วันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๔๗๙

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๒ เดือนนี้ ประทานไปพร้อมด้วยพระนิพนธ์เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ท่อนที่ ๗ ล่องแม่น้ำเอราวดี (ท่อนที่ ๓) ประกอบด้วยรูปฉาย ๓ รูป ได้รับประทานแล้ว เปนพระเดชพระคุณล้นเกล้า

รูปยานมาศเกล้ากระหม่อมสำคัญผิดไปทีเดียว คิดว่าจะคล้ายกับสีวิกา เพราะสีวิกาเราเรียกว่าวอ ยานมาศพะม่าก็เรียกว่าวอ เปนชื่อเหมือนกันจึงคิดว่าคล้ายกัน เมื่อผิดไปแล้วก็เอาเข้าไม่ได้ เอาที่บรรจุพระบรมศพพระเจ้ามินดงเข้าแทนดีแล้ว

ข้อพระปรารภเรื่องพิมพ์กฎมณเทียรบาลแจก เห็นไม่ควรทรงพระวิตก หนังสือแจกงานศพแม้จนทุกวันนี้ ดูไม่สู้เปลี่ยนแปลกไปกว่าแต่ก่อนที่ทำกันอยู่ถ้าจะแบ่งออกก็เห็นจะจัดได้เปน ๓ ประเภท ประเภทได้เปล่าเปนธรรมกถา มักเปนของพระให้ช่วยเจ้าภาพ ประเภทง่ายไปซื้อหนังสือสำเร็จที่วางขายในตลาดมาแจก มักเปนตำราต่างๆ มีตำราทำปฐมพยาบาล ตำราปรุงอาหารเปนต้น ประเภทสร้างคือจัดตีพิมพ์ขึ้นจำเพาะงาน โดยมากเปนหนังสือครึๆ ออกจากหอสมุดเปนพื้น หนังสือซึ่งแต่งใหม่ด้วยฝีปากใหม่ ตีพิมพ์นอกหอสมุดนั้นมีน้อยนัก ถ้าจะเทียบด้วยหนังสือที่แจกกันอยู่ทั้ง ๓ ประเภทนั้น นับเปนส่วนร้อยก็จะมีไม่กว่าร้อยละ ๒ ต้องเปนงานพิเศษจริง ๆ จึงจะมีขึ้นได้ หนังสือกฎมณเทียรบาลพะม่าก็เปนพวกหนังสือครึ พวกเดียวกับที่เขาตีพิมพ์แจกกันอยู่เสมอ ไม่ผิดแผกกว่าเขาไป

ว่าถึงคนอ่าน ไม่แต่กฎมณเทียรบาลพะม่า แม้หนังสืออื่นๆ ก็มีคนอ่านน้อยทั้งนั้น รับไปทิ้งกันเสียแหละมาก ถ้าจะให้คนอ่านมากแล้วต้องตีพิมพ์นิทานเรื่องรัก ซึ่งเรียกกันเดี๋ยวนี้ว่าเรื่องเริงรม เข้าใจว่าเอาอย่างมาจากโนเวลฝรั่ง แต่ก็ไม่มีใครเขาแจกกัน แม้ฝรั่งเองหนังสือโนเวลก็มีคนชอบอ่านมาก ตีพิมพ์ตั้งแสนตั้งล้านก็ขายหมด ส่วนหนังสือที่เปนหลักฐานตีพิมพ์มากไม่ได้ขายไม่ออก

ส่วนพระองค์ฝ่าพระบาท ผู้ทรงนิพนธ์หนังสือมาแล้วเปนอันมากนั้นแม้จนทุกวันนี้ หากมีใครแสดงปาฐกถาในวิทยุกระจายเสียงก็ดี หรือแต่งหนังสือลงพิมพ์ก็ดี ถ้าเปนเรื่องในทางประวัติแล้ว จะต้องออกพระนามยกเอาพระนิพนธ์อันได้ทรงรจนาไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่งมาอ้างเปนหลักเสมอ เสียงที่สบประมาทว่าทรงแต่งเหลวไหลนั้นยังไม่ปรากฎเลย

อ่านพระนิพนธ์เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าคราวนี้ เรื่องผีสนุกดีแต่เหลวเปนเถาก๊วย วิธีลงผีพวกมอญก็ทำกันเปนงานปี เคยไปเห็นที่ปากลัด แต่ผิดกันที่เขาลงผีปู่ย่าตายายของเขา เรื่องบ่อน้ำมันดินเพิ่งได้ความรู้ ว่าน้ำมันนั้นอยู่ปนกับน้ำต้องเอามาคัดแยก ได้ฟังพระดำรัสบ่นในการปีนตาหลิ่งเมืองแปร นึกอดหัวเราะอยู่ในใจ ให้แลเห็นเปนรูปภาพไปทีเดียว ตามที่นึกได้ที่เคยไปเคยขึ้น ที่ไหนจะขึ้นยากลำบากกว่าเมืองแปรเปนไม่มี เกล้ากระหม่อมเคยต้องลงคลานสี่ขา ที่เฉาะคั่นเปนบันไดนั้นไม่เคยพบ ใจผูกอยู่ที่เมืองสารเขตต์ ด้วยเปนเมืองเก่าไม่เคยไป ตั้งใจคอยฟังพระดำรัสเล่าเอาไปควบกับเมืองพุกาม แต่เรื่องเมืองพุกามคงทับเอาเมืองสารเขตต์จืดไปถนัดใจ

จะเก็บเอาเรื่องเล็กน้อยที่นึกประหลาดมาเล่าถวาย เมื่อวันที่ ๑๙ เวลาเย็น นายพันเอก รูษ์ ผู้ช่วยทูตฝรั่งเศสฝ่ายทหารมาเซนชื่อในสมุดเยี่ยมแล้วสั่งให้เข้ามาบอกว่าขอเฝ้า เกล้ากระหม่อมออกไปหาเห็นเข้าตกใจ แต่งเต็มยศติดตราเต็มที่ พาผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารคนใหม่มาหาด้วย แต่งเต็มยศติดตรามาเหมือนกัน อะไรทำมาออกแขกเมืองกันเถื่อน ๆ ครั้นพูดกันก็ไม่มีอะไร ตัวเองลากลับไปเมืองนอก พาผู้แทนตัวคนใหม่มาให้รู้จักเท่านั้น ครั้นกลับไปแล้วเกล้ากระหม่อมก็ตริตรองนี่จะทำอย่างไรดี เขามาหาด้วยตั้งใจจริง ประกอบด้วยประโยคพยายามอย่างหนัก จะนิ่งเฉยอยู่ก็ใช่ที่ จึงคิดจัดกระเช้าสะเบียงไปส่งให้ ในวันเมื่อเขาขึ้นรถไฟกลับไปขยับจะเปนธรรมเนียมไทยไม่ใช่ฝรั่ง

กราบทูลถึงนายพันเอก รูษ์ แต่งเต็มยศมา นึกถึงเครื่องแต่งตัวเต็มยศอย่างเก่าของเรา ฝ่าพระบาทเคยตรัสบอกว่า เข้มขาบเปนภาษาแขก ผ้าทอทองเขาเรียกว่า “กิมกับ” ต่อมาเมื่อสองสามวันนี้เอง พระยาอนุมานราชธนแจ้งรายงานมาให้ทราบว่า ได้ค้นปทานุกรมพบคำเหล่านี้ว่าเปนภาษาเปอร์เซีย คือ

(๑) Tash เข้าใจว่าตาด

(๒) Kimkhab เข้าใจว่าเปนเข้มขาบ

ทั้งสองอย่างนี้ อธิบายให้ไว้เพียงว่าเปนผ้าทอทอง

(๓) Zarabaft เข้าใจว่าเปนเยี่ยรบับ อธิบายให้ไว้ว่าเปนผ้าทอทองเหมือนกัน Zara ว่าทอง baft ว่าทอ พระยาอนุมานสงสัยว่าทำไมตัว Z จึงเปนเสียง ย ไป แต่ก็เห็นอย่างเช่น คำ Zira ก็เปน ยี่หร่า ได้บอกให้เข้าใจแล้ว ว่าที่เรียกเยี่ยรบับนั้น ใช้แต่ในหนังสือและกราบทูล จัดว่าเปนราชาศัพท์ ที่เรียกกันโดยสามัญก็เรียกส้ารบับ

(๔) อัตตลัด คำนี้หายไป พระยาอนุมานไปค้นพบในปทานุกรม ภาษามาลายู เขียน อัตเตลัด ก็มี อัตตลัส ก็มี ให้คำอธิบายว่าเปนแพรต่วนเขวไปเสียทางหนึ่ง

อนึ่งพระยาอนุมานค้นพบคำ ผ้าส่าน ในปทานุกรมอธิบายให้ไว้ว่าเปนผ้าขนสัตวโบราณ ผ้าเปลือกไม้โบราณ ในภาษาเปอร์เซียมีผ้าชะนิดหนึ่งเรียก Shal ว่าเปนผ้าทอด้วยขนอูฐแกมไหม ต่อมาใช้ขนแกะหรือขนสัตวอื่น แกมไหมหรือด้ายก็ได้ ซึ่งภาษาฝรั่งเศส Camlet เสียงไปเข้าใกล้ข้างกำมะหลิด

ขอประทานทูลถามปัญหาข้อหนึ่ง คำใช้ในหนังสือเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินกรุงเก่าว่า “พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์” เคยเข้าใจกันว่า หมายถึงสมเด็จพระนเรศวร กับสมเด็จพระเอกาทศรถ หากจะหมายถึงพระองค์อื่นในรัชชกาลอื่นอีก จะมีได้หรือไม่

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ