เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๖ วินิจฉัยเคราะห์กรรมเมืองพะม่า (ท่อนที่ ๒)

เมื่อแรกพระเจ้าสีป่อเปนพระเจ้าแผ่นดินบ้านเมืองก็สงบอยู่ ด้วยคนทั้งหลายสำคัญว่าพระเจ้ามินดงมอบเวนราชสมบัติพระราชทานเปนแต่ปลาดใจกันว่าเหตุไฉนจึงไม่ทรงตั้งลูกเธอที่เจริญพระชันสา และทรงคุณวุฒิยิ่งกว่าเจ้าชายสีป่อเปนรัชชทายาท ส่วนพระเจ้าสีป่อเอง ก็ยังไม่สามารถจะบังคับบัญชาราชการ ด้วยมิได้เตรียมพระองค์ที่จะเปนพระเจ้าแผ่นดิน อำนาจในราชการจึงตกอยู่ที่พระนางอเลนันดอ พอเสร็จงานบรมศพก็สั่งให้จับพวกนางในที่ผูกพยาบาทไว้เอาไปจำขังทั้งหมด แต่ในชั้นนี้ยังมิได้คิดจะฆ่าฟัน ด้วยปรากฎว่าให้สร้างเรือนจำขึ้นใหม่ที่ในวัง สำหรับจะขังเจ้านายองค์ชายและนางในที่ถูกจับไว้ในเรือนจำนั้น แต่เมื่อความจริงแพร่หลายออกไปถึงนอกวัง ว่าพระเจ้าสีป่อได้ราชสมบัติด้วยกลอุบายของพระนางอเลนันดอ และพระนางอเลนันดอให้จับเจ้านายกับทั้งนางในจำขังไว้มาก ก็เกิดหวาดหวั่นกันไปทั่วทั้งพระนคร กรณีที่ปรากฎภายหลังชวนให้สันนิษฐานว่าทูต Agent อังกฤษ เห็นจะได้ว่ากล่าวกับเสนาบดีพะม่าตั้งแต่แรกจับเจ้านายเข้าไปขัง แต่ฝ่ายพะม่าคงจะแก้ว่าถ้าไม่จับเอาไปคุมไว้เสีย เกรงจะเกิดรบพุ่งชิงราชสมบัติกัน ทูตอังกฤษเห็นจริงก็ต้องนิ่งอยู่ ก็เจ้านายลูกยาเธอของพระเจ้ามินดงนั้นแต่ละองค์โดยฉะเพาะที่เปนชั้นผู้ใหญ่ มีผู้คนเปนบริวารมาก เมื่อพวกบริวารรู้ว่าเขาลวงจับเอาเจ้านายของตัวไป ก็เปนธรรมดาที่พากันโกรธแค้น คิดจะแก้ไขเอาเจ้านายของตนออกจากที่คุมขัง จึงมีความลำบากเกิดขึ้นเปนปัญหา ว่าจะควรทำอย่างไรให้ปลอดภัยในการที่จับเจ้านายไว้ ในหนังสือบางเรื่องว่าพระนางอเลนันดอกับพระเจ้าสีป่อปรึกษาเสนาบดีทั้งหมด บางเรื่องว่าปรึกษาแต่เสนาบดีที่เปนตัวสำคัญ เสนาบดีคนอื่นมิได้รู้ แต่ทำนองจะเห็นพ้องกันว่าถ้าปล่อยเจ้านายออกไปก็คงไปคิดขบถ ถ้าขังไว้พวกบริวารก็คงคิดขบถ เมื่อปรึกษาหาทางป้องกัน พระนางอเลนันดอกับมนตรีแตงดาเห็นว่าจำต้องตัดต้นเหตุด้วยฆ่าเจ้านายเหล่านั้นเสียตามเยี่ยงอย่างที่เคยทำกันแต่โบราณ พระเจ้าสีป่อกับเสนาบดีคนอื่นไม่เห็นชอบด้วย แต่ไม่สามารถจะหาอุบายอย่างอื่นได้ก็ต้องยอมอนุมัติ ขอชีวิตไว้แต่เจ้านายที่ยังเปนเด็ก ไม่มีใครคิดเห็นว่าวิธีตัดต้นเหตุที่เคยใช้กว่าร้อยปีมาแล้ว จะให้ร้ายแก่บ้านเมืองในสมัยเมื่อฝรั่งต่างประเทศมามีอำนาจแทรกแซงอยู่ จึงให้ฆ่าเจ้านายกับทั้งนางในที่เปนอริกับพระนางอเลนันดอ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ (พ.ศ. ๒๔๒๑) ฆ่าอย่างทารุณเหมือนเช่นว่า “ตัดหนามไม่ไว้หน่อ” เจ้าชายองค์ใดถูกฆ่า จอมมารดาและลูกกับทั้งเจ้าน้ององค์หญิงของเจ้าชายองค์นั้นก็ถูกฆ่าด้วย แม้จนขุนนางที่เปนญาติสนิททางฝ่ายจอมมารดาก็จับฆ่าเสียเหมือนกัน จำนวนเจ้านายกับญาติวงศ์ที่ถูกฆ่าครั้งนั้น รวมกันถึงราว ๘๐ คน ว่าฆ่าอยู่ ๓ วันจึงหมด เพราะซ่อนฆ่าที่ในวังแต่เวลากลางคืนหวังจะมิให้พวกชาวเมืองรู้ แต่จอมมารดากับเจ้าน้องหญิง ๒ องค์ของเจ้านยองยานเจ้านยองโอ๊กที่หนีไปได้นั้น ให้เอาไว้เปนตัวจำนำยังไม่ฆ่า เลยถูกจำขังต่อมาถึง ๗ ปี จนเสียเมืองพะม่า อังกฤษสั่งให้ปล่อยจึงพ้นเวรจำ

การที่ฆ่าเจ้านายครั้งนั้น พอข่าวรั่วออกมาถึงข้างนอก คนทั้งหลายก็ตกใจทั่วไปทั้งพะม่าชาวเมืองและชาวต่างประเทศ มิสเตอร ชอ ทูตอังกฤษแต่พอรู้แน่ว่าจะฆ่าเจ้านาย ก็รีบเขียนหนังสือห้ามปรามไปยังเสนาบดีพะม่า และบอกไปในหนังสือนั้นว่าถ้าไม่ปราร์ถนาจะให้เจ้านายองค์ใดอยู่ในเมืองพะม่า อังกฤษก็จะยอมรับเอาไปไว้เสียอินเดีย ขอแต่อย่าให้ฆ่าฟัน ถ้าห้ามไม่ฟังอังกฤษกับพะม่าก็คงขาดไมตรีกัน เผอิญหนังสือทูตอังกฤษมีไปในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ เมื่อทางโน้นฆ่ากันเสียเสร็จแล้วแต่วันที่ ๑๗ จึงช่วยชีวิตเจ้านายไว้ไม่ได้ ฝ่ายเสนาบดีพะม่าได้รับจดหมายทูตอังกฤษเมื่อเวลาล่วงเลยเสียแล้ว ก็ได้แต่ตอบว่าเมืองพะม่ามีพระมหากษัตริย์ปกครองเปนอิสสระ ถือว่าบ้านเมืองเปนสำคัญยิ่งกว่าตัวบุคคล เมื่อบ้านเมืองจะเกิดจลาจลก็จำต้องระงับตามประเพณี เพื่อจะรักษาบ้านเมืองและพระสาสนาให้พ้นภัย ขออย่าให้กระทบกระเทือนไปถึงทางไมตรี ทูตอังกฤษก็ได้แต่บอกไปยังรัฐบาลของตน ว่าพระเจ้าสีป่อจะทำให้บ้านเมืองเกิดยุคเข็ญเปนแท้ ครั้งนั้นมีผู้เห็นกันมากว่าควรจะเอาพระเจ้าสีป่อออกเสียจากราชสมบัติ และให้เจ้านยองยานซึ่งหนีไปได้และอังกฤษส่งไปไว้อินเดียนั้น มาเปนพระเจ้าแผ่นดินตามที่พระเจ้ามินดงทรงหมายไว้ บ้านเมืองจึงจะกลับเรียบร้อยได้อย่างเดิม อังกฤษเจ้าเมืองพะม่าใต้ก็เห็นเช่นนั้น แต่เมื่อบอกไปยังอินเดีย ไปประจวบเวลาอังกฤษกำลังทำสงครามติดพันอยู่กับประเทศอัฟฆานิสถานทางฝ่ายเหนือ ไม่อยากจะให้เกิดรบพุ่งกับพะม่าอีกทางหนึ่งในขณะเดียวกัน จึงอนุญาตเพียงให้ “ลดธง” ถอนทูตมาเสียจากเมืองมัณฑเล เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๒ แต่เผอิญในปีต่อมาทางกรุงลอนดอนเปลี่ยนรัฐบาล พวกลิเบอรัลซึ่งมีวิสัยรังเกียจการรบพุ่งได้เปนใหญ่ และซ้ำต้องฝืนใจทำสงครามทางอาฟริกาใต้และอียิปต์ อังกฤษจึงระงับความคิดที่จะรุกรานเมืองพะม่าอยู่หลายปี

ในเมืองพะม่าเอง ตั้งแต่ฆ่าเจ้านายแล้วพระนางอเลนันดอก็เกิดหวาดหวั่น ด้วยรู้ว่ามีคนโกรธแค้นมากเกรงจะเกิดขบถ จึงแนะนำพระเจ้าสีป่อให้ตั้งมนตรีแตงดา ซึ่งเคยเปนคู่คิดกันมาแต่ก่อน ขึ้นเปนอัครมหาเสนาบดี Wungyi ฝ่ายทหาร และให้เปนผู้บัญชาการรักษาพระนครด้วย แต่พระนางอเลนันดอเองก็มีอำนาจสิทธิ์ขาดอยู่ไม่นานเท่าใด พอราชินีสุปยาลัตคุ้นกับพระเจ้าสีป่อสนิทแล้ว ก็เอากิจการฝ่ายในราชฐานไปบังคับบัญชาเสียเอง ใช่แต่เท่านั้น ยังเอื้อมไปเกี่ยวข้องถึงกิจการฝ่ายหน้า ด้วยอาจจะว่ากล่าวให้พระเจ้าสีป่อทำตามถ้อยคำได้ เมื่อแตงดาหวุ่นคยีเห็นราชินีสุปยาลัตมีอำนาจขึ้น ก็หันเข้าประจบประแจงจนได้เปนที่ปรึกษาหารือของราชินีสุปยาลัต เหมือนเช่นเคยเปนที่ปรึกษาของพระนางอเลนันดอมาแต่ก่อน ราชการบ้านเมืองก็สิทธิ์ขาดอยู่ในคนทั้ง ๓ คือ พระเจ้าสีป่อกับราชินีสุปยาลัตและแตงดาหวุ่นคยี เลยเปนเหตุให้เสนาบดีคนอื่นพากันท้อถอย การปกครองบ้านเมืองก็ผันแปรเสื่อมทรามลงจนเห็นปรากฎแก่คนทั้งหลาย จึงมีคนจำพวกหนึ่งเปนข้าราชการก็มี มิได้เปนข้าราชการก็มี คบคิดกันกับพวกชาวเมืองพะม่าใต้ให้ไปเชิญเจ้านยองยานมาปราบยุคเข็ญ คนเหล่านั้นรับจะเปนกำลังรบเอาราชสมบัติถวาย พะม่าผู้เล่าเรื่องให้ฉันฟัง ยืนยันว่าครั้งนั้นอังกฤษก็รู้เห็นเปนใจด้วย แตในหนังสือที่อังกฤษแต่ง ไม่รับและไม่ปฏิเสธทั้ง ๒ สถาน จะอย่างไรก็ตาม ความปรากฏว่าเจ้านยองยานกับเจ้านยองโอ๊กอนุชาหนีมาได้จากอินเดีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๕ แต่เผอิญเจ้านยองยานมาประชวรสิ้นชีพเสียที่เมืองพะม่าใต้ เหลือแต่เจ้านยองโอ๊กออกเปนหัวหน้าพวกขบถ ตีเมืองชายแดนพะม่าเหนือขึ้นไปได้ไม่เท่าใด พอพวกพะม่ารู้ว่ามิใช่เจ้านยองยานก็ไม่พอใจช่วย เพราะเจ้านยองโอ๊กเคยเปนคนกักขละไม่มีใครนับถือมาแต่ก่อน เจ้านยองโอ๊กทำการไม่สำเร็จก็ต้องกลับไปอินเดีย เรื่องนี้ถ้าจะว่าเปนเพราะเคราะห์กรรมของเมืองพะม่าก็ได้อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเจ้านยองยานไม่สิ้นชีพเสียก็อาจได้เมืองพะม่า แม้อังกฤษจะมิได้รู้เห็นเปนใจด้วยแต่แรก ก็คงเข้าอุดหนุนในชั้นหลังเมื่อเห็นผู้คนพลเมืองพะม่าเข้าด้วยมาก ถ้าเจ้านยองยานได้เปนพระเจ้าแผ่นดิน เมืองพะม่าก็เห็นจะยังไม่เสีย

กรณีที่เกิดขบถครั้งเจ้านยองยานนั้นเปนปัจจัยให้แตงดาหวุ่นคยีสั่งให้สืบสวนเอาตัวผู้รู้เห็นเปนใจในการขบถ จับขุนนางทั้งที่ในกรุงและตามหัวเมืองมาใส่คุกไว้กว่า ๑๐๐ คน การขบถก็สงบไปได้คราวหนึ่ง แต่ถึงปีหลังก็มีพวกพะม่าคิดขบถอีก คราวนี้หมายจะไปเชิญเจ้าเมงกูนซึ่งหนีไปอยู่อินเดียแต่รัชชกาลพระเจ้ามินดงมาเปนหัวหน้าตีเมืองพะม่า กิตติศัพท์ทราบถึงแตงดาหวุ่นคยี ว่าพวกขุนนางที่ถูกขังคอยจะแหกคุกออกมาช่วยเจ้าเมงกูน พอได้ข่าวว่าเจ้าเมงกูนหนีจากแดนอังกฤษมาอาศัยฝรั่งเศสอยู่ณเมืองจันทนคร อันเปนเมืองท่าที่จะลงเรือมาเมืองพะม่า แตงดาหวุ่นคยีก็คิดกลอุบายทำให้ปรากฏว่านักโทษแหกคุก ให้เอาไฟเผาคุกคลอกนักโทษในนั้น ใครหนีไฟออกมาได้ก็ฟันเสีย จำนวนคนที่ถูกฆ่าครั้งนี้รวมทั้งผู้ที่ถูกสงสัยว่าเปนพวกขบถและที่เปนนักโทษสามัญตายกว่า ๒๐๐ คน ก็เกิดสยดสยองสิ้นความเชื่อถือรัฐบาลไปทั่วอาณาเขตต์พะม่า ด้วยเห็นว่าพระเจ้าสีป่อปกครองบ้านเมืองไม่ได้เปนแน่แล้ว แต่นั้นก็เริ่มเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม ผู้ร้ายบางพวกมีจำนวนตั้งร้อยตั้งพันเที่ยวปล้นสดมภ์จนถึงที่ใกล้ๆ ราชธานี พวกหัวเมืองไทยใหญ่ก็พากันแข็งเมืองขึ้นหลายแห่ง ที่สุดพวกจีนลงมายึดเมืองบาโม (บ้านหม้อ) ที่ต่อแดนพะม่า ก็ไม่สามารถจะยกกองทัพไปขับไล่ เพราะต้องปราบปรามโจรผู้ร้ายตามหัวเมืองชั้นใน และต้องระวังรักษาในพระนครมิให้เกิดขบถ แม้พระเจ้าสีป่อก็ไม่กล้าเสด็จออกนอกพระราชวัง (เขาว่าที่สร้างหอสูงขึ้นที่ราชมณเฑียรสำหรับเสด็จขึ้นทอดพระเนตรพระนคร ก็เพราะเหตุนั้น) เมื่อบ้านเมืองระส่ำระสายดังกล่าวมา ก็เลยเปนปัจจัยให้เงินผลประโยชน์แผ่นดินได้ตกต่ำลงจนไม่พอจ่ายในราชการ ในหนังสือฝรั่งแต่งยังอ้างเหตุอีกอย่างหนึ่งว่าเพราะราชินีสุปยาลัตมีอัธยาศัยสุรุ่ยสุร่ายชอบซื้อของแปลกๆ ไม่รู้จักเสียดายเงิน แต่แรกพระเจ้าสีป่อเสวยราชย์ พวกเสนาบดีคิดตั้งวิธีทำงบประมาณจำกัดเงินพระเจ้าแผ่นดินทรงใช้สอย ราชินีสุปยาลัตทูลพระเจ้าสีป่อให้ถอดเสนาบดีกระทรวงคลังเสีย แต่นั้นก็เรียกเงินใช้ได้ตามชอบใจ เลยเปนช่องให้พวกชาวต่างประเทศสั่งของจากยุโรปมาขายเอากำไร เงินหลวงจึงได้สิ้นเปลืองไปด้วยเหตุนี้อีกอย่างหนึ่ง เมื่อเงินในพระคลังไม่พอใช้ให้คิดออกหวย (อังกฤษ เรียกว่า “ลอตะรี่” Rottary) ที่ในเมืองมัณฑเล ก็ได้กำไรไม่พอต้องการ จึงให้แตงดาหวุ่นคยีคิดหาเงินผลประโยชน์แผ่นดินด้วยประการอย่างอื่นอีก แตงดาหวุ่นคยีไปตรวจเห็นจำนวนเงินที่ควรได้จากป่าไม้สัก ซึ่งอนุญาตให้บริษัทบอมเบเบอม่าอังกฤษทำคั่งค้าง และไม่ได้ตามพิกัดเพราะบริษัทเอาเปรียบด้วยประการต่างๆ จึงให้ตรวจบัญชีคิดจำนวนเงินตามซึ่งเห็นควรจะได้จากบริษัทบอมเบเบอม่า แล้วเรียกเอาเงินถึง ๒,๓๐๐,๐๐๐ รูปีย บริษัทร้องทุกข์ต่อเจ้าเมืองพะม่าใต้ ๆ ขอให้ทั้งสองฝ่ายพร้อมกันตรวจบัญชี ถ้าเห็นผิดกันอย่างไรก็ให้ตั้งอนุญาโตตุลาการตัดสิน ฝ่ายพะม่าไม่ยอมและเข้าขัดขวางการที่บริษัทบอมเบเบอม่าทำป่าไม้ รัฐบาลอังกฤษจึงยกเรื่องที่พะม่าทำแก่บริษัทบอมเบเบอม่า ขึ้นอ้างเปนเหตุที่เข้ารุกรานเมืองพะม่า แต่เหตุที่จริงนั้นเปนเรื่องหนึ่งต่างหากทีเดียว เกิดแต่สมัยนั้นประจวบเวลาพวก “คณะหาเมืองขึ้น” Colonial Party ในประเทศฝรั่งเศสมีอำนาจขึ้น คิดจะเอาแผ่นดินในระหว่างอินเดียกับเมืองจีน Indo-China (คือประเทศพะม่า สยาม ญวน ตังเกี๋ย กับทั้งแหลมมลายู) เปนอาณาเขตต์ของฝรั่งเศส เหมือนอย่างเช่นอินเดียเปนอาณาเขตต์ของอังกฤษ เริ่มทำตามความคิดด้วยตีเมืองตังเกี๋ยก่อน ก็ฝรั่งเศสได้มีทางไมตรีกับพะม่ามาแต่ครั้งพระเจ้ามินดงแล้ว ถึงรัชชกาลพระเจ้าสีป่อเมื่อมีเหตุต่างๆ ทำให้พะม่าเกิดขุ่นหมองกับอังกฤษ เห็นได้ทีก็ตั้งคนสำคัญในคณะหาเมืองขึ้นเปนกงสุลฝรั่งเศส เวลานั้นไม่มีทูตผู้แทนรัฐบาลอังกฤษกีดขวางอยู่ณเมืองมัณฑเล ก็นับว่าเปนเคราะห์กรรมได้อีกอย่างหนึ่ง กงสุลฝรั่งเศสได้ทีก็เข้าประจบประแจงเกลี้ยกล่อมพะม่า ด้วยรับจะชักชวนมหาประเทศในยุโรปให้ช่วยกันกีดขวางมิให้อังกฤษทำร้ายเมืองพะม่า หรือถ้าพะม่าจะต้องรบกับอังกฤษ ฝรั่งเศสก็จะให้กองทัพกับทั้งส่งเครื่องศัสตราวุธมาช่วยพะม่าโดยทางบกจากเมืองตังเกี๋ย ก็เวลานั้นรัฐบาลพะม่ากำลังลำบากอยู่ทั้งภายในบ้านเมืองและหวาดว่าอังกฤษจะมารุกราญ พระเจ้าสีป่อให้เสนาบดีปรึกษากัน ฝ่ายหนึ่งมีกินหวุ่นแมงคยีอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือน ซึ่งเปนข้าหลวงเดิมของพระเจ้ามินดงเปนต้น ไม่เชื่อว่าฝรั่งเศสจะช่วยได้ดังว่า เห็นควรจะรักษาทางไมตรีดีไว้กับอังกฤษ อีกฝ่ายหนึ่งมีแตงดาหวุ่นคยีอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหารเปนต้น เชื่อว่าถ้าฝรั่งเศสช่วยพะม่า อังกฤษก็จะไม่กล้ารุกราญ พระเจ้าสีป่อกับราชีนีสุปยาลัตเห็นชอบด้วยกับความคิดแตงดาหวุ่นคยี ก็เกิดการสมาคมกับฝรั่งเศสสนิทสนม นัยว่าถึงกงสุลฝรั่งเศสเข้าเฝ้าพระเจ้าสีป่อกับราชินีสุปยาลัตในที่รโหฐานได้เนืองนิจเปนปัจจัยให้ฝรั่งเศสได้รับสิทธิต่างๆ ในเมืองพะม่า คือทำทางรถไฟ และตั้งธนาคารออกธนบัตร์เปนต้น เผอิญเวลานั้นพวกคณะลิเบอรัลต้องออก และพวกคณะคอนเซอวะติฟกลับเข้าเปนรัฐบาล เห็นว่าถ้าเฉยอยู่อังกฤษกับฝรั่งเศสก็จะต้องรบกันด้วยเรื่องเมืองพะม่า จำต้องตัดต้นเหตุด้วยเอาเมืองพะม่าเปนของอังกฤษเสีย จึงอนุญาตให้รัฐบาลอินเดียตีเมืองพะม่า (ครั้งที่ ๓) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ดังเล่ามาแล้วในเรื่องตำนานเมืองมัณฑเล

ถ้าว่าถึงตัวการที่ทำให้เสียเมืองพะม่านับว่ามี ๔ คน คือ พระเจ้าสีป่อ ราชินีสุปยาลัต พระนางอเลนันดอ และแตงดาหวุ่นคยี ก็ต้องรับทุกขโทษเปนผลกรรมทุกคน พระเจ้าสีป่อถูกเนรเทศไปอยู่ณเมืองรัตนคิรีในอินเดีย ๓๐ ปี จนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ราชินีสุปยาลัตก็ถูกเนรเทศไปอยู่เมืองรัตนคิรีจนพระสวามีสิ้นพระชนม์แล้วจึงได้รับอนุญาตให้กลับมาอยู่เมืองร่างกุ้งจนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ พระนางอเลนันดอแต่แรกก็ถูกเนรเทศไปอยู่อินเดีย แต่กล่าวกันว่าเพราะไปเกิดวิวาทกับราชินีสุปยาลัต ถูกส่งกลับมาคุมไว้ที่เมืองเมาะลำเลิงจนสิ้นพระชนม์ ส่วนแตงดาหวุ่นคยีนั้นก็ถูกเนรเทศไปคุมไว้ที่เมืองคัตตัก Cuttak (เห็นจะเปนเมืองป่าแห่งใดแห่งหนึ่ง) จนเมื่อเจ็บจวนจะตายรัฐบาลจึงปล่อยให้กลับลงมาตายที่บ้านเดิมในเมืองมัณฑเล ใน ๔ คนนั้นพิจารณาตามเรื่องที่ปรากฏ ดูน่าสงสารแต่พระเจ้าสีป่อ เพราะอดีตกรรมนำให้ต้องเปนพระเจ้าแผ่นดิน โดยมิได้อยู่ในฐานะหรือมีความประสงค์ เมื่อเปนพระเจ้าแผ่นดินแล้วก็ไม่ได้ทำบาปกรรมอันใดโดยลำภังพระองค์ ถูกแต่คนอื่นเขาข่มขืนให้ทำ ก็ทำไปด้วยความขลาดเขลา ก็แต่ความขลาดเขลาก็เปนอุปนิสัยในพระองค์มีมาเองโดยธรรมดาที่มาต้องรับทุกขโทษภัยอย่างร้ายแรง ทั้งเสียพระเกียรติยศปรากฎอยู่ในพงศาวดารเกินกว่าความผิด พึงเห็นว่าเปนด้วยเคราะห์กรรมของเมืองพะม่าบันดาลให้เปนมาตลอดเรื่อง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ