วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๗๙

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๕ พฤศจิกายน พร้อมทั้งพระนิพนธ์เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๗ เที่ยวเมืองพุกาม (ท่อนที่ ๒) กับทั้งสำเนาลายพระหัตถ์ถึงพระยาอนุมานราชธน เรื่องพระราชนิพนธ์พระราชวิจารณพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาและเรื่องตั้งวังหน้า ซึ่งโปรดประทานไปนั้น ได้รับประทานด้วยดีแล้ว

เรื่องหนังสือ “วินิจฉัยวรรณคดี” นั้น ขออย่าได้ตรัสถึงอีกเลย เกล้ากระหม่อมตั้งใจจะให้ลืม

คำใช้ “พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์” แม้จะมีที่ใช้อีกคราวหนึ่งได้ก็เพียง ๓ ปีและเปนยุคที่มืดด้วย เห็นจะถือเอาได้ว่า บรรดาหนังสือซึ่งมีคำกล่าวว่า “พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์นั้น” หมายถึงสมเด็จพระนเรศวร กับสมเด็จพระเอกาทศรฐ โดยจำเพาะ

อ่านสำเนาลายพระหัตถ์ถึงพระยาอนุมานราชธน ทรงแสดงพระดำริ วินิจฉัยในพระราชนิพนธ์เรื่องตั้งวังหน้า เปนทางงดงามที่สุด เชื่อว่าถูกตามกระแสพระราชดำริเช่นนั้น

อ่านพระนิพนธ์เรื่องเที่ยวเมืองพุกามคราวนี้ ให้สลดใจว่ากระไรหนอพะม่านั้นช่างย้ายราชธานีกันง่ายดายเสียจริง ๆ นึกไปก็เห็นว่าเวลาโน้นผู้คนคงจะไม่สู้มากเท่าไร ปราสาทราชมณเทียรตลอดทั้งบ้านเรือนก็เปนไม้ทั้งนั้น มีเหตุไม่พอใจอะไรก็รื้อถอนย้ายไปปลูกในที่ใหม่ได้โดยง่าย สิ่งที่ก่อสร้างอย่างถาวรก็มีแต่พระสถูปเจดีย์เล็กๆ น้อยๆ ตามประสาที่บ้านเมืองยังไม่รุ่งเรือง และของทั้งนั้นก็ไม่มีใครถือว่าเปนทรัพย์แห่งตน ทิ้งไปเสียก็แล้วกัน ตำแหน่งที่ไปตั้งใหม่ก็ไม่ไกลกว่าที่เก่าไปมากนัก จนฝรั่งหาความว่าทำสกปรกลงมากมาย จนเกิดโรคภัยไข้เจ็บแล้วก็รื้อย้ายหนีกันไปเสียที่หนึ่ง

มาได้ความรู้ขึ้นคราวนี้อย่างหนึ่ง ได้เคยเห็นจดหมายบันทึกของพระอุบาฬีวัดมหรรณพ์ ท่านจดหมายอะไรไว้ก็ลืมเสียแล้ว อ้างว่าคัดมาจากคัมภีร์มีชื่ออันหนึ่ง ซึ่งพระมหาเถระชื่อหนึ่งรจนาไว้ในแผ่นดิน “พระเจ้ากาแต” พระนามพระเจ้าแผ่นดินนั้นจับใจสงสัยเปนอย่างยิ่งว่าจะได้แก่แผ่นดินไหน ด้วยความเขลาเอาเข้าเปรียบปรับกับพระเจ้าแผ่นดินไทย คิดไม่เห็นได้ก็เลยระงับมาจนบัดนี้ มาได้เห็นพระนามพระเจ้าแผ่นดินพะม่า ซึ่งฝ่าพระบาทตรัสยกพระนามมากล่าวอ้างว่า “พระเจ้าโสกกะเต”จึ่งมารู้สึกขึ้นว่าเปนพระนามพระนามพระเจ้าแผ่นดินพะม่าเสียแล้ว คัมภีร์นั้นต้องเปนหนังสือแต่งในเมืองพะม่า เราคัดลอกต่อมา ไม่ใช่หนังสือแต่งเมืองไทย

เรื่องผ้าของพระยาอนุมานราชธนซึ่งทูลถวายมาก่อน ทูลแต่อย่างที่สอบสวนได้หลัก ที่สอบสวนยังไม่ได้หลักมีอีก ๓ อย่าง คือ

(๑) ผ้ายั่นตานี

(๒) ผ้ากุศหราต

(๓) ผ้าสุหรัด

แกถามว่ามีลักษณเปนอย่างไร เกล้ากระหม่อมก็จน บอกแกว่าได้ยินแต่ชื่อไม่เคยเห็นผ้า แต่เข้าใจว่าชื่อเหล่านั้นเปนชื่อเมืองที่ทำผ้าเข้ามา เช่น สุหรัดนั้นแหละ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงถอดเอามาตั้งชื่อตำบลท่าข้ามเปนสุราษฎรธานี แกรับรองว่าแน่นอน แล้วบอกให้ทราบต่อไปว่าแม่น้ำตาปีก็เปนชื่อแม่น้ำแห่งเมืองสุหรัด ทำเอาเกล้ากระหม่อมตื่นใจ ด้วยเมื่อไปสุราษฎร์ธานีปีก่อนนี้ ได้ยินเขาเรียกชื่อแม่น้ำที่นั่นว่าแม่น้ำตาปี ทำให้สงสัยว่าทำไมเปลี่ยนไป เมื่อมาคราวก่อนได้ยินเรียกกันว่าแม่น้ำหลวง เขาอธิบายว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงตั้งชื่อพระราชทานเปลี่ยนใหม่ ตกใจบ่นขึ้นว่าหมายความว่ากะไร เขาเดาบอกว่าเห็นจะหมายความว่ามีน้ำเสมอชั่วนาตาปีไม่มีขอด แท้จริงเหลว เพิ่งจะมาเข้าใจเมื่อพระยาอนุมานบอก เปนอันทรงตั้งให้ได้สำรับกับชื่อเมืองสุราษฎร์ธานี เผอิญคำตาปีมามีคำพ้องในภาษาไทยเข้าด้วย จึงเลยพาเอาหลงไป

ในคราวนี้ ได้ส่งจดหมายบันทึกที่เกล้ากระหม่อมได้แก้คำในกฎมณเทียรบาลพะม่ามาถวายด้วย หากว่าคำใดที่แก้ไว้นั้นไม่โปรด จะแก้กลับเปนอย่างเดิมหรือจะเปลี่ยนเปนอย่างอื่นก็ได้ เวลายังมีอีกถมไป แล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ