เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ต่อในตอนที่ ๓

เรื่องพระเจ้าหงสาวดีธรรมเจดีย์ฟื้นพระพุทธสาสนาในรามัญประเทศ มีเหตุการณ์ที่น่าคิดวินิจฉัยอยู่หลายข้อ พิเคราะห์ตามพงศาวดารสมัยนั้น มอญกับพะม่ารบพุ่งกันเมื่อครั้งพระเจ้าราชาธิราชกับพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง เปนมหายุทธสงครามอยู่ช้านานจนหมดกำลังลงด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย จึงเลิกสงครามกลับเปนไมตรีกัน ทางกรุงศรีอยุธยาก็เกิดรบพุ่งกับเมืองเชียงใหม่ ครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถกับพระเจ้าติโลกะมหาราช (ในพงศาวดารไทยเรียกแต่ว่า “มหาราช”) เปนมหายุทธสงครามอยู่ช้านาน จนหมดกำลังลงทั้ง ๒ ฝ่ายจึงเลิกสงครามกลับเปนไมตรีเช่นเดียวกัน ปลาดที่เปนเช่นนั้นร่วมในสมัยเดียวกันทั้งมอญกับพะม่า และกรุงศรีอยุธยากับเมืองเชียงใหม่ และยังปลาดต่อไปอีกที่พระเจ้าธรรมเจดีย์กับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถและพระเจ้าติโลกะมหาราช ต่างพระองค์ทรงบำเพ็ญพุทธสาสนูปถัมภกิจเปนอย่างวิสามัญในสมัยเดียวกันทั้ง ๓ พระองค์ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถให้ทูตไปนิมนต์คณะสงฆ์เข้ามาจากลังกาทวีปเมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๘ แล้วทรงพระราชศรัทธาละราชสมบัติออกทรงผนวชเปนพระภิกษุอยู่ถึง ๘ เดือน พระเจ้าธรรมเจดีย์ให้รวมพระสงฆ์เปนลังกาวงศทั่วทั้งในรามัญประเทศเมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๙ ฝ่ายพระเจ้าติโลกะมหาราชก็ให้พระสงฆ์ลังกาวงศ ทำสังคายนาพระไตรปิฎกที่เมืองเชียงใหม่เปนการใหญ่เมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๐ ดูราวกับบำเพ็ญพระปรมัตถบารมีแข่งกัน มูลเหตุคงเกิดแต่นิยมกันมาแต่เดิมว่าพระเจ้าแผ่นดินย่อมรุ่งเรืองพระเกียรติยศ ด้วยแผ่พระราชอาณาเขตต์ได้กว้างขวางเปนพระเจ้าราชาธิราช ต่อมาได้คติมาจากลังกาทวีปอีกอย่างหนึ่ง ว่าถ้าพระเจ้าแผ่นดินทรงสามารถทำนุบำรุงพระพุทธสาสนาให้รุ่งเรืองในพระราชอาณาเขตต์ ก็ย่อมได้พระเกียรติยศเปนพระเจ้าธรรมราชา เสมอกับเปนพระเจ้าราชาธิราช จึงเกิดการบำเพ็ญพระเกียรติยศเปน ๒ อย่าง คือบำเพ็ญเปน “พระเจ้าราชาธิราช” หรือ บำเพ็ญเปน “พระเจ้าธรรมราชา” อย่างใดอย่างหนึ่งถ้าหากจะเปนทั้ง ๒ อย่างไม่ได้เหมือนพระเจ้าอโศกมหาราช ก็ในสมัยนั้น ทั้งพระเจ้าธรรมเจดีย์ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และพระเจ้าติโลกะมหาราช ไม่มีกำลังพอจะบำเพ็ญเปนพระเจ้าราชาธิราช จึงหันไปทรงบำเพ็ญพุทธสาสนูปถัมภกิจอย่างวิสามัญ เมื่อพิจารณาต่อไปถึงอุบายที่ทรงบำเพ็ญเปนพระเจ้าธรรมราชาผิดกันทั้ง ๓ พระองค์ ก็มีเค้าเงื่อนส่อให้เห็นเหตุ จะกล่าวฉะเพาะเหตุที่เนื่องด้วยพระเจ้าธรรมเจดีย์ ความปรากฏในหนังสืออื่นว่ามีพระสงฆ์มอญบางพวกกล่าวหา ว่าเมื่อพระเจ้าธรรมเจดีย์ยังทรงผนวชเปนพระมหาปิฎกธร ไปลักพานางตะละเจ้าเท้ามาจากเมืองอังวะ ความประพฤติเข้าฉายาอาบัติอทินนาทานปราชิก ข้อนี้แม้ในหนังสือราชาธิราชซึ่งแต่งเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าธรรมเจดีย์ข้างปลายเรื่อง เมื่อเล่าถึงเรืองราชประวัติตอนที่ไปลักนางตะละเจ้าเท้า ก็แก้ไขอย่างอ้อมแอ้ม ว่าเมื่อพระมหาปิฎกธรพูดจาตกลงกับนางตะละเจ้าเท้าในการที่จะพาหนีนั้นแล้ว มาคิดปรารภว่าการลักพานั้นเปน “ครุกรรมอันใหญ่หลวง จะขาดจากสิกขาบท” ครั้นจะลาสิกขาออกเปนคฤหัษฐ์ก็จะเข้าไปเฝ้านางตะละเจ้าเท้าไม่ได้เหมือนเปนพระ พระมหาปิฎกธรจึงใช้อุบายศึกเปนคฤหัษฐ์เสียก่อนแล้วกลับบวชเปนสามเณร แต่ครองผ้าอย่างเปนพระภิกษุเพื่อป้องกันภัย ดังนี้ ส่อให้สงสัยว่าที่พระเจ้าธรรมเจดีย์จัดการพระพุทธสาสนาครั้งนั้นมีเหตุในส่วนพระองค์เกี่ยวข้องอยู่ด้วย ยังมีข้อปลาดยิ่งกว่านั้นต่อไปอีกที่หนังสือราชาธิราช (Razadarit Ayedawpen) นั้น พะม่าว่าขุนนางมอญคนหนึ่งเปนที่พระยาทละแต่ง เมื่อรัชชกาลพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองในระวาง พ.ศ. ๒๑๒๔ จน พ.ศ. ๒๑๕๔ คือภายหลังรัชชกาลพระเจ้าธรรมเจดีย์มาเพียงราวร้อยปี ในหนังสือนั้นยกย่องพระเจ้าธรรมเจดีย์ว่าเปนอุดมบัณฑิตย์ พรรณนาพระเกียรติคุณเปนอเนกปริยาย แม้จนทรงแก้ปฤษณาต่าง ๆ และพระราชวินิจฉัยในอรรถคดีต่างๆ ก็เอามาเล่าถ้วนถี่ แต่ไฉนในหนังสือราชาธิราชไม่กล่าวถึงเรื่องพระเจ้าธรรมเจดีย์ทรงจัดการฟื้นพระพุทธสาสนา และรวมนิกายพระสงฆ์เสียเลยทีเดียว จะว่าผู้แต่งไม่รู้หลักศิลาจารึกกัลยาณีก็มี “ตำตา” อยู่ที่เมืองหงสาวดีในสมัยนั้น จึงน่าสงสัยว่าจะจงใจไม่กล่าวถึงทีเดียว จะเปนเพราะเหตุใดได้แต่สันนิษฐานตามเค้าเงื่อนที่มีอยู่ ด้วยพระเจ้าธรรมเจดีย์เปนใหญ่แต่ในรามัญประเทศ ประเทศอื่นๆ ที่ใกล้เคียง คือ พะม่า ยักไข่ ลานนาเชียงใหม่ และประเทศสยาม แม้ถือสาสนาเดียวกันก็เปนอิสสระอยู่ต่างหากทั้งนั้น พระเจ้าธรรมเจดีย์พื้นพระพุทธสาสนาแต่ในรามัญประเทศ และเกี่ยวข้องแต่ฉะเพาะพวกมอญ การที่พระเจ้าธรรมเจดีย์รวมนิกายสงฆ์ แม้จะเปนคุณแก่พระพุทธศาสนาดังพรรณนาในจารึกกัลยาณีก็ดี แต่กระบวรการที่ทำอยู่ข้างเรี่ยวแรงมาก ถึงให้พระสงฆ์ศึกหมดทั้งพระราชอาณาเขตต์ ศึกแล้วยอมให้บวชใหม่บ้างไม่ยอมให้บวชบ้าง เมื่อคิดคาดน้ำใจของพระสงฆ์มอญที่ต้องกระทำตามพระราชบริหารในครั้งนั้น เห็นว่าคงต่างกันเปน ๓ พวก พวก ๑ ยอมกระทำตามด้วยความเต็มใจ บางทีพวกนี้จะมีมาก พวก ๑ ยอมกระทำตามด้วยเกรงภัย แต่น้ำใจไม่สมัค อีกพวก ๑ ไม่ยอมทิ้งลัทธิเดิม คงหลบหนีหรือทำมารยาอย่างหนึ่งอย่างใดพอให้พ้นภัย การที่รวมนิกายพระสงฆ์มอญในครั้งนั้นเห็นจะไม่สำเร็จได้จริง เพราะฉะนั้นประเทศอื่นๆ ที่ใกล้เคียงจึงไม่ทำเช่นนั้นบ้าง เมื่อล่วงรัชชกาลพระเจ้าธรรมเจดีย์แล้ว การที่ได้ทรงจัดไว้ก็น่าจะเสื่อมทรามลงเปนอันดับมา จนถึงสามชั่วคนจึงแต่งหนังสือราชาธิราช ผู้แต่งหรืออาจจะเปนพระเจ้าบุเรงนอง เห็นว่าเรื่องฟื้นพระพุทธสาสนาที่จารึกในศิลากัลยาณีเปนการไม่สำเร็จประโยชน์ยั่งยืน จึงไม่กล่าวถึง แต่คิดดูในเวลานี้จะว่าไม่เปนประโยชน์ทีเดียวก็ว่าไม่ได้ ด้วยวิธีผูกสีมาทั่วทั้งเมืองพะม่ายังใช้อนุโลมตามแบบอย่างที่พระเจ้าธรรมเจดีย์ตั้งไว้ และใช้จารึกกัลยาณีอันพระสงฆ์คัดสำเนาจานไว้ในคัมภีร์ใบลานเปนหลักเมื่อเกิดสงสัยในการทำสีมามาจนตราบเท่าทุกวันนี้

วิธีผูกพัทธสีมาในเมืองพะม่าที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ นายทอเซียนโกได้เก็บเนื้อความแสดงไว้ในคำนำคำแปลจารึกกัลยาณี สังเกตดูคล้ายกับวิธีพระสงฆ์ไทยผูกพัทธสีมาก็มี ผิดกันก็มี คือ

๑. ใครจะสร้างโบสถ์ (วัดในเมืองพะม่ามีโบสถ์น้อยวัด) ต้องขอที่วิสุงคามสีมาต่อรัฐบาล ขนาดที่วิสุงคามโดยยาวราว ๒๑ วา กว้างราว ๑๘ วา ต่อรัฐบาลอนุญาตและยอมสละสิทธิถวายสงฆ์แล้ว จึงผูกสีมาได้

๒. เมื่อได้ที่วิสุงคามแล้ว พระสงฆ์นายกผู้จะอำนวยการพิธีจึงกะแนวสีมาซึ่งจะผูกในที่วิสุงคามนั้นเปนแนวโบสถ์เส้น ๑ ต่อออกไปอีกราว ๖ ศอกเปนแนกสีมาอีกแนว ๑ ให้แผ้วถางปราบที่ตรงนั้นให้เรียบราบแล้วเอาดินอ่อนโบกเปนพื้น และเอาปูนขาวหรือดินแดงโรยเปนเส้นหมายปันพื้นที่เปนช่องตาราง แต่ละช่องยาวราว ๔ ศอก กว้างราว ๒ ศอก พวกคฤหัษฐ์ปลูกปรำตกแต่งด้วยเครื่องประดับครอบตลอดเขตต์

๓ เริ่มการพิธีด้วยพระสงฆ์สวดกรรมวาจาถอนสีมา (อันหากจะมีอยู่แต่เดิม) ไปทุกช่องตารางที่หมายพื้น พิธีถอนสีมาทำหลายวันแล้วพักสัก ๒ วัน (จึง)

๔. ตั้งต้นทำพิธีผูกพัทธสีมา (ตอนนี้ดูเหมือนผิดกับไทยเปนข้อสำคัญอยู่อย่างหนึ่งที่พะม่าไม่ใช้ศิลาลูกนิมิตร์) แต่โบราณให้ขุดคูตรงเส้นสีมารอบทั้ง ๔ ด้าน แต่เดี๋ยวนี้ให้ขุดเปนแต่บ่อ ๘ บ่อหมายเขตต์ตรงมุมทั้ง ๔ กับย่านกลางทั้ง ๔ ด้าน ก่อนจะเริมทำการพิธีให้คนตักน้ำมาเทลงใน (คูหรือ) บ่อให้มีน้ำขังอยู่เสมอ ถ้าน้ำพร่องก็ต้องเติม แต่เมื่อเริ่มการพิธีแล้วจะเติมน้ำอีกไม่ได้ และต้องให้มีน้ำขังอยู่ตลอดเวลาทำการพิธี ภายในแนวบ่อน้ำเข้าไปสักศอก ๑ ทำรั้วตารางไม้ไผ่ตั้งไว้รอบ และให้มีพระหนุ่มยืนประจำอยู่ที่บ่อ พระสงฆ์สวดกรรมวาจาผูกสีมาเดินเวียนมาโดยลำดับ ถึงที่ (บ่อน้ำ) สีมาไหนก็ทักถาม เช่นถึงทิศตะวันออกถามว่า “ปุรตฺสีมาย ทิสาย กิํ นิมิตฺตํ” ภิกษุหนุ่มซึ่งประจำสีมานั้นตอบว่า “อุทกํ ภนฺเต” นัยว่าถามและตอบกันทั้งเปนภาษามคธและภาษาพะม่า

๕. เมื่อผูกสีมารอบแล้ว พระสังฆนายกอ่านประกาศบอกวันคืน เดือนปี กับทั้งชื่อพระเถระผู้ผูกพัทธสีมาและชื่อสีมา (คือชื่อวัด) ด้วย

๖. ต่อเมื่อทำพิธีผูกสีมาเสร็จแล้วจึงให้ถมบ่อน้ำ และเอาหลักศิลาปักตรงบ่อนั้นเปนเครื่องหมายเขตต์สีมาต่อไป

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ