จดหมายบันทึก ที่แก้เปลี่ยนคำ ในกฎมนเฑียรบาลพม่า

หน้า ๑ — (๑) “(ในบริเวณพระราชวัง)” แก้เปน “(ในอุปจารพระราชวัง)” ด้วยไม่สดวกใจในคำ “บริเวณ” ซึ่งภาษาบาลีหมายถึงกระท่อมทำด้วยใบไม้ เหมือนคำ “บรรณศาลา” จริงอยู่ภาษาไทยใช้หมายความเปนอย่างอื่น แต่เมื่อมีคำอื่นจะใช้แทนได้อยู่ จึงเปลี่ยนเสียให้สดวกใจ

(๒) “(ของไทยเรียก “มณฑปพระกายะสนาน” )” แก้เปน “(ของไทยเรียก “มณฑปพระกระยาสนาน”)” เพราะเรียกพระกระยาสนานกันมาก่อนจริง ๆ มาแก้เปนกายะสนานกันไม่นานนัก เพราะมีผู้รู้คิดเห็นว่าคำกระยาสนานนั้นผิด แต่ที่แท้คิดว่าไม่ผิด ด้วยมีใช้ในที่อื่นอยู่เปนเพื่อนอีกมาก เช่น กระยาเสวย กระยาบวช กระยารงค์ กระยาเลย นึกว่าคำกระยานั้นจะหมายความว่า ต่างๆ หรือ หลายอย่าง กระยาสนาน หมายถึงน้ำสรงต่างๆ ซึ่งนำมาแต่ที่ศักดิ์สิทธิ์หลายแห่ง

(๓) “ตลอดทางเสด็จจาก – – “เติมคำเปน “เสด็จออกจาก – –“ ด้วยเห็นว่าคำยังบกพร่องอยู่

หน้า ๒ — “(เห็นจะหมายว่าพอจะออกจาก – – “เติมคำเปน “(เห็นจะหมายว่าต้นทางที่พอจะออกจาก – –” ด้วยเห็นว่าคำยังบกพร่องความไม่กระจ่าง

หน้า ๓ — “ให้ชาวราษฎรทราบ” ตัดเปน “ให้ราษฎรทราบ” ด้วยเห็นไม่จำเปนต้องมีคำ “ชาว”

หน้า ๕ — (๑) “พระเจ้าแผ่นดินกับพระอัครมเหษีเสด็จจาก – –” เติมคำเปน “เสด็จมาจาก – –” เพื่อให้ความสมบูรณขึ้น

(๒) ที่ตัวอย่างพระนามพระอัครมเหษีของพระเจ้ามินดง มีคำ “ราเชนตธิบดี” ได้แก้เปน “ราเชนทาธิบดี” เพราะคำ “อินต” ผิด ออกเสียงตามเขมร อ่าน ท เปน ต

(๓) ในฟุตโนต “ดูทำนองเจ้าอ่านพระนามพระเจ้าแผ่นดิน” ได้แก้เปน “ดูท่วงทีเจ้าจะอ่าน – –” ด้วยสงสัยคำ “ทำนอง” ว่าควรจะใช้แต่ที่กล่าวถึงเสียง กับเติมคำ “จะ” ลงเพื่อให้ความดีขึ้น

หน้า ๖ พระนามพระเจ้าสีป่อ คำ “ดิลกธิบดี” ได้แก้เปน “ติลกาธิบดี” ด้วยเห็นคลาดจากที่สมควร เพราะฝรั่งเขียน อ หรือ อา ก็มีหนังสือใช้ตัวเดียว

(๒) “เปนเสร็จการพิธีราชาภิเศกเท่านี้” ได้แก้เปน “เปนเสร็จการพิธีเถลิงราชบัลลังก์เท่านี้” เพราะเห็นควรเปนเช่นนั้น

หน้า ๗ — (๑) “เห็นจะให้เรือกระบวรจูง” แก้เปน “เห็นจะให้เรือดั้งคู่ชักจูง” ด้วยปรากฎอยู่ชัดว่าเปนเรือสำหรับชัก

(๒) “– –มเหษี ๘ องค์นี้ พิเคราะห์ดูก็เปนทำนองเดียวกัน – –” แก้เปน “– – พิเคราะห์ดูก็เปนแนวเดียวกัน – –” ด้วยสงสัยคำ “ทำนอง” ดั่งกล่าวมาแล้ว

หน้า ๘ — “อยู่ในบริเวณพระราชมณเฑียร” แก้เปน “อยู่ในหมู่พระราชมนเทียร” เพราะรังเกียจคำ “บริเวณ” เช่นกล่าวมาข้างต้น

หน้า ๙ — “(พ.ศ. ๒๓๙๔ – ๒๔๒๑)” แก้เปน “(พ.ศ. ๒๓๙๔ ถึง ๒๔๒๑)” ด้วยเห็นว่าชัดเจนดีกว่าเส้นขีด

หน้า ๑๐ — พระนามพระองค์หญิง “ศิริกิญจนเทวี” คิดว่าผิด เพราะคำ กิญฺจน เปนคำชั่ว คือกิเลศ ดังตัวอย่าง “โลโภ กิญฺจนํ โมโห กิญฺจนํ โทโส กิญฺจนํ” เห็นจะเปนที่พะม่าพูดเพี้ยน เช่น “สังขาสน” ก็เรียกเปน “สิงขาสน” จึ่งได้แก้คำ “กิญจน” เปน “กัญจน” ซึ่งเห็นว่าใกล้ที่สุดทั้งความก็งามจะเปนเช่นนั้น

หน้า ๑๙ — (๑) บอกรูปบัลลังก์ว่า “รูปทรงเปน ‘เชิงบาตร’” คำนี้จะมีเข้าใจผิด ด้วยสำคัญเอาคำช่างซึ่งเขาเรียกว่า “เชิงบาตร” เปนว่าจะเหมือนกับเชิงบาตรของภิกษุ แต่หาใช่ไม่ คำของช่างที่เขาเรียกว่า “เชิงบาตร” นั้นเปนรูปอย่างอื่น เพราะเหตุฉะนั้นจึงแก้เติมคำในที่นี้เข้าว่า “รูปทรงเปนเชิงบาตรของภิกษุ”

(๒) “สีหาสนบัลลังก์ในมหาปราสาทนั้น เปนทำนองเดียวกับพระที่นั่งบุษบกมาลาวังหน้า” สงสัยคำ “ทำนอง” เช่นกล่าวมาก่อนแล้ว จึงแก้เปลี่ยนเปน “มีท่วงทีคล้ายพระที่นั่งบุษบกมาลาวังหน้า”

(๓) “ทำเปนเรือนแก้วที่ซุ้มพระทวารข้างหลังหรูหรามาก” เห็นคำ “หรูหรา” ว่าเปนคำตลาด จึงแก้เปน “วิจิตรมาก”

(๔) พิธีเดือน ๕ “เสด็จสู่ที่กายะสนาน” แก้เปน “เสด็จสู่ที่สรง” ตามที่เคยใช้พูดกัน

หน้า ๒๑ — “คาถาพระยาปลาช่อนใน ๑๒ ตำนานขอฝน” ที่แท้คาถาพระยาปลาช่อนอยู่ต่างหาก ใช่ต่อท้ายสวดมนต์ทุกสูตรเมื่อต้องการฝน ไม่ได้ประจำอยู่ใน ๑๒ ตำนาน จึงตัดคำว่า “ใน ๑๒ ตำนาน” ออกเสีย

หน้า ๒๒ — (๑) “ยมก ๑ – ๕ เข้าใจไม่ได้ชัด จึ่งแก้เปน “ยมก ๑ ถึง ๕”

(๒) “ยมก ๑ – ๑๐” กับอีกแห่งหนึ่ง

(๓) “ยมก ๑ – ๑๐” แก้เปน “ยมก ๑ ถึง ๑๐” เหมือนกัน

หน้า ๒๔ — “เครื่องแต่งตัวโคอย่างหรูหรา” แก้เปน “เครื่องแต่งตัวโคอย่างงามสรรพ” เพราะ “หรูหรา” เปนคำตลาด

หน้า ๒๕ — “หลั่งน้ำสิโนทก” บกพร่องอยู่ ได้แก้เปน “หลั่งน้ำทักษิโณทก”

หน้า ๒๖ — “ดาวฤกษ กติเกยา” ผิดอยู่ที่ตามพะม่าซึ่งเรียก กรัตติย ที่จริงคำ “กัตติเกย” หรือ “การติเกย” เปนชื่อพิธีอันหนึ่ง ซึ่งทำในเดือน “กัตติกา” หาใช่ชื่อดาวไม่ จึ่งแก้เปน “ดาวฤกษ กัตติกา”

นอกจากนี้ก็เปนแก้ตัวอักษร ให้ต้องตามปทานุกรมของกระทรวงธรรมการ อันมีบังคับไว้ว่าหนังสือราชการให้เขียนตามนั้น ไม่ได้ทำให้ข้อความแปลกไป

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ