เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๔ ท่อน ๖

จะพรรณนาว่าด้วยปราสาทราชมณเฑียรที่ในราชวังเมืองมัณฑเลนึกหาที่แห่งใดในกรุงเทพฯ เปรียบแผนผังให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายขึ้นก็ไม่เห็นมี เพราะปราสาทราชมณเฑียรพะม่าล้วนสร้างด้วยเครื่องไม้ ยกพื้นสูงกว่าชาลาเพียงสัก ๓ ศอก ไม่ใหญ่โตเปนปึกแผ่นสง่างามเหมือนปราสาทราชมณเฑียรในกรุงเทพฯ จะพรรณนาตามตาเห็นแต่ข้างหน้าเข้าไปหาข้างใน เนินปราสาทด้านหน้ามีบรรไดก่อกว้างเปนทางขึ้น พ้นบรรไดขึ้นไปมีท้องพระโรง ๓ หลัง หลังหนึ่งปลูกขวางไปทางข้างขวา อีกหลังหนึ่งปลูกขวางไปทางข้างซ้าย ด้านสกัดมาจรดท้องพระโรงหลังกลางซึ่งปลูกยาวเข้าไปเหมือนเปนมุขหน้าของมหาปราสาท ท้องพระโรง ๓ หลังนั้นขนาดเดียวกัน ปลูกโถงใช้ม่านเปนฝาเวลามีงาน หลังขวางทำหลังคา ๒ ชั้นเปนที่ขุนนางผู้น้อยกรมต่างๆ ซึ่งแบ่งเปนฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายเช่นเดียวกับทำเนียบข้าราชการไทย กรมฝ่ายขวาเฝ้าข้างหนึ่ง กรมฝ่ายซ้ายเฝ้าข้างหนึ่ง ท้องพระโรงหลังกลางหลังคา ๓ ชั้นสำหรับขุนนางชั้นผู้ใหญ่เฝ้า ท้องพระโรงทั้ง ๓ หลังนั้นข้างในยังมีคราบพอสังเกตได้ว่าเดิมลงรักปิดทองเขียนลวดลายทั้งเสาและเพดาน เสาใช้ไม้สักขนาดใหญ่โตน่าพิสวง ชวนให้เห็นว่าเพราะเมืองพะม่ามีป่าไม้สักอยู่ใกล้ ราชธานีหาไม้ดีได้ง่ายกว่าไทย จึงชอบสร้างปราสาทราชมณเฑียรเปนเครื่องไม้ ไม่เปลี่ยนเปนก่ออิฐเหมือนในเมืองไทย พะม่าเพิ่งมาริทำราชมณเฑียรเปนตึกเมื่อสมัยพระเจ้าสีป่อมีสักสองสามหลัง ว่าให้ช่างฝรั่งชาวอิตาลีคิดแบบ แต่ก็เปนตึกชั้นเดียวอย่างเล็ก ๆ ฝีมือทำเลวไม่สมกับชื่อช่างชาวอิตาลี ท้องพระโรงหน้าในเวลาเมื่อฉันไปดู เห็นหลังขวางหลังข้างซ้ายหลังคาทรุดเพราะโคนเสาขาด ช่างของรัฐบาลกำลังดีดเสาซ่อมแซม เห็นได้ว่ามีการบำรุงรักษาอยู่มิได้ทอดทิ้ง

พ้นท้องพระโรงเข้าไปถึงมหาปราสาท แผนผังเปน ๔ เหลี่ยมจตุรัสไม่มีมุข รูปภาพมหาปราสาทองค์นี้เมื่ออยู่ที่เมืองอมรบุระยังมีปรากฏอยู่ เปนปราสาทโถงมีฝาแต่ด้านใน เมื่อพระเจ้ามินดงย้ายเอามาปลูกที่เมืองมัณฑเลก็เห็นจะทำเปนปราสาทโถงอย่างเดิม เพราะยังมีฝาตั้งเปนลับแลใหญ่แต่พื้นขึ้นไปจนถึงชายคาปราสาท สำหรับบังฝนอยู่ข้างนอกทั้งสองข้าง น่าจะเปนพวกอังกฤษทำฝาด้านข้างขึ้นเมื่อใช้มหาปราสาทเปนที่ทำงาน ฝามหาปราสาทด้านหลังแต่ “ครั้งบ้านเมืองดี” ฉันเคยเห็นรูประบายสีมีอยู่ในหนังสือเรื่องเมืองพะม่าเล่มหนึ่ง พื้นฝาทาสีแดงเขียนลายทองมีรูปเทพประณมรายเปนชั้นๆ เหมือนอย่างดอกผ้า ที่กรอบฝาเขียนเปนกรวยเชิง พิเคราะห์ก็คือทำให้เหมือนม่านขึงนั่นเอง จึงเห็นว่าเมื่อเปนปราสาทโถง ด้านข้างก็คงผูกม่านสีและลายอย่างเดียวกับฝาด้านหลัง แต่เดี๋ยวนี้ฝาเปนแต่ทาดินแดงทั้ง ๓ ด้าน ด้านข้างเปนฝาทึบ ด้านในยังมีพระทวารตามเดิม ๓ ช่อง พระทวารกลางเปนทางเสด็จออกประทับสีหาสนบัลลังก์ พระทว ารสองข้างเปนทางเดินเข้าออก สีหาสนบัลลังก์นั้นทำด้วยไม้จำหลักปิดทองล่องชาดประดับกระจก เปนแท่นไม่มีบุษบก สัณฐานถ้าบอกรูปอย่างไทยก็เปนทรง “เชิงบาตร” (ฝรั่งว่าเหมือนนาฬิกาทราย) ฐานล่างที่ต่อพื้นเปนหน้ากระดานแล้วทำเปนคั่นเล็ก ๆ มีกระจังรายลดขนาดต่อกันขึ้นไปจนถึง “สะเอว” ที่รัดกิ่ว (ไม่ทำฐานสิงห์เหมือนอย่างไทย ตรงที่สะเอวเปนหน้ากระดาน ต่อขึ้นไปก็เปนคั่นมีกระจังรายขยายใหญ่ออกไปเปนลำดับ จนที่สุดเปนหน้ากระดานเหมือนข้างล่าง ต่อนั้นขึ้นไปเปนที่ประทับ ดูตอนข้างบนเปนทรง “บัวหงาย” ที่หน้ากระดานทั้งข้างล่างข้างบน และตรงสะเอว ทำซุ้มคูหาเล็กๆ รายเปนแถวทั้ง ๓ ชั้น ในคูหาตั้งรูปราชสีห์เปนเครื่องหมายนามราชบัลลังก์ทุกช่อง บรรดาราชบัลลังก์พะม่าทำรูปสัณฐานอย่างเดียวกันทั้งนั้น ผิดกันแต่ขนาดสูงต่ำใหญ่ย่อมและรูปภาพเครื่องหมายนามราชบัลลังก์ แต่พะม่านับถือราชบัลลังก์ว่าเปนเครื่องประดับพระเกียรติยศอย่างสำคัญ ทำไว้ในราชมณเฑียรสถานที่ต่างๆ ถึง ๘ องค์ ขนานนามต่างๆ และสำหรับพระเจ้าแผ่นดินประทับประพฤติพระราชกิจต่าง ๆ ตามตำรา บางทีไทยเราก็จะมีธรรมเนียมทำนองเดียวกันแต่โบราณ ด้วยมีเค้าเงื่อนครั้งกรุงสุโขทัยปรากฏอยู่ในจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ว่าทรงสร้างราชบัลลังก์ศิลา ขนานนามว่า “มนังคศิลาบาตร” และบอกกิจที่ใช้ไว้ในจารึกว่าให้พระมหาเถรขึ้นนั่ง “สวดธรรมแก่อุบาสก” (คือเทศนา) ในวันพระ นอกจากวันพระ พระเจ้ารามคำแหงฯ เสด็จประทับตั้ง “ลูกเจ้าลูกขุน” ให้ “ถือบ้านถือเมือง” ปลาดที่ในเมืองพะม่า-ยังมีราชบัลลังก์องค์หนึ่งสำหรับราชกิจเช่นนั้น จะเลยบอกบรรยาย-ว่าด้วยราชบัลลังก์พะม่าทั้ง ๘ ต่อไปตรงนี้ด้วยทีเดียว

๑. สีหาสนบัลลังก์ Thihathana Balin ใหญ่กว่าและสำคัญกว่าเพื่อนทำรูปราชสีห์ประดับ อยู่ในมหาปราสาท เปนที่ประทับเวลาเสด็จออกมหาสมาคมเต็มยศใหญ่

๒. หังสาสนบัลลังก์ Honthana Balin ทำรูปหงส์ประดับ อยู่ในท้องพระโรงกลาง เปนที่ประทับเวลาเสด็จออกรับทูตต่างประ เทศและทำพิธีสงฆ์

๓. คชาสนบัลลังก์ Gagyathana Balin ทำรูปช้างประดับ อยู่ในหอประชุมมุขมนตรี

๔. สังขาสนบัลลังก์ Thinkathana Balin ทำรูปสังข์ประดับ อยู่ในมณเฑียร เปนที่ประทับพระราชทานยศศักดิ์

๕. ภมราสนบัลลังก์ Bamarathana Balin ทำรูปตัวผึ้งประดับ อยู่ในมหามณเฑียรแก้ว เปนที่ประทับในการพิธีฝ่ายใน

๖. มิคาสนบัลลังก์ Migathana Balin ทำรูปกวางประดับ อยู่ที่มณเฑียรปลีกองค์หนึ่ง เปนที่จบพระหัตถ์ถวายไทยธรรม

๗. มยุราสนบัลลังก์ Mayanyothana Balin ทำรูปนกยูงประดับ อยู่ในมณเฑียรปลีกอีกองค์หนึ่ง เปนที่ประทับทอดพระเนตร์พระยาช้างเผือก

๘. ปทุมาสนบัลลังก์ Padommathana Balin ทำรูปดอกบัวประดับ อยู่ในมณเฑียรท้องพระโรงหลัง เปนที่ประทับเวลาเสด็จออกมหาสมาคมฝ่ายสตรี

ราชบัลลังก์ที่พรรณนามานี้เมื่ออังกฤษเอาปราสาทราชมณเฑียรใช้เปนที่ทำงานเห็นกีดขวางให้ยกย้ายไปเสียที่อื่นหลายองค์ ครั้นลอร์ด เคอสัน สั่งให้กลับบุรณปฏิสังขรณ์ราชมณเฑียร นายงานเที่ยวค้นหาราชบัลลังก์จะเอามาตั้งที่เดิม ปรากฏว่าสูญหายไปเสียบ้าง เดี๋ยวนี้ยังเหลืออยู่ไม่ครบทั้ง ๘ ตามจำนวนเดิม แม้องค์ที่ยังอยู่รูปสัตว์ที่ตั้งในซุ้มคูหาก็หายไปเสียเกือบหมดแล้ว

ยังมีรายการที่จะต้องพรรณนาถึงมหาปราสาทต่อไป จะว่าด้วยสีหาสนบัลลังก์เสียให้สิ้นกระบวรก่อน สีหาสนบัลลังก์นั้นสูงสัก ๓ ศอกเศษ มีบรรไดลงที่ตรงต่อกับพระทวารทั้งสองข้าง เหมือนอย่างพระที่นั่งบุษบกมาลาในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยรอบราชบัลลังก์ก็ยกพื้นสูงขึ้นกว่าพื้นปราสาทสักศอกหนึ่ง มีลูกกรงที่ขอบยกพื้นทั้ง ๓ ด้าน ด้านหน้ามีช่องและคั่นบรรไดทางเสด็จออกหน้าท้องพระโรง ตัวพระแท่นสีหาสนบัลลังก์ แม้ไม่มีบุษบกเหมือนพระที่นั่งบุษบกมาลาของไทย แต่เขาทำซุ้มจรณัมประกอบกับพระทวารทางเสด็จออก เปนอย่างที่เราเรียกว่า “เรือนแก้ว” ให้ส่งศรีที่ประทับเปนสง่าน่าชม เรือนแก้วนั้นจำหลักลวดลายอย่างวิจิตรพิสดาร ทำเปนซุ้มแบบพะม่ามียอดอยู่ตรงกลางและมีช่อฟ้ายื่นยาวออกไปทั้งสองข้าง ข้างหลังยอดซุ้มนั้นทำรูปฉัตรซ้อน ๗ ชั้นเหมือนเศวตฉัตรไทยไม่มีผิด แต่จำหลักปิดทองทำเปนแผ่นติดฝาไว้เหมือนอย่าง “สินเทา” ของซุ้มที่ยอดซุ้มข้างหน้าจำหลักเปนรูปพระอินทร และมีรูปเทวดารายตามบราลีระวางยอดกับช่อฟ้าสองข้างข้างละ ๑๖ รูป รวมเปน ๓๓ รูป ทั้งพระอินทรหมายความว่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่ปลายเสาและโคนเสาซุ้มทั้งสองข้างก็จำหลักเปนรูปโลกบาลทั้ง ๔ ตอนกลางเสาจำหลักเปนรูปนกยูงหมายความว่าพระอาทิตย์ข้างหนึ่ง รูปกระต่ายหมายความว่าพระจันทรข้างหนึ่ง (ฝรั่งว่ารูปภาพทั้งปวงนี้) หมายความแสดงว่าพระเจ้าแผ่นดินประทับราชบัลลังก์นั้นเปนหลักโลก Centre of the Universe ยังมีเทวรูปติดที่บานพระทวารกลางอีกทั้งสองบาน เปนรูปพระอินทรบานหนึ่งรูปพระพรหมบานหนึ่ง รูปภาพทั้งปวงนี้ ถ้าจะเปนเครื่องหมายแสดงว่าพระเจ้าแผ่นดินเปนพระโพธิสัตว์ก็เห็นจะได้เหมือนกัน แต่สีหาสนบัลลังก์กับทั้งเรือนแก้วนั้น เมื่อเข้าไปพิจารณาใกล้ๆ “ไม่สู้ลูกตา” ด้วยฝีมือทำไม่เกลี้ยงเกลา รูปภาพก็เตอะตะไม่น่าชม งามแต่แลดูอยู่ไกลๆ เห็นจะเปนของสร้างพร้อมกับมหาปราสาทเมื่อครั้งรัชชกาลพระเจ้าสารวดี เพราะเห็นของที่อื่นอันช่างพะม่าสมัยพระเจ้ามินดงทำ ฝีมือจำหลักไม้ดีกว่านี้มาก พระทวารสองข้างก็มีซุ้มจรณัมจำหลักปิดทอง แต่เปนอย่างซุ้มสามัญไม่วิตถารเหมือนพระทวารกลาง

การที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกประทับสีหาสนบัลลังก์ในมหาปราสาท ในอธิบายราชพิธีพะม่าว่าเสด็จออกการพิธีประจำปีละ ๓ ครั้ง คือขึ้นปีใหม่ เมื่อสงกรานต์เสด็จออกให้เจ้านายและข้าราชการในกรุงถือน้ำกระทำสัตย์ครั้งหนึ่ง เมื่อเข้าพรรษาเสด็จออกให้เจ้านายและข้าราชการในกรุงเฝ้าอีกครั้งหนึ่ง (จะเข้ากับกิจการอันใดสืบไม่ได้ความ) เมื่อออกพรรษาเสด็จออกให้เจ้าประเทศราชและข้าราชการหัวเมืองถือน้ำกระทำสัตย์พร้อมกับเจ้านายและขุนนางในกรุงอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นเสด็จออกในพิธีจรที่เปนงานใหญ่เช่นราชาภิเศกเป็นต้น เมื่อพระราชบุตรรวบพระเกศาเกล้าเปนจุก (ตรงกับพิธีโสกันต์ แต่ไทยเราตัดพระเกศาจุกกลับกัน) และเมื่อพระราชบุตรทรงผนวชเปนสามเณร ก็ทำพิธีในมหาปราสาท แต่พิธีทรงผนวชมีพระสงฆ์เห็นจะทอดราชอาสน์ต่างหากไม่ประทับสีหาสนบัลลังก์ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกประทับสีหาสนบัลลังก์นั้นตั้งเศวตฉัตรชั้นเดียวรายตามฝาด้านหลัง (อย่างไทยตั้งฉัตรเครื่องสูง) ข้างละ ๔ คัน พระอัครมเหษีเสด็จออกด้วยและนั่งข้างขวาที่ประทับเปนนิตย์ ร่วมราชอาสน์ในธารกำนัลได้แต่พระอัครมเหษีองค์เดียวเล่ากันว่าเมื่อพระอัครมเหษีของพระเจ้ามินดงสิ้นพระชนม์แล้ว พระนางอเลนันดอ (ชนนีของราชินีสุปยาลัต) ซึ่งเปนมเหษีรองลงมา ได้เปนใหญ่ฝ่ายใน พยายามจะเปนตำแหน่งอัครมเหษี แต่พระเจ้ามินดงไม่ทรงตั้ง เปนแต่เพิ่มเกียรติยศขึ้นเปน “ฉินพยุมะฉิน” แปลว่า “พระนางช้างพังเผือก” กั้นเศวตฉัตร แต่มิได้นั่งร่วมราชอาสน์มาจนตลอดรัชชกาล เวลาเสด็จออกนั้น เจ้านายกับเสนาบดีเฝ้าในประธานมหาปราศาท พวกองครักษ์กับมหาดเล็กอยู่เฉลียงทั้งสองข้าง ในที่เฝ้าตั้งเตียงสำหรับพระมหาอุปราชองค์เดียว นอกจากนั้นเฝ้าอยู่กับพื้น

ต่อมหาปราสาทเข้าไปมีราชมณเฑียรองค์หนึ่งกั้นฝารอบ ปลูกเปนอย่างมุขหลังของมหาปราสาท ที่ตรงต่อพระทวารกลางทำเปนเกยมีบรรไดขึ้นทั้งสองข้าง (ของเดิมสูญไปเสียแล้ว ที่มีอยู่เดี๋ยวนี้เปนของทำขึ้นแทน) เปนทางเสด็จออกประทับสีหาสนบัลลังก์ บานทวารกลางทำด้วยโลหะปรุปิดทอง เมื่อจะเปิดชักเลื่อนออกไปทั้งสองข้าง ที่ทำเปนบานปรุนั้น เพราะดูจากห้องในตามช่องปรุเห็นได้ว่าข้าเฝ้าพร้อมเพรียงกันหรือยัง แต่คนอยู่ข้างนอกไม่แลเห็นข้างในเพราะเปนที่มืดกว่า ในห้องนี้เปนที่นางในนั่งเวลาเสด็จออกมหาปราสาท และในมณเฑียรหลังนี้ว่าเดิมที่ตรงมุมด้านหลังข้างฝ่ายซ้าย ยกพื้นมีลูกกรง ในนั้นมีปราสาทน้อยหลังหนึ่งตั้งบนปลายเสา Standing on a Post ไว้รูปเทพารักษ์หลักประเทศ อันสิงสถิตย์อยู่ณเขามหาคีรี (ซึ่งจะพรรณนาในตอนอื่นต่อไปข้างหน้า) เปนที่ทรงสักการบูชาก่อนเสด็จออกมหาปราสาท พิเคราะห์ดูก็เปนอย่าง “ศาลพระภูมิ” ของเรานั่นเอง แต่เดี๋ยวนี้สูญไปเสียแล้ว พ้นราชมณเฑียรหลังนี้เปนหมดหมู่มหาปราสาท มีทางเดินตามขวางระวางมณเฑียร พะม่าเรียกว่า “สะนุ” Sanu สายหนึ่ง และมีที่พักสำหรับพวกรักษาพระองค์และมหาดเล็กรับใช้ประจำอยู่หมวดหนึ่งเปนนิตย์ พ้นสะนุไปทางตะวันตกมีราชมณเฑียรปลูกตามยาวเข้าไปอีกหลังหนึ่ง เรียกว่า “เชตวัน ชอง” Zetawun Zaung (คำว่า “ชอง” แปลว่า “ราชมณเฑียร”) กั้นฝาเปนสองห้อง ห้องทางตะวันออกเปนท้องพระโรงกลางตั้งราชบัลลังก์หงส์ เปนที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล (เมื่อทำพิธีสงฆ์) และเสด็จออกแขกเมือง (ฝรั่ง) ห้องทางฝ่ายตะวันตกยกพื้นตอนหนึ่ง เปนที่ไว้พระรูปพระเจ้าแผ่นดินกับพระอัครมเหษีในราชวงศอลองพระ พระรูปเหล่านั้นว่าทำขนาดเล็กๆ แต่หล่อด้วยทองคำ เชิญออกประดิษฐานทรงสักการบูชาเวลาจะมีงานพิธีใหญ่เช่น ถือน้ำเปนต้นทุกครั้ง ตามอธิบายในหนังสือนำทางเช่นกล่าวมานี้ ชวนให้เข้าใจว่าราชมณเฑียรหลังนี้จะตรงกับที่เรียกว่า “หอพระ” ในกฎมณเฑียรบาลไทย เพราะขนานนามว่า “เชตวัน” และหอพระตามกฎมณเฑียรบาลก็เปนที่เฝ้าแห่งหนึ่ง แจ้งอยู่ในตอนพระราชานุกิจ ห้องไว้พระรูปนั้นก็เปรียบได้กับหอพระเทพบิดร เดิมก็อยู่ในพระราชวังซึ่งภายหลังสร้างเปนวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ณพระนครศรีอยุธยา เห็นจะจัดที่เสด็จออกในหอพระเปนท้องพระโรงรับแขกเมือง เมื่อมีทูตฝรั่งขึ้นไปบ่อยๆ ในห้องพระรูปนั้นว่าเปนที่เก็บต้นฉะบับหนังสือ “มหาราชวงศ” พงศาวดารด้วย ที่ชาลาข้างฝ่ายซ้ายราชมณเฑียรเชตวันนี้มีหอหลังหนึ่งเรียก “บเยเดก” Byedaik ตั้งราชบัลลังก์ประดับรูปช้าง เปนที่ประทับเวลาประชุมมุขมนตรี “อัตกินวูน” Atkin Wun เช่นเดียวกับประชุมเสนาบดีณศาลาหลุตดอ

ต่อมณเฑียรเชตวันไปมีทางสะนุสำหรับเดินผ่านราชมณเฑียรอีกสายหนึ่ง แล้วถึงราชมณเฑียรอีกหลังหนึ่งซึ่งปลูกตามขวาง เรียกว่า “บองดอ ชอง” Baung daw Zaung แปลว่า “ราชมกุฎมณเฑียร” Royal Crown Room กั้นฝาตามยาวปันเปนสองห้อง ห้องฝ่ายตะวันออกเปน “ท้องพระโรงใน” ตั้งราชบัลลังก์รูปสังข์ เปนที่ประทับพระราชทาน (สุพรรณบัตร) ยศศักดิ์ฝ่ายหน้า เช่นตั้งพระมหาอุปราชเปนต้น ห้องนี้โดยปกติเปนที่เสด็จออกวันละ ๓ ครั้ง คือเวลา ๘ นาฬิกาเสด็จออกให้เจ้านายข้าราชการผู้ใหญ่เฝ้าพร้อมกัน (เห็นจะประภาษราชการแผ่นดิน) ครั้งหนึ่ง เวลาบ่าย ๑๕ นาฬิกาเสด็จออกให้ข้าราชการในราชสำนักเฝ้า (เห็นจะทูลรายงานศาลยุติธรรม ด้วยศาลหลวงในเมืองพะม่าก็คงขึ้นกระทรวงวังอย่างเดียวกับธรรมเนียมไทยแต่โบราณ) ครั้งหนึ่ง เวลาค่ำ ๒๐ นาฬิกา เสด็จออกให้เจ้าหน้าที่เฝ้าฉะเพาะตัว (คือตรัสปรึกษาฉะเพาะผู้ชำนาญกิจการ) ครั้งหนึ่ง ห้องในราชมณเฑียรหลังนี้ทางฝ่ายตะวันตก ว่าเปนที่ไว้เครื่องทรง (เห็นจะตรงกับที่ไทยเราเรียกว่า “ห้องภูษามาลา”) และเปนที่ทรงเครื่องเมื่อเสด็จออกงานใหญ่

ต่อราชมณเฑียรนี้มีทางสะนุอีกสายหนึ่งแล้วถึงมหามณเฑียรแก้ว พะม่า เรียกว่า “หะมัน นัน ดอ คยี” Hman nan daw gyi เปนที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จอยู่ สูงใหญ่กว่าราชมณเฑียรหลังอื่นหมด (ดูขนาดจะเท่ากับพระที่นั่งพิมานรัตยาในกรุงเทพฯ) ทำหลังคา ๕ ชั้น และฝาประดับกระจกทั้งข้างนอกข้างใน แต่สันนิษฐานว่าที่ทำเปนมณเฑียรแก้วจะทำแปลงต่อชั้นหลัง มหามณเฑียรที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินพะม่าแต่เดิมเห็นจะปิดทอง เพราะฉะนั้นในหนังสือราชาธิราชจึงเรียกพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องว่า “พระเจ้ามณเฑียรทอง” แต่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงเปนมณเฑียรแก้วเมื่อใดสืบไม่ได้ความ มีผู้บอกแต่ว่ากระจกที่ประดับอยู่เดี๋ยวนี้สั่งมาแต่เมืองเวนิส และฝรั่งชาวอิตาลีประดับเมื่อครั้งพระเจ้ามินดง พิจารณาดูก็เห็นว่าน่าจะจริงดังกล่าว ด้วยลวดลายและฝีมือประดับดูเลอียดและประณีตกว่าฝีมือพะม่า ฝาข้างในก็ใช้กระจกเงาฝรั่งบานใหญ่ๆ มีกรอบทองประดับเปนไม้ลายหลายแห่ง แต่การประดับกระจกเงาหรูหราทั่วไปเช่นนี้ น่ากลัวจะรำคาญตาในเวลากลางคืนเมื่อแสงไฟฉายออกจากกระจก จะเปนเพราะเหตุนั้นดอกกระมังจึงปรากฏว่าพระเจ้ามินดงสร้างราชมณเฑียรที่ประทับอีกหลังหนึ่งต่างหาก แล้วย้ายไปประทับอยู่ที่มณเฑียรนั้นจนตลอดพระชนมายุ และตรัสสั่งไว้ว่าเมื่อสวรรคตแล้วให้รื้อเอาไปปลูกเปนสังฆาวาส เรียกกันว่า Shwe nan daw แปลว่า “วัดมณเฑียรทอง” ยังอยู่จนเดี๋ยวนี้ (แต่ฉันไม่ได้ไปดู)

ในมหามณเฑียรแก้วนั้นกั้นฝาแบ่งเปนสองตอน ตอนทางตะวันออกเปนห้องใหญ่ ตั้งราชบัลลังก์รูปตัวผึ้งมีเศวตฉัตรชั้นเดียวตั้งประจำข้างละคัน ห้องนี้สำหรับทำการพิธีฝ่ายในเช่นตั้งพระอัครมเหษี พิธีสมโภช (เดือน) พระราชโอรสธิดา พิธีเจาะพระกรรณราชธิดา (ตรงกับโสกันต์เจ้านายพระองค์หญิง) พิธีเศกสมรสพระเจ้าลูกเธอ และเมื่อนักขัตฤกษสงกรานต์พะม่าเรียกว่า “สิงคาน” Thingan มีการ “สมโภชเลี้ยงลูกขุน” พระเจ้าแผ่นดินกับพระอัครมเหษีเสด็จประทับเสวยบนราชบัลลังก์รูปผึ้ง โปรดให้พระมหาอุปราชและเจ้านาย กับทั้งเสนาบดีเข้าไปรับพระราชทานเลี้ยงด้วย ของที่เลี้ยงสงกรานต์นั้นอธิบายว่า “เข้าเจือด้วยน้ำหอม” ก็คือ “เข้าแช่” นั่นเอง เปนอันได้ความรู้อีกอย่างหนึ่งว่าการเลี้ยงเข้าแช่มีมาแต่โบราณด้วยกันหลายประเทศ ห้องมหามณเฑียรแก้วทางฝ่ายตะวันตกเปนที่บรรทมว่าเดิมกั้นฝาฉากเป็นห้องย่อม ๆ หลายห้อง ห้องที่บรรทมว่ามี “ปราสาท” ในนั้นองค์หนึ่ง (จะทำเปนตัวพระแท่น หรือจะทำครอบพระแท่นเหมือนอย่างมณฑปน้อยที่พระพุทธบาท คำอธิบายกล่าวไม่ชัด) มีเศวตฉัตรชั้นเดียวตั้งสองข้างปราสาหนั้น นอกจากห้องบรรทม (ก็เห็นจะมีห้องเสวย แต่ไม่กล่าวในอธิบาย) ว่ามีห้องบรรทมของพระภรรยาเจ้าอีก ๔ ห้อง แต่เดี๋ยวนี้สิ่งที่พรรณนามาสูญไปหมดแล้ว ยังเหลือแต่ฝาใหญ่ที่กั้นกลางกับราชบัลลังก์รูปตัวผึ้งในห้องสำหรับทำพิธี ในห้องนี้เมื่อพระเจ้ามินดงสวรรคต เชิญพระศพมาประดิษฐานที่ราชบัลลังก์ในมหามณเฑียรแก้ว ทำการพิธีอยู่ ๓ วัน แล้วจึงเชิญพระศพไปบรรจุที่มณฑปดังกล่าวมาแล้วแต่หนหลัง ราชมณเฑียรแถวกลางที่ต่อเนื่องมาแต่มหาปราสาทหมดเพียงมหามณเฑียรแก้วนี้ ต่อไปเปนทางเดินตามขวางตลอดชาลา ตำหนักมเหษีเทวีสร้างรายริมทางนั้น ๔ หมู่ จะพรรณนาต่อไปข้างหน้า ตรงนี้จะว่าด้วยราชมณเฑียรที่ยังมีอยู่บนชาลาสองข้างเสียให้สิ้นเชิงก่อน ทางชาลาข้างซ้ายริมเขื่อนเนินปราสาทตรงมหามณเฑียรแก้วออกไป มีมณเฑียรน้อยหลังหนึ่งเรียกว่า “มยอกสะมอก” Myauk Samok ตั้งราชบัลลังก์รูปนกยูง เปนที่ประทับทอดพระเนตรพระยาช้างเผือก และมีปราสาทขนาดย่อมปักเสายื่นออกไปที่ลานวัง ยกพื้นปูกระดานเสมอกับชาลา ว่าสำหรับทรงหลั่งสิโนทกให้น้ำตกถึงดิน แต่จะเปนการพิธีอันใดหาทราบไม่ ต่อเข้ามาในชาลาตอนนี้ตามแผนผังที่ฝรั่งทำชั้นหลังเปนที่ว่าง สันนิษฐานว่ามหามณเฑียรทองของพระเจ้ามินดงที่รื้อไปสร้างวัด เดิมเห็นจะอยู่ตรงนี้ ทางชาลาฝ่ายขวาก็มีมณเฑียรน้อยและปราสาทสำหรับทรงหลั่งสิโนทกเหมือนอย่างข้างฝ่ายซ้าย มณเฑียรน้อยทางนี้เรียกว่า “ตอง สะมอก” Taung Samok ตั้งราชบัลลังก์รูปกวาง สำหรับประทับจบพระหัตถ์ถวายเครื่องไทยธรรม เช่นผ้าไตรย์พระกฐินเปนต้นอันเอามาตั้งถวายทอดพระเนตรในมณเฑียรนี้ แล้วเสด็จไปทรงหลั่งสิโนทกในปราสาทซึ่งอยู่ติดกัน ในชาลาฝ่ายขวามีสถานสำหรับราชการต่างๆ สร้างไว้แต่ครั้งพระเจ้ามินดงหลายหลัง ทางข้างหน้ามีศาลาสำนักงานพระคลัง คู่กับหอประชุมมุขมนตรีที่อยู่ข้างซ้ายหลังหนึ่ง ถึงสมัยพระเจ้าสีป่อแปลงเปนตึก เดี๋ยวนี้ใช้เปนพิพิธภัณฑ์สถาน (ซึ่งจะพรรณนาต่อไปข้างหน้า) ต่อเข้าไปมีคลังมหาสมบัติ สำหรับเก็บเครื่องเพ็ชรพลอย เงินทองของมหัครภัณฑ์ ต่อเข้าไปอีกถึงสถานที่ประชุมของนางใน (ทำนองพระที่นั่งนงคราญสโมสรในกรุงเทพฯ) ถึงสมัยพระเจ้าสีป่อเดิมเสด็จอยู่ในมณเฑียรแก้ว แล้วเห็นจะไม่สบายจึงคิดสร้างราชมณเฑียรขึ้นใหม่ในชาลาตอนนี้ ให้ช่างฝรั่งชาวอิตาลีคิดแบบทำเปนตึกหลังเล็กๆ หลายหลัง หลังข้างหน้าเปนอย่างที่นั่งเย็นมีสวนดอกไม้และน้ำพุ ต่อเข้ามาเปนห้องสมุด และมีมณเฑียรอยู่ริมเขื่อนสำหรับทอดพระเนตรละคอน ปลูกโรงละคอนต่อลงไปในลานวังข้างหลังเข้ามาแก้ไขตำหนักของเดิมเข้ากับที่ประทับด้วย ราชมณเฑียรสร้างแต่ครั้งพระเจ้ามินดงยังมีอีกหมู่หนึ่ง เปนท้องพระโรงหลังอยู่ริมเขื่อนที่สุดเนินข้างด้านหลังวัง มีทางเสด็จเปนทำนองห้องฉนวนแต่มหามณเฑียรแก้วตรงไปจนถึง “ท้องพระโรงหลัง” แผนผังท้องพระโรงหลังก็เปนอย่างเดียวกันกับท้องพระโรงหน้า ผิดกันแต่ขนาดย่อมกว่า และที่เสด็จออกทำเปนมณเฑียรหลังเดียวกั้นสองห้อง แท่นมหาปราสาทกับมณเฑียรที่อยู่ข้างหลังทางท้องพระโรงหน้า ในท้องพระโรงหลังตั้งราชบัลลังก์ดอกบัว เปนที่พระเจ้าแผ่นดินกับพระอัครมเหษีเสด็จออกมหาสมาคมส่วนสตรี ต่อกับวันเสด็จออกมหาสมาคมฝ่ายหน้า และเปนที่พระอัครมเหษีเสด็จออกรับสตรีมีบันดาศักดิ์เปนแขกเมืองด้วย เมื่อครั้งพระเจ้ามินดงเวลามีละคอนในวังปลูกโรงละคอนในสนามข้างหลังวัง ประทับทอดพระเนตรละคอนที่ท้องพระโรงหลัง แต่ถึงสมัยพระเจ้าสีป่อ กล่าวกันว่าตั้งแต่จับเจ้านายปลงพระชนม์ที่ในวัง พระเจ้าสีป่อเกรงภัยไม่เสด็จไปท้องพระโรงหลังในเวลาค่ำมืด จึงย้ายที่ทอดพระเนตรละคอนมาสร้างริมราชมณเฑียรที่ประทับดังกล่าวมาแล้ว และยังมีคำเล่ากันต่อไปอีก ว่าเมื่อจะให้ฆ่าเจ้านายนั้นพระเจ้าสีป่อไม่เห็นชอบด้วย แต่เปนเวลาแรกเสวยราชย์ไม่อาจขัดพระนางอเลนันดอกับแตงดาแมงยีอัครมหาเสนาบดีกลาโหม ซึ่งเปนผู้ใหญ่ในราชการเวลานั้น นัยว่าพอได้ยินเสียงเจ้านายพี่น้องร้องเมื่อเอาไปประหารพระเจ้าสีป่อก็เสียเส้นประสาท แต่นั้นมาก็ไม่เปนสุข จะเข้าที่บรรทมก็ไม่หลับเปนปกติ เลยเสวยสุราเมรัยแก้รำคาญ และให้หาละคอนมาเล่นทอดพระเนตรเนืองๆ พอให้เพลิดเพลิน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ