วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๒๘ มีนาคม-ปีก่อน เมื่อแรกทราบว่าจะเสด็จไปหัวหิน หม่อมฉันนึกอยากรู้ว่าจะเสด็จไปประทับที่สำนักดิศกุลหรือที่ไหน ไม่ได้ความมาจนพบพระยาศรีวิสารวาจา ถามเขาจึงทราบว่าเสด็จประทับที่บ้านพระยาประเสริฐ ฯ ก็คาดว่าคงเปนด้วยเขาทูลเชิญเสด็จ หรือด้วยเหตุอย่างอื่นซึ่งสดวกกว่าไปประทับที่สำนักดิศกุล จึงเสด็จไปประทับอยู่บ้านพระยาประเสริฐฯในครานี้ แต่เมื่อทราบตามที่ทรงพรรณนาถึงบ้านพระมหามนตรีที่ถูกน้ำพัด หม่อมฉันก็ออกตกใจดูไม่น่าจะเปนได้ถึงเพียงนั้น และออกน่ากลัวที่อยู่ชิดติดกันกับสำนักดิศกุล บรรดาบ้านตามชายทะเลที่หัวหินดูเปนเสี่ยงบุญเสี่ยงกรรม เพราะพื้นที่เปนทรายอ่อน ถ้ามีสายน้ำไหลแรงเข้าทางไหนก็อาจจะกัดที่ให้พังทะลายเปนอันตรายแก่บ้านเรือนที่ปลูกได้ต่าง ๆ รอดอย่างเดียวแต่ว่าเหตุอันตรายเช่นนั้นนาน ๆ จะมี และบางทีถ้ารู้ตัวทันจะมีอุบายที่จะแก้ไขกระแสน้ำให้ไหลไปเสียทางอื่นได้บ้างดอกกระมัง

เรื่องกระบวรฟ้อนรำของไทยเราและที่พะม่าถ่ายแบบไปเล่นนั้น หม่อมฉันพิจารณาตามที่ประทานวินิจฉัยในลายพระหัตถ์ เห็นว่าควรจะลงเปนยุติได้ ว่าระบำกับโขนละคอนเปนของแยกอย่างและเกิดด้วยมูลเหตุต่างกันทีเดียว ระบำตรงกับนัจจ เปนเครื่องบำเรอให้เพลิดเพลินเจริญใจดังพรรณนาในเรื่องรามเกียรตี์เมื่อพระยายักษ์เลี้ยงแขก แม้ตัวหม่อมฉันก็ได้เคยพบการต้อนรับเช่นนั้นแก่ตัวเองเมื่อไปอินเดียใน พ.ศ. ๒๔๓๕ เมื่อไปถึงเมืองพาราณสีมหาราชาจัดรับเปนการเต็มยศ ให้เรือขนานมีบุษบกเงินมารับพาข้ามแม่น้ำคงคาไปที่รามนคร ถึงท่าเชิญให้ขึ้นช้างแต่งอย่างหรูหราแห่เข้าไปจนถึงวัง ลงจากช้างเดินขึ้นไปถึงท้องพระโรง ในนั้นตั้งเก้าอี้อย่างเดอบาร์เรียงแถวเปนรูปพระจันทรครึ่งซีก ตั้งเก้าอี้หุ้มทอง ๒ ตัวสำหรับมหาราชากับหม่อมฉันนั่งตรงกลาง มีเก้าอี้หุ้มเงินอีก ๔ - ๕ ตัวตั้งต่อออกไปสำหรับคนชั้นรองลงมาเช่นเจ้าพระยาเทเวศร ฯ เปนต้น ต่อออกไปอีกถึงเก้าอี้ไม้สามัญ พอนั่งพูดสนทนาปราสัยกันได้สักครู่หนึ่ง มีเจ้าพนักงานถือถาดใส่พวงมาลัยตาษมาให้มหาราชาใส่สวมคอหม่อมฉันกับพวกไทยที่ไปด้วยกันอีกสักประเดี๋ยวก็มีชาวดนตรีกับนางนัจจออกมาฟ้อนรำทำเพลงอยู่ตรงหน้า หม่อมฉันได้เคยนึกว่าพระยายักษ์รับแขกจะเปนอย่างนั้นนั่นเอง ดูอยู่สัก ๑๐ นาที ก็เปนเสร็จการพิธีลากลับมา ส่วนโขนนั้นเปนการแสดงตำนาน เล่นเอาบุญในสาสนาพวกฮินดูยังเล่นกันอยู่ น่าจะเปนพวกฮินดูคิดขึ้นก่อน ข้อนี้เห็นได้ที่เล่นแต่เรื่องรามเกียรติ์กับมหาภารต (เราเรียกว่าเรื่องอุณรุทธ) ยังมีหลักฐานที่พึงเห็นได้ในระเบียบพิธีอินทราภิเศก ซึ่งกำหนดว่าให้มหาดเล็กแต่งตัวเปนลิง ตำรวจแต่งตัวเปนยักษ์ เล่นตำนานเรื่องชักนาคดึกดำบรรพ์ เช่นเขียนไว้ที่ฉากพระมหาปราสาทก็เล่นโขนนั้นเอง พวกโขนยังนับเปนมหาดเล็กอยู่ ส่วนการเล่นละคอนนั้น น่าสันนิษฐานว่าพวกถือพระพุทธสาสนาเอาอย่างพวกฮินดูมาเล่นบ้างด้วยเห็นว่าเปนอุบายดีที่ทำให้เกิดเลื่อมใส เพราะฉะนั้นเรื่องละคอนที่เล่นกันแต่โบราณ จึงมักเล่นเรื่องชาดกทั้งนั้น

ในสัปดาหะนี้มีเรื่องเปนความยินดีของหม่อมฉันที่จะทูลเรื่องหนึ่ง คือเมื่อหม่อมฉันไปเที่ยวที่เมืองพุกามไปเห็นพระพิมพ์โบราณอย่างหนึ่ง ทำเปนพระพุทธรูปทั้ง ๘ ปางตามแบบอินเดีย นึกอยากได้นี่กระไร แต่ตรวจดูเห็นเขามีอยู่เพียง ๔ - ๕ แผ่น ก็นึกว่าเขาคงหวงแหนเพราะหายาก จึงพยายามหาพระพิมพ์ชนิดอื่นที่มีมากกว่านั้น ครั้นกลับมาถึงเมืองร่างกุ้งพบเลขานุการของรัฐบาลเมืองพะม่า เขาแสดงอัชฌาศัยดีต่อหม่อมฉัน ถามว่ายังมีอะไรที่รัฐบาลจะทำให้หม่อมฉันอีกบ้างหรือไม่ หม่อมฉันนึกขึ้นถึงพระพิมพ์ ๘ ปางนั้น จึงบอกเขาว่าหม่อมฉันไปพบพระพิมพ์อย่างหนึ่งที่ใน Museum เมืองพุกามซึ่งหม่อมฉันชอบใจ แต่เห็นมีอย่างเดียวกันเพียงสัก ๔ - ๕ แผ่น จะขอเอามาเปนที่ระลึกสักแผ่น ๑ ก็นึกเกรงใจ เลขานุการเขารับว่าจะไปสืบสวนดูที่กรมตรวจโบราณคดีในอินเดียว่าเขาจะให้ได้หรือไม่ บัดนี้เขาส่งพระพิมพ์นั้นมาให้หม่อมฉันแผ่น ๑ ว่าเปนของรัฐบาลเมืองพะม่าให้เปนที่ระลึกในการที่หม่อมฉันไปเมืองพะม่าครั้งนี้ หม่อมฉันจึงได้ถ่ายรูปฉายาลักษณ์ส่งมาถวายทอดพระเนตร์ด้วยพร้อมกับจดหมายฉะบับนี้ หม่อมฉันเคยทูลไปแต่ก่อนว่าเดิม มองสิเออร์ ชาลล์ ดือรอยเสลล์ M. Charles Duroiselle นักปราชญ์ฝรั่งเศสเปนเจ้ากรมโบราณคดีในเมืองพะม่า แต่ออกจากตำแหน่งเสียสัก ๓ ปีมาแล้ว หม่อมฉันได้พบตัวที่เมืองมัณฑเล มาบัดนี้หม่อมฉันได้รับจดหมายของมองสิเออร์ ชาลส์ ดือรอยเสลล์ บอกมาว่ารัฐบาลเมืองพะม่า ได้ขอให้เขากลับเข้ารับตำแหน่งเจ้ากรมตรวจโบราณคดีอีกปี ๑ (เห็นจะเปนเพราะเรื่องแยกการปกครองเมืองพะม่าออกจากอินเดีย) เขาเปนผู้ส่งพระพิมพ์แผ่นที่ว่ามายังหม่อมฉัน เขาบอกอธิบายในจดหมายว่าพระพิมพ์นั้นมีตัวอักษรนาครีอยู่ข้างล่าง อักษรบรรทัดบนเปนคาถา “เยธมฺมา” อีกบรรทัดหนึ่งว่า “ทานปติ สริมหิสยเทวี” แปลว่า “พระอัครมเหษีทรงสร้าง” ในที่แห่งเดียวกันนั้นเขาพบพระพิมพ์อีกอย่างหนึ่งมีอักษรว่า “อนิรุทธเทว” ทรงสร้าง จึงสันนิษฐานว่าพระพิมพ์แผ่นที่ให้หม่อมฉันเปนของพระอัครมเหษีของพระเจ้าอนิรุทธ จึงฝังไว้ด้วยกัน ถ้าเช่นนั้นสมัยที่สร้างพระพิมพ์นี้อยู่ในระวาง พ.ศ. ๑๕๘๗ จน พ.ศ. ๑๖๗๐ และพระพิมพ์นี้พบในพระเจดีย์พังองค์หนึ่งอยู่ในบริเวณพระเจดีย์ใหญ่ ซึ่งเรียกว่า “มงคลเจดีย์” ที่เมืองพุกามเมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๖ (พ.ศ. ๒๔๖๙) เปนของสำคัญด้วยประการฉะนี้ พระพุทธรูป ๘ ปางที่ทำในพระพิมพ์นั้นแบบเดียวกันกับที่จำหลักแผ่นศิลาได้มาจากอินเดีย มีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานกรุงเทพ ฯ คือ

๑. ปางประสูติ ที่ป่าลุมพินี

๒. ปางมารวิชัย ที่เมืองพุทธคยา

๓. ปางปฐมเทศนา ที่เมืองพาราณสี

๔. ปางมหาปรินิพพาน ที่เมืองกุสินาราย์

ทั้ง ๔ ปางนี้เปนพระบริโภคเจดีย์ โดยพระบรมพุทธานุญาตให้คนไปบูชา อีก ๔ ปางนั้นสมมตกันภายหลังว่าเปนที่พระพุทธองค์ทรงกระทำปาฏิหาริย์ คือ

๕. เมื่อเสด็จขึ้นไปประทานพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดา แล้วเสด็จทรงพระดำเนินลงทางบรรไดแก้วกลับลงมายังมนุสโลกที่เมืองสาเกตุ

๖. ปางยมกปาฏิหาริย์ ที่เมืองสาวัตถี

๗. ปางทรมานช้างนาฬาคิรี ที่เมืองราชคฤห

๘. ปางพระยาวานรทำพุทธปฏิบัติ (เรื่องพระป่าเลไล) ที่เมืองเวสาลี

เรื่องซองจดหมายของหม่อมฉันชำรุดไปจากเมืองปีนังนั้น สืบได้ความว่านายแก้วมงคลทิ้งไปรษณีย์ที่ตู้หลังบ้าน Cinnamon Hall เห็นจะเปนด้วยวันนั้นฝนตกตู้รั่ว ซองจดหมายจึงเปียก หม่อมฉันได้สั่งให้แก้ไขสำหรับต่อไปให้เอาไปส่งที่ออฟฟิศไปรษณีย์ทีเดียว

คราวนี้หม่อมฉันส่งเรื่องเที่ยวเมืองพะม่ามาถวายอีกท่อนหนึ่ง เปนจบตอนที่ ๒ มีรูปฉายาลักษณ์กำกับ ๗ แผ่น คือ

๑. รูปเมื่อเลี้ยงปลาที่สระโบราณ

๒. รูปลิงบาบูนที่สวนเลี้ยงสัตว์

๓. รูปแรดในสวนเลี้ยงสัตว์

๔. รูปทะเลมหาราช แลเห็นพระเกศธาตุแต่ไกล

๕. รูปฉัตรยอดพระเจดีย์ที่พะม่าทำขาย

๖. รูปช่างพะม่าจำหลักพระพุทธรูปศิลา

๗. รูปพระพุทธรูปศิลาที่ตั้งไว้ขาย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. พระยาประเสริฐศุภกิจ (เพิ่ม ไกรฤกษ์)

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ