วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันรับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์แล้ว เรื่องของเจ้าปิยที่พิพิธภัณฑ์สถานซื้อนั้นหม่อมเจิมของหม่อมฉันมาเล่ารายการต่อไป ว่ารัฐบาลให้ซื้อด้วยเงินรายได้ของกรมศิลปากร คือ เงินทุนที่ราชบัญฑิตย์สภาได้สะสมไว้ จำนวนเงินมีไม่พอจะให้ในคราวเดียวทั้ง ๔๐,๐๐๐ บาท ต้องผัดผ่อนใช้เปนหลายคราวเห็นจะหลายปีกว่าจะใช้หมด

เจ้าปิย เธอได้เปรียบคนอื่นด้วยเธอรวมเงินตราต่างๆ เมื่อเธอเปนปลัดทูลฉลองกระทรวงพระคลัง เวลาแรกเลิกใช้เงินพตด้วง เงินชนิดนั้นเข้ามารวมอยู่ในพระคลังมาก เลือกได้ตามใจไม่ต้องไปเที่ยววิ่งหาเหมือนคนอื่นๆ แต่เธอไปเชื่อนายกุหลาบในข้อที่ว่าเงินตราอย่างไหนเปนเงินแผ่นดินไทย บอกมิสเลอเม ๆ สำคัญว่าเธอรู้จริง เอาไปแต่งลงพิมพ์ (ดูเหมือนจะเปนในหนังสือของสยามสมาคม) เลยเลอะไปหมด แต่ไม่เปนเหตุให้ร้ายเหมือนหนังสือ “อภินิหารบรรพบุรุษ” ฉะบับของเจ้าปิย หนังสือฉะบับนั้นเปนสมุดขาว เธอมีแก่ใจเอามาให้คัดสำเนาไว้ในหอพระสมุดฯ เมื่อเอามาเธอบอกหม่อมฉันเปนมั่นคง (ราวกับ “สบถได้”) ว่าเปนฉะบับของสมเด็จกรมพระยาปวเรศรฯ เธอได้มาโดยมีหลักฐานว่านายกุหลาบมิได้เกี่ยวข้องกับหนังสือฉะบับนั้น ครั้นดีดพิมพ์คัดสำเนาแล้วเขาเอามาให้หม่อมฉันดู อ่านไปไม่กี่หน้าก็รู้แน่ (อย่างสบถได้) ว่าเปนฉะบับนายกุหลาบนั่นเอง ครั้นจะโต้แย้งเจ้าปิยก็เกรงว่าจะเกิดขัดใจกันด้วยเธอเชื่อถือมั่นคง หม่อมฉันก็เปนแต่ให้เก็บไว้ในหอพระสมุดฯ และเขียนด้วยลายมือของหม่อมฉันบอกไว้ข้างต้นว่าเปนฉะบับนายกุหลาบ และเขียนฟุตโน้ตไว้ในนั้นด้วยหลายแห่งแสดงหลักฐานให้เห็นเท็จ ความสงบมาจนเจ้าปิยสิ้นชีพฯ ทูลกระหม่อมชายเปนเจ้าภาพงานศพ เอาหนังสือเรื่องนั้นออกพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าปิย ในเวลาเมื่อหม่อมฉันไปยุโรปคราวหลัง กลับมาเห็นเข้าก็ตกใจ ทูลถามทูลกระหม่อมชายว่าเหตุใดจึงทรงพิมพ์หนังสือเท็จเรื่องนั้น ท่านตรัสตอบว่าเปนความผิดของพระองค์ท่านเอง ด้วยตรัสสั่งให้หม่อมอนุวัตรไปเลือกหนังสือของหม่อมเจ้าปิยมาพิมพ์สักเรื่องหนึ่ง หม่อมอนุวัตรไปทราบจากคนของเจ้าปิย ว่าหนังสือเรื่องนี้เธอโปรดมากจึงเลือกเอามา ทูลกระหม่อมทรงฟังแต่คำหม่อมอนุวัตรทูลเสนอ ก็ตรัสสั่งให้พิมพ์และทรงแต่งคำนำประทานทั้งยังไม่ได้ทรงอ่านหนังสือนั้น ต่อแจกหนังสือนั้นแล้วจึงเปิดออกทอดพระเนตร อ่านไปสักสองสามหน้าก็ตระหนักพระหฤทัยว่าเปนหนังสือนายกุหลาบแต่ง เมื่อการล่วงเลยพ้นเวลาจะแก้ไขได้เสียแล้ว หนังสือนั้นจึงแพร่หลาย เลยเปนเครื่องมือของคนร้ายใช้ติเตียนพระราชวงศ์

เรื่องจางวางรอดของเจ้าปิยก็มียืดยาว เกี่ยวกับตัวหม่อมฉันด้วยก็มาก ควรจะทูลเล่าถวายได้ มูลเหตุที่หม่อมฉันจะรู้จักนายรอด (เมื่อก่อนเปนจางวาง) นั้น นายรอดขึ้นไปลักพระเศียรพระศิลาที่เมืองลพบุรี เจ้าเมืองเขาให้ตำรวจภูธรตามลงมาจับได้ทั้งนายรอดและเศียรพระเอาไปลพบุรี หม่อมฉันยังไม่ทราบจนเจ้าปิยซึ่งเปนกรรมการหอพระสมุดอยู่ด้วยในสมัยนั้น มาบอกว่านายรอดเปนคนรับใช้ของเธอ ขึ้นไปเที่ยวหาของโบราณ ไปเห็นพระเศียรพระศิลาทอดทิ้งอยู่สำคัญว่าไม่มีใครหวงแหนจึงเอาลงมา เดี๋ยวนี้ถูกจับใส่ตรางไว้ที่ลพบุรี ขอให้หม่อมฉันช่วยสักที หม่อมฉันนึกว่านายรอดติดตรางอยู่หลายวันและของกลางก็ได้คืนแล้ว จึงมีจดหมายไปถึงเจ้าเมืองลพบุรีเขาก็งดฟ้องปล่อยตัวนายรอดมา เรื่องนี้เปนมูลเหตุที่นายรอดจะได้รู้จักกับหม่อมฉัน ด้วยมาขอบใจเมื่อช่วยให้พ้นโทษมาได้ สมัยนั้นกำลังหม่อมฉันเสาะหาตู้ของโบราณมาใส่หนังสือในหอพระสมุดฯ นายรอดยื่นหนังสือต่อหม่อมฉันเนืองๆ บอกว่าได้ไปเห็นตู้ดีมีอยู่วัดนั้นๆ สอบดูได้จริงดังว่า เมื่อหม่อมฉันไปขอพระได้ตู้มา ก็ให้บำเหน็จแก่นายรอด หม่อมฉันจึงได้ใช้นายรอด กับลูกน้องซึ่งนายรอดพามาให้รู้จักอีกคนหนึ่ง ให้เที่ยวสืบหาตู้อยู่ระยะหนึ่ง ครั้นต่อมาหม่อมฉันไปเมืองสุพรรณ เมื่อพักอยู่ที่เมืองมีพระอธิการวัดหนึ่งไปถามพระยาสุพรรณว่าหม่อมฉัน “ต้องพระประสงค์” พานสองชั้นประดับมุกที่วัดหรืออย่างไร พระยาสุพรรณถามได้ความจากพระว่ามีชายคนหนึ่งไปอ้างว่าเปนคนตามเสด็จหม่อมฉัน หม่อมฉันอยากจะทอดพระเนตรของโบราณ ทราบว่ามีพานมุกอยู่ที่วัดนั้น จึงให้ตนมาขอไปถวายทอดพระเนตร เมื่อพระมอบพานมุกไปให้แล้วนึกระแวงขึ้นมาว่าจะไม่จริงเช่นว่า จึงขึ้นมาสืบ หม่อมฉันบอกพระยาสุพรรณให้รีบสืบจับก็ได้ตัวคนที่เปนลูกน้องของนายรอดกับทั้งของกลางคามือ ต้องติดคุกเมืองสุพรรณ แต่นั้นนายรอดก็ไม่กล้าเข้าหน้าหม่อมฉันอีก เรื่องรูปพระกาฬที่ตรัสเล่ามาในลายพระหัตถ์ก็เกี่ยวข้องกับหม่อมฉัน แต่เพิ่งมาทราบในลายพระหัตถ์ว่านายรอดเปนผู้ลัก เดิมหม่อมฉันได้ยินคำเล่าลือว่าโปลิศจับได้เทวรูปของโบราณงามนัก สงสัยว่าจะมีใครลักลงมาจากข้างเหนือ หม่อมฉันอยากเห็นจึงให้ไปบอกผู้บังคับการโปลิศ เขาก็ส่งมาให้ดูที่หอพระสมุด พอหม่อมฉันเห็นก็รู้ว่าเปนของใหม่ เพราะทำนุ่งผ้าโจงกระเบนอย่างลิเกแต่งตัว แต่ก็ยังไม่รู้ว่าเอามาจากไหน จนพระยาโบราณเห็นบอกว่าเทวรูปพระครูปลื้มสร้างไว้ที่นครหลวง ก็เลยจัดการให้คืนไปไว้ที่เดิม หม่อมฉันมาได้ยินข่าวเรื่องนายรอดครั้งที่สุดว่า ขึ้นรถยนต์กับลูกน้องไปลักพระพุทธรูปที่วัดเทวราชกุญชร โปลิศจับได้คามือ ถูกติดคุก แต่ยังนึกสงสัยอยู่อย่างหนึ่งว่าเปน “จางวาง” ของใคร เพิ่งเปนในตอนหลัง เมื่อหม่อมฉันใช้ยังเรียกกันแต่ว่านายรอด จะเปนจางวางของเจ้าปิยก็เข้าใจว่าเกินยศหม่อมเจ้า ต่อเปนพระองค์เจ้าจึงจะมีจางวางได้

หม่อมฉันยินดีทีทราบว่างานพระราชทานเพลิงศพพระยาโบราณฯ มีผู้คนไปมาก ต้องเปนคนสมัยเก่าอยู่เองจึงคุ้นกับพระยาโบราณฯ ดูก็เปนคู่เปรียบกับศพพระยาสุริยานุวัติชอบกล ศพนั้นมีคนแต่สมัยใหม่เปนพื้น หนังสือแจกงานศพมาถึงหม่อมฉันแล้วทั้งนั้น ยังขาดแต่งานกรมพระกำแพงเพ็ชร์กับงานพระยาโบราณฯ (ซึ่งอยากเห็นอยู่) บางทีจะเปนเพราะเจ้าภาพคอยหาโอกาสฝากคนที่มาปีนังด้วยเปนของขนาดใหญ่ หนังสืองานกรมพงศากับงานพระยาสุริยาฯ เจ้าสมัยเฉลิมก็รับฝากมา เธอบอกว่าจะไปปารีสเพื่อจัดของไทยแสดงพิพิธภัณฑ์ ว่าทำปราสาทพลับพลาไปตั้งหลังหนึ่งพระพรหมวิจิตรเปนคนออกแบบ เธอเปนผู้จะไปคุม ดูเธอรักจะรู้วิชาศิลปแบบไทย ลูกหม่อมฉันถามเธอว่า ถ้าเช่นนั้นไฉนจึงไม่ไปเฝ้าศึกษาต่อพระองค์ท่าน เธอตอบว่าประสงค์เช่นนั้นแต่แรกมา แต่ “พี่โป๊ะ” บอกว่าจะวิสาสะกับพระองค์ท่านนั้นยากนัก ตัวเธอเอง (คือเจ้าโป๊ะ) ต้องพยายามอยู่ถึง ๔ ปีจึงเข้าได้ เธอ (เจ้าสมัย) ก็ท้อใจ

ที่ทรงปรารภถึงความเหน็จเหนื่อยของหม่อมฉันและยกพระอาการส่วนพระองค์มาเปรียบนั้น อาการของหม่อมฉันก็เปนอย่างเดียวกันเพราะความชรานั้นเอง ขอบพระคุณที่ทรงพระปรารภถึงด้วยทรงพระเมตตา จะยกกรณีทูลพอเปนตัวอย่าง สัปดาหะนี้ก็ต้องทูลขอเว้นส่งเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าอีกครั้งหนึ่ง เพราะหมู่นี้ต้องอ่านเขียนงานมากยังอ่อนเพลีย

หม่อมเจิมจะกลับกรุงเทพ ฯ พรุ่งนี้ เปนโอกาสจะฝากของถวายได้ ให้เที่ยวหาผลไม้ ลูกแปร์ก็เผอิญขาดคราว ส้มจัฟฟานั้นไม่มีมาขายกว่าปีแล้ว หม่อมฉันเพิ่งทราบในเรื่องพวกสเปญจับเรืออังกฤษในท้องทะเล กล่าวว่าเรือลำนั้นไม่มีอาวุธยุทธภัณฑ์อย่างใด เปนแต่บรรทุกส้มจากเมืองจัฟฟาไปขายในประเทศอังกฤษ จึงรู้ว่าเพราะมันเอาไปขายที่อื่นเสียหมด จึงไม่มีออกมาทางนี้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. หม่อมเจ้าปิยภักดีนาถ สุประดิษฐ์

  2. ๒. ดูพงศาวดารกระซิบ ของบรรเจิด อินทุจันทร์ยง สำนักพิมพ์ดอกหญ้า จัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๐

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ