่าเดิมเห็นจะเป็นโคลง ๔ แล้วเลยเลือนไป น่าจะลงความเห็นว่าเดิมเห็นจะมีกระบวรร้องและมีบทร้องที่น่าฟัง ทั้งระบำ ระเบ็ง โหม่งครุ่ม และกุลาตีไม้ แต่ลืมหลุดหายไปเสียมาก เหมือนเช่นคำขึ้นต้นบทระเบ็งว่า “โอละพ่อ” ก็มีคำคล้ายกันว่า “โอละเห่” อยู่ในเห่เรือและเพลงช้าที่ละคอนรำ และชอบใช้กันเลยไปจนกล่อมเด็ก ถึงเลยเรียกการกล่อมเด็กว่า “เห่” ดูมันจะมีมูลมาลึกซึ้งมาก ดังนี้

เรื่องศัพท์แปลภาษาพะม่านั้น หม่อมฉันแปลถวายไปเพียงเท่าที่ทำได้ด้วยไม่มีปทานุกรม และไม่มีใครที่รู้ภาษาพะม่าจะเปนที่ปรึกษาที่โปรดให้ตรวจสอบต่อไปสำหรับหนังสือกฎมณเทียรบาลพะม่าที่จะพิมพ์นั้นควรแล้ว คำว่า Mye ที่ใช้เรียกมหาปราสาท จะตรงกับคำ “สุเมรุ” หรือไม่นั้น หม่อมฉันไม่รับประกัน แต่มีอธิบายภาษาอังกฤษบอกไว้ (เผอิญจำไม่ได้ว่าอยู่ในหนังสือเรื่องไหน) ว่าหมายความว่าเขาพระสุเมรุที่อยู่กลางโลก แต่ถ้าสอบได้เปนหลักฐานอย่างไรก็ขอให้ทรงแก้ไขตามทรงพระดำริเห็นว่าถูกนั้นเถิด

หม่อมฉันถวายเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าตอนที่ ๘ ท่อนที่ ๒ มากับจดหมายฉะบับนี้อีกตอนหนึ่ง มีรูปประกอบ ๗ รูป คือ

๑. ทางขึ้นไปที่พระมหาธาตุสิงคุดร

๒. พระมหาธาตุสิงคุดร (พะม่าถ่าย) ดูไกล

๓. พระมหาธาตุสิงคุดร ดูใกล้

๔. พวกเราขึ้นบูชา กับพวกกรมการเมือง และกรรมการรักษาพระมหาธาตุ

๕. พวกชาวเมืองบูชาพระมหาธาตุสิงคุดร (พะม่าถ่าย)

๖. พระโตที่เมืองแปร

๗. พวกเรากับกรมการเมืองที่รับรอง พะม่าถ่าย ณ ที่พัก

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ