เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๗ ล่องแม่น้ำเอราวดี

เมื่อกลับจากเมืองมัณฑเลมาทางเรือวันครึ่งถึงเมืองพุกาม ขึ้นเที่ยวดูเมืองพุกามอยู่ ๓ วัน แล้วลงเรือลำอื่นล่องต่อมาอีก ๒ วันครึ่งถึงเมืองแปรจึงกลับขึ้นรถไฟ ได้เห็นแม่น้ำเอราวดีตอนกลางในระยะทางที่ล่องมา ๔ วัน จะพรรณนาในตอนนี้ รอเรื่องเมืองพุกามไว้พรรณนาต่อไปเปนตอนหนึ่งต่างหาก

แม่น้ำเอราวดี นับเปนมหานทีสายหนึ่งในทวีปเอเซีย ผ่านกลางประเทศพะม่าลงมาแต่ข้างเหนือจนออกทะเล ทำนองเดียวกับแม่น้ำเจ้าพระยาในประเทศสยาม และเปรียบกันได้อย่างอื่นอีก ถ้าสมมตว่าเมืองมัณฑเลอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก แม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไปแยกเปนสองสายที่ปากน้ำโพธิ์ฉันใด แม่น้ำเอราวดีก็ขึ้นไปแยกเปนสองสายที่เมืองปะกกกู Pakokku ทำนองเดียวกัน สายทางตะวันตกเรียกว่าแม่น้ำ “ชินด์วิน” Chindwin ยืดยาวต่อขึ้นไปเหมือนอย่างแม่น้ำปิงสายหนึ่ง แม่น้ำเอราวดีเปนสายทางตะวันออกเปรียบเหมือนแม่น้ำน่าน คงเรียกว่าแม่น้ำ “เอราวดี” Irrawaddy ขึ้นไปยืดยาวอีกสายหนึ่ง ผ่านเมืองที่เปนราชธานีแล้วเลยขึ้นไปจนเข้าในแดนประเทศจีน แม่น้ำเอราวดีไปหมดที่ไหนยังไม่มีใครรู้แน่ รู้แต่ว่ายอดน้ำเปนลำธารขึ้นไปจนบนภูเขาสูงที่มีหิมะคลุมในระดูหนาว อาจอยู่ในแดนประเทศจีนหรือธิเบถก็เปนได้ เพราะถึงต้นระดูแล้งเมื่อหิมะละลาย มีน้ำไหลหลากจากข้างเหนือลงมาถึงแม่น้ำเอราวดีทุกปี ปากน้ำเอราวดีมีทางน้ำออกทะเลถึง ๙ แพรก ผิดกับแม่น้ำเจ้าพระยาไปเปนทำนองเดียวกับปากน้ำโขงในเมืองเขมร และน้ำคงคาในอินเดีย แม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ปากน้ำขึ้นไปจนถึงมณฑลอยุธยามีคลองขุดตามขวางไปถึงเมืองอื่นๆ ฉันใด แม่น้ำเอราวดีข้างใต้ตอนที่แผ่นดินต่ำก็มีคลองขุดตามขวางไปถึงเมืองในลำน้ำอื่น เช่นเมืองร่างกุ้งเปนต้นทำนองเดียวกัน ขึ้นไปตอนข้างเหนือ เมื่อผ่านที่แผ่นดินสูง ก็มีแม่น้ำขนาดย่อมๆ แยกเปนสาขาเปนระยะไปอีกหลายสาย ในแม่น้ำเอราวดี ใช้เรือกำปั่นไฟได้ตลอดปีตั้งแต่ปากน้ำขึ้นไปจนถึงเมืองบาโม (บ้านหม้อ) ระยะทางกว่า ๔๐,๐๐๐ เส้น ในแม่น้ำชินด์วิน ระดูน้ำเรือไฟก็ขึ้นไปได้เกือบ ๑๐,๐๐๐ เส้น ขนาดกว้างของแม่น้ำเอราวดีตอนที่ฉันล่องลงมา ถ้าประมาณเปนปานกลางเห็นจะกว้างรากสัก ๒๐ เส้น แต่มีหาดมาก เปนทางน้ำไหลแต่สักครึ่งหนึ่ง เพราะน้ำในแม่น้ำเอราวดีระดูน้ำกับระดูแล้งผิดกันมาก เวลาระดูน้ำ น้ำสูงกว่าระดูแล้งถึง ๖ วาท่วมตลิ่งเข้าไปไกล ที่เมืองมัณฑเลจึงต้องทำคันกันน้ำท่วมดังกล่าวมาแล้ว เล่ากันว่าคันกันน้ำเคยพังครั้งหนึ่งเกิดเสียหายที่เมืองมัณฑเลมาก น้ำเริ่มหลากแต่ต้นระดูฝนในเดือนมิถุนายนจนสิ้นเดือนกันยายนหมดระดูฝนน้ำจึงลด เวลาน้ำหลากนั้นสายน้ำเชี่ยวจัดกัดตลิ่งพัง พาเอากรวดทรายไปตกในแม่น้ำเกิดเปนหาด หาดแห่งใดใหญ่ขึ้นก็กีดกันสายน้ำให้ไหลแปรไปกัดทางอื่น เปนเหตุให้แนวตลิ่งกับทั้งหาดและร่องน้ำเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ รู้ไม่ได้ว่าปีไหนน้ำจะกัดที่ตรงไหน หรือว่าหาดที่ตรงไหนจะงอกออกไปสักเท่าใด จึงทำท่าเทียบเรือกำปั่นไฟถึงตลิ่งไม่ได้ ต้องเอาเรือลำเลียงทอดไว้ที่ชายหาดพอให้เรือกำปั่นไฟจอดเทียบเปนทางขึ้นลง เวลาน้ำขึ้นท่วมหาดถึงไหน ก็เลื่อนเรือลำเลียงถอยตามเข้าไปจนถึงเทียบตลิ่งในเวลาน้ำขึ้นถึงสูงสุด เวลาเมื่อฉันไปเปนระดูแล้งน้ำงวดชายหาดห่างตลิ่งออกไปไกล จะลงเรือจึงต้องไต่ลงไปจากตลิ่ง แล้วเดินลุยทรายข้ามหาดไปลงเรือดังกล่าวมาแล้ว

การเดินเรือกำปั่นไฟในแม่น้ำเอราวดีก็มิใช่ง่าย เพราะในระดูแล้งน้ำตื้นและร่องน้ำก็เปลี่ยนทุกปี บริษัทเจ้าของเรือต้องทำตรุยหมายร่องน้ำ ให้แลเห็นเปนระยะตลอดทาง ตรุยนั้นเอาไม้ไผ่ทั้งลำตัดพอได้ขนาด แต่ปักไม่อยู่ด้วยสายน้ำแรง ต้องเอากระสอบกรวดทรายผูกทอดถ่วงทางโคนให้ปลายไม้ลอยโผล่อยู่ ทาสีตรุยฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาให้ผิดกัน ตรุยหมายที่มีหินอยู่ใต้น้ำก็ทาสีหนึ่งต่างหาก ให้เปนที่สังเกต การตรุยร่องน้ำต้องมีเรือไฟเล็กกับพนักงานพวกหนึ่งสำหรับเที่ยวตรวจอยู่เสมอ นอกจากนั้นยังมีคนนำร่องประจำอยู่ทุกระยะ เมื่อเรือจะผ่านย่านไหนก็รับนำร่องสำหรับย่านนั้นไปด้วย แม้มีตรุยและคนนำร่องเช่นนั้นแล้ว การล่องเรือกำปั่นไฟเช่นที่พวกเรามาก็ยังลำบาก เพราะเปนเรือขนาดใหญ่ และมีเรือลำเลียงบรรทุกสินค้าผูกเคียงทั้งสองข้าง ในแแม่น้ำบางแห่งมีหาดยื่นออกมาทั้งสองฝ่าย ทำให้ร่องน้ำคดเคี้ยวน้ำไหลเชี่ยวเช่นกับแก่ง ถ้าเรือล่องพลาดสักนิดก็ติดหาด ถึงที่เช่นนั้นเขาทอดสมอให้เรือกลับเอาท้ายลง ค่อยๆ หย่อนสายสมอและเดินเครื่องจักรช่วยให้เรือลอยตรงลงมาตามร่องน้ำ จึงพ้นที่ยากจึงถอนสมอกลับลำเรือล่องลงมาอย่างเดิม มีที่ล่องยากเช่นว่าหลายแห่ง เพื่อความปลอดภัยบริษัทเขาจึงให้เรือล่องแต่กลางวันเวลาค่ำมืดให้จอดพัก ที่ย่านหนึ่งมีกัปตันฝรั่งเปนนำร่อง พบกันเมื่อแกมาลงเรือ คุยสนุกดีด้วย แกเล่าว่าตัวแกเคยเดินเรือของบริษัทขึ้นล่องทางแม่น้ำเอราวดีมาแต่ยังหนุ่ม ครั้นแก่ลงจะทนตรากตรำไม่ไหวแต่บริษัทเขายังอยากเอาแกไว้ จึงให้มาเปนนำร่องที่ย่านนี้ ดูเหมือนจะเปนย่านที่ล่องยาก มีหน้าที่สำหรับนำเรือใหญ่ล่องแล้วรับเรือใหญ่ลำที่ขึ้นมาสวนกัน ณ ท้ายย่านขึ้นไป ต้องลงเดินเรือเพียงสัปดาหะละ ๔๘ ชั่วโมง แต่แกชำนาญจริง อาจนำเรือใหญ่ขึ้นล่องและกลับเรือลอยลงเช่นว่ามาได้แม้ในเวลากลางคืน อาศัยแต่แสงโคมไฟฟ้าฉายให้เห็นทางเท่านั้น นายเรือกำปั่นลำที่ฉันมาเล่าให้ฟังว่าขึ้นล่องในระดูน้ำก็มิใช่ง่าย แต่ยากต่างไปอีกอย่างหนึ่ง เพราะระดูน้ำน้ำท่วมหาดแลเห็นแต่เปนน้ำเจิ่งไป ไม่รู้ว่าน้ำจะท่วมหาดตรงไหนลึกสักเท่าใด ถึงเดินเรือไม่ต้องอ้อมค้อม และไม่ต้องกลับเอาท้ายเรือลงเหมือนอย่างระดูแล้งก็จริง แต่สังเกตร่องน้ำผิดเรือก็ติดได้ง่าย ๆ แกชี้ให้ฉันดูเรือกำปั่นของรัฐบาลลำหนึ่งซึ่งติดเพราะสังเกตร่องผิด ยังค้างอยู่บนหาดสูงสัก ๓ วา บอกว่าเรือลำนั้นจะต้องอยู่อย่างนั้นสัก ๖ เดือน จนน้ำปีใหม่จึงจะหลุดไปได้ ถามแกว่าระดูไหนจะเดินเรือยากกว่ากัน แกว่าในระดูแล้งเช่นเวลาที่เรามายากกว่าระดูน้ำ เพราะที่บางแห่งร่องน้ำลึกเพียงสัก ๔ ศอก เรือกินน้ำกว่า ๓ ศอก จึงต้องระวังมาก เมื่อเข้าย่านน้ำตื้นต้องให้คนยืนเอาไม้หยั่งน้ำมาทั้งสองข้างเรือ แต่สังเกตดูเมื่อเวลาเรือผ่านย่านที่ยากไม่เห็นมีใครสทกสท้าน คงเปนด้วยเคยขึ้นล่องเสียจนชินแล้วนั้นเอง

คราวนี้จะพรรณนาว่าด้วยเรือของ “บริษัทเรือแม่น้ำเอราวดี” Irrawaddy Flotilla Company ต่อไป เหตุที่จะตั้งบริษัทเรือนี้ มีเรื่องตำนานว่าเมื่อครั้งอังกฤษตีเมืองพะม่าครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๙๕) รัฐบาลอินเดียให้เอาเรือกำปั่นไฟสำหรับใช้ทางแม่น้ำ ๔ ลำกับเรือลำเลียงอีกหลายสิบลำมาจากอินเดีย สำหรับใช้ในการสงครามครั้งนั้น ครั้นเสร็จการสงคราม อังกฤษได้เมืองพะม่าใต้ไว้เปนเมืองขึ้น เมื่อจัดการปกครอง จึงเอาเรือกำปั่นไฟกับเรือลำเลียงเหล่านั้นไว้ใช้ราชการที่เมืองพะม่าใต้ ต่อมาเมื่อการทำนุบำรุงบ้านเมืองเจริญขึ้น มีชาวสก๊อตแลนด์พวกหนึ่งคิดจะเดินเรือรับจ้างส่งคนและสินค้าทางแม่น้ำเอราวดี รัฐบาลยอมขายเรือกำปั่นไฟและเรือลำเลียงที่เอาไว้ใช้ราชการให้ พวกนั้นจึงตั้งบริษัทเรียกว่า “บริษัทเรือแม่น้ำเอราวดี” ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ ในชั้นแรกเดินเรือจากเมืองร่างกุ้งขึ้นไปเพียงเมืองธเหย็ดตะโย ซึ่งเปนเมืองปลายแดนอังกฤษในสมัยนั้น กับเดินเรือตามคลองขุดไปถึงเมืองต่างๆ ในอาณาเขตต์ของอังกฤษ แต่พอมีเรือกำปั่นไฟเดินรับส่งผู้คนและสินค้าไปมาได้สดวก การทำไร่นาค้าขายในเมืองพะม่าก็เจริญขึ้นรวดเร็ว จนชาวเมืองพะม่าเห็นเปนประโยชน์ พระเจ้ามินดงจึงประทานอนุญาตให้บริษัทเดินเรือกำปั่นไฟขึ้นไปได้ถึงกรุงมัณฑเลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ ต่อมาในรัชชกาลพระเจ้าสีป่อเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕ บริษัทได้รับอนุญาตให้เดินเรือทางแม่น้ำชินด์วินเพิ่มขึ้นด้วยอีกทางหนึ่ง ครั้นเมืองพะม่าเหนือตกเปนของอังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ บริษัทก็เริ่มเดินเรือทางแม่น้ำเอราวดีต่อขึ้นไปจนถึงเมืองบาโม การเดินเรือของบริษัทนี้มีกำไรงามจึงสามารถขยายการกว้างขวาง จนคล้ายกับผูกขาดการเดินเรือในแม่น้ำเมืองพะม่า เวลานี้มีเรือกว่า ๖๐๐ ลำ เปนเรือกำปั่นไฟราว ๑๕๐ ลำ นอกจากนั้นเปนเรือลำเลียงสำหรับบรรทุกสินค้าพ่วงเรือไฟไปมา หรือเอาไปเที่ยวจอดเปนสถานีที่รับส่งสินค้าตามตำบลต่างๆ ตลอดลำแม่น้ำ ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองร่างกุ้ง มีทั้งโรงจักรและอู่สำหรับซ่อมแซมเรือทุกอย่าง ที่เมืองมัณฑเลก็มีที่ซ่อมแซมเรืออีกแห่งหนึ่ง เรือกำปั่นไฟของบริษัทมีทั้งอย่างจักรข้าง จักรท้าย และจักรพุ้ยท้าย หลายขนาด คิดแบบให้เหมาะแก่ทางที่เดินเรือ และจะใช้รับส่งคนโดยสารหรือเพียงแต่จะบรรทุกสินค้า จะพรรณนาว่าแต่ด้วยเรือที่ฉันมา เปนเรือขนาดใหญ่อย่างยิ่งของบริษัท ทำสำหรับคนโดยสารที่จะไปมาโดยด่วนในระวางเมืองร่างกุ้งกับเมืองมัณฑเลสัปดาหะละ ๒ ครั้ง เดิน ๗ วันถึงทั้งขาขึ้นและขาล่อง เปนเรือจักรข้างยาวราวสัก ๕๔ วา กว้างราว ๑๒ วา มีดาดฟ้า ๒ ชั้น ในท้องเรือมีระวางสำหรับบรรทุกสินค้าทั้งข้างหน้าและข้างหลัง ตอนกลางเปนที่ตั้งหม้อไฟและเครื่องจักร แต่ท้องเรือตื้นบรรทุกไม่ได้เท่าใดนัก จึงต้องเอาสินค้าบรรทุกเรือลำเลียงพ่วงไปทั้งสองข้าง ดาดฟ้าชั้นล่างเปนที่ทำการเดินเรือ เปนต้นแต่เครื่องถือท้ายและบอกเดินจักรกว้านสมออยู่ตอนหัวเรือ ต่อมาถึงห้องที่อยู่ของนายเรือและต้นหนต้นกลและไว้ที่สิ่งสัมพาระสำหรับเรือ ตอนข้างท้ายเปนที่อยู่ของพวกกลาสี ว่าโดยย่อในการเดินเรือไม่ใช้ดาดฟ้าชั้นบนเลยทีเดียว เว้นแต่เวลาเดินเรือกลางคืนจึงขึ้นไปถือท้ายเรือ และสั่งเดินจักรที่ดาดฟ้าชั้นบนตอนหัวเรือ โดยปกติดาดฟ้าชั้นบนเปนแต่ที่สำหรับคนโดยสารตลอดลำ คนโดยสารชั้นที่ ๑ อยู่ตอนหน้า มีดาดฟ้าตอนหัวเรือเปนที่สำหรับเดินเหินดูอะไรเล่นตามชอบใจ ต่อมามีห้องใหญ่สำหรับเปนที่นั่งอ่านหนังสือหรือสนทนากัน และมีโต๊ะที่กินอาหารตั้งตามยาวต่อไปในห้องนั้น สองข้างทางแคมเรือเปนห้องนอนข้างละ ๔ ห้อง อาจรับคนโดยสารชั้นที่ ๑ ได้ ๑๖ คน มีห้องอาบน้ำแยกกันเปนส่วนผู้ชายและผู้หญิง พ้นห้องต่อไปเปนครัวไฟและห้องที่อยู่ของคนรับใช้ แล้วถึงร้านขายของบริโภค เช่น ขนมและผลไม้เปนต้นแล้วแต่ใครจะซื้อกินตามปรารถนา ตอนกลางลำเปนที่อยู่ของคนโดยสารชั้นที่ ๓ เปนแต่ดาดฟ้าโถงไม่มีเครื่องสำหรับใช้สอยอย่างใด ถ้าคนโดยสารไปด้วยกันเปนพวกก็เอาหีบปัดภาชนะที่เอาไปด้วยวางเรียงเปนคอก แล้วกินนอนนั่งอยู่ด้วยกันในคอกนั้น คนโดยสารที่เปนตัวคนเดียว ก็หาแต่ที่วางพอปูที่นอนและวางของของตน สำหรับคนโดยสารชั้นที่ ๒ มีห้องแถวอยู่สุดท้ายเรือทั้ง ๒ แคมมีทางเดินกลาง ค่าธรรมเนียมที่บริษัทเรียกจากคนโดยสาร เขาเรียกค่าโดยสารส่วนหนึ่ง ถ้ากินอาหารของบริษัทด้วย เขาเรียกค่ากินเปนรายวันเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ฉันมีกุ๊กไปด้วยจะแยกครัวทำกินเองก็ได้ แต่เห็นว่าจะลดค่าสิ้นเปลืองลงเพียงเล็กน้อย อยากจะลองให้เต็มที่ จึงว่าให้บริษัทหาให้กินด้วย

ฉันเคยได้ยินทั้งไทยและฝรั่งที่ได้ขึ้นล่องทางแม่น้ำเอราวดีชมกันว่าเรือของบริษัทนี้สบายดีนัก เมื่อได้ไปเองก็เห็นจริง ถึงเจ้าหญิงออกอุทานครั้งหลังได้เรืออย่างนี้และทะเลเรียบราบเหมือนอย่างแม่น้ำเอราวดีนี้ จะไปให้รอบโลกก็ยอมไป ความสบายในเรือนั้น เบื้องต้นเกิดแต่เขาคิดแบบเรือเหมาะดี ที่ให้พนักงานเดินเรือรวมกันอยู่เสียที่ดาดฟ้าชั้นล่าง ไม่ปะปนกับคนโดยสารซึ่งอยู่ดาดฟ้าชั้นบนต่างหาก ในพวกคนโดยสารต่างชั้นก็มีเขตต์อยู่ไม่ปะปนกัน พวกคนโดยสารชั้นที่ ๑ อยู่ตอนสบายที่สุดข้างหัวเรือ ที่นั่งที่นอนที่เดินเล่นอยู่ดาดฟ้าชั้นเดียวกันหมด ไม่ต้องขึ้นลงบรรไดบ่อยๆ เหมือนไปเรือเมล์ที่เดินทางไกล ห้องที่อยู่ก็มีฟูกเบาะเมาะหมอนและเครื่องใช้สอยสอาดสอ้าน อาหารการกินก็ทำดี เมื่อฉันลงเรือมาวันแรกมีนายพันตรีทหารอังกฤษเปนเพื่อนโดยสารมาด้วยคนหนึ่ง ไม่ช้าก็คุ้นเลยเปนเพื่อนพูดกันมาจนถึงที่เขาขึ้นบกในวันที่ ๒ แต่นั้นมีแต่พวกเราโดยสารชั้นที่ ๑ ก็เหมือนกับได้ครองเรือตอนนั้นเปนบ้านเรือมาจนถึงเมืองแปร มาในเรือไม่แต่สบายเท่านั้นยังมีสนุกด้วย เวลาออกไปเดินดูทางที่อยู่ของคนโดยสารชั้นที่ ๓ ได้เห็นคนหลายชาติหลายชนิด พวกพะม่าเห็นจะรู้ว่าเราเปนผู้ดี “โยเดีย” ดูประพฤติต่อเราอย่างเรียบร้อย พวกผู้หญิงดูพากันชอบเจ้าหญิง เห็นเข้ามักยิ้มแย้มทักทาย บางคนที่กำลังกินอาหารชวนให้กินด้วยก็มี เสียแต่พูดไม่เข้าใจกัน ถึงเวลาเรือจอดรับสินค้าตามระยะทางก็สนุก ด้วยมีพวกชาวบ้านเอาของลงมาขายเหมือนกับเปนตลาดนัดขึ้นในเรือ มีทั้งของกินและสิ่งของต่างๆ ที่ทำในตำบลนั้นเอามาขายให้เราเลือกซื้อได้ตามชอบใจ แต่เมื่อเหลือแต่พวกเรา ชะรอยพวกนายเรือเขาจะวิตกเกรงว่าจะพากันเปล่าเปลี่ยว ถึงเวลากินอาหารเย็น มินายเรือก็ต้นหนผลัดกันมานั่งโต๊ะกินอาหารเปนเพื่อนพูดทุกคืน เขามักเล่าเรื่องอะไรต่าง ๆ ในเมืองพะม่าให้ฟัง เปนเรื่องปลาดที่ควรเอามาเล่าก็มีบ้าง

เรื่องหนึ่งว่าเมื่ออังกฤษกับพะม่าจะรบกันครั้งหลังใน พ.ศ. ๒๔๒๘ ในเวลาเตรียมกองทัพทั้ง ๒ ฝ่ายนั้นพวกอังกฤษกับฝรั่งชาตอื่นที่อยู่ในเมืองมัณฑเล นอกจากที่เข้าเปนพรรคพวกพะม่า กลัวพะม่าจะฆ่าหรือจับเอาไว้เปนตัวจำนำ พากันหลบหนีลงไปเมืองพะม่าใต้หมด เมื่อรัฐบาลอังกฤษจะส่งคำขาด ultimatum แก่พะม่า ต้องหาคนอาสาเสี่ยงภัยถือหนังสือนั้นไปเมืองมัณฑเล มีนายเรือของบริษัทคนหนึ่ง (เขาบอกชื่อ แต่ฉันลืมเสียแล้ว) รับอาสา ฝ่ายบริษัทก็ยอมให้ยืมเรือไฟลำหนึ่งรับไป เมื่อขึ้นเมืองมัณฑเลพวกเสนาบดีพะม่าก็รับโดยสุภาพ ว่าจะมอบหนังสือตอบให้กัปตันคนนั้นถือกลับมา เวลานั้นพวกเสนาบดีพะม่ามีความเห็นแตกต่างกันเปน ๒ พวก พวกกินหวุ่นแมงคยีอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือนเห็นว่าถ้ารบก็คงแพ้อังกฤษ ควรยอมตามคำขาดของอังกฤษเสียโดยดี แต่พวกแตงดาหวุ่นคยีอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหารเห็นว่าไม่ควรยอม ถึงจะรบก็รบกัน พระเจ้าสีป่อเห็นตามพวกแตงดาหวุ่นคยี แตงดาหวุ่นคยียังประสงค์ต่อไปที่จะจับกัปตันกับคนในเรือไว้เปนตัวจำนำทั้งหมด จึงคิดกลอุบายให้ทหารไปซุ่มอยู่ตรงช่องน้ำตื้นที่ใต้เมืองอังวะ และกระซิบสั่งนำร่องให้แกล้งทำเรือติดที่ตรงนั้น แต่พวกกินหวุ่นแมงคยีให้ไปกระซิบบอกความลับนั้นแก่กัปตันให้รู้ตัว เมื่อกัปตันได้รับหนังสือตอบจากเสนาบดีแล้วให้ออกเรือล่องลงมาพอพ้นเขตต์เมืองมัณฑเล ก็ให้จับตัวนำร่องเอามานั่งในหว่างขาหน้าเก้าอี้ของแก เอาปืนพกจ่อศีร์ษะว่าถ้าเรือติดเมื่อไรจะยิงเสียในทันที นำร่องกลัวตายก็นำเรือพ้นที่ร่องตื้นตรงซุ่มทหารมาได้ แต่เมื่อพ้นมาแล้วกัปตันไม่รู้ว่าจะมีใครคอยทำร้ายที่ไหนอีกบ้าง จึงเปลี่ยนธงของบริษัทเอาธงพะม่าชัก ปลอมให้คนเข้าใจว่าเปนเรือค้าขายลำหนึ่งของพะม่า มาจนถึงป้อมปลายแดนพะม่าเหนือ ที่ตรงนั้นโดยปกติเรือขึ้นล่องต้องหยุดให้ตรวจภาษีและมีเรือกำปั่นหลวงของพะม่าซึ่งพวกฝรั่งชาวอิตาลีเปนนายเรืออยู่กำกับด้วย เมื่อก่อนจะถึงป้อม กัปตันให้ตัดโซ่สายสมอเอาเชือกผูกเชื่อมต่อกันไว้แห่งหนึ่ง แกล้งแล่นเรือเข้าไปทอดสมอให้ใกล้ป้อมใต้ปากปืนใหญ่ยิงลงมาไม่ถึง พอเรือกำปั่นหลวงสำหรับตรวจภาษีมาทอดสมอลงแล้ว แกก็ตัดเชือกที่เชื่อมสายสมอให้เรือของแกลอยลงมา พอห่างแล้วก็รีบกลับเรือแล่นหนีเข้าแดนอังกฤษ ฝ่ายเรือพะม่าต้องเอะอะเรียกคนถอนสมอ กว่าจะออกได้เสียเวลาก็ตามไม่ทัน

อีกเรื่องหนึ่งเขาบอกว่าเมื่อเกิดขบถใน พ.ศ. ๒๔๗๓ แม่น้ำเอราวดีตอนระวางเมืองพุกามกับเมืองแปรเปนถิ่นของพวกขบถ ฉันถามว่าในเวลาเกิดขบถนั้นบริษัทมิต้องหยุดเดินเรือหรือ เขาตอบว่าไม่ต้องหยุดเพราะพวกขบถไม่ทำร้ายบุคคลจำพวกอื่น นอกจากคนรับใช้ของรัฐบาล บริษัทเคยถูกพวกขบถเบียดเบียนแต่ครั้งเดียว วันหนึ่งเวลาเรือจอดพักอยู่มีพวกขบถพวกหนึ่งลงมาในเรือลำเลียง บอกว่าขาดเสบียงอาหารแล้วเลือกขนเอาของกินไปตามต้องการ หาได้ทำร้ายผู้หนึ่งผู้ใดไม่ เขาเล่าถึงต่อไปถึงเรื่องขบถครั้งนั้น ว่าต้นเหตุด้วยเรื่องเศรษฐกิจฝืดเคือง พวกชาวบ้านป่าดอนพากันอดอยากไม่มีจะกิน ก็พากันเปนโจรลงมาเที่ยวปล้นบ้านพวกที่มีอันจะกินอยู่ตามริมแม่น้ำตามวิไสยของพวกพะม่า รัฐบาลให้โปลิศไปจับก็พากันหนีเข้าป่า ครั้นโปลิศกลับแล้วพวกโจรก็ลงมาเที่ยวปล้นสดมภ์อีก รัฐบาลจัดการปราบปรามแข็งแรงขึ้น ขอแรงพวกชาวบ้านให้ช่วยโปลิศตรวจตรา พวกโจรก็ฆ่าฟันพวกชาวบ้านที่ช่วยรัฐบาล ผู้คนจึงเกิดหวาดหวั่น ที่ไปเข้าเปนพวกโจรก็มีที่ช่วยรัฐบาลก็มี ในขณะนั้นมีคนหนึ่งแสดงตัวเปนผู้วิเศษในทางวิทยาคม เข้ารับเปนหัวหน้าพวกโจรก็กำเริบหนักขึ้น ถึงคุมพวกเข้ารบพุ่งกับรัฐบาล และประกาศว่าจะเอาบ้านเมืองกลับคืนเปนของพะม่า ก็กลายเปนการขบถใหญ่โต รัฐบาลต้องปราบปรามอยู่นาน แม้จับตัวผู้วิเศษที่เปนหัวหน้าได้แล้วพวกโจรก็ยังไม่สงบ ลงปลายจะเปนด้วยพระสงฆ์เข้ารับอาสาเองหรือจะเปนความคิดของใครไม่ทราบแน่ ปรากฎแต่ว่ารัฐบาลนิมนตร์พระมหาเถรที่มีคนในเมืองพะม่านับถือมากให้ออกไปสั่งสอนห้ามปราม การจลาจลจึงสงบราบคาบ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ