เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๙ เที่ยวเมืองร่างกุ้งเมื่อขากลับ (ท่อนที่ ๕)

เวลา ๑๑ นาฬิกา (วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์) ไปดูเนติสภา ตึกที่ประชุมอยู่ในบริเวณเดียวกันกับศาลารัฐบาล ศาลารัฐบาลเมืองร่างกุ้งนั้นรูปร่างพอเปรียบในกรุงเทพฯ ให้เข้าใจได้ง่ายๆ เปนตึกใหญ่อย่างเดียวกับสำนักงานกระทรวงกลาโหม ขนาดก็จะเท่าๆ กัน มีประตูใหญ่ทางรถเข้าข้างด้านหน้าเช่นเดียวกัน สถานเนติสภาอยู่ทางด้านหลัง (ดูเหมือนรื้อตึกศาลารัฐบาลด้านหลังตรงกลางลงเปนช่องแล้วสร้างตึกเนติสภาขึ้น) หัน “ด้านขื่อ” ออกสนามกลางศาลารัฐบาล “ด้านแป” ยื่นยาวออกไปพ้นแนวหลังตึกศาลารัฐบาล ผู้ไปยังเนติสภาถ้าเปนชั้นมีศักดิ์สูงขับรถเข้าไปทางประตูใหญ่ของศาลารัฐบาล แล้วเลี้ยวไปตามถนนขอบสนามจนถึงบันไดทางขึ้นเนติสภา แต่คนชั้นสามัญต้องลงจากรถที่นอกประตูศาลารัฐบาลเดินเข้าไป ตัวตึกเนติสภาทำเปนตึกชั้นเดียวพื้นสูงกว่าแผ่นดินสัก ๒ ศอก ดูเปนสร้างสำหรับใช้ชั่วคราวไม่มีลวดลายประดับประดาเหมือนศาลารัฐบาล พอเข้าประตูตึกถึงห้องพัก สองข้างห้องพักนั้นมีห้องที่ทำการของพนักงานเนติสภา เช่นห้องสภานายก และห้องสภาเลขานุการเปนต้น ด้านหลังห้องพักมีประตู ๒ ช่องเข้าไปถึงห้องประชุม ห้องประชุมเปนห้องใหญ่ขนาดสักเท่าห้องฝ่ายหนึ่งของศาลาสหทัยสมาคมในกรุงเทพฯ ข้างนอกมีเฉลียงและทางสำหรับสมาชิกเข้าห้องประชุมทั้ง ๓ ด้าน ในตัวห้องประชุมนั้นมีเต๊งรอบ สำหรับพวกจดรายงานกับพวกหนังสือพิมพ์ และบุคคลภายนอกซึ่งได้รับอนุญาตไปนั่งดูการประชุม ที่พื้นล่างอันเปนตัวห้องประชุมสภานั้น ด้านสกัดต่อห้องพักเข้าไปริมผนังที่ตรงกลางมีเก้าอี้ใหญ่เปนอาสนะสำหรับสภานายกนั่ง สองข้างอาสนะนั้นเปนทางเดิน ต่อทางเดินออกไปมีคอกตั้งเก้าอี้สำหรับแขกที่มีบรรดาศักดิ์นั่งข้างละคอก ตรงหน้าเก้าอี้สภานายกลดพื้นที่ต่ำลงไป มีโต๊ะใหญ่สำหรับวางสมุดที่ต้องใช้ในสภาเช่นกฎหมายเปนต้น และสภาเลขานุการนั่งประจำที่โต๊ะนั้น ในห้องประชุมตรงกลางเปนทางเดิน สองข้างตั้งเก้าอี้ยาวมีโต๊ะสำหรับเขียนหนังสืออยู่ข้างหน้าสำหรับสมาชิกนั่งดูเหมือนตั้งซ้อนกันฝ่ายละ ๓ แถว มีช่องสำหรับสมาชิกเดินเข้าออกหว่างเก้าอี้หลายช่อง

เมื่อฉันไปถึง อูบาดุนสภาเลขานุการ แต่งตัวอย่างฝรั่งใส่ผมวิกและสวมเสื้อครุยดำสำหรับเนติบัณฑิตย์ คอยรับอยู่ที่ประตู เชิญให้ไปนั่งในคอกสำหรับแขกมีบรรดาศักดิ์ทางฝ่ายขวาของสภานายก แต่เจ้าหญิงนั้นเขาจัดที่ไว้ให้นั่งที่บนเต๊งข้างด้านขวา (ในวันนั้นจะเปนด้วยเขาคิดจัดขึ้นเพื่อประโยชน์ฉันหรืออย่างไรไม่ทราบ) ในคอกที่ฉันไปนั่ง มีเนติบัณฑิตย์พะม่าคนหนึ่ง ชื่อ มองเอ Maung Aye อายุสัก ๓๐ ปี เคยเปนสมาชิกคนสำคัญแต่ออกจากสภาแล้ว ด้วยได้รับเลือกให้ไปเปนผู้แทนเมืองพะม่าในสภาของอุปราชอินเดีย มานั่งดูอยู่ด้วย เปนผู้มีอัชฌาศัยเรียบร้อย คอยชี้แจงกระบวรการของเนติสภาให้ฉันเข้าใจ

เนติสภาเมืองพะม่าเวลานี้ยังเปนอย่าง “ดีอาชี” ซึ่งกล่าวมาแล้วมีจำนวนสมาชิกเต็มอัตรา ๑๐๓ คน จัดเปน ๒ ประเภท คือสมาชิกที่ราษฎรเลือก ๘๐ คน สมาชิกเจ้าเมืองตั้ง คือเจ้ากระทรวงธุระการต่างๆ ๑๔ คน ผู้เชี่ยวชาญการต่าง ๆ อีก ๙ คน รวมเปนสมาชิกที่เจ้าเมืองตั้ง ๒๓ คน สมาชิกที่ราษฎรเลือกนั้นยังต่างกันเปน ๒ ชนิด ชนิด ๑ เปน “ผู้แทนราษฎรตามท้องที่” ให้ชาวเมืองเลือกอีกชนิด ๑ เปน “ผู้แทนชนต่างชาติ” เช่นฝรั่งและแขกอินเดียที่ไปอยู่ในเมืองพะม่า ถึงจะแยกกันไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ไหน แห่งละมากน้อยเท่าใดก็ตาม ให้รวมกันเลือกสมาชิกแทนชาติของตน มากและน้อยตามส่วนจำนวนคนชาตินั้นๆ สังเกตดูสมาชิกที่มาประชุมในวันนั้น พวกพะม่ามอญที่เปนสมาชิกราษฎรเลือกเห็นจะมาไม่เต็มจำนวน เพราะมีที่นั่งว่างอยู่มาก แต่สมาชิกพวกชาวต่างประเทศมามาก ดูนั่งเต็มที่นั่งหมด ระเบียบที่นั่งนั้นพวกสมาชิกเจ้ากระทรวงนั่งต้นแถวข้างฝ่ายขวา พวกสมาชิกที่เจ้าเมืองตั้งและเปนชาวต่างประเทศนั่งต่อไปจนตลอดแถบข้างขวา พวกสมาชิกที่แทนราษฎรตามท้องที่ (ล้วนเปนพะม่ามอญ) นั่งทางฝ่ายซ้ายของสภานายกตลอดทั้งแถบก็คือเอาอย่างมาแต่ที่ประชุมปาเลียเมนต์เมืองอังกฤษนั่นเอง ซึ่งพวกของรัฐบาลนั่งฝ่ายขวา พวกขัดรัฐบาลนั่งฝ่ายซ้าย แต่ในเนติสภาเมืองพะม่ามีสมาชิกเกรี่ยงอีกพวกหนึ่ง ซึ่งถือสาสนาคริสตังเปนพื้น พวกมิชชันนารีคงแนะนำให้ตั้งคณะต่างหาก พวกเกรี่ยงจึงนั่งทางด้านสกัดข้างหน้า แสดงว่าไม่เปนพวกไหนทั้ง ๒ ฝ่าย

ฉันถาม มองเอ เขาบอกว่าพวกสมาชิกที่เปนชาวเมืองพะม่านั้นมีถึง ๕ คณะ Party เรียกว่า “คณะอิสสระ” Independent Party คณะ ๑ เรียกว่า “คณะราษฎร์” People’s Party คณะ ๑ เรียกว่า “คณะเกรี่ยง” Karen Party คณะ ๑ อีก ๒ คณะเรียกชื่อตามนามบุคคลผู้ตั้งคณะนั้น ๆ ว่ากะไรฉันจำไม่ได้ เห็นมีผู้หญิง (น่าจะเปนมอญ) ได้รับเลือกเปนสมาชิกแทนเมืองเมาะลำเลิง คน ๑ ดูนั่งอยู่คนเดียวต่างพวกเห็นจะไม่ได้เข้าคณะไหน ฉันเข้าใจว่าพวกชาวต่างประเทศคงเรียกชื่อคณะตามชาติของตน และในชาติหนึ่งเห็นจะไม่แบ่งเปนหลายคณะ เพราะต่างเกรงว่าพวกพะม่ามีอำนาจขึ้นจะเบียดเบียนชาวต่างประเทศอยู่ด้วยกันทั้งนั้น

การประชุมวันนี้ระเบียบวาระมีแต่แสดงความอาลัยในพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ ซึ่งสวรรคตกับแสดงความสามิภักดิ์ต่อพระเจ้าเอดวาดที่ ๘ ซึ่งเสวยราชย์ใหม่ พอถึงเวลากำหนดก็มีนักการแต่งตัวอย่างพะม่าแบก “เมส” (ไม่มีของไทยที่ตรงกัน) คือ “ไม้อำนาจ” ของสภานายก ยาวสักศอกเศษ ยอดทำเปนรูปมงกุฎฝรั่งด้วยเงินและมีกรวยเงินจำหลักรองรัดรูปเรียวลงมาจนถึงด้ามไม้ที่คนถือ นักการแบกไม้อำนาจนั้นนำหน้า อูจิตเหลียง U Chit Liaung ตัวสภานายก แต่งตัวนุ่งผ้าลอยชาย ใส่เสื้อกุยตั๋งสีดำ โพกหัวอย่างพะม่า แต่สวมเสื้อครุยสีดำอย่างเนติบัณฑิตย์ เดินตามมาแต่ประตูด้านสกัดทางคณะเกรี่ยงนั่ง คนในห้องลุกขึ้นยืนเคารพหมด สภานายกตรงมาขึ้นนั่งที่เก้าอี้ใหญ่สำหรับตำแหน่ง นักการผู้ถือไม้อำนาจมานั่งอยู่ในคอกข้างขวา และเอาไม้อำนาจไว้กับตัวตลอดเวลาประชุม อูจิตเหลียงที่เปนสภานายกคนนี้ฝรั่งเขากระซิบบอกฉัน ว่าเมื่อยังเปนเนติบัณฑิตย์นั้น เปนตัวสำคัญเที่ยวยุยงพวกพะม่าในการเมือง รัฐบาลเคยจับตัวใส่คุกมาแล้วครั้งหนึ่งหรือกว่านั้น ครั้นตั้งวิธีดีอาชีมีเนติสภาขึ้น พวกนักการเมืองพากันคิดถึงบุญคุณ จึงได้เลือกอูจิตเหลียงขึ้นเป็นสภานายก เดี๋ยวนี้อายุราวสัก ๕๐ ปี ฉันได้พบเมื่อเลิกประชุมแล้วดูกิริยาอัชฌาศัยก็เรียบร้อยดี เริ่มการประชุมด้วยรับสมาชิกซึ่งเพิ่มเข้าเปนใหม่ให้กระทำสัตย์และลงนามเข้าทะเบียนก่อน มีจำนวนสัก ๕ คน ฝรั่งก็มีพะม่าก็มี สภาเลขานุการขานชื่อเรียกเข้าไปที่โต๊ะทีละคน สภาเลขานุการเปนผู้นำให้กระทำสัตย์ตามสาสนาของตนและให้ลงชื่อ แล้วสมาชิกใหม่นั้นเดินขึ้นไปจับมือคำนับกับสภานายก เสร็จแล้วออกทางด้านข้างหลังกลับไปนั่งที่ของตน เล่าต่อไปตอนนี้จะต้องออกตัวสักหน่อย ว่าหูฉันตึงมิใคร่ได้ยินถ้อยคำที่พูดกันในที่ประชุมถนัด แต่สังเกตว่าใช้ภาษาอังกฤษ เริ่มต้นด้วยสภานายกลุกขึ้นพูดก่อน ฉันเข้าใจว่าบอกระเบียบวาระของการประชุมเนติสภาในวันนั้น ต่อนั้น เซอมองบา Sir Maung Ba เจ้ากระทรวงมหาดไทยเปนผู้พูดแทนคณะรัฐมนตรี แสดงความอาลัยในพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ กับทั้งถวายพรและความสามิภักดิ์ต่อพระเจ้าเอดวาดที่ ๘ ชวนให้เนติสภาลงมติตามที่ว่านั้น สมาชิกที่เปนหัวหน้าคณะต่างๆ ก็ลุกขึ้นพูดรับรองแทนคณะของตน กล่าวความเฉลิมพระเกียรติเพิ่มเติมด้วยโวหารต่างๆ ทีละคน จนครบทุกคณะ สภานายกก็ชี้ขาดลงมติว่าเนติสภาเห็นชอบพร้อมกันหมด เปนเสร็จการพิธีเท่านั้นแล้วเลิกประชุม

เวลานี้การปกครองเมืองพะม่าเปนหัวต่อ กำลังเตรียมจะใช้รัฐธรรมนูญใหม่ปกครองเมืองพะม่าตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๐ เปนต้นไป ฉันยังไม่ได้อ่านตัวรัฐธรรมนูญใหม่ จะกล่าวแต่ตามที่ได้ยินคำบอกเล่า เขาว่าการปกครองอย่างใหม่ผิดกับวิธีปกครอง “ดีอาชี” Dyarchy เปนข้อสำคัญ ๒ อย่าง คือ จะแยกเมืองพะม่าออกเปนเอกเทศต่างหากจากอินเดียอย่างหนึ่ง กับจะยอมให้ชาวเมืองพะม่าปกครองบ้านเมืองของตนตามแบบ “ประชาบาล” Democracy อย่างหนึ่ง การที่จะแยกเมืองพะม่าออกจากอาณาเขตต์อินเดีย มีความลำบากที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงให้เรียบร้อยหลายอย่าง จะยกอุทาหรณ์ดังเช่น เรื่องหนี้สิน แต่ก่อนมาในเวลาเมืองพะม่าเกิดขาดแคลน เช่นในสมัยเศรษฐกิจเกิดฝืดเคืองมาในสี่ห้าปีที่ล่วงแล้ว ได้อาศัยกู้เงินจากอินเดียมาใช้ให้พ้นความลำบากหลายคราว เมื่อเมืองพะม่าจะแยกขาดจากอินเดียก็จำต้องชำระหนี้สินที่ติดค้างนั้น แต่จำนวนเงินที่ค้างมากเหลือกำลังเมืองพะม่าจะใช้ให้หมดได้โดยเร็ว ข้อนี้เซอมองบาที่เปนเจ้ากระทรวงมหาดไทยได้บอกแก่ฉันเอง ว่าแม้เมืองพะม่าจะเอาเงินที่เหลือจ่ายในงบประมาณทั้งหมดไปผ่อนใช้ต้นเงินและดอกเบี้ยทุกๆ ปี กว่าจะชำระหนี้หมดจะเปนเวลาถึง ๔๐ ปี ในระหว่างนั้นจะเอาเงินที่ไหนใช้เปนทุนสำหรับทำนุบำรุงบ้านเมือง นอกจากเรื่องหนี้ยังมีความลำบากอย่างอื่นอีก เช่นวิธีเก็บภาษีอากร ในสมัยเมืองพะม่าเปนอาณาเขตต์ของอินเดียการซื้อขายกับอินเดียสดวก แต่เมื่อแยกขาดจากกันแล้วจะเกิดการเก็บภาษีสินค้าข้ามแดนกันและกัน ทั้งการเก็บภาษีสินค้าต่างประเทศก็จะต้องคิดพิกัดอัตราใหม่ ด้วยแต่ก่อนมาเมืองพะม่าต้องเก็บตามพิกัดของอินเดียซึ่งตั้งขึ้นสำหรับป้องกันราคาของที่ทำในอินเดียมิให้ตกต่ำ ไม่เปนประโยชน์แก่เมืองพะม่า ยกตัวอย่างดังเก็บภาษีผ้าไหมที่ไปจากเมืองไทย ทำให้พะม่าต้องซื้อผ้าไหมแพงขึ้น เพื่อป้องกันมิให้ราคาผ้าซึ่งทำในอินเดียตกต่ำ ยังอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเปนข้อสำคัญมากเหมือนกัน เมื่อเมืองพะม่ายังเปนอาณาเขตต์ของอินเดีย ชาวอินเดียและชาวเมืองพะม่าไปมาได้ตามใจ มีแขกชาวอินเดียมาหากินในเมืองพะม่ามากขึ้นโดยลำดับ จนถึงมีชาวอินเดียมาอยู่ในเมืองพะม่ากว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ คน การต่างๆ ไปตกอยู่ในมือชาวอินเดียมาก เพราะวิสัยพะม่าชอบแต่ทำไร่นา ป่าไม้ หรือทำหัตถกรรมที่เปนการเบาแรง ไม่ชอบรับจ้างเปนกรรมกร พวกนายจ้างโดยฉะเพาะที่เปนฝรั่ง จึงชอบจ้างชาวอินเดียด้วยเรียกค่าจ้างถูกกว่าและบังคับบัญชาว่ากล่าวง่ายกว่าพะม่า ข้อนี้ได้พรรณนามาแต่ก่อนบ้างแล้ว แต่พวกพะม่าโดยฉะเพาะพวกนักการเมืองเห็นว่าพวกชาวอินเดียมาแย่งงานซึ่งควรจะเปนอาชีพของพะม่าไปทำเสียเปนอันมาก ประสงค์จะกำจัดชาวอินเดียเสียจากเมืองพะม่า มิให้มีมากเหมือนแต่ก่อน เรื่องนี้พวกชาวอินเดียก็รู้ตัว แต่พอทราบว่าอังกฤษตกลงจะเปลี่ยนวิธีปกครองเปนแน่ ชาวอินเดียที่เปนชั้นเศรษฐีก็เริ่มถอนทุนไปจากเมืองพะม่า เปนเหตุให้พวกพะม่าลูกหนี้ถูกเร่งเรียกเงินพากันเดือดร้อนอยู่แพร่หลาย พวกฝรั่งที่เปนนายจ้างก็พากันวิตกอยู่อีกทางหนึ่ง ว่าการงานต่างๆ ที่เคยใช้ชาวอินเดียเปนกรรมกรนั้น ถ้าเปลี่ยนใช้พะม่าน่าจะเกิดลำบาก ด้วยพะม่าไม่ชอบทำการหนัก ทั้งวิสัยพะม่าก็ว่ายากวางใจไม่ได้เหมือนเช่นชาวอินเดีย ทั้งค่าจ้างก็จะแพงขึ้นกว่าเคยจ้างชาวอินเดียมาแต่ก่อน เห็นว่าการค้าขายในเมืองพะม่าคงจะทรุดโทรม เรื่องต่างๆ ที่เนื่องด้วยแยกเมืองพะม่าจากอินเดียดังกล่าวมานี้ ได้ยินว่ารัฐบาลอินเดียกับรัฐบาลเมืองพะม่าตกลงกัน จะผ่อนผันให้การคงเปนอยู่อย่างเดี๋ยวนี้ต่อไปอีก ๓ ปี จะคิดแก้ไขปรับปรุงให้เรียบร้อยในระหว่างนั้น

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ