วันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๔๗๙

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

เมื่อเมลวันเสาร์ก่อน ได้รับลายพระหัตถ์สองฉะบับ ฉะบับเล็กลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคมฉะบับหนึ่ง กับฉะบับใหญ่ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคมอีกฉะบับหนึ่ง ได้รับทราบความทุกประการแล้ว

ขอประทานทูลสนองความในลายพระหัตถ์ฉะบับเล็กเรื่องชายไสก่อน ตามพระดำริซึ่งทรงพระเมตตาโปรดแนะนำไปนั้น ย่อมรู้สำนึกในใจอยู่อย่างยิ่ง ว่าทรงพระเมตตาเอาพระทัยใส่ด้วยทรงพระกรุณาปรารถนาจะให้ดี และพระดำรินั้นก็เปนทางดีมากด้วย เว้นแต่เวลานี้มีการเปลี่ยนแปลงไปเสียแล้วลางประการอันขัดกับพระดำริซึ่งทรงพระเมตตาโปรดประทานไปนั้น แต่ไม่เปนไร คงจะคิดยักย้ายหาช่องเดินทางไปให้สมควรแก่กาลได้ ชายไสก็ถึงแล้วเมื่อวันที่ ๔ เดือนนี้ เวลา ๙ นาฬิกา ต่างดีเนื้อดีใจอิ่มกันไปหมดทั้งบ้าน ยังแถมที่วัดด้วย

ทีนี้จะกราบทูลสนองลายพระหัตถ์ฉะบับใหญ่ต่อไป ดีใจด้วยฝ่าพระบาทซึ่งมีโอกาสได้ทรงจรดกันบิดประทานแก่เหลน ดูครึ้มมากที่ได้เปนตาทวด แสดงว่าบุญช่วยให้เจริญพระชันษายืนยาว แล้วหวังว่ายังจะยืนยาวต่อไปอีกนาน เมื่อวันที่ ๓ หญิงจงเธอก็ทำบุญอายุ ๕๐ ปี เกล้ากระหม่อมไปช่วยงานเธอก็ขอให้รดน้ำเจิมกระแจะและผูกมือให้แก่เธอ รู้สึกครึ้มใจว่าตนตั้งอยู่ในฐานะที่เปนผู้ใหญ่เหมือนกัน

พระนิพนธ์เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าคราวนี้ มีเรื่องราวไม่น้อย โดยมากเปนส่วนที่ไม่เคยทราบเกล้า เพราะฉะนั้นก็ได้แต่ฟัง ทูลสอดเสริมไม่ได้ที่มีความเห็นอาจทูลสอดเสริมได้นั้นมีน้อยข้อ ดังจะกราบทูลต่อไปนี้

มงกุฎ ถ้าว่าตามหลักในภาษาบาลีแล้ว หมายว่าเครื่องประดับเศียรเท่านั้น จะเปนอะไรก็ได้ ในพระสูตรปรากฏเปนผ้าโพกทอทองก็มี มงกุฎพระเจ้าแผ่นดินเมืองพะม่าน่าจะเปนแบบดั้งเดิมของเขามา ส่วนรูปเทวดาพะม่า ซึ่งทำมงกุฎกระเดียดมาข้างไทย เกรงว่าจะเอาอย่างไทยไป เพราะทางฝีมือช่างย่อมดูดดึงกันให้เปลี่ยนแปลงไปได้ง่าย แต่ส่วนทางแบบแผนตามประเพณีย่อมจะเปลี่ยนแปลงได้ยากกว่า

เครื่องแต่งตัวเต็มยศขุนนางพะม่า ทรงสังเกตเห็นว่าคล้ายเครื่องแต่งตัวขุนนางไทยแต่โบราณนั้นถูกต้องแล้ว นุ่งลอยชายเราก็นุ่งเหมือนกัน คือที่เรียกว่า “นุ่งเกี้ยวเกไลย” เสื้อครุยผ้าโปร่งนั้น เราเห็นจะเพิ่งมาเปลี่ยนทีหลัง ในตำราเครื่องต้นฉลองพระองค์ครุยก็ทำด้วยตาด เปนผ้าหนาเหมือนกัน ที่ถือพัดใบตาลปิดทองด้วยนั้นชอบกลอยู่ จะว่าไกลจากไทยไปทีเดียวก็ว่าไม่ได้ พระเจ้าแผ่นดินไทยก็ถือพัดใบตาล ดังที่ปรากฎว่าพระเพธราชาทรงให้สัญญาเดินกระบวนแห่พระบรมศพด้วยทรงโบกพัชนีฝักมะขาม ทั้งตัวนายโรงเอกละคอนแต่ก่อนก็ถือพัชนีฝักมะขามเปนประจำ จะว่าไทยเดิมถือด้วยกันหมดเหมือนพะม่า แล้วมาห้ามเสียทีหลังคงไว้แต่พระเจ้าแผ่นดินก็ได้ หรือว่าพะม่าจำอย่างไทยไปทำฝั่นเฝือก็ได้เหมือนกัน นึกเห็นงามข้างเดิมจะถือหมดด้วยกัน เพราะเห็นได้ที่พระภิกษุทั้งลังกาพะม่าไทย แต่ล้วนถือพัดใบตาลกันทุกองค์ จนฝรั่งเรียกว่า “ตาลปวน”

เครื่องแต่งตัวเต็มยศภรรยาขุนนางของเรา ในชั้นหลังเราก็ยังมีผ้าห่มดอกทองห่มในพิธีถือน้ำกันอยู่ จนเจ้าพระยาภาสเก็บเอาไปล้อคุณหญิงเปลี่ยนว่า “ท่านผู้หญิงดอกทอง” คุณหญิงเปลี่ยนฉุนหนักแต่เจ้าพระยาภาสก็หาหยุดไม่

สีวิกาของพะม่า ไม่นึกเลยว่าจะเร่อร่าหนาหนักถึงเพียงนั้น ไม่เห็นที่ไหนมีเหมือน รูปภาพฉลักที่พระนครวัดก็มีคานหามอยู่หลายชะนิด แต่ไม่เห็นมีเหมือนสีวิกาของพะม่าเลย

เรื่องฉัตร ฝ่าพระบาทตรัสอธิบายไว้ถี่ถ้วนหมดแล้ว ฉัตรซ้อนชั้นนั้น เคยได้ยินคนออกความเห็นว่ามาซ้อนกันในเมืองไทยนี้เอง ทางพะม่าเขาทำชั้นเดียว เกล้ากระหม่อมเกือบเชื่อ แต่นึกไปก็นึกได้ว่าฉัตรซ้อนชั้นกันในอินเดียมี จึงตัดสินใจว่าที่ว่าไทยซ้อนในเมืองไทยนั้นไม่จริง แม้พะม่าซึ่งเขายกตัวอย่างมาอ้างนั้นเองก็มีฉัตรซ้อนชั้นปรากฎอยู่ในรูปฉายเรือนแก้วสีหาสนบัลลังก์ ซึ่งทรงพระเมตตาประทานไปนั้นอยู่แล้ว ที่ทางอินเดียฉัตรซ้อนชั้นของเขาแลเห็นคันก็เพราะระบายฉัตรของเขาแคบ ส่วนระบายฉัตรของเรากว้างจึงปิดคันเสีย พูดถึงฉัตรทำให้นึกขึ้นมาได้ถึง “กลิ้งกลด” เดิมรู้สึกว่าเปนนาม จึงนึกถามตัวเองอยู่บ่อย ๆ ว่ากลิ้งกลดรูปร่างเปนอย่างไร กลดชะนิดใดซึ่งเรียกว่ากลิ้งกลด ต่อไปได้อ่านหนังสือเก่าเรื่องอะไรก็ลืมเสียแล้ว เขากล่าวถึงคนเชิญกลิ้งกลด ทำให้ได้สติขึ้นว่าจะเปนกิริยาเสียดอกกระมัง กลิ้ง ความว่าหมุนตัวไป กลิ้งกลดจะหมายความว่าหมุนร่มเสียดอกกระมัง เมื่อคิดขึ้นเช่นนั้น กิริยาที่ตลก ละคอนกั้นร่มพระเอกหมุนติ้ว ๆ ก็มาปรากฎขึ้นในใจ เปนพยานในความคิดเห็นนั้นว่าข้อนข้างจะถูกแล้ว หมุนร่มนี้ไม่ใช่มีแต่ไทย ละคอนแขกฟาซีเขามาเล่นเรื่องหริศจันทร์ ประเดิมโรงก็มีพระเจ้าหริศจันทร์เสด็จออกท้องพระโรงประทับพระราชบัลลังก์วินิจฉัยคดีราษฎร พระราชบัลลังก์นั้นเปนภัทรบิฐตั้งซ้อนบนแท่น หลังภัทรบิฐนั้นมีร่มปีกค้างคาวริมขลิบระย้าปักอยู่บนแท่นข้างหลังภัทรบิฐ ร่มนั้นหมุนได้อย่างช้า ๆ เห็นจะหมุนไปด้วยกำลังลานนาฬิกา พอเห็นเช่นนั้นก็รู้สึกประหลาดใจมาก ที่ลักษณการหมุนร่มนั้นทำกันมาแล้วแต่ทางอินเดีย ไม่ใช่ตลกของเรามาคิดทำขึ้นเพื่อให้ขบขัน

ตามที่ทรงพระปรารภว่าพะม่ากับไทยมีขนบธรรมเนียมคล้ายกัน น่าที่มิใครก็ใครคงเอาอย่างกันนั้นชอบแล้ว แต่ทางที่พะม่าจะเอาอย่างไทย ด้วยไล่เลียงเอาความจากไทยชะเลยซึ่งกวาดได้ไปนั้น เห็นจะเปนไปไม่ได้ ผู้มีชัยเห็นจะไม่ยกย่องเอาแบบอย่างของผู้ปราชัย ความเอาอย่างกันย่อมเปนไปในเวลาต่างอยู่ด้วยกันเปนปกติแล้วแข่งขันประมูลกัน ฝ่ายข้างด้อยต้องเอาอย่างข้างรุ่งเรืองซึ่งผลัดกันอยู่เสมอ เช่นแต่ก่อนเขมรรุ่งเรืองกว่าเราเราก็เอาอย่างเขมร ภายหลังเรารุ่งเรืองกว่าเขมรเขมรก็กลับมาเอาอย่างเรา ความเอาอย่างกันมักเปนไปด้วยไม่ได้จงใจและไม่รู้ตัว ย่อมเปนไปเองด้วยลืมตัว ส่วนที่พะม่าอ้างว่าสิ่งนี้เปน “แบบโยเดีย” นั้นเปนคนละอย่าง เปนการแสดงเกียรติยศว่าชะนะไทยได้ชะเลยไป ที่เปนช่างก็ใช้ให้ทำการช่าง ที่เปนละคอนก็ใช้ให้เล่นละคอนให้ดูเพื่อการโอ่อวด จะเรียกว่าเอาอย่างหาได้ไม่

ขอประทานทูลถวายรายงานให้ทราบฝ่าพระบาทว่า ได้เข้าไปบูชาถวายพุ่มเข้าปัจฉิมพรรษาพระพุทธมหามณีรัตน (เพราะเมื่อเข้าปุริมพรรษาไปเตร็จเตร่เสียที่ศรีมหาราชา) ได้เข้าไปดูในหอพระราชกรมานุสสรณ์ ได้เห็นพระปางในนั้นมีพระนาคปรกชะนิดนาคฝาชี ทำให้ฉงนใจมาก เข้าใจว่าพระปางพวกนั้นสร้างในรัชชกาลที่ ๓ แล้วมาจารึกทรงพระราชอุทิศในรัชชกาลที่ ๔ ถ้าเข้าใจเช่นนั้นถูกนาคฝาชีก็มีมาแต่รัชชกาลที่ ๓ แล้ว ถ้าพลาดจากนั้นก็ต้องเปนรัชชกาลที่ ๔ ที่เราเข้าใจกันว่านาคฝาชีเกิดขึ้นในรัชชกาลที่ ๕ จะมิผิดไปหรือ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ประสูติวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๘

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ