เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ต่อในตอนที่ ๓

เมื่อออกจากศาลากลาง ตัวฉันขึ้นรถไปกับเจ้าเมืองหงสาวดีมีรถนายตำรวจนำหลัง ๑ เจ้าหญิงตามไปในรถ ๒ หลังที่เราไปจากเมืองร่างกุ้ง ดูเหมือนมีรถพวกกรมการตามไปอีกหลัง ๑ คล้ายกับกระบวรแห่แลดูเมืองหงสาวดีตามทางที่ผ่านไปไม่เห็นมีความรุ่งเรืองอย่างไร ถนนก็ยังไม่ได้ลาดอัสฟัล์ด บ้านช่องสองฟากถนนแม้จนโรงหนังฉายก็เปนแต่เครื่องไม้มุงสังกะสีโดยมาก ต่อเจ้าเมืองเล่าให้ฟังจึงรู้เหตุว่าบ้านเรือนในเมืองหงสาวดีหักพังเสียเมื่อครั้งแผ่นดินไหวใน พ.ศ. ๒๔๗๓ โดยมากที่มีอยู่เดี๋ยวนี้เปนของสร้างกันขึ้นใหม่ในเวลากำลังอัตคัดทั้งนั้น รถแล่นจากศาลากลางไปสักประเดี๋ยวก็พ้นเขตต์ที่ประชุมชนเข้าบ้านป่า เขาพาข้ามลำน้ำพะโคไปดูพระนอนใหญ่อยู่นอกเมืองทางทิศตะวันตก มีพวกกรรมการผู้รักษามาคอยรับอยู่ทั้งคณะ กรรมการคนหนึ่งบอกว่าตัวเปนมอญได้เคยเข้าไปกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่งนานมาแล้วไปพักอยู่ที่ปากลัด และได้เคยไปหาคุณจอมมารดากลิ่น เจ้าจอมมารดาของกรมพระนเรศวรฤทธิ์ บางทีจะนับเปนญาติกัน คุณแม่กลิ่นท่านเคยบอกฉันว่าญาติของท่านยังมีทั้งที่เมืองหงสาวดีและที่ในมณฑลพายัพ เพราะสกูลของเจ้าพระยามหาโยธา (พญาเจ่ง ต้นสกุล คชเสนี) ปู่ทวดของท่านเปนสกูลใหญ่ เมื่อยังอยู่กับพะม่า ตัวเจ้าพระยามหาโยธาเปนเจ้าเมืองอัตรัน (ซึ่งอังกฤษตั้งชื่อใหม่ว่า เมืองแอมเฮิสต์ ตามนามของไวสรอยอินเดียผู้บัญชาการรบพะม่าจนได้เมืองนั้น) ญาติวงศในเมืองมอญมีมาก เมื่อพะม่ามาตีเมืองเชียงใหม่ ให้พญาเจ่งคุมกองทัพมอญมากองหนึ่ง แล้วให้ตั้งรักษาเมืองเชียงแสนอยู่นาน พญาเจ่งมาได้หญิงชาวมณฑลนั้นเปนภรรยาเกิดบุตรธิดาด้วยกันจึงมีเชื้อสายอยู่ในมณฑลพายัพอีกพวกหนึ่ง แต่เมื่อมอญเปนขบถต่อพะม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๖ พญาเจ่งเปนตัวหัวหน้าคนหนึ่ง นำพวกมอญขึ้นไปตีเมืองร่างกุ้ง ทานกำลังกองทัพอะแซหวุ่นกี้ไม่ไหว ก็พาพวกมอญอพยบเข้ามาพึ่งไทยในรัชชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี เรื่องเดิมได้ยินมาดังนี้ จะซักถามเอาเรื่องราวต่อไปก็ไม่สดวกด้วยพูดกันตอนมีล่าม จึงได้แต่รับรู้เท่าที่เขาบอก

ตรงนี้จะกล่าวถึงลักษณการรักษาพุทธเจดีย์ในเมืองพะม่าเสียด้วยทีเดียว วิธีรักษานั้นรัฐบาลกำหนดพระพุทธเจดีย์เปน ๓ ประเภท ประเภทที่ ๑ พุทธเจดีย์ที่มีผลประโยชน์โดยลำภังพอรักษาตัวเอง เช่น พระเกศธาตุและพระมุเตาเปนต้น ประเภทนี้ให้มีคณะสัปรุษเปนกรรมการ มอบอำนาจในการรักษาให้อยู่ในกรรมการทุกอย่าง รัฐบาลเปนแต่ตรวจตรา พระนอนองค์ใหญ่ที่ไปดูนับอยู่ในประเภทนี้ ประเภทที่ ๒ พุทธเจดีย์ที่ไม่มีผลประโยชน์ แต่เปนของสำคัญในทางโบราณคดีอันจะปล่อยให้สูญเสียไม่ได้ เช่นโบราณวัตถุสถานที่เมืองพุกามเปนต้น แม้จนพระราชวังที่เมืองมัณฑเลก็นับอยู่ในประเภทนี้ ให้กรมตรวจโบราณคดี Archaeological Survey Department เปนพนักงานรักษา และจ่ายเงินแผ่นดินให้ใช้เท่าที่จำเปน ประเภทที่ ๓ พุทธเจดีย์ที่เปนของสร้างใหม่หรือของเก่าแต่เห็นไม่จำเปนที่รัฐบาลจะต้องลงทุนรักษา เช่นวัดที่พระสงฆ์อยู่ไม่เลือกว่าเก่าหรือใหม่นับอยู่ในประเภทนี้ รัฐบาลปล่อยให้เปนไปตามยะถากรรม

พระนอนองค์ใหญ่นี้พะม่าเรียกว่า “ชเวสะยอง Shwe Thayaung” กล่าวกันว่าเปนเสียงเพี้ยนมาจากคำ “ฉินบินสะยอง Shinbinthayaung” จะอย่างไรฉันไม่มีความรู้พอจะตัดสิน นึกแต่ว่าคำ “สะยอง” นั้นดูใกล้กับคำ “ไสยา” ถ้าว่าโดยขนาดพระนอนองค์นี้ดูเหมือนจะใหญ่โตกว่าพระนอนองค์อื่นๆ ทั่วทั้งโลก เพราะยาวกว่า ๓๐ วา (๑๘๑ ฟุต) สูง (ตรงพระพาหา) กว่า ๘ วา (๕๐ ฟุต) ฉันอยากจะชมว่างามกว่าพระนอนใหญ่องค์อื่นๆ ที่เคยเห็นมาด้วย สิ่งซึ่งสร้างประกอบกับองค์พระนอนแต่โบราณไม่เห็นเค้าเงื่อนว่าเคยมีวิหาร มีแต่ฐานชั้นล่างก่อด้วยศิลาแลงสูงสัก ๘ ศอก แล้วมีฐานชุกชีรององค์พระสูงสัก ๒ ศอกกับมีกำแพงก่อรอบบริเวณชั้นนอกด้วยอีกอย่างหนึ่ง

เรื่องตำนานของพระนอนองค์นี้ น่าพิสวงที่ไม่มีใครรู้ว่าเปนของท่านผู้ใดสร้างไว้แต่เมื่อใด องค์พระนอนเองแม้ใหญ่โตถึงเพียงนั้นก็เพิ่งปรากฏแก่ตาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ นับได้ ๕๗ ปีมาจนบัดนี้ ด้วยเมื่อพระเจ้าอลองพญาตีได้เมืองหงสาวดีเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๐ กำลังแค้นมอญ สั่งให้รื้อทำลายเมืองหงสาวดีเสียให้เปนป่า เมื่อกลับตั้งเปนเมืองในรัชชกาลภายหลังก็ไปตั้งเสียที่อื่น ที่ตรงพระนอนอยู่เปนป่ารกร้างมากว่าร้อยปี เหตุที่จะพบพระนอนนั้นเกิดแต่ผู้รับเหมาทำทางรถไฟให้คนเที่ยวเสาะหาศิลาแลง จะเอาไปทำอับเฉาถมทางรถไฟไปพบพระนอนเข้า บอกข่าวแก่ชาวเมืองหงสาวดีก็มีคนศรัทธาพากันไปถางป่าตอนนั้น จึงปรากฏองค์พระนอนแต่นั้นมา ผู้ที่อยากรู้เรื่องตำนานพยายามค้นหนังสือเก่าก็ไม่มีเรื่องใดกล่าวถึงพระนอนองค์นี้ จึงรู้ไม่ได้ว่าใครสร้างไว้แต่เมื่อใด พิเคราะห์ตามเค้าเงื่อนที่ในหนังสือราชาธิราชตอนรัชชกาลพระเจ้าธรรมเจดีย์ (เรียกว่า “พระเจ้ามหาปิฎกธร”) กล่าวถึงพระนอนในเมืองหงสาวดีคงหมายว่าพระนอนองค์นี้เอง และมีทางที่จะสันนิษฐานต่อไปว่าพระนอนขนาดใหญ่โตถึงปานนั้นเห็นจะไม่มีผู้อื่นนอกจากพระยามหากษัตริย์สร้าง อีกประการหนึ่งที่สร้างไว้ในตำบลเดียวกันกับโบสถ์ “สีมากัลยาณี” ของพระเจ้าหงสาวดีธรรมเจดีย์ ก็ชวนให้เห็นว่าน่าจะเปนพระเจ้าธรรมเจดีย์นั่นเอง หรือมิฉะนั้นก็พระเจ้าแผ่นดินองค์อื่นที่รับรัชชทายาทต่อมาสร้างพระนอนใหญ่องค์นี้ แต่เมื่อพบองค์พระนอนเปนแต่ก่ออิฐยังไม่ได้ปั้นปูนต่อให้เห็นว่าเปนของทำค้าง น่าสันนิษฐานว่าจะสร้างเมื่อภายหลังพระเจ้าธรรมเจดีย์ทำศิลาจารึกเรื่องสีมากัลยาณีเมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๙ จึงมิได้กล่าวถึงพระนอนในจารึกนั้น ที่ว่ามานี้เปนแต่ฉันช่วยสันนิษฐาน ส่วนเรื่องตำนานพระนอนตอนตั้งแต่พบในชั้นหลังนี้ เมื่อชาวหงสาวดีถากถางทำเปนเจดียสถานแล้ว องค์พระนอนยังต้องตากแดดกรำฝนอยู่กลางแจ้งช้านาน จนเมื่อเร็วๆ นี้พวกสัปรุษจึงเรี่ยรายกันได้ทุนทรัพย์พอสร้างวิหารใหญ่ปกคลุมไว้ในร่ม ทำเปนวิหารโถงด้วยเครื่องเหล็กอย่างฝรั่งพื้นวิหารปูด้วยศิลาอ่อนชักเงา และมีรั้วเหล็กหล่อตั้งรอบองค์พระ กันมิให้ใครเข้าไปจับต้องให้หมองมัว องค์พระนอนก็ปั้นและปิดทองประสานสีแต่งให้เปนพุทธลักษณงามสง่าน่าชม เห็นจะต้องใช้เงินนับด้วยแสน เดี๋ยวนี้ทำสำเร็จแล้วเพียงองค์พระกับวิหาร ต่อไปเขาคงคิดทำอุปจานลานวัดให้งามยิ่งขึ้น แม้เพียงเท่าที่ทำแล้วได้เห็นก็ต้องอนุโมทนา

ไปจากวัดพระนอนระยะทางสัก ๔ - ๕ เส้นถึงบริเวณ “โบสถ์สีมากัลยาณี” ซึ่งพระเจ้าธรรมเจดีย์สร้างเนื่องในการฟื้นพระพุทธสาสนาอันเปนการสำคัญในรามัญสมณวงศ และเปนปัจจัยมาถึงเรื่องตำนานพระสงฆ์สยามเมื่อภายหลังด้วย แต่จะรอไว้เล่าต่อไปข้างหน้า ตรงนี้จะว่าแต่ด้วยตัวโบสถ์สีมากัลยาณีก่อน โบสถ์นั้นก่ออิฐถือปูนทำเปนตึกสองชั้นขนาด ๕ ห้อง ชั้นบนมีแต่ตัวประธาน เฉลียงรอบทำเปนหลังคาตัด จะเข้าไปดูข้างในโบสถ์ไม่ได้ด้วยชำรุดมาก ผู้พาเขาห้ามว่าไม่ควรจะเสี่ยงภัย แต่เมื่อพิจารณาดูข้างภายนอกก็เสื่อมประสงค์ เพราะมีรอยปฏิสังขรณ์มาหลายครั้ง แก้ไขลวดลายของเดิมสูญเสียหมดแล้วคงเหลือของเดิมแต่โครงผนัง ดูไม่คุ้มค่าเสี่ยงภัย แต่โบสถ์นี้เปนของสำคัญในเรื่องพงศาวดาร มิรัฐบาลก็สัปรุษคงปฏิสังขรณ์ไม่ทิ้งให้สูญเสีย โบสถ์สีมากัลยาณีแปลกที่ทำเปนตึกสองชั้น เหตุใดจึงทำเช่นนั้น จะกล่าวอธิบายเรื่องวัดในเมืองพะม่าก่อน วัดในเมืองพะม่าต่างกันเปน ๒ ประเภท คือวัดประเภทที่เปนเจดียสถาน เช่นพระสถูป วิหาร (พุทธเจดีย์) หอไตรย์ (ธรรมเจดีย์) โบสถ์ (สังฆเจดีย์) สร้างด้วยก่ออิฐถือปูนทั้งนั้น แต่วัดประเภทสังฆาวาศคือเปนที่อยู่ของพระภิกษุสงฆสามเณร ย่อมสร้างด้วยไม้ และวัดทั้ง ๒ ประเภทนั้นไม่ได้อยู่รวมกัน วัดที่พระสงฆ์อยู่โดยมากไม่มีพระเจดีย์หรือโบสถ์วิหาร วัดเจดียสถานเปนต้นว่าพระเกศธาตุพระมุเตาก็ไม่มีพระสงฆ์อยู่ เพราะฉะนั้นโบสถ์สีมากัลยาณีนี้คงนับเปนวัดเจดียสถานแห่งหนึ่งต่างหากมาแต่เดิม ถ้าหาที่เทียบก็เห็นจะเปนทำนองเดียวกันกับโบสถ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามนั่นเอง อนึ่งประเพณีการบวชนาคในเมืองพะม่าแม้จนปัจจุบันนี้บวชแต่เปนสามเณรเปนพื้น การบวชสามเณรทำพิธีบรรพชาตามวัดที่พระสงฆ์อยู่ ไม่มีกิจเกี่ยวข้องต้องไปถึงโบสถ์ ต่อสามเณรองค์ใดบวชเรียนอยู่นานจนอายุถึงเขตต์จะบวชเปนพระภิกษุจึงต้องไปทำพิธีอุปสมบทที่ในโบสถ์ เพราะฉะนั้นเมื่อคิดดูก็เห็นได้ว่าในวันที่พระสงฆ์ประชุมกันทำพิธีอุปสมบท คงมีผู้พาสามเณรต่างวัดไปขออุปสมบทที่โบสถ์เดียวกันหลายๆ ราย เหตุเช่นนี้อาจจะมีมาแต่ใกล้พุทธกาลจึงมีระเบียบในบุรพกิจแห่งการอุปสมบท ที่พระกรรมวาจารย์ต้องถามชื่อตัวและชื่อพระอุปัชฌาย์ของสามเณร เพราะมีผู้ไปขออุปสมบทอยู่หลายคนด้วยกัน ที่พระเจ้าธรรมเจดีย์สร้างโบสถ์สีมากัลยาณีเปนตึกสองชั้น ชั้นล่างคงใช้เปนที่ทำ “บุรพกิจ” ชั้นบนเปนที่พระสงฆ์ทำ “สังฆกรรม” เช่นสวดญัตติในการอุปสมบทเปนต้นมิให้ใครอื่นเข้าไปเกี่ยวข้อง วิธีบวชนาคในเมืองไทยแต่โบราณก็น่าจะเปนทำนองเดียวกัน ผิดกันเพียงใช้วิหารเปนที่ทำพิธีเกี่ยวข้องกับคนภายนอก โบสถ์สำหรับแต่พระสงฆ์ทำสังฆกรรมไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอก ความข้อนี้พึงสังเกตเห็นเช่นวัดโบราณที่เมืองสวรรคโลกสุโขทัย มีแต่พระสถูปกับวิหารโดยมากต่อบางวัดจึงมีโบสถ์ การที่สร้างโบสถ์ทุกวัดเปนประเพณีมีแต่ในประเทศสยามนี้ เห็นจะเกิดขึ้นในชั้นหลังตั้งแต่ถือธรรมเนียมให้ชายหนุ่มบวชเปนพระภิกษุทุกคน แต่โบสถ์ที่ทำเปนตึกสองชั้นไม่เห็นมีทีอื่นนอกจากโบสถ์สีมากัลยาณี และโบสถ์ใหม่ ๆ ในเมืองพะม่าเอาแบบไปทำมีบ้าง โบสถ์โบราณที่เมืองพุกามก็เปนชั้นเดียวเหมือนกับโบสถ์ไทย จึงนึกสงสัยว่าพระเจ้าธรรมเจดีย์จะเอาแบบโบสถ์ลังกาที่เมืองคอลมโบ เมื่อเปนราชธานีมีชื่อว่า “ชัยวัฒนานคร” มาสร้างโบสถ์สีมากัลยาณี เพราะการฟื้นพระพุทธสาสนาเมื่อครั้งนั้นเอาแบบอย่างลังกามาใช้มาก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ